• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

พิษงูรักษาโรค

พิษงูรักษาโรค

หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ประจำวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2539 ลงบทความเกี่ยวกับสุขภาพ เขียนโดย ทอม เวลลส์ เล่าเรื่องนายบิล เฮสต์ อายุ 85 ปีที่ปรากฏในรูปนั่นแหละครับกับงูของแก ความจริงผมเกือบจะเขียนว่า “เฒ่าเฮสต์” แต่พอเห็นรูปแกซึ่งก็ถ่ายตอนแกอายุ 85 ปี แล้วเรียกไม่ออก เพราะแกดูหนุ่มกว่าผมเสียอีก

ตาเฮสต์แกชอบงูมาตั้งแต่เด็ก พออายุ 7 ขวบก็เก็บงูมาเลี้ยง เกือบจะตายเพราะงู เมื่ออายุ 12 ขวบโดนงูคอปเปอร์เฮดกัด งูคอปเปอร์เฮดเป็นงูประเภทเดียวกับงูหางกระดิ่งหรือแรตเติลสเนก ซึ่งมีพิษมากของอเมริกากลางแต่หางของมันไม่มีกระดิ่ง

หลังจากนั้นหนูน้อยเฮสต์ก็ย้ายมาอยู่ฟลอริดาอันเป็นรัฐทางใต้ของสหรัฐอเมริกา เป็นรัฐที่มีชื่อว่ามีสัตว์เลื้อยคลานเยอะ ที่ขึ้นชื่อคือจระเข้กับงู ตอนนั้นไปอยู่กับคนเลี้ยงงูที่มีอาชีพทางแสดงเกี่ยวกับงูให้นักท่องเที่ยวชม ต่อมาเกิดมีเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก รวมทั้งอเมริกาและเมืองที่แกอยู่ด้วย เลยเปลี่ยนอาชีพไปต้มเหล้าเถื่อน ที่จริงเหล้ากับงูเข้ากันไม่ได้ยิ่งกว่าน้ำกับน้ำมัน แต่เนื่องจากแกต้องหลบไปต้มเหล้าเถื่อนแถวป่าชายเลน จึงทำให้มีโอกาสได้สัมผัสกับงูอีก

นายเฮสต์คงวุ่นอยู่กับงูและสร้างสวนงูจนละเลยครอบครัว ถูกเมียทิ้งปล่อยให้ลูกชายคนเดียวอยู่กับแกโดยช่วยแกดูแลสวนงู ตอนนั้นชีวิตนายเฮสต์อัตคัดพอดูเพราะต้องอยู่กระต๊อบ กินอาหารกระป๋อง ซึ่งในอเมริกาถือว่าเป็นอาหารของผู้ที่อยู่ห่างไกลความเจริญ ไม่สามารถหาอาหารสดมากินได้ อาบน้ำจากตุ่มเพราะไม่มีห้องน้ำ ซึ่งเป็นสุขภัณฑ์พื้นฐานของบ้านโดยทั่วไป

เฮสต์เชื่อว่าพิษงูใช้รักษาโรคได้โดยอาศัยความจริงที่ว่าการได้รับพิษงูครั้งละน้อยๆจะทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา และการเพิ่มปริมาณพิษมากขึ้นจะทำให้ภูมิคุ้มกันถูกสร้างเพิ่มมากขึ้นด้วย ความคิดของเฮสต์มีความเป็นวิทยาศาสตร์อยู่ไม่น้อย เพราะภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างมาต้านพิษงูแต่ละชนิดจะต่างกัน และอาจมีฤทธิ์ต้านเชื้อโรคหรือความผิดปกติอย่างอื่นนอกจากพิษงูก็ได้ ทางการแพทย์เรียกว่า Cross immunity หรือภูมิคุ้มกันข้ามสายพันธุ์ เฮสต์ทดลองกับตัวเองก่อน โดยใช้พิษงูหางกระดิ่งฉีดเข้าร่างกายครั้งละน้อยๆ เริ่มตั้งแต่ พ.ศ.2491 โดยฉีดสัปดาห์ละครั้ง จนกระทั่งบัดนี้เฮสต์มีภูมิคุ้มกันงูพิษ 32 สายพันธุ์ 

เมื่อ พ.ศ. 2512 ประมาณ 2o ปีหลังจากที่เขาเริ่มสร้างภูมิคุ้มกันพิษงูในตัวเขา เขาได้ช่วยชีวิตผู้อำนวยการสวนสัตว์ในไอโอวาที่ถูกงูพิษกัด โดยการให้เลือดที่มีภูมิคุ้มกันพิษจากตัวเขาสู่ผู้ถูกงูกัด ทำให้ผู้ถูกงูกัดรอดตาย เฮสต์ยังเก็บจดหมายจากผู้อำนวยการสวนสัตว์คนนั้นเอาไว้จนถึงทุกวันนี้เขาเขียนว่า  “ทุกเช้าที่ผมตื่นนอนมาเห็นแสงตะวัน ผมนึกถึงคุณ”

เฮสต์เชื่อว่าภูมิคุ้มกันที่เกิดจากพิษงูนี้สามารถรักษาโรคได้หลายอย่าง  และยังทำให้เขามีสุขภาพดี เฮสต์บอกว่า ผมไม่เคยเจ็บป่วยแม้แต่วันเดียว ในชีวิตของผมนี้ไม่เคยไปหาหมอ ไม่เคยแม้แต่เป็นหวัด”

นอกจากนั้นแม้อายุมากขนาดนี้เฮสต์ไม่เคยเป็นโรคปวดข้อ กล้ามเนื้ออักเสบ ข้ออักเสบหรือโรคติดเชื้ออื่นใด ไม่เคยต้องใช้ยา ไม่เคยแม้แต่จะกินแอสไพริน (แอสไพรินเป็นยาแก้ไข้แก้ปวดที่เคยมีใช้กันจนกระทั่งมียาพาราเซตามอลมาแทนเมื่อประมาณ 2o กว่าปีมานี้เอง)

แม้ว่าเฮสต์มีอายุ 85 แล้ว แต่ดูเหมือนเพิ่งจะมีอายุ 6o เดินเหินกระฉับกระเฉง หลังตั้งตรง ทำงานอยู่ในสวนงูที่ฟลอริดาวันละหลายชั่วโมง

มีคนถามเสมอว่าพิษงูเป็นยารักษาที่ใช้รักษาโรคและอายุวัฒนะจริงหรือ เฮสต์ตอบว่า “คอยอีก 15 ปี ตอนผมอายุ 1oo ปี ถ้าผมยังแข็งแรงเหมือนอายุตอนนี้ คุณก็น่าจะพอเชื่อได้”

ราวๆ พ.ศ.2515 เฮสต์ผลิตยาจากพิษงูขึ้นมาขนานหนึ่งชื่อ “โพรเวน” (Proven) นำไปให้หมอคนหนึ่งชื่อ เบ็น เชปพาร์ด ใช้ หมอ เบ็น เชปพาร์ดเป็นโรคข้ออักเสบชนิดรูมาตอยด์ ปรากฏว่าได้ผลดี หมอเชปพาร์ดจึงใช้ยานี้รักษาผู้ป่วยโรคข้ออักเสบเรื่อยมาและยังใช้รักษาโรคอื่นๆ อีกหลายอย่าง ต่อมาคลินิกถูกทางการสั่งปิด ตอนนั้นเฮสต์เสียใจมาก เพราะเขาคิดว่ากำลังจะช่วยให้มนุษยชาติได้ยารักษาโรคที่มีสรรพคุณวิเศษแต่มาถูกทางการสั่งปิด เขาจึงเลิกกิจการที่ฟลอริดาย้ายไปอยู่ที่ยูทาห์ ซึ่งมีสภาพดินฟ้าอากาศต่างกันลิบลับ เฮสต์ยังผลิตพิษงูอยู่ ไม่ใช่เพื่อการรักษาโรค แต่เพื่อการวิจัย หลังจากอยู่ยูทาห์ 6 ปี เฮสต์ก็ย้ายกลับมาฟลอริดาอีก

ก่อนที่คลินิกของหมอเชปพาร์ดจะถูกสั่งให้ปิดนั้น ปรากฏว่ากิจการกำลังเจริญ เคยมีรายการโทรทัศน์มาสัมภาษณ์และทำข่าว ผู้ป่วยของหมอเบ็น เชปพาร์ดส่วนมากเป็นโรคทางระบบประสาทกล้ามเนื้อ (multiple sclerosis) ผู้คนหลั่งไหลมาทั่วทุกสารทิศของสหรัฐ บางคนเดินทางมาจากต่างประเทศเพื่อจะให้รักษาโรคเหล่านี้

คลินิกที่ใช้พิษงูของเฮสต์รักษาโรคถูกปิดนั้น ในอเมริกาเข้าใจได้ง่าย เพราะการรักษาโรคถือเป็นอาชีพที่มีการควบคุมอย่างใกล้ชิดมาก จะทำอะไรตามใจชอบไม่ได้ ยาที่ใช้ต้องผ่านการตรวจสอบอย่างละเอียด ซึ่งตามปกติจะใช้เวลาหลายปีกว่าทางการซึ่งหมายถึงสำนักงานอาหารและยาจะอนุญาตให้ใช้ในการรักษาโรคได้ ผมว่าทั้งเฮสต์และหมอคนที่ใช้ยายังโชคดีที่เพียงแต่ถูกปิดคลินิก เพราะอาจถูกฟ้องร้องได้ทั้งทางอาญาและทางแพ่ง

การตั้งสวนงู(หรือฟาร์มงู หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า snake farm) ของเฮสต์ที่ฟลอริดาครั้งที่ 2 นี้ มีงูกว่า 4oo ชนิด รีดพิษงูทุกวัน และส่งขายให้แก่สถาบันวิจัยทั่วสหรัฐ ราคาของพิษงูไม่ใช่ถูกๆ ลองเทียบดูเองนะครับ พิษจากงูเขียวของแอฟริการาคากรัมละ 15o,ooo บาท เป็นต้น

มีตอนหนึ่งของเรื่องเกี่ยวกับงูที่ผิดไปจากที่ผมเคยรู้และประสบมา กล่าวคือ เฮสต์กล่าวว่าเมื่อ พ.ศ.2497 เขาถูกงูสามเหลี่ยมกัดและเกือบต้องเสียชีวิต เขาเล่าว่า ผมไม่เคยได้ยินว่าใครถูกงูสามเหลี่ยมกัดแล้วรอดชีวิตมาได้เลย” เขาพูดถึงความเจ็บปวดที่เกิดจากพิษงูว่าผมรู้สึกคล้ายถูกถลกหนัง เส้นประสาทถูกดึงออกมาจากฟัน และผมถูกกระชากให้หลุดจากหนังศีรษะ”

เฮสต์บอกว่า “งูสามเหลี่ยมสีเทา” (blue krait) ตัวนี้ได้มาจากทวีปเอเชีย ซึ่งคงจะไม่ใช่งูสามเหลี่ยมที่มีปล้องเหลืองสลับดำหรือสลับน้ำตาลเข้ม แต่อาจเป็นปล้องเทาสลับดำหรือสลับน้ำเงินซึ่งเรียกว่างูทับสมิงคลา (Malayan krait)

ไม่ว่างูสามเหลี่ยมหรืองูทับสมิงคลาต่างก็มีพิษคล้ายงูเห่า ผิดกันแต่อาการเจ็บปวดเฉพาะที่มีน้อยหรือไม่มี แต่อาการทั่วไปได้แก่หนังตาตก หายใจลำบาก หรือง่วงซึมมีเหมือนกัน ในบทความฉบับเดียวกันกล่าวว่าถ้าเปรียบเทียบหยดต่อหยด พิษงูสามเหลี่ยมมีมากกว่างูเห่าหลายเท่า” ซึ่งผมก็ไม่คิดว่าเป็นความจริง อย่างน้อยก็ยังไม่เคยพบว่ามีใครศึกษาเปรียบเทียบไว้

ตรงนี้ผมคิดว่าควรจะต้องเรียนให้ท่านผู้อ่านทราบเกี่ยวกับงูสามเหลี่ยมเล็กน้อย

  •  งูสามเหลี่ยมที่เราเห็นกันทั่วไปเป็นงูที่มีขนาดเมตรกว่าๆ (๑ เมตรถึง ๑ เมตรครึ่ง) มีปล้องสีเหลืองสลับดำชัดเจน ลำตัวเป็นรูปสามเหลี่ยมมีสันคมที่กลางหลัง งูสามเหลี่ยมหากินตามพื้นดิน ปกติมีอยู่ทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปจนถึงตอนใต้ของประเทศจีน และบางส่วนของอินโดนีเซีย อาหารของมันได้แก่ งู กบ และสัตว์เลื้อยคลานอื่นๆ (แย้ กิ้งก่า จิ้งเหลน ฯลฯ) โดยมากหากินกลางคืนกลางวันจะเชื่องช้า ไม่ค่อยกัดใคร

ผมเคยเห็นคนจับงูสามเหลี่ยมมาขายเป็นเข่งๆ เอามือเปล่าลงไปล้วงขึ้นมาทีละหลายตัวไม่เคยพบว่าถูกกัด ที่โรงพยาบาลศิริราชมีคนถูกงูสามเหลี่ยมกัดมาให้รักษาปีละไม่เกิน 5 ราย (ระหว่าง พ.ศ.2515-2535) ไม่มีผู้เสียชีวิตจากงูสามเหลี่ยมกัด ถ้าได้รับการรักษาทันท่วงที แม้ในที่ที่ไม่มีเซรุ่มแก้พิษงู แต่มีอุปกรณ์ช่วยการหายใจก็จะสามารถช่วยชีวิตผู้ที่ได้รับพิษงูสามเหลี่ยมได้ เคยมีรายงานจากโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา (2536) ว่ามีอัตราตายร้อยละ 5o ซึ่งเข้าใจว่าเกิดเพราะไม่ได้รับการช่วยเหลือทันท่วงที สำหรับโรงพยาบาลศิริราชแม้งูเห่ากัดก็มีอัตราตายเพียงร้อยละ 1o-11 เท่านั้น

งูทับสมิงคลามีลักษณะทั่วไปคล้ายงูสามเหลี่ยมมาก แต่แทนที่จะมีปล้องดำสลับเหลืองก็เป็นดำสลับขาว งูทับสมิงคลาว่องไวและมักจะกัดถ้าถูกรบกวน พิษของงูทับสมิงคลากับงูสามเหลี่ยมคล้ายกัน แม้จะไม่เหมือนกันทีเดียว กล่าวคือ มีอาการเฉพาะที่น้อย อาการส่วนใหญ่จะเกิดทางระบบประสาท ในประเทศไทยยังไม่มีเซรุ่มแก้พิษงูทับสมิงคลา แต่ดังได้กล่าวแล้วว่าไม่จำเป็นนัก เพราะถ้ามีเครื่องช่วยหายใจที่ดีก็สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้แล้ว

เรื่องงูยังมีสิ่งที่น่าสนใจน่ารู้อีกมาก ผมมีความรู้สึกว่าสิ่งใดก็ตามที่มีพิษถ้านำมาใช้ถูกวิธีอาจเกิดกับคุณได้ กรณีของพิษงูก็ไม่น่าจะต้องยกเว้น เคยมีผู้แนะนำว่าพิษงูนอกจากจะใช้รักษาโรคทางเส้นประสาทแล้วยังใช้รักษาโรคเกี่ยวกับข้อ ได้แก่ ข้อเสื่อม ข้ออักเสบ โรคเกี่ยวกับไวรัส เช่น เริมและงูสวัด โรคกล้ามเนื้อฝ่อที่ไม่ทราบสาเหตุ และอื่นๆอีกมากมาย แม้ยาโพรเวนจะถูกห้ามขายในอเมริกา แต่ที่ประเทศเยอรมนียังมีขายทั่วไปภายใต้ชื่อทางการค้าว่า ฮอร์วี่ เอ็ม เอส ไนน์ (Horvi MS9)

นายเฮสต์ก็เป็นคนหนึ่งที่มีความคิดริเริ่มที่ดี แต่แกไม่มีความรู้พื้นฐานทางเภสัชวิทยาและชีววิทยา ถ้ามีผู้ร่วมงานที่มีความรู้ทางด้านนี้ ป่านนี้อาจมียาที่มีประสิทธิภาพดีในการรักษาโรค หรือยาเสริมสุขภาพออกมาให้ใช้กันแล้วก็ได้ ในสังคมที่แสวงผลประโยชน์ ข้อเสียของการใช้ของแปลกรักษาโรคคือ คนที่หมดทางรักษาจะตกเป็นเหยื่อของคนประเภทหลอกลวง แต่ถ้ายานั้นดีจริง ผู้ที่มีนิสัยช่างระแวงก็จะเสียประประโยชน์ที่จะได้รับจากยาที่มีประสิทธิภาพ

 

                                         **********************************************

ข้อมูลสื่อ

205-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 205
พฤษภาคม 2539
เรื่องน่ารู้
รศ.นพ.เกษียร ภังคานนท์