• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ข้าวสวยกับต้มยำกุ้งก้ามกรามจานนี้ได้อะไร

อาหารไทยที่โด่งดังไปทั่วโลกเป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติ และยังเป็นอาหารยอดฮิตของคนไทยด้วย คงหนีไม่พ้นต้มยำกุ้งจานเด็ดของไทย เราอย่างแน่นอน ด้วยเอกลักษณ์ใน รสชาติเปรี้ยว หวาน เค็ม และเผ็ด ที่กลมกล่อม และยังมีกลิ่นหอมของ พืชผักสมุนไพรที่ใส่ในต้มยำ อาทิ ตะไคร้ ใบมะกรูด หัวหอมแดง  รากผักชี และพริก โดยเฉพาะพริกขี้หนูสวนจะให้รสชาติและความหอมของพริกอย่างมาก กุ้งที่ใช้ทำต้มยำ ไม่ว่าจะเป็นกุ้งก้ามกราม หรือกุ้งแม่น้ำ กุ้งแชบ๊วย กุ้งกุลาดำใช้ได้ทั้งนั้น แล้วแต่ความนิยมของผู้บริโภค กุ้งก้ามกรามจะมีขนาดใหญ่ มันที่หัวจะทำให้น้ำต้มยำมีสีแดงน่ากินอีกด้วย ต้มยำกุ้งแบบดั้งเดิมจะเป็นต้มยำกุ้งน้ำใส มีสีแดงจากมันกุ้ง ในปัจจุบันมีการดัดแปลงต้มยำกุ้งออกไป โดยใส่น้ำกะทิหรือนมสดให้ เป็นน้ำข้น หรือมีการเติมน้ำพริกเผา ปรุงรสเพื่อเพิ่มความหวานและสีสันของน้ำต้มยำ

คุณค่าทางโภชนาการของต้มยำ กุ้งที่นำมาเสนอในฉบับนี้ เป็นคุณค่า โภชนาการของต้มยำกุ้งสำหรับ 1 ท่าน กินกับข้าวสวย 1 จาน น้ำหนักประมาณ 2 ขีดหรือประมาณ 3 ทัพพี ปริมาณอาหารของต้มยำกุ้ง สำหรับ 1 ท่านนั้นคิดเป็นน้ำหนัก  2 ขีดครึ่ง หรือประมาณ 1 ถ้วยเล็ก ประกอบด้วยกุ้งก้ามกราม 2 ตัวขนาดกลาง ส่วนประกอบอื่นๆ  ที่มี ได้แก่ เห็ดฟาง ข่า ตะไคร้   ใบมะกรูด พริกขี้หนูสด ผักชี ปรุงรสด้วยน้ำปลาและน้ำมะนาว (ในสูตรนี้ไม่ใส่น้ำพริกเผา) คุณค่าโภชนาการของข้าวสวยกับต้มยำกุ้งชามนี้จะให้พลังงานประมาณ 400 กิโลแคลอรี พลังงานในจำนวนนี้ก็เพียงพอสำหรับเป็นอาหาร 1 มื้อ ไม่มากไม่น้อย ให้ปริมาณโปรตีนค่อนข้างดีคือ 20 กรัม หรือคิดเป็น ร้อยละ 40 ของปริมาณโปรตีนที่แนะนำให้บริโภคประจำวัน ปริมาณ ไขมันจัดว่ามีอยู่ในปริมาณน้อย เนื่อง จากกุ้งมีไขมันไม่มากนัก ไขมันในอาหารมื้อนี้จึงมีเพียง 3 กรัม คิดเป็นร้อยละ 5 ของปริมาณไขมันที่แนะนำให้บริโภคประจำวัน

ดังนั้น ข้าวสวยกับต้มยำกุ้งน้ำใสจึงเป็นอาหารไขมันต่ำได้ แต่ถ้าต้มยำกุ้งใส่น้ำพริกเผาหรือมีการเติมกะทิหรือนมสดลงไปอีก ปริมาณ ไขมันจะสูงกว่านี้ ถ้าท่านเลือกกินต้มยำกุ้งแบบใส่น้ำพริกเผาและเป็น น้ำข้นจะได้ไขมันมากกว่านี้มาก และ ต้มยำกุ้งแบบนี้ไม่จัดว่าเป็นอาหารไขมันต่ำเหมือนเช่นต้มยำกุ้งน้ำใส ขอให้เลือกกินให้ดีตามความเหมาะสมของแต่ละท่านปริมาณใยอาหารที่ได้จากอาหารมื้อนี้มีปริมาณ 3.5 กรัม จัดว่าอยู่ในระดับปานกลาง ซึ่งส่วนใหญ่มาจากข้าวและเห็ดฟาง แต่ ถ้าต้องการกินใยอาหารให้ได้มากกว่า นี้ ควรกินผลไม้แทนขนมหวาน ปริมาณโคเลสเตอรอลมีอยู่ 100 มิลลิกรัม คิดเป็น 1 ใน 3 ของปริมาณที่แนะนำให้บริโภคประจำวันกุ้งทุกชนิดจะมีปริมาณโคเลสเตอรอล ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับเนื้อสัตว์อื่นๆ ซึ่งจะมีโคเลสเตอรอลอยู่ในช่วงระหว่าง 250-300 มิลลิกรัมต่อน้ำหนัก 100 กรัม หรือ 1 ขีด  ดังนั้น ถ้ากินกุ้งล้วนๆ เช่น กุ้งเผา โดยไม่กินร่วมกับข้าวหรืออาหารอื่นๆ มักจะได้รับโคเลสเตอรอลมากเกิน เพราะฉะนั้นเวลากินอาหารในแต่ละมื้อควรกินข้าวกินกับข้าวและผักผลไม้ ก็จะได้สร้างสมดุลของสารอาหารต่างๆ ที่ร่างกายจะได้รับ

สำหรับปริมาณแร่ธาตุในข้าว สวยกับต้มยำกุ้ง ปริมาณโซเดียมจะ มีค่อนข้างมากคือ 1,076 มิลลิกรัม คิดเป็นร้อยละ 45 ของปริมาณที่แนะนำให้บริโภคประจำวัน การกินอาหารรสจัดทุกชนิดมักจะมีแร่ธาตุโซเดียมอยู่ในปริมาณมาก ดังนั้น ผู้ที่มีปัญหาความดันเลือดสูงต้องการควบคุมปริมาณโซเดียมหรือความเค็มต้องระมัดระวังให้หลีกเลี่ยงอาหาร รสจัด ส่วนแร่ธาตุแคลเซียมอยู่ในปริมาณเล็กน้อยคือ 77 มิลลิกรัม แร่ธาตุเหล็กจัดว่ามีอยู่ในอาหารมื้อนี้ ปานกลาง คือ 2.4 มิลลิกรัม คิด เป็นร้อยละ 16 ของปริมาณที่แนะนำ ให้บริโภคประจำวัน

กล่าวโดยสรุปข้าวสวยกินกับต้มยำกุ้งหนึ่งชามเป็นอาหารหนึ่งมื้อที่ให้พลังงานปานกลาง มีโปรตีนในปริมาณสูง ไขมันต่ำ ผู้ที่ต้องการจะควบคุมน้ำหนักกินข้าวสวยให้ลดลงไปกว่านี้ พลังงานจากอาหารก็  จะลดไปกว่านี้ได้ ส่วนคุณค่าด้านสมุนไพรก็น่าจะมีอยู่เช่นกัน อย่างไร ก็ตามทางสถาบันวิจัยโภชนาการก็กำลังดำเนินการศึกษาวิจัยอยู่ในขณะนี้
 

ข้อมูลสื่อ

285-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 285
มกราคม 2546
เข้าครัว
ดร.สมเกียรติ โกศัลวัฒน์