• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

หลักการใช้วิตามินและแร่ธาตุ

“ สมุนไพรที่ทำเป็นยา(จริงๆ)ที่สำคัญมากคือ ต้องปราศจากสารปนเปื้อนพวกสารหนู และจุลินทรีย์ที่เป็นพิษต่อร่างกาย"

นอกจาก “ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและสมุนไพร” ที่มีแนวโน้มในการใช้เพื่อสุขภาพมากขึ้นๆแล้ว “วิตามินและแร่ธาตุ” กำลังมาแรงเช่นกัน เท่าที่ผมสังเกตจากพฤติกรรมการใช้ผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ พอจะเข้าใจวัตถุประสงค์ของผู้บริโภคทั่วๆไปได้คือ “ต้องการใช้เพื่อป้องกันและรักษาโรค” มีส่วนหนึ่งต้องการใช้เพื่อบำรุงผิวพรรณหรือความงาม แต่ก็พบว่ามีปัญหาในการใช้วิตามินและแร่ธาตุ ดังนี้ 

- ได้รับข้อมูลจากการโฆษณา จากทั้งในและต่างประเทศในลักษณะ หวังผลทางธุรกิจการค้ามากกว่า ผลงานวิจัยทางวิชาการจริงๆ 
- มีแนวคิดในการใช้แบบ “if little is good, more is better” คือยิ่งใช้ในขนาดมากๆ ยิ่งดีกว่า 
- เข้าใจสรรพคุณของวิตามินและแร่ธาตุว่าสามารถป้องกันและรักษาโรคได้มากมายอย่างครอบจักรวาล 
- ใช้โดยไม่แน่ใจว่าตนเองขาดวิตามินและแร่ธาตุจริงหรือไม่ 
- ไม่รู้จะเลือกใช้ผลิตภัณฑ์อย่างไรดี 
- ชอบใช้ยามากกว่าจะสนใจวิตามินจากแหล่งอาหาร ปัญหาในการใช้วิตามินและแร่ธาตุทั้งหมดนี้จะส่งผลสุดท้ายคือ ได้รับมากจนเกินขนาดทำให้เกิดอาการข้างเคียงและได้รับพิษ เราจึงควรทราบ “หลักการใช้วิตามิน และแร่ธาตุ” ดังนี้

๑. ใช้เพื่อเสริมในกรณีได้รับวิตามินและแร่ธาตุจากอาหารไม่เพียงพอ (supplement)
แต่ที่สำคัญต้องประเมินก่อนโดยวิธีทางวิทยาศาสตร์ การพิจารณาจากอาหารที่กิน (dietary assessment) เป็นวิธีง่ายที่สุด สามารถประเมิน ได้คร่าวๆ สำหรับขนาดที่ใช้เพื่อเสริมอาหารควรใช้ค่าไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๕๐ ของค่า RDA (ค่าความต้องการแต่ละวัน) และไม่ควรเกินร้อยละ ๑๕๐ ของค่า RDA ซึ่งเราสามารถใช้ค่านี้เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ดีได้โดยดูจากฉลากที่ระบุไว้
๒. ใช้เพื่อรักษาโรคขาดวิตามิน และแร่ธาตุ (treatment of deficiency or dependency) ขนาดการใช้จะสูงกว่าระดับความต้องการวิตามินและแร่ธาตุแต่ละวัน แต่มักใช้เพียงระยะเวลาหนึ่งจนกระทั่งอาการของโรคนั้นๆหมดไป
๓. ใช้เพื่อป้องกันหรือรักษา โรคหรือใช้ทางการแพทย์ (therapeutic use) โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิตามินที่มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) ได้แก่ วิตามินอี วิตามินซี และเบต้าแคโรทีน ได้รับความสนใจเป็นพิเศษ มีการนำทฤษฎีอนุมูลอิสระ มาอธิบายถึงสาเหตุการเกิดพยาธิสภาพหรือโรคต่างๆ ได้แก่ โรคมะเร็ง โรคหัวใจขาดเลือด โรคต้อกระจก ตลอดจนการแก่ของเซลล์ (aging) 

                           

                    
สำหรับประสิทธิผลของสารต้าน อนุมูลอิสระในการป้องกันและรักษาโรคต่างๆกำลังอยู่ในขั้นศึกษาวิจัย บางสรรพคุณก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ จึงควรติดตามผลการวิจัยให้แน่นอนก่อน
แต่ที่แน่ๆ วิตามินและแร่ธาตุ มิใช่มีสรรพคุณครอบจักรวาลอย่างแน่นอนครับ

ข้อมูลสื่อ

232-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 232
สิงหาคม 2541
ภก.นิพล ธนธัญญา