• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ผักเป็ด : ผักสามัญที่ไม่ไร้ความสำคัญ

ผักเป็ด : ผักสามัญที่ไม่ไร้ความสำคัญ


เมื่อราวกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ผู้เขียนได้อ่านบทความจากผู้ทรงคุณวุฒิทางวิชาการและเคยเป็นนักการเมืองที่มีชื่อเสียงด้วย ได้ให้ความเห็นว่า ขณะนี้รัฐบาลไทยกำลังอยู่ในช่วงที่เรียกว่าเป็น "เป็ดพิการ" จะทำอะไรก็ติดขัดไปหมด เพราะอยู่ในช่วงใกล้กับการเลือกตั้งครั้งใหม่ ทำให้บรรดาพรรคการเมืองต่างๆ ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลเอง พยายามหาคะแนนนิยมแข่งกัน รวมทั้งพยายามทำให้พรรคการเมืองอื่นๆ เสื่อมความนิยมลงไปพร้อมๆ กัน อีกต่างหาก หรือแม้แต่ในพรรคการเมืองเดียวกัน ซึ่งยังแบ่งเป็นค่ายหรือมุ้งต่างๆ ที่เกิดเหตุการณ์แบบเดียวกัน รัฐบาลที่ประกอบด้วยหลายพรรคการเมืองกับอีกหลายค่ายหรือมุ้งในแต่ละพรรคการเมืองจึงพบกับอุปสรรคในการทำงานอย่างหนัก จะทำอะไรก็ลำบากยากเข็ญ เปรียบเหมือนเป็น "เป็ดพิการ" นั่นเอง

ทำไมจึงนำเอาเป็ดมาเปรียบเทียบ ทำไมไม่ใช้ไก่ หมู แมว หรือวัว ฯลฯ ทั้งนี้สันนิษฐานว่า คงเป็นเพราะรัฐบาลมีภารกิจมากมายรอบด้าน จะต้องทำได้ทุกอย่าง สัตว์ที่มีความสามารถรอบด้านทำได้คล้ายรัฐบาลก็คงมีเพียงเป็ดเท่านั้น เพราะเป็ดอยู่บนบกก็ได้ (เดิน, วิ่ง) อยู่ในน้ำก็ได้ (ว่ายน้ำ, ดำน้ำ) อยู่ในอากาศก็ได้ (บิน) กินพืชก็ได้ กินสัตว์ก็ได้ (ปลา, หอย, แมลง ฯลฯ) จนมีคำเปรียบเทียบผู้ที่มีความสามารถหลายด้าน แต่ไม่ที่สุดเลยสักอย่างว่าเก่งเหมือนเป็ด ซึ่งสำนวน นี้อาจนำมาใช้กับรัฐบาลทั่วไปได้เช่นเดียวกัน มีผักพื้นบ้านดั้งเดิมของไทยชนิดหนึ่ง ถูกเรียกชื่อมาตั้งแต่ในอดีตนานมาแล้วว่า ผักเป็ด ที่เรียกเช่นนี้เป็นเพราะผักเป็ดมีคุณสมบัติหลายๆด้าน แต่ไม่มีด้านใดโดดเด่น เป็นพิเศษ

ผักเป็ด : ผักที่คนไทยไม่ปลูก
ผักเป็ดมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Alternanthera sessilis R.Br อยู่ในวงศ์ Amaranthaceae เช่นเดียวกับผักโขมนั่นเอง เป็นไม้ล้มลุกเนื้ออ่อน สูงไม่เกิน ๓๐ เซนติเมตร ใบเล็ก ปลายใบแหลม บางครั้งลำต้นเลื้อยไปตามดิน ดอกสีขาวเล็กๆ ออกตามโคนใบ ลำต้นและ ใบอ่อนนิ่ม อวบน้ำ มี ๒ สี คือ ใบและลำต้นสีเขียว เรียกว่า ผักเป็ดขาว ใบและลำต้นสีม่วงแดง เรียกว่า ผักเป็ดแดง บางตำราว่าเป็นชนิดเดียวกัน แต่บางตำราแยกผักเป็ดแดงเป็นอีกชนิดหนึ่งต่างหาก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Alternanthera ficoides ผักเป็ดเป็นผักพื้นบ้านดั้งเดิมของไทย พบขึ้นอยู่ทั่วไปในเขตที่ราบลุ่มชื้นแฉะ สามารถขึ้นได้ทั้งบนบกและในน้ำ

คนไทยในอดีตคุ้นเคยกับผักเป็ดมานานแล้ว ดังเช่น หนังสืออักขราภิธานศรับท์ของหมอปรัดเล พ.ศ. ๒๔๑๖ หรือเมื่อ ๑๒๖ ปี มาแล้ว บรรยายเกี่ยวกับผักเป็ดเอาไว้ว่า

"ผักเป็ด เป็นต้นโตกว่าผักเบี้ย มันขึ้นที่บก เขาเก็บมากินบ้าง เก็บมาทำยาบ้าง"


แต่ในหนังสือประมวลสรรพคุณยาไทยของสมาคมโรงเรียนแพทย์และโบราณสำนักราชกุมาร (วัดโพธิ์) บรรยายว่า "ผักเป็ดเกิดตามที่ลุ่มต่ำแฉะทั่วๆ ไป" ในประเทศไทย ผักเป็ด พบขึ้นอยู่ตามที่ราบลุ่มทั่วไป พบมากในเขตภาคกลาง อาจถือได้ว่าเป็นวัชพืชชนิดหนึ่ง เพราะแข็งแรงทนทานและขยายพันธุ์ได้เองอย่างกว้างขวาง ทั้งบนบกและในน้ำตื้นๆ หากมีมากก็อาจเกาะกันเป็นกอสวะลอยน้ำได้เช่นเดียวกับผักตบหรือผักบุ้ง ซึ่งเป็นเพราะคุณสมบัติบางประการของผักเป็ด เช่น อยู่บนบกก็ได้ อยู่ในน้ำก็ได้ หรือนำมาใช้เป็นอาหารก็ได้ เป็นยาก็ได้นี่เอง ที่ทำให้คนไทยตั้งชื่อพืชชนิดนี้ว่า ผักเป็ด เนื่องจากผักเป็ดพบขึ้นได้เองอยู่ทั่วไป และไม่มีคุณสมบัติด้านใดโดดเด่นเป็นพิเศษ จึงยังไม่มีผู้นำมาปลูกจำหน่ายเป็นผักเศรษฐกิจในประเทศไทยจากอดีตมาถึงปัจจุบัน

ผักเป็ดในฐานะผัก
คนไทยเรียกชื่อพืชชนิดนี้ว่า "ผักเป็ด" แสดงว่านำมาใช้เป็นผัก หรือกินเป็นอาหารได้ และกินกันมา แต่อดีตแล้ว เช่นชาวไทยที่อาศัยอยู่ ในชนบทที่มีผักเป็ดขึ้นอยู่ ต่างรู้จักผักเป็ดและวิธีปรุงอาหารจากผักเป็ด เป็นอย่างดี ซึ่งนำมาใช้เป็นผักสดสำหรับจิ้มน้ำพริกปลาร้า ฯลฯ หรือถ้าให้พิเศษอีกหน่อยก็นำไปชุบแป้งทอดให้สุกก่อนนำมาจิ้มน้ำพริก ผักเป็ดที่นำมาใช้เป็นผักกินนั้น นิยมเก็บมาจากที่ลุ่มแฉะหรือน้ำขังจะได้ผักเป็ดที่มียอดโตอวบ อ่อนนุ่ม และค่อนข้างยาว ตำรับปรุงผักเป็ดที่นิยมในชนบทภาคกลาง ก็คือ ชุบแป้งทอดให้เป็นแผ่น อาจจะมีกุ้งฝอยผสมลงไปด้วยก็ได้เหมือนกัน

ประโยชน์ด้านอื่นๆ ของผักเป็ด
คนไทยรู้จักนำผักเป็ดมาใช้เป็นสมุนไพรรักษาโรคมาตั้งแต่ครั้งโบราณ ดังปรากฏอยู่ในตำราแพทย์แผนโบราณฉบับต่างๆ ในหนังสือประมวลสรรพคุณยาไทย บรรยายประโยชน์ทางยาของผักเป็ดว่า

"ใช้ทั้งต้นทั้งราก เป็นยาดับพิษโลหิต ฟอกโลหิตประจำเดือน แก้ประจำเดือนขัดข้อง และบำรุงโลหิตด้วย โดยมากมักทำยาดองเปรี้ยวเค็ม เป็นยาระบายอ่อนๆ ทั้งฟอกและบำรุงโลหิตสตรี"

จากตำราเล่มนี้จะเห็นว่าไม่ได้ แยกผักเป็ดเป็นชนิดขาวหรือแดง คงจะให้ใช้ได้ทั้ง ๒ สี แต่ในตำราบางเล่มเจาะจงให้ใช้เฉพาะผักเป็ดแดงเท่านั้น เช่น ตำราเวชเภสัชกรรมแผนโบราณ บรรยายสรรพคุณของผักเป็ดเฉพาะผักเป็ดแดง ว่า

"ผักเป็ดแดง : รสขื่นเอียน สรรพคุณ บำรุงโลหิต ดับพิษโลหิต"

ส่วนตำราสรรพคุณสมุนไพร สาขาเภสัชกรรมแพทย์แผนโบราณ ก็บรรยายเฉพาะสรรพคุณของผักเป็ดแดงไว้เท่านั้น คือ

"ผักเป็ดแดง ต้น : รสเย็น ดับพิษโลหิต ระบายอ่อนๆ ฟอกและบำรุงโลหิต แก้ระดูพิการเป็นลิ่ม เป็นก้อนดำเหม็น ปวดเมื่อยบั้นเอวและท้องน้อย"

ในประเทศศรีลังกา ใช้ต้นต้มเป็นยาแก้ไข้ และเป็นอาหารบำรุงของแม่ลูกอ่อน

ผักเป็ดใช้เป็นอาหารสัตว์ได้ดี เช่น หมู เป็ด ไก่ กระต่าย ฯลฯ หรือผสมเป็นอาหารปลา เพราะมีคุณค่าทางอาหารสูงและย่อยง่าย ผักเป็ดใช้เป็นพืชน้ำประดับ ตู้ปลาได้ เพราะสามารถออกรากในน้ำ เมื่อผู้เขียนเป็นเด็กเคยเลี้ยงปลากัดในขวด จำได้ว่าใส่ผักเป็ดในขวดปลากัด เพื่อให้ปลาได้อาศัยพักผ่อนและปรับสภาพให้ใกล้เคียงกับธรรมชาติด้วย สำหรับผักเป็ดแดงนั้น ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับได้ดี เพราะสีสวย ปลูกง่าย ทนทาน โตเร็ว สามารถปลูกได้ทั่วไป หวังว่าเรื่องราวที่นำเสนอในตอนนี้ นอกจากเป็นการแนะนำให้ผู้อ่านบางท่านได้รู้จักผักเป็ดแล้ว ยังอาจทำให้ผู้อ่านอีกหลายท่านใช้ประโยชน์จากผักสามัญชนิดนี้มากขึ้นด้วย

ข้อมูลสื่อ

248-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 248
ธันวาคม 2542
พืช-ผัก-ผลไม้
เดชา ศิริภัทร