• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เจ็บไหล่...ไหล่ติด...ข้อไหล่ติดแข็ง

เจ็บไหล่...ไหล่ติด...ข้อไหล่ติดแข็ง

อาการข้อไหล่ติด หรือข้อไหล่ติดแข็ง มักพบหลังจากมีการเจ็บของข้อไหล่ ซึ่งอาจเจ็บอยู่เป็นสัปดาห์ หรือเป็นเดือน เมื่ออาการเจ็บทุเลาลง จะตามมาด้วยการยกแขนได้ไม่ดีเหมือนเดิม ซึ่งจะรบกวนการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เช่นหยิบของจากหิ้งสูง รูดซิปเสื้อหรือกระโปรงซึ่งอยู่ด้านหลัง หรือดึงกระเป๋าใส่เงินจากกระเป๋าหลังของกางเกง แต่ถ้าท่านได้รู้จักปฏิบัติตนตั้งแต่เริ่มมีอาการเจ็บหัวไหล่ในช่วงแรก โดยไม่ปล่อยปละละเลยจะทำให้อาการไม่ลุกลามจนเป็นมาก และเสียเวลาเพื่อรักษาอาการข้อไหล่ติดแข็ง

ขั้นตอนของการเกิดข้อไหล่ติดแข็ง
ระยะที่หนึ่ง : ระยะเจ็บไหล่มีอาการดังนี้
๑. เจ็บเมื่อมีการเคลื่อนไหวของ แขน
๒. เจ็บทั่วไปบริเวณหัวไหล่ แต่ ไม่มีจุดกดเจ็บที่แน่นอน
๓. มีกล้ามเนื้อเกร็งตัว (muscle spasm)
๔. เจ็บมากขึ้นในเวลากลางคืน หรือเมื่ออยู่นิ่งๆ
ระยะที่สอง : ระยะข้อไหล่ติด มีอาการดังนี้
๑. อาการเจ็บไหล่ เจ็บแขนลดลง
๒. เพิ่มอาการติดขัด และจำกัด การเคลื่อนไหวของหัวไหล่
๓. อาการเจ็บตอนกลางคืนและ ตอนอยู่นิ่งๆ ลดลง
๔. รู้สึกเจ็บเมื่อมีการเคลื่อนไหว ช่วงสุดท้ายของแขนข้างนั้น
ระยะที่สาม : ระยะฟื้นตัวมีอาการดังนี้
๑. อาการเจ็บลดลงเรื่อยๆ
๒. แขนข้างที่เจ็บจะเคลื่อนไหวได้มากขึ้นอย่างช้าๆ
๓. การฟื้นตัวจะหายเองได้แต่มักจะเคลื่อนไหวแขนได้ไม่สุดเหมือนที่เคยทำได้

ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับอาการข้อไหล่ติด
๑. พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายในสัดส่วน ๖๐ : ๔๐
๒. มักเป็นกับแขนที่ไม่ถนัดใช้ มากกว่าข้างที่ถนัด
๓. อาการไหล่ติด เกิดจากมีแผลเป็น มีการหนาตัว และการหดตัวของเยื่อหุ้มหัวไหล่
๔. ข้อไหล่ที่บาดเจ็บ เป็นสาเหตุให้เกิดอาการไหล่ติดได้
๕. มักจะทราบว่าเป็นข้อไหล่ติดเมื่อแพทย์ตรวจอาการและแจ้งให้ทราบ (ถ้าผู้ป่วยสังเกตตนเองจะทราบก่อนว่า ยกแขนได้ไม่สุด และมีอาการเจ็บ)
๖. จะต้องมีการเจ็บพอสมควรในการรักษา จึงจะทำให้ข้อไหล่หายติด
๗. มีมากมายหลายโรคที่เกี่ยวข้องกับอาการข้อไหล่ติด เช่น โรค เบาหวาน โรคปอด โรคหัวใจ ไทรอยด์ และอัมพาตครึ่งซีก แต่สาเหตุ ที่แท้จริงที่ทำให้เกิดอาการไหล่ติดยังไม่ทราบแน่นอน

การเคลื่อนไหวที่ทำแล้วเจ็บในคนไหล่ติด
๑. กางแขนออกด้านข้างแล้วหงายฝ่ามือขึ้น
๒. เหยียดแขนขึ้นไปหยิบของเหนือศีรษะ
๓. เอื้อมมือไปหยิบของซึ่งวางบนเบาะหลังของรถ
๔. ดันประตูหนักๆให้เปิดออก
๕. การขับรถในคนไหล่ติดจะมีความลำบากในการหมุนพวง มาลัยรถ
๖. เมื่อสระผมตัวเอง
๗. เมื่อถูหลังตัวเอง
๘. เมื่อสวมหรือถอดเสื้อยืดเข้าออกทางศีรษะ
๙. เมื่อติดกระดุมเม็ดล่างด้านหน้าของเสื้อเชิ้ต
๑๐. เมื่อล้วงของออกจากกระเป๋าหลังของกางเกง

บทสรุป
สาเหตุที่แท้จริงของการเกิดข้อไหล่ติดยังไม่ทราบแน่ชัด การเกิด ข้อไหล่ติดมักจะเกี่ยวข้องกับโรคอื่นๆ หลายโรค ที่พบบ่อยคือ ในคน ที่มีอาการอัมพาตครึ่งซีก
อาการเจ็บข้อไหล่ (ขัดยอกหัวไหล่) ถ้ารีบแก้ไขตั้งแต่แรกเป็นจะไม่ลุกลาม แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้ โดยพยายามหลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหว ในทิศทางที่เจ็บ อาจจะเป็นสาเหตุให้เกิดอาการไหล่ติด ไปจนถึงข้อไหล่ ติดแข็งได้ในที่สุด
การฟื้นตัวจากอาการไหล่ติด ถ้าปฏิบัติตนเองจะต้องทราบและเข้าใจหลักการ คือพยายามยืดเยื่อหุ้มข้อไหล่ และเพิ่มการเคลื่อนไหว ของข้อไหล่ ซึ่งท่าบริหารเหล่านี้จะสามารถยืดได้ด้วยตัวท่านเอง โดยใช้สภาพแวดล้อม เช่น บันได ฝาห้อง คานโหน ช่วยในการทำกายบริหาร จะต้องยืดทีละน้อยและมีอาการเจ็บบ้างเล็กน้อย และควรทำทุกวันในช่วงแรก ถ้าท่านกลัวเจ็บและไม่เข้าใจหลักการในท่าบริหารหัวไหล่ จะใช้เวลานานหลายเดือนที่จะทุเลาจากอาการไหล่ติด แต่ถ้าทำแล้วเจ็บมากติดต่อกันหลายวัน ควรได้รับการตรวจ และวินิจฉัยอย่างละเอียด จากแพทย์ด้านออร์โธปิดิกส์ ทางกระดูก)

เอกสารอ้างอิง
1. Roddey TS, Olson SL, Cook KF, Gartsman GM, Hanten W. Comparison of the University of California-Los Angeles Shoulder Scale and the Simple Shoulder Test with the Shoulder Pain and Disability Index : Single-Admini-stration Reliability and Validity Phys Ther 2000;80:759-68.
2. Sardor R, Brone S. Exercising the  frozen shoulder. The physician and sport medicine, September 2000.

 

ข้อมูลสื่อ

281-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 281
กันยายน 2545
เรื่องน่ารู้
มนูญ บัญชรเทวกุล