• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

รากฐานของสุขภาพ

รากฐานของสุขภาพ


ความผิดปกติหลายอย่าง เช่น โรคหัวใจ และเบาหวาน หาใช่เป็นผลพวงจากนิสัยที่ไม่ดีหรือยีนไม่ดีเท่านั้น ศาสตร์ใหม่ที่เรียกว่า "ลิขิตแห่งทารกในครรภ์" (fetal programming) ได้เสนอมุมมองใหม่ว่า ตลอดช่วงของการเจริญครรภ์ในแต่ละเดือน เป็นการกำหนดชะตาชีวิตด้านสุขภาพของคุณเลยทีเดียว โดยมีความสัมพันธ์กับปัญหาสุขภาพ ๗ ประการ ได้แก่


๑. ความเครียด
โดยปกติแล้วจะมีเอนไซม์ชนิดหนึ่งในรกที่สามารถยับยั้งฮอร์โมนคอร์ติซอล ซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งความเครียดได้ (stress hormone) แต่ถ้ามารดาไม่ได้รับสารอาหารที่เหมาะสมและเพียงพอ เอนไซม์ดังกล่าวก็จะหมดสมรรถภาพ ทำให้ฮอร์โมนคอร์ติซอลเข้าสู่สมองของทารกได้ และจะเป็นปัจจัยเสริมต่อการเกิดความเครียดในช่วงวัยรุ่น ฮอร์โมนนี้ยังสามารถเพิ่มแรงดันเลือดได้ด้วย



๒. โรคอ้วน
ระหว่าง ๓ เดือนแรกของการตั้งครรภ์ หากมารดาได้รับสารอาหารไม่พอเพียง ซึ่งอาจมีอิทธิพลต่อการกำหนดศูนย์ควบคุมการกินในสมองของทารก เป็นผลให้แนวโน้มต่อโรคอ้วนในวัยผู้ใหญ่ของทารกคนนี้เพิ่มขึ้น

๓. โรคเบาหวาน
ถ้ามารดาเป็นโรคเบาหวาน ระดับน้ำตาลกลูโคสที่สูงผิดปกติในกระแสเลือดของเธอ อาจทำให้เกิดความเครียดต่อตับอ่อนของทารกซึ่งส่งผลต่อความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานในวัยผู้ใหญ่ อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงนี้จะลดลง ถ้าเขาสามารถควบคุมน้ำหนักได้อย่างสม่ำเสมอ

๔. โคเลสเตอรอล
ภาวะทุพโภชนาการของทารกในครรภ์จะทำให้เลือดส่วนใหญ่ถูกใช้ไปในการสร้างเซลล์สมองมากกว่าอวัยวะอื่นๆ เป็นผลให้การเจริญเติบโตของอวัยวะหลายอย่างในช่องท้องลดลง รวมทั้งตับด้วย ซึ่งทำให้ตับมีขนาดเล็กกว่าที่ควร ซึ่งจะลดประสิทธิภาพของมันในการทำหน้าที่ควบคุมระดับโคเลสเตอรอลในช่วงวัยผู้ใหญ่

๕. โรคมะเร็ง
ฮอร์โมนเอสโตรเจนและฮอร์โมนอื่นๆที่อยู่ในระดับสูง จะทำให้ทารกมีน้ำหนักแรกคลอดเพิ่มขึ้น รวมทั้งเพิ่มโอกาสในการเป็นมะเร็งเต้านมในวัยก่อน ๕๐ ปี เนื่องจากเนื้อเยื่อของเต้านมที่ตอบสนองต่อฮอร์โมนเอสโตรเจนในช่วงอายุต่อมาหลังคลอด อันเป็นผลมาจากการถูก "วางยา" จากระดับฮอร์โมนที่สูงข้างต้น

๖. โรคภูมิแพ้
ทารกที่อยู่ในครรภ์นานกว่า ๙ เดือน จะมีระดับแอนติบอดีชนิด IgE สูงกว่าปกติ ซึ่งจะนำไปสู่การเป็นโรคภูมิแพ้ชนิดต่างๆ ในช่วงวัยกลางคน

๗. โรคหัวใจ
เด็กทารกแรกคลอดที่มีน้ำหนักตัวต่ำไม่ได้สัดส่วนกับความสูง จะมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจในวัยฉกรรจ์ นักวิทยาศาสตร์ยังสงสัยต่อไปว่า การขาดสารอาหารระหว่างช่วงการเลี้ยงลูกด้วยนม อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคความดันเลือดสูง ร่วมกับการมีระดับโคเลสเตอรอลสูงด้วย

ข้อมูลสื่อ

248-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 248
ธันวาคม 2542