• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ไขข้อข้องใจเรื่อง"ยาแก้แพ้-แก้หวัด"

ไขข้อข้องใจเรื่อง"ยาแก้แพ้-แก้หวัด"


ดิฉันมีบุตรเล็กอายุ ๓ ขวบ มักจะมีปัญหาตอนที่อากาศเย็น โดยเฉพาะช่วงนี้เป็นฤดูฝนต่อฤดูหนาว ทำให้อากาศจะเย็นกว่าปกติ ลูกดิฉันจะน้ำมูกไหลบ่อยๆ ดิฉันก็ใช้ความรู้จากคอลัมน์นี้ว่า ไม่ควรกินยาแก้น้ำมูก ซึ่งบางทีแกก็หาย บางทีแกก็ไม่หาย เลยพาลเป็นหวัดไปเลย ไม่ทราบว่ามันเกี่ยวกันหรือเปล่าคะ ครั้งล่าสุดอากาศเย็น แล้วก็ไอมาก ไอตลอดเวลา จนหายใจไม่ออก (พูดเกือบไม่ได้) ดิฉันก็เลยพาไปหาหมอที่โรงพยาบาล คุณหมอบอกว่า ลูกดิฉันเป็นหอบ แล้วให้ไป "ดมยา" กับพยาบาล แล้วก็กลับมาให้คุณหมอตรวจอีกครั้ง คุณหมอบอกว่า ดีขึ้นแล้ว และให้ยากลับมากินที่บ้าน มียาขยายหลอดลม ยาแก้แพ้ ยาแก้ไอแบบขับเสมหะ เลยอยากถามว่ายาพวกนี้มีคุณสมบัติอย่างไรบ้างคะ มีข้อดี-ข้อเสียหรือไม่

สำหรับยาแก้ไอนั้น โชคดีที่ดิฉันได้อ่านเรื่องยาแก้ไอในคอลัมน์นี้ ก็เลยให้ลูกกินน้ำมะนาวผสมกับน้ำผึ้ง ได้ผลดีมากเลยค่ะ วันเดียวแกก็ไอน้อยลงมาก แล้วเรื่องยาแก้แพ้นั้นใช่ตัวเดียวกับของผู้ใหญ่ คือ คลอร์เฟนิรามีน ที่เป็นยาแก้แพ้และลดน้ำมูกใช่หรือเปล่าคะ มียาแก้แพ้ตัวอื่นอีกไหมคะ

รบกวนคุณหมอช่วยอธิบายให้กระจ่างด้วยค่ะ
บงกช/กรุงเทพฯ

ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณคุณบงกชเป็นอย่างมากที่ได้เล่าประสบการณ์ในการนำความรู้จากคอลัมน์นี้ไปใช้ประโยชน์ ทำให้ผมได้เรียนรู้ว่า ข่าวสารข้อมูลที่เขียนนี้มีความชัดเจน และมีประโยชน์ต่อผู้อ่านเพียงไร ผมตระหนักดีว่าการสื่อด้วยหนังสือ ซึ่งเป็นการสื่อสารทางเดียวนั้นย่อม ไม่อาจสร้างความกระจ่างให้กับผู้อ่านได้ทุกคน บางครั้งยังอาจสร้างความเข้าใจคลาดเคลื่อนไปได้ด้วยซ้ำไป การที่คุณได้เล่าประสบการณ์สะท้อนกลับมา นับว่าเป็นประโยชน์ต่อผมอย่างยิ่ง ในที่นี้จึงใคร่ขอเชิญชวนแฟนๆ ที่อ่านคอลัมน์นี้ (รวมทั้งข้อเขียนอื่นๆ ในหมอชาวบ้าน) ได้กรุณาสะท้อนประสบการณ์และข้อข้องใจในการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ดูแลรักษาตนเองกันกว้างขวางยิ่งขึ้น (ผมมีความคิดว่า ถ้าหากมีผู้สนใจอยากจะจัดเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดูแลรักษาตนเอง ในหมู่สมาชิกหมอชาวบ้าน ไม่ทราบว่าจะดีไหมครับ?)

ส่วนปัญหาที่ถามมา ขอตอบเป็นข้อๆ ดังนี้

๑. เรื่องเป็นหวัดน้ำมูกไหล อาจแยกแยะได้ ๒ สาเหตุ ได้แก่ หวัดจากการติดเชื้อ กับ หวัดจากการแพ้ (โรคภูมิแพ้) ซึ่งจะมีอาการคัดจมูกน้ำมูกไหลเหมือนๆ กัน ข้อที่แตกต่างกัน ก็คือ หวัดจากการติดเชื้อ (นิยมเรียกว่า "ไข้-หวัด") นั้น อาจมีอาการปวดมึนศีรษะ อ่อนเพลีย ครั่นเนื้อครั่นตัว ในเด็กมักมีอาการตัวร้อนและเบื่ออาหารร่วมด้วย น้ำมูกมักจะเป็นอยู่ตลอดทั้งวัน และเป็นอยู่เพียงไม่กี่วันก็จะแห้งไปได้เอง เมื่อหายดีแล้ว ก็จะเว้นระยะไปนาน ยกเว้นในเด็กเล็กที่คลุกคลีกับเด็กอื่น (เช่น ในโรงเรียน หรือสถานรับเลี้ยงเด็ก) อาจเป็นได้บ่อย เนื่องจากมีการติด เชื้อใหม่อยู่เรื่อยๆ

ส่วนหวัดจากการแพ้นั้น จะไม่มีอาการตัวร้อน และท่าทางทั่วไปดูแข็งแรงดี กินได้ วิ่งเล่นหรือทำงานได้ดี มักจะมีอาการคันคอ คันจมูก จาม และน้ำมูกใสๆไหลเป็นพักๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสัมผัสถูกสิ่งที่แพ้ เช่น ฝุ่นละออง เครื่องปรับอากาศ ความเย็น เป็นต้น มักมีอาการเป็นๆหายๆเรื้อรัง และอาจมีพ่อแม่ญาติพี่น้องคนใดคนหนึ่ง เป็นโรคภูมิแพ้ (เช่น หวัดจากการแพ้ โรคหืด ลมพิษผื่นคัน เป็นต้น)

พูดถึงตรงนี้ ขอแทรกเรื่องจริงที่ผมเพิ่งประสบมาเมื่อเร็วๆนี้ มีพ่อแม่คู่หนึ่งพาลูกอายุ ๑ เดือน มาปรึกษาเรื่องเป็นหวัด ซักถามอาการและตรวจดูแล้วก็พบว่า เด็กเป็นหวัดจากการแพ้เพราะมีอาการจามบ่อย น้ำมูกใสเวลาถูกอากาศเย็น กินนมได้ ท่าทางแข็งแรงดี พ่อเด็กเป็นโรคภูมิแพ้อยู่ประจำ แถม ลูก ๒ คนโตก็เป็นหวัดภูมิแพ้แบบเดียวกับคุณพ่อ แม่เด็กก็สงสัยว่า ลูก ๒ คนโตไม่ได้ให้กินนมแม่ เป็นโรคภูมิแพ้ก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่ลูกคนเล็กนี้ให้กินนมแม่ตลอด ซึ่งหมอบอกว่าจะช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานโรค ทำไมจึงยังเป็นโรคภูมิแพ้ได้อีกเล่า ก็เลยต้องอธิบายให้เข้าใจว่า การกินนมแม่นั้นช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานโรคได้จริง ซึ่งจะมีผลต่อการป้องกันโรคติดเชื้อ(เช่น ไข้หวัด ท้องเดิน)ได้ดี แต่ไม่มีผลในการป้องกันโรคภูมิแพ้เท่าที่ควร ถ้าเด็กสัมผัสสิ่งที่แพ้ (เช่น อากาศเย็น) ก็อาจจะเป็นหวัดจากการแพ้ได้ ทางที่ดีควรให้ลูกหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้เสีย โรคหวัดก็จะทุเลาไปได้เอง

๒. กรณีอาการเป็นหวัดของลูกคุณ ก็ควรจะลองแยกแยะดูว่าอาการแต่ละครั้ง เกิดจากสาเหตุใด บางครั้งอาจเป็นโรคภูมิแพ้ บางครั้งอาจเกิดจากการติดเชื้อก็ได้ ถ้าเป็นหวัดน้ำมูกไหลเป็นบางเวลา ร่วมกับอาการจามบ่อยๆ โดยไม่มีอาการตัวร้อนและมีกรรมพันธุ์เป็นโรคภูมิแพ้ ก็น่าจะเกิดจากโรคภูมิแพ้ การให้กินยาแก้แพ้จะช่วยให้อาการทุเลาได้เร็ว การใช้ยาแก้แพ้ในกรณีเช่นนี้ นับว่ามีประโยชน์มากกว่าโทษ แต่ถ้าเป็นไข้หวัด(ติดเชื้อ)การใช้ยาแก้แพ้มีประโยชน์น้อย เพราะน้ำมูกจะมีอยู่เพียงไม่กี่วัน และยาแก้แพ้ก็ออกฤทธิ์ลดน้ำมูกไม่ชะงัดเท่ากับกรณีที่เป็นโรคภูมิแพ้ ยาที่จำเป็นในกรณีเป็นไข้หวัดก็คือยาพาราเซตามอลลดไข้(ถ้าตัวร้อน) และถ้าน้ำมูกเป็นสีเหลืองหรือเขียว(เพราะมีโรคแทรก)ก็อาจต้องให้กินยาปฏิชีวนะควบด้วย

๓. อาการเป็นหวัดและหอบของลูกคุณครั้งหลังสุดนี้ ถึงกับต้อง "ดมยา" ที่โรงพยาบาล แสดงว่า ไม่ได้เป็นเพียงหวัดธรรมดาๆ แต่มีเสมหะในหลอดลมมากหรือถึงขั้น "เป็นหืด" (โรคภูมิแพ้ชนิดหนึ่ง) ไปเลย "โรคหืด" สังเกตได้จากอาการ หายใจหอบเร็วกว่าปกติและซี่โครงบุ๋ม เอาหูแนบฟังที่หน้าอกจะได้ยินเสียงหายใจดังวี้ดๆ กรณีเช่นนี้จำเป็นต้องรีบพาเด็กไปโรงพยาบาล หมอจะให้ยาขยายหลอดลม(โรคหืดจะมีอาการหลอดลมตีบตัว) สำหรับเด็ก เล็กจะให้โดยวิธีพ่นยาด้วยอุปกรณ์พิเศษ ดังที่คุณเรียกว่า "ดมยา" นั่นแหละ บางครั้งหากมีเสมหะ ในหลอดลมมากๆ ก็อาจต้องใช้เครื่องช่วยดูดเสมหะ เมื่ออาการดีขึ้นแล้ว ก็จะให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน

๔. ข้อดี-ข้อเสียของยา
ยาขยายหลอดลม มีข้อดี คือ ช่วยขยายหลอดลมในกรณีที่เป็นหืด หรือมีภาวะหลอดลมตีบตัวทำให้หายหอบ มีผลข้างเคียง คือ อาจทำให้ใจสั่นมือสั่น กระสับกระส่าย นอนไม่หลับได้ การใช้ชนิดพ่นหรือดมจะมีผลข้างเคียงน้อยกว่าชนิดกิน ยาแก้แพ้ใช้ได้ทั้งการรักษาและป้องกันอาการของโรคภูมิแพ้ มีผลข้างเคียง คือ ทำให้ง่วงซึมหรือเสมหะเหนียวขับออกยาก ในกรณีที่มีอาการแพ้รุนแรงก็จำเป็นต้องใช้ยานี้ เพราะมีประโยชน์มากกว่าโทษ

ส่วนยาแก้ไอแบบขับเสมหะ (ชนิดกิน)นั้น ทางวงการแพทย์ถือว่าไม่มีประโยชน์เท่าที่ควร กล่าวคือ ยังไม่มีข้อพิสูจน์ว่าจะช่วยขับเสมหะ หรือละลายเสมหะได้จริง ในกรณีที่มีเสมหะมาก ควรให้ดื่มน้ำมากๆ และใช้วิธีเคาะปอดระบายเสมหะ ในเด็กเล็กถ้ามีอาการหายใจหอบเนื่องจากมีเสมหะค้างคาในหลอดลมมาก ควรรีบพาไปโรงพยาบาล อาจจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยดูดเสมหะ

๕. ยาแก้แพ้หรือแอนติฮิสตามีน (antihistamine) ในปัจจุบัน มีอยู่หลายชนิด ซึ่งมีสรรพคุณและผลข้างเคียงคล้ายๆ กัน (ยกเว้นบางชนิดอาจมีสรรพคุณเพิ่มเติม เช่น ระงับการไอ แก้เมารถเมาเรือ บางชนิดอาจไม่ทำให้ง่วงนอน)

คลอร์เฟนิรามีน (chlorphe-niramine) จัดเป็นยาแก้แพ้ตัวเก่าแก่สุด มีใช้กันมานับหลายสิบปี ซึ่งทราบถึงสรรพคุณและผลข้างเคียงอย่างดีแล้ว เป็นยาราคาถูกมาก (ตกเม็ดละ ๑๐-๒๕ สตางค์) และยังใช้ได้ดีในการรักษาและป้องกันอาการหวัดจากการแพ้ ลมพิษ ผื่นคัน รวมทั้งช่วยลดน้ำมูก ยาแก้แพ้ที่หมอให้กันนั้นอาจเป็นคลอร์เฟนิรามีนหรือตัวอื่นๆก็ได้ สำหรับประชาชนทั่วไป ขอแนะนำให้ใช้คลอร์เฟนิรามีนเป็นพื้นฐาน เพราะทราบสรรพคุณและผลข้างเคียงเป็นอย่างดีแล้ว จนจัดเป็นยาสามัญประจำบ้านชนิดหนึ่ง

ส่วนยาแก้แพ้ชนิดอื่นๆ ควรให้แพทย์พิจารณาสั่งใช้ให้เหมาะกับโรคและสภาพของผู้ป่วยแต่ละคน ข้อสำคัญยาแก้แพ้บางชนิดเมื่อใช้ร่วมกับยาอื่นอาจทำให้เกิดปฏิกิริยา ที่เป็นอันตรายได้ เช่น ยาเทอร์เฟนาดีน ซึ่งเป็นยาแก้แพ้ชนิดไม่ง่วง หากกินกับยาฆ่าเชื้อรา ยากลุ่มอีริโทรไมซิน อาจทำให้หัวใจเต้นผิดปกติถึงตายได้

๖. อย่าลืมหลักการพื้นฐาน คือ ใช้ยาเท่าที่จำเป็นและควรแก้ที่ต้นเหตุ เช่น ถ้าลูกคุณเป็นหวัดเนื่องจากแพ้อากาศเย็น ก็ควรหลีกเลี่ยงอากาศเย็น โรคก็จะทุเลาไปได้เอง อย่ามัวแต่พึ่งยาแก้แพ้อยู่ประจำ ดังนั้นทุกครั้งที่ไปหาหมอ ควรสอบถามให้กระจ่างว่าเป็นโรคอะไร ยาที่จำเป็นคืออะไร ข้อควรระวังในการใช้ยา ข้อควรปฏิบัติตัวในการรักษาและป้องกันโรคเป็นอย่างไร อันนี้ก็เป็นสิ่งสำคัญครับ

ตั ว อ ย่ า ง ย า แ ก้ แ พ้
ยาแก้แพ้ทุกตัวมีสรรพคุณในการป้องกันและรักษาโรคภูมิแพ้ (ได้แก่ หวัดจากการแพ้ ลมพิษ ผื่นคัน) ช่วยลดน้ำมูก

บางชนิดอาจมีสรรพคุณพิเศษเพิ่มเติม

- คลอร์เฟนิรามีน เป็นยาชนิดเดียวที่จัดเป็นยาสามัญประจำบ้าน

ส่วนยาข้างล่างนี้เป็นยาที่ควรให้แพทย์เป็นผู้พิจารณาสั่งใช้

- บรอมเฟนิรามีน

- ไฮดรอกไซซีน (ใช้ป้องกันและรักษาอาการลมพิษได้ดี)

- ไซโพรเฮปทาดีน (ช่วยเจริญอาหาร แต่ไม่ควรใช้พร่ำเพรื่อในเด็ก จะกดการเจริญของกระดูก)

- ไดเฟนไฮดรามีน (ช่วยระงับการไอ แก้เมารถเมาเรือ ป้องกันตะคริวในผู้สูงอายุ)

- เทอร์เฟนาดีน เป็นยาแก้แพ้ที่ไม่ทำให้ง่วงนอน แต่ถ้ากินควบกับยาฆ่าเชื้อรา หรือยากลุ่มอีริโทรไมซิน อาจเกิดปฏิกิริยาทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะถึงตายได้

ข้อมูลสื่อ

248-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 248
ธันวาคม 2542
พูดจาภาษายา
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ