• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

จำปา : พระยาแห่งดอกไม้ของคนไทยสมัยก่อน

จำปา : พระยาแห่งดอกไม้ของคนไทยสมัยก่อน


 " อะไรในโถ  ส้มโอปอก  อะไรในจอก  ข้าวตอกนั้น
  อะไรในขัน  มะดันแช่  อะไรในแคร่  ไหเหล้าไหยา
  อะไรในผ้า  จำปาซ่อนกลิ่น  ...ฯลฯ"

 

ข้อความที่ยกมาขึ้นต้นบทความตอนนี้ คัดมาจาก บทเด็กเล่นชื่อ "อะไรในโถ" จากหนังสือบทกลอนกล่อมเด็กฉบับสอบ ของหอพระสมุดวชิรญาณ ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๓ นับถึงปัจจุบันก็ได้ ๘๐ ปีแล้ว จากเนื้อหาคำทายและคำตอบแสดงให้เห็นสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คนสมัยนั้น เช่น เครื่องใช้ต่างๆ รวมถึงอาหาร เครื่องดื่ม ผลไม้ ดอกไม้ สิ่งที่เกี่ยวข้องกับบทความตอนนี้ คือ ดอกไม้ที่ผู้คนสมัย ๘๐ ปีก่อนโน้น นิยมห่อผ้าเอาไว้ดมกลิ่นหอม ก็คือ จำปาและซ่อนกลิ่น

ซึ่งปัจจุบันความนิยมของดอกไม้ทั้ง ๒ ชนิดนี้ ในหมู่คนไทยลดน้อยลงมาก สำหรับซ่อนกลิ่นนั้น คนไทยปัจจุบันแทบจะไม่ปลูกเอาไว้ในบริเวณบ้านหรือนำมาดมกลิ่นหอมเลย ทั้งนี้เพราะถือว่าเป็นดอกไม้สำหรับงานศพ จึงไม่เป็นมงคลสำหรับชีวิตประจำวันนับว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายที่คนไทยมีทัศนคติไม่ดีต่อดอกไม้ที่ดีๆ อย่างซ่อนกลิ่นที่เป็นดอกไม้ยอดนิยมในหลายๆประเทศ เช่น อินเดีย ศรีลังกา บังคลาเทศ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฯลฯ โดยนำมาร้อยเป็นพวงมาลัยคล้องให้กันในงานมงคลต่างๆ อย่างแพรหลายไม่ต่างกับดอกมะลิในเมืองไทยเลย

สำหรับดอกจำปา คนไทยปัจจุบันก็ไม่ค่อยให้ความนิยมเท่าแต่ก่อน เช่น การทำพวงมาลัยก็มักใช้ดอกจำปีแทน เหตุผลส่วนหนึ่งก็เนื่องจากชื่อที่มีคำว่า "ปา" ให้ความ หมายไปในทางทิ้งขว้าง (ปา) ฟังดูไม่เป็นมงคลนั่นเอง  คล้ายกับกรณีของลั่นทมซึ่งมีสำเนียงคล้าย "ระทม" จึงทำให้คนไทยส่วนใหญ่ไม่นิยมปลูกลั่นทมกันในปัจจุบัน

จำปา : ตัวแทนอารยธรรมจากอินเดีย
จำปาเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางใหญ่ อาจสูงถึง ๑๐ เมตร มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Michelia champaca Linn. อยู่ในวงศ์ Magnoliaceae เช่นเดียวกับจำปีที่อยู่ในสกุลเดียวกัน ลักษณะทั่วไปของจำปาก็คล้ายกับจำปีนั่นเอง มีต่างกันไม่มากนัก เช่น ใบจำปีจะเขียวเข้มและเป็นมันกว่าใบจำปา ดอกจำปามีกลีบใหญ่และยาวแต่บางกว่ากลีบดอกจำปี สีกลีบดอกจำปามีสีเหลืองอมส้ม เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร คนไทยเรียกสีดังกล่าวนี้ว่า "สีดอกจำปา" เช่นเดียวกับที่เรียก "สีดอกบวบ" (เหลือง) และ "สีดอกเซ่ง" (แดง) เป็นต้น สีดอกจำปานี้ ต่อมากร่อนลงเหลือเป็น "สีจำปา" เฉยๆ เช่น สีของยวงขนุนบางพันธุ์ มีสีเหลืองอมส้ม ก็เรียกว่า "ขนุนจำปา" เป็นต้น แสดงว่ามียวงสีจำปานั่นเอง

จำปามักติดเมล็ดมาก ต่างจากจำปีซึ่งไม่ค่อยติดเมล็ด การขยายพันธุ์จำปาจึงนิยมใช้วิธีเพาะเมล็ด ซึ่งง่ายกว่าจำปีที่ต้องใช้การตอนเป็นหลัก นี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้จำปาปลูกกันแพร่หลายกว่าจำปีในสมัยก่อน เพราะจำปีตอนยาก ราคากิ่งตอนจึงแพง เชื่อกันว่าจำปามีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย เพราะชื่อวิทยาศาสตร์ของจำปามีคำลงท้ายว่า champaca ซึ่งเป็นชื่อของจำปาในประเทศอินเดีย ภาษาฮินดีเรียกจำปาว่า จัมปา คนไทยคงเรียกชื่อจำปาตามคนอินเดียนี่เอง ส่วนภาษาสันสกฤตเรียก จัมปกะ แสดงว่าชื่อวิทยาศาสตร์ของจำปามาจากภาษาสันสกฤต คนอินเดียคงนำจำปามาเมืองไทยพร้อมๆ กับการติดต่อค้าขาย และเผยแพร่อารยธรรม (เช่น ภาษา ศาสนา การปกครอง ฯลฯ) มานับพันปีแล้ว ความนิยมและความเชื่อของคนอินเดียที่มีต่อจำปา ก็คงถ่ายทอดมาสู่คนไทยมาตั้งแต่โบราณกาลแล้วเช่นเดียวกัน

ในอินเดียถือว่าต้นจำปาเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ จึงมักจะปลูกไว้ตามสถานที่เคารพ ไม่หักกิ่งก้าน นิยมนำดอกจำปาไปบูชาเทวดา สิ่งศักดิ์สิทธิ์และพระสงฆ์ รวมทั้งนิยมนำมาทัดหู ห้อยผม ทำพวงมาลัย ฯลฯ (เช่นเดียวกับดอกลั่นทม) คนไทยสมัยก่อนก็ปฏิบัติเช่นเดียวกับชาวอินเดีย เช่น นำมาทัดหู แซมผม ห้อยประดับมงกุฎเมื่อเล่นโขน ละคร นอกจากนั้นยังปลูกต้นจำปาเป็นไม้เสี่ยงทายด้วย

ส.พลายน้อย กล่าวไว้ในหนังสือ "พืชพรรณไม้มงคล" ว่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยาคนไทยยกย่องดอกจำปาเป็น "พระยาแห่งดอกไม้" ดังมีเนื้อเพลงว่า

"เจ้าเอยจำปา   เรียกว่าพระยาดอกไม้
 หอมฟุ้งจรุงใจ   พี่เก็บมาให้เจ้าเอย"

ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยากล่าวว่า พันบุตรศรีเทพส่งดอกจำปาไปให้ท้าวศรีสุดาจันทร์และมีประเพณีนำดอกจำปามาให้คณะทูตเป็นการต้อนรับ ต้นจำปานั้นได้รับการยกย่องนับถือทั้งในศาสนาพราหมณ์ (ฮินดู) และศาสนาพุทธเช่นเดียวกับต้นโพธิ์ ต้นไทร ในหนังสือเรื่องอนาคตพระพุทธเจ้ากล่าวว่า ในอนาคตพระเทวเทโวจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าที่โคนต้นจำปา
 

ประโยชน์ของจำปา
จำปานั้นคงเข้ามาในประเทศไทยก่อนจำปีนานหลายร้อยปี เพราะจำปามีถิ่นกำเนิดในอินเดีย ส่วนจำปีเชื่อว่ากำเนิดในหมู่เกาะอินโดนีเซีย ซึ่งคงติดต่อกับไทยหลังจากชาวอินเดียหลายศตวรรษ ความก่อนหลังของการเข้ามาในประเทศไทยทำให้คนไทยรู้จักคุ้นเคยจำปามากกว่าจำปีในแง่การใช้ประโยชน์ เช่น การนำมาเป็นยารักษาโรค เป็นต้น ในหนังสือตำรายาไทยโบราณกล่าวถึง สรรพคุณทางยาจากส่วนต่างๆ ของ จำปามากมาย แต่กล่าวถึงสรรพคุณทางยาของจำปีน้อยมาก ทั้งๆ ที่จำปาและจำปีมีหลายอย่างคล้ายกันมาก อาจเป็นไปได้ว่านอกจากคนไทยเรียนรู้สรรพคุณของจำปาจากชาวอินเดียที่ใช้กันมาก่อนแล้ว ยังมีเวลาเรียนรู้ด้วยตนเองจากช่วงเวลาอันยาวนานที่จำปาเข้ามาอยู่ร่วมกับคนไทยอีกด้วย

ในตำราสรรพคุณยาโบราณของกรมหลวงวงศาธิราช กล่าวว่า ใบจำปา แก้ไข้อภิญญาณ ดอกทำให้เลือดเย็น เปลือกแก้คอแห้ง กระพี้แก้พิษสำแลง (ไข้ซ้ำ) แก่นแก้กุฏฐัง (โรคเรื้อน) ยางแก้ริดสีดวงพลวก รากขับเลือดเน่า ตำราประมวลสรรพคุณยาไทยของสมาคมโรงเรียนแพทย์แผนโบราณ (วัดโพธิ์) กล่าวว่า ดอกใช้ปรุงเป็นยาบำรุงหัวใจ บำรุงประสาท บำรุงเลือด ดอกและลูกบำรุงธาตุ แก้คลื่นเหียนและไข้ ขับปัสสาวะ ใบแก้โรคเส้นประสาท แก้ป่วง รากแห้ง และเปลือกหุ้มราก ผสมกับนมสำหรับบ่มฝี เนื้อไม้บำรุงประจำเดือนสตรี น้ำมันจากดอกทาแก้ปวดศีรษะ และตาบวม เปลือกจากต้นแก้ไข้

ไม้จากต้นจำปามีสีเหลืองถึงน้ำตาลอ่อน เหนียว เป็นมัน ทนปลวก เลื่อยไสตกแต่งได้ง่าย นำไปใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น สร้างบ้าน ต่อเรือ ทำเฟอร์นิเจอร์ เครื่องมือ หีบ เครื่องกลึง เครื่องแกะสลัก ของเล่นเด็ก ฯลฯ จะเห็นว่าจำปาเป็นไม้มีค่าในการใช้สอยเช่นเดียวกับไม้มีค่าชนิดอื่นๆ เช่น ก้านเหลือง มะม่วงป่า กะท้อน ฯลฯ เป็นต้น จำปานั้นแม้จะไม่อยู่ในรายชื่อ ไม้มงคลที่ปลูกตามทิศต่างๆ ของบ้านไทยตามตำราโบราณ แต่ก็อาจถือว่า จำปาอยู่ในประเภทไม้มงคลที่น่าจะปลูกไว้ในบริเวณบ้านอีกชนิดหนึ่ง หากถือตามคติของชาวฮินดูและชาวพุทธในอินเดียแล้วจำปาจะจัดอยู่ในระดับสูงสุด ที่เป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์เช่นเดียวกับต้นโพธิ์ ต้นไทร และลั่นทม (จำปาขอม) เลยทีเดียว แต่ต้นไม้ทั้ง ๓ ชนิด ดังกล่าว คนไทยโบราณมีข้อห้ามไม่ให้ปลูกในบ้าน แต่จำปาไม่ถูกห้ามจึงน่านำมาปลูกเอาไว้เป็นสัญญลักษณ์ของสิ่งมงคลและศักดิ์สิทธิ์ยิ่งของทั้ง ๒ ศาสนา 

ต้นจำปานอกจากจะให้ความหมายทางวัฒนธรรม (ศาสนา) ความเชื่อที่สืบทอดมายาวนานแล้ว ยังคงมีคุณค่าที่สัมผัสได้ในปัจจุบันด้วย นั่นคือ ร่มเงา ความงดงามของทรงพุ่ม สีของดอก และกลิ่นหอม อันเป็นเอกลักษณ์เช่นเดียวกับจำปีที่คนไทยปัจจุบันนิยมปลูกกันแพร่หลายแล้ว

ข้อมูลสื่อ

251-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 251
มีนาคม 2543
พืช-ผัก-ผลไม้