• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ท้องอืด ท้องเฟ้อ

ท้องอืด ท้องเฟ้อ


เคยไหมครับ เวลากินอะไรอิ่มใหม่ๆ รู้สึกว่ามันอึดอัด จุกเสียด แน่นท้องไปหมด เมื่อได้เรอหรือขับลมออกไปแล้วนั่นแหละ ทำให้รู้สึกโล่งท้องสบายขึ้น แต่ก็นั่นแหละบางคนเรอเท่าไรก็ไม่ยอมออกลมก็ไม่ผายอีกด้วย เลยต้องหันมาใช้ยาขับลมและยาช่วยย่อยอาหาร กินเข้าไปเพื่อไล่ลมหรือก๊าซในทางเดินอาหาร อาการท้องอืดท้องเฟ้อมีสาเหตุมาจากอะไรบ้าง ยาขับลมและยาช่วยย่อยบรรเทาอาการดังกล่าวลงได้อย่างไร มีข้อแนะนำหรือวิธีการอย่างไรบ้างที่จะช่วยให้อาหารย่อยได้ดีขึ้น ลดการเกิดลมหรือก๊าซในกระเพาะลำไส้เรามาช่วยกันค้นหาคำตอบกับสิ่งเหล่านี้กันเถอะ

ท้องอืดท้องเฟ้อเกิดขึ้นได้อย่างไร

อาการท้องอืดท้องเฟ้อ เป็นอาการที่มีก๊าซในท้องมากกว่าปกตินั่นเอง สาเหตุของการเกิดมีด้วยกันหลายอย่าง ได้แก่
1.ความตึงตัวของหูรูดหลอดอาหารหย่อนสมรรถภาพ

2.แผลในกระเพาะอาหารและลำไส้

3.ภาวะมีกรดมากเกินไป การหมักโดยแบคทีเรียในลำไส้ทำให้เกิดก๊าซขึ้น

4.ความผิดปกติของการย่อยอาหาร ทั้งในส่วนของกระเพาะอาหารเอง และในส่วนของลำไส้ เช่น ขาดเอนไซม์ซึ่งเป็นสารช่วยย่อยอาหารประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคาร์โบไฮเดรต ไขมัน โปรตีน เป็นต้น

5.ชอบดื่มเครื่องดื่มที่มีการอัดก๊าซไว้ เช่น น้ำอัดลม เบียร์ พอเปิดฝาปั๊บฟองพุ่งขึ้นปุ๊บ นั่นแหละตัวดีนักที่จะทำให้เกิดก๊าซหรือลมในท้อง

6.พวกที่ชอบกินอาหารเร็วๆ หรือดื่มเร็วจนไม่มีเวลาย่อย หรือพวกที่คุยเก่งจ้อไม่หยุด จนรู้สึกคอแห้งต้องกลืนน้ำลายบ่อยๆ

7.ชนิดของอาหาร อาหารบางชนิด เช่น ถั่ว มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาก คงเคยได้กลิ่นมาบ้างแล้วเวลากินถั่วแล้วผายลมออกมาว่ามีกลิ่นชวนพิสมัยแค่ไหน
 

ยาขับลม...บทบาทในอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ

เมื่อคุณมีอาการท้องอืด แน่นท้อง ยาชนิดหนึ่งที่คุณมักจะได้รับเสมอก็คือ ยาที่มีสรรพคุณในการขับลม ยาดังกล่าวไปช่วยอย่างไร พอทราบไหมครับเมื่อคุณกินยาขับลมเข้าไปแล้ว จะรู้สึกอุ่นและซ่าภายในท้อง มันจะลดอาการอึดอัดแน่นท้อง และขับลมออก โดยมันจะลดแรงตึงตัวของกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารและทำให้ฟองอากาศหรือ ก๊าซในท้องเกิดการรวมตัวกันและแตกออกได้ จึงเกิดการขับก๊าซและสารอาหารได้ง่ายขึ้น

นอกจากจะบรรเทาอาการท้องอืดท้องเฟ้อแล้ว ยาขับลมยังช่วยลดอาการท้องอืดหลังผ่าตัดในช่องท้อง และใช้กินเพื่อตรวจส่องกล้องทางเดินอาหาร กินก่อนที่จะตรวจภาพโดยรังสีเอกซ์ เป็นต้น
 

ยาขับลมที่ใช้มีส่วนประกอบอะไรบ้าง

ยาขับลมส่วนใหญ่จะประกอบด้วยสารที่เป็นส่วนน้ำมัน เช่น น้ำมันซินนามอน (cinnamon oil) น้ำมันเปปเปอร์มินท์ (peppermint oil) การบูร (camphor) เป็นต้น และยังมีสารที่ใช้ไล่ก๊าซในท้อง ได้แก่ ไดเมทิลโพลีไซลอกเซน (dimethylpoly siloxane) ซิลิคอนไดออกไซด์ (silicon dioxide) ซึ่งตัวยาดังกล่าว อาจใช้ตัวเดียวเดี่ยวๆ หรืออาจใช้ในรูปยาผสมเพื่อช่วยกันเสริมฤทธิ์ในการขับไล่ลม และก๊าซในท้อง
ตามท้องตลาดมียาเหล่านี้อยู่ด้วยกันหลายชนิดหลายยี่ห้อ แพทย์และเภสัชกรจะเป็นผู้พิจารณาเลือกใช้ยาดังกล่าวตามความเหมาะสมของผู้ป่วยเป็นรายๆ ไป

นอกจากจะใช้ยาขับลมโดยตรงแล้ว บางครั้งอาจต้องกินยาประเภทดูดซับก๊าซในท้องร่วมด้วย ซึ่งก็คือผงถ่านเตรียมพิเศษเพื่อ ใช้ในทางการแพทย์ (อย่าเข้าใจผิดเอาถ่านหุงข้าวมากินนะครับ) ผง ถ่านชนิดนี้เรียกว่า charcoal activated  ซึ่งการพิจารณาใช้ควรอยู่ ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์ นอกจากดูดซับก๊าซแล้ว ผงถ่านเตรียม พิเศษนี้ยังดูดซับสารพิษในทางเดินอาหารได้ด้วย จึงมีการนำมาใช้รักษาอาการท้องเดินจากอาหารเป็นพิษได้ด้วย

นอกจากยาขับลมยาดูดซับก๊าซในทางเดินอาหารแล้ว บางครั้งก็มีการใช้ยาช่วยย่อย (digestant) ร่วมด้วย ทั้งนี้เชื่อว่าคนที่มีอาการท้องอืดท้องเฟ้อบางครั้งเกิดจากอาหารไม่ย่อย อาจเนื่องมาจากการขาด ตัวย่อยหรือไม่เพียงพอ ดังนั้น เราจึงเสริมยาช่วยย่อยเข้าไปเพื่อให้การย่อยอาหารมีประสิทธิภาพมากขึ้น การเกิดลมและก๊าซในทางเดินอาหารก็จะลดลงได้ซึ่งยากลุ่มนี้มีทั้ง
- ยาที่มีฤทธิ์เป็นกรด เช่น กรดกลูตามิกไฮโดรคลอไรด์ (glu-tamic hydrochloride)
- เอนไซม์ช่วยย่อยจากตับอ่อน เช่น  แพนครีเอติน (pancreatin)
- ยาที่กระตุ้นการผลิตน้ำดี เป็นต้น

เนื่องจากยาในกลุ่มนี้มีข้อบ่งใช้ขนาดการใช้ ข้อห้ามใช้และข้อควรระวังในการใช้ ตลอดจนผลข้างเคียงแตกต่างกันออกไป ดังนั้นการใช้ยากลุ่มนี้จึงควรอยู่ภายใต้การดูแลขอแพทย์

จากที่กล่าวมาทั้งหมดคงพอจะทำให้เราๆ ท่านๆ เข้าใจเกี่ยวกับเรื่องอาการและยาที่ใช้ในอาการท้องอืดท้องเฟ้อดีขึ้นนะครับ หากไม่ต้องการมีอาการดังกล่าว ก็มีข้อแนะนำง่ายๆ ในการปฏิบัติเวลากินอาหารให้กินอาหารที่ย่อยง่าย ไม่มีไขมันปนมากนัก ลดการดื่มพวกเครื่องดื่มที่มีก๊าซมาก เช่น น้ำอัดลม เบียร์ กินพอประมาณและอย่ารีบร้อนกิน หลังกินอาหารแล้วเดินเล่นเสียบ้างเพื่อช่วยให้ระบบย่อยอาหาร ดีขึ้นเท่านี้คงทำให้อาการท้องอืดท้องเฟ้อห่างไกลจากตัวท่านไปอีกนาน...

ข้อมูลสื่อ

282-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 282
ตุลาคม 2545
เปิดตำรายา
ภก.ธานี เมฆะสุวรรณดิษฐ์