• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

บัวหลวง : คุณค่า ควรคู่ คนบูชา

"เดือนสิบเอ็ดน้ำนอง เดือนสิบสองน้ำทรง "
คำกล่าวข้างบนนี้เป็นสิ่งที่คนไทยภาคกลางได้ฟังสืบเนื่อง กันมายาวนาน บ่งบอกถึงลักษณะ ภูมิประเทศและฤดูกาลของที่ราบลุ่มภาคกลาง ซึ่งตามปกติจะมีน้ำจากภาคเหนือไหลมารวมกันที่ปากน้ำโพ (นครสวรรค์) แล้วเอ่อล้นฝั่งเข้าท่วม พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งรวมทั้งบริเวณแม่น้ำน้อยและแม่น้ำท่าจีน (อัน เป็นสาขาของแม่น้ำเจ้าพระยา) ด้วย จากการเรียกชื่อเดือนตามปฏิทินทาง จันทรคติ น้ำจะเริ่มล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ราบลุ่มภาคกลางราวเดือนสิบเอ็ด หรือช่วงเดือนตุลาคมตามปฏิทินทางสุริยคติ (เรียกว่าน้ำนอง) ต่อจากนั้น น้ำจะเริ่มหยุดนิ่งและไม่เพิ่มระดับในราวเดือนสิบสองหรือเดือนพฤศจิกายน (เรียกว่าน้ำทรง) ลักษณะการ ท่วมขังของน้ำในบริเวณที่ราบลุ่มภาค กลาง (รวมถึงบริเวณกรุงเทพฯ ด้วย) คงเป็นมายาวนานนับพันๆ ปี ก่อนจะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงหลังจากปี พ.ศ.๒๕๐๔ ซึ่งเป็นปีที่แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ ๑ เริ่มดำเนินการมีเขื่อนสร้างเก็บกักน้ำบนแม่น้ำสายหลัก คือ แม่น้ำปิง แม่น้ำ วัง และแม่น้ำน่าน ยังเหลือแม่น้ำยม อีกเพียงแม่น้ำเดียวที่ยังไม่มีการสร้าง เขื่อนกั้น แต่ก็มีความพยายามจากหลายฝ่ายที่จะสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำยม (เขื่อนแก่งเสือเต้น) ให้ได้ ทั้งๆ ที่ต้องแลกกับป่าสักที่สมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย และความหลากหลายทางชีวภาพอันประเมินค่ามิได้

ปี พ.ศ.๒๕๔๕ นี้ ประเทศไทยประสบปัญหาน้ำท่วมมากมายหลายสิบจังหวัด เริ่มจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ตั้งแต่ เดือนกันยายน รวมทั้งบางจังหวัดใน ภาคกลางด้วย เมื่อถึงเดือนตุลาคมหรือเดือนสิบเอ็ด น้ำในภาคกลางก็เพิ่มระดับมากขึ้น จนท่วมมาถึงบริเวณปริมณฑลรอบกรุงเทพฯ เป็น ปริมาณน้ำที่มากกว่าปี พ.ศ.๒๕๓๘ ยังคงต้องรอจนถึงเดือนพฤศจิกายน หรือเดือนสิบสองที่ระดับน้ำเริ่มทรงตัว จึงจะทราบอย่างแน่นอนว่า น้ำปีนี้จะ ท่วมกรุงเทพฯ หรือไม่ แต่สิ่งหนึ่งที่ทราบกันแล้วด้วยประสบการณ์ตรงก็คือเขื่อนนั้นมิได้ป้องกันน้ำท่วม อย่างที่มีผู้พยายามทำให้คนไทยเชื่อ แต่บางครั้งเขื่อนที่รับน้ำไม่ไหว กลับ ระบายน้ำมาซ้ำเติมบริเวณน้ำท่วมท้ายเขื่อนให้รุนแรงยิ่งขึ้นไปอีกด้วย เช่นในปีนี้เป็นต้น

ในฤดูน้ำท่วมอย่างนี้ พันธุ์พืช ที่เหมาะสมกับฤดูกาลก็คือพันธุ์พืชน้ำ ต่างๆ และในบรรดาพืชน้ำของไทยนั้น ไม่มีชนิดใดจะโดดเด่นเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมยกย่องเท่ากับบัว โดยเฉพาะบัวหลวง

บัวหลวง : สุดยอดพืชของวัฒนธรรมตะวันออก
บัวหลวงมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Nelumbo nucifera Gaertn. อยู่ ในวงศ์ Nelumbonaceae เป็นพืช น้ำอายุหลายปี มีลำต้นแท้อยู่ใต้ดิน (เรียกว่าเหง้าหรือไหล) มีก้านใบและ ก้านดอกโผล่พ้นดินขึ้นมา ชูใบและดอกขึ้นเหนือน้ำ ก้านดอกและก้าน ใบของบัวหลวงมีลักษณะเหมือนกันคือ เป็นก้านแข็งผิวเป็นหนามสั้นๆ ขรุขระ ภายในก้านใบ (ดอก) มีรูพรุน เมื่อหักออกจากกันจะมีเส้นใยสีขาวเชื่อมกันมากมาย (ใยบัว) ใบเป็นแผ่นบาง รูปร่างกลมมีแอ่งตรงกลาง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางใบประมาณ ๓๐ เซนติเมตร ผิวใบเรียบ มีชั้นไขมันบางๆ เคลือบผิวใบ ทำให้น้ำ ไม่เกาะ (เช่นเดียวกับใบบอน) ดอก เป็นดอกเดี่ยวขนาดใหญ่อยู่ปลายก้าน ดอก เมื่อตูมเป็นรูปไข่ปลายแหลม เมื่อบานมีกลีบดอกแผ่ออกโดยรอบ เป็นวงกลม มีกลีบดอกขนาดใหญ่ประมาณ ๒๐ กลีบ กลางดอกเป็นรังไข่ ปลายแบนราบ มีเกสรตัวผู้สีเหลืองเป็นเส้นล้อมรอบรังไข่เป็นจำนวนมาก ผล (หรือเมล็ด) อยู่บนฐานรองดอก มีประมาณ ๒๕-๓๐ ผล (เมล็ด) ต่อดอก (ก้านดอก)
กลีบดอกบัวหลวงมีทั้งสีชมพูและสีขาว และยังมีชนิดดอกซ้อนอีก ด้วย ทรงดอกบัวหลวงมี ๒ แบบ คือ ทรงปกติ ค่อนข้างเรียวยาว เรียกว่า ดอกฉลวย ซึ่งก็คือดอกบัว ที่ดอกไม่ซ้อน ส่วนชนิดดอกป้อม เป็นชนิดดอกซ้อน มีชื่อเรียกเป็นภาษาบาลี ดังนี้
ดอกบัวหลวงไม่ซ้อน (ดอกฉลวย) สีชมพู เรียกว่า ปทุม
ดอกบัวหลวงไม่ซ้อน (ดอกฉลวย) สีขาว เรียกว่า ปุณฑริก
ดอกบัวหลวงป้อมกลีบซ้อน สีชมพู เรียกว่า สัตตบงกช
ดอกบัวหลวงป้อมกลีบซ้อน สีขาว เรียกว่า สัตตบุษย์
ถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของบัวหลวงนั้นเชื่อว่าอยู่ในแถบเอเชียตะวันออก (อินเดีย) และเอเชียตะวันออกเฉียง ใต้ (รวมทั้งบริเวณประเทศไทย) แต่ บางตำราระบุว่าบัวหลวงมีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา แล้วจึงแพร่ขยายมา ถึงทวีปเอเชียตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ อย่างไรก็ตาม บัวหลวงมีความสำคัญๆ กับผู้คนในทวีปเอเชีย มากที่สุด ทั้งในด้านประโยชน์ใช้สอย โดยตรง และด้านวัฒนธรรมความเชื่อ โดยเฉพาะด้านศาสนา ดังปรากฏในชื่อภาษาอังกฤษว่า Sacred lotus

กล่าวเฉพาะในศาสนาฮินดู (พราหมณ์) และศาสนาพุทธ บัว หลวงมีความสำคัญมากถึงขนาดขาด ไม่ได้ หรือมีบทบาทหลักในการเกิดความเชื่อในศาสนาทั้ง ๒ ศาสนาดังกล่าว เช่น ศาสนาพราหมณ์เชื่อว่าพระพรหมเป็นผู้สร้างโลกและ พระพรหมเกิดจากดอกบัวหลวงที่ผุดขึ้นมาจากพระนาภี (สะดือ) ของพระวิษณุ (พระนารายณ์) จะเห็นว่าดอกบัวเกิดขึ้นก่อนโลกของเราเสียอีก ส่วน ในศาสนาพุทธก็มีตำนานว่า ดอก บัวหลวงเป็นดอกไม้ที่เกิดก่อนดอกไม้ ชนิดใดๆ ในโลก และเมื่อพระพุทธเจ้าประสูติได้ทรงดำเนินไป ๗ ก้าว แต่ ละก้าวมีดอกบัวผุดขึ้นมารองรับพระบาทไว้ นอกจากนี้ยังมีความเชื่อของ ชาวพุทธว่า หากต้องการไปเกิดในยุคพระศรีอาริย์ จะต้องฟังเทศน์มหาชาติ ให้จบในวันเดียว และบูชาพระด้วยดอกบัวหลวงพันดอก เป็นต้น

ช่วงที่มีเทศน์มหาชาตินั้นนิยมทำในช่วงหลังวันออกพรรษา (เดือนสิบสอง) ซึ่งเป็นฤดูน้ำท่วม จึงหา ดอกบัวหลวงไปบูชากัณฑ์เทศน์ได้ง่าย นอกจากนั้น ในวันลอยกระทงกลางเดือนสิบสอง ชาวพุทธในสมัยก่อนนิยมนำดอกบัวมาลอยเป็นกระทงเพื่อบูชาพระจุฬามณีในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ทำให้คนไทยนิยมทำกระทง เป็นรูปดอกบัวหลวงมาจนถึงปัจจุบัน

ลักษณะพิเศษของบัวหลวงหลายประการ ทำให้เกิดความเชื่อใน หมู่ชาวพุทธ และฮินดูว่าบัวหลวงเป็น เครื่องหมายของความบริสุทธิ์ปราศจากราคีมาแปดเปื้อน เนื่องจากแม้บัวหลวงจะเกิดจากโคลนตมที่สกปรก เน่าเหม็น แต่ดอกบัวกลับงดงามและ มีกลิ่นหอม อีกทั้งใบบัวก็ไม่เปียกเปื้อน น้ำ หรือความสกปรกเช่นกัน ดังนั้น คนไทยจึงนิยมนำดอกบัวหลวงมาถวายเป็นพุทธบูชา และนำไปประดิษฐ์ เป็นงานศิลปะในพุทธศาสนามากมาย เช่น พระพุทธรูปปางต่างๆ ไม่ว่าจะประทับยืน ลีลา (เดิน) นั่ง หรือบรรทม (นอน) ก็จะพบลวดลายกลีบ ดอกบัวหลวงรองรับอยู่ข้างใต้เสมอ เรียกกันว่า เป็น" ฐานบัว" แยกออก เป็น "บัวเล็บช้าง" "บัวเบ็ด" และ "บัวฟันปลา" เป็นต้น
นอกจากนี้ พระพุทธองค์ยังทรงนำดอกบัวหลวงมาเปรียบเทียบกับสติปัญญาของมนุษย์ว่า เปรียบเสมือนดอกบัว ๔ เหล่า บางเหล่า ชูพ้นน้ำแล้วจะบานในวันนี้ บางเหล่า อยู่ปริ่มน้ำจะบานวันต่อไป บางเหล่า อยู่ใต้น้ำแต่มีโอกาสบานได้เหมือนกัน แต่บางเหล่าอยู่ใต้น้ำลึกหรือใต้โคลน ตมไม่มีโอกาสบานเลย มีแต่จะตกเป็นอาหารของเต่า ปลา เท่านั้น จาก การเปรียบเทียบนี้จึงทำให้เกิดสำนวน "บัวใต้น้ำ" ขึ้นในภาษาไทย หมายถึง บุคคลที่สติปัญญาต่ำมาก ไม่มีโอกาส พัฒนาได้เท่าคนทั่วไปเลย

ความเชื่อเกี่ยวกับบัวหลวงด้าน วัฒนธรรมนั้นมีอยู่อย่างมากมาย  และลึกซึ้งเกินกว่าจะนำมาเสนอได้ครบถ้วน โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่มีความใกล้ชิดกับที่ราบลุ่มและแหล่งน้ำ อย่างเช่นชาวไทยที่ผูกพันกับน้ำมากเป็นพิเศษ

ประโยชน์ของบัวหลวง
ในด้านสมุนไพร ใบบัวสดนำมาต้มน้ำใช้ดื่มเพื่อลดความดันเลือดและลดไขมันในเลือด เหง้า (ไหล) และเนื้อในเมล็ดบำรุงกำลัง แก้ร้อนใน กระหายน้ำ เกสรตัวผู้ใช้ปรุงเป็นยาหอมชูกำลัง ขับชีพจร บำรุงหัวใจ ดีบัว (ต้นอ่อนในเมล็ด) ตากแห้ง คั่วให้หอม ชง น้ำร้อนดื่มเหมือนน้ำชา มีคุณสมบัติ ขยายหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ บำรุง หัวใจ สงบประสาท ขับเสมหะ
ใบบัวนิยมนำมาห่อของเช่นเดียว กับใบตอง ก้านใบใช้ทำไส้ตะเกียง ดอกตูมใช้ประดับหรือบูชาพระ เมล็ด แก่ใช้เป็นอาหารทั้งคาวและหวาน ถือ เป็นอาหารบำรุงสุขภาพชนิดหนึ่ง เช่น เป็นส่วนประกอบในน้ำอาร์ซี (RC) ตามตำรับชีวจิต เหง้า (ไหล) ที่อยู่ใต้ดินเป็นส่วนสะสมอาหารที่นำมาใช้ทำอาหารได้ทั้งคาวและหวาน

บัวหลวงนิยมปลูกเป็นไม้ประดับ ทั้งในสระ หรือในกระถางขนาดใหญ่ ที่เรียกว่า อ่างบัว หรือปลูกเป็นบัวขนาดย่อส่วนในกระถางขนาดเล็ก ก็ จะทำให้บัวหลวงมีขนาดเล็กตามไปด้วย บัวหลวงเป็นพืชที่แข็งแรง ทนทาน และปลูกง่ายมาก การขยายพันธุ์ก็ทำ ได้ง่ายโดยการแยกเหง้า (หรือไหล)

ผู้อ่านหลายท่านคงรู้จักเพลง "บัวขาว " ซึ่งมีความไพเราะและเนื้อร้องงดงาม มีความหมายกินใจ แต่คงมี น้อยคนที่จะทราบว่า ดอกบัวหลวงสีขาวเป็นดอกไม้สัญลักษณ์ของประเทศไทยมานานแล้ว และ ๒ มือ ที่ยกขึ้นประกบกันเป็นการไหว้นั้นก็คือรูปดอกบัวตูมนั่นเอง

 

ข้อมูลสื่อ

283-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 283
พฤศจิกายน 2545
ต้นไม้ใบหญ้า
เดชา ศิริภัทร