• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

กล้วยไม้ : ดอกฟ้าที่โน้มลงสู่ชาวดิน

กล้วยไม้ : ดอกฟ้าที่โน้มลงสู่ชาวดิน

กลิ่นกล้วยไม้         หอมระรื่น         ชื่นดวงจิต
ดุจได้มิตร              สนิทเนื้อ          เหนือกลิ่นหอม
แสนสุดซึ้ง             ถึงวิญญาณ     ผ่านใจยอม
มอบความหอม     พร้อมความดี     ศรีกำจาย...
                                                                   ระพี สาคริก (๒๕๔๔)
 

เมื่อเดือนธันวาคม ปี พ.ศ. ๒๕๔๕ ผู้เขียนได้ไปร่วมงานมงคลที่จัด โดยความร่วมมือขององค์กรพัฒนาเอกชนหลายองค์กร ชื่องาน "๘๐ ปี ระพี สาคริก " ซึ่งจัดขึ้นในวาระครบ รอบวันเกิดปีที่ ๘๐ ของศาสตราจารย์ ระพี สาคริก งานนี้จัดขึ้นในบริเวณสวนกล้วยไม้ระพี สาคริก ซึ่งนับว่าเป็นสถานที่เหมาะสมอย่างยิ่ง เพราะ นอกจากท่านจะเป็นอดีตรัฐมนตรีช่วย ว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นต้น แล้วท่านยังได้รับการ ยกย่องให้เป็น " บิดาแห่งกล้วยไม้ไทย" อีกด้วย เนื่องจากเป็นผู้บุกเบิกการ เพาะเลี้ยง และปรับปรุงพันธุ์กล้วยไม้ ในประเทศไทย จากพืชที่รู้จักกันในกลุ่มคนชั้นสูงเพียงไม่กี่คน จนกลาย เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ของเกษตรกรไทย ในปัจจุบันชื่อเสียงด้านกล้วยไม้ของศาสตราจารย์ระพี สาคริก นั้น ไม่จำกัดเฉพาะในประเทศไทยและทวีปเอเชียเท่านั้น แต่เป็นที่รู้จักและยอม รับนับถือไปทั่วโลก ในวาระขึ้นปีใหม่ ปี พ.ศ.๒๕๔๖ อันเป็นมงคลนี้ จึงขอ นำเรื่องกล้วยไม้มานำเสนอในคอลัมน์ ต้นไม้ใบหญ้า เพื่อร่วมเฉลิมฉลอง วาระ " ๘๐ ปี ระพี สาคริก " และเป็นเครื่องหมายแสดงความเคารพในฐานะที่ท่านให้ความเมตตาแก่ผู้เขียน มาโดยตลอดเวลาที่ได้รู้จักท่าน

กล้วยไม้ : ช้างเผือกจากพงไพร
กล้วยไม้เป็นชื่อเรียกของพืชใน วงศ์ Orchidaceae ประกอบด้วยกันประมาณ ๘๐๐ สกุล (genus) และแยกได้ราว ๓๕,๐๐๐ ชนิด (species) ในธรรมชาติพบกล้วยไม้ อยู่มากในเขตร้อน (tropical) รอง ลงมาคือเขตกึ่งร้อน (sub tropical)
กล้วยไม้เป็นพืชประเภทลำต้น อ่อนไม่มีเนื้อไม้แข็งเหมือนต้นไม้ทั่วไป เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว อายุข้ามปี อาจ ขึ้นบนพื้นดิน หรืออาศัยเกาะอยู่บนต้นไม้อื่น แต่ไม่ใช่พืชประเภทกาฝาก เพราะรากกล้วยไม้ไม่ได้ดูดอาหารจาก ต้นไม้ที่เกาะอยู่ แต่รากของกล้วยไม้ ดูดน้ำจากอากาศ และผลิตอาหารได้ เองจากสิ่งแวดล้อม หรือเชื้อราที่อาศัยอยู่ในราก กล้วยไม้ส่วนใหญ่ขยายตัวทางแนวราบโดยการแตกหน่อ ลำต้นมักมีใบเป็นช่วงๆ คล้ายข้อหรือ ปล้องไผ่ กล้วยไม้ส่วนน้อยมีลำต้นเดี่ยว และเติบโตในแนวดิ่ง โดยยืด ตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ ดอกกล้วยไม้อาจเป็น ดอกเดี่ยวหรือเป็นช่อ แต่ละดอกมีขนาดตั้งแต่ ๐.๒-๓๘ เซนติเมตร ดอกกล้วยไม้ส่วนใหญ่มีลักษณะร่วม คือ กลีบบน ๓ กลีบ กลีบล่าง ๒ กลีบ และกลีบตรงกลาง ซึ่งกลายมา จากกลีบล่างอีก ๑ กลีบ ส่วนใหญ่มีเกสรตัวผู้เพียง ๑ ก้าน ส่วนน้อยมี ๒ ก้าน เมื่อผสมพันธุ์แล้วกล้วยไม้จะติดผลบรรจุเมล็ดขนาดจิ๋วจำนวนมาก อาจมีถึง ๒ ล้านเมล็ดต่อผล (ฝัก) ซึ่งเมื่อฝัก (ผล) กล้วยไม้แก่จัดจะแตกออก เมล็ดกล้วยไม้จะปลิว ตามลมไปได้ไกลๆ เมล็ดกล้วยไม้ต้องอาศัยความช่วยเหลือของเชื้อราบางชนิดในการงอกและหาอาหารตาม สภาพธรรมชาติ แต่เมื่อนำมาเพาะเลี้ยงในวุ้นอาหาร ก็สามารถงอกและเติบโตได้ดี
รูปทรงลำต้น ใบ และดอกของกล้วยไม้แต่ละชนิดมีความหลาก หลายแตกต่างกันอย่างยิ่ง รวมทั้งสีและกลิ่นก็เช่นเดียวกัน ในกล้วยไม้แต่ละชนิดก็ยังมีความหลากหลายย่อย ลงไปอีก ยิ่งเมื่อเอากล้วยไม้ต่างชนิด มาผสมข้ามเป็นลูกผสม (hybrid) ก็ยิ่งจะได้กล้วยไม้ลักษณะใหม่ๆ มากขึ้นไปไม่รู้จักจบสิ้น กล้วยไม้จึงเป็นพืชให้ดอกที่น่าสนใจและมีคุณค่า ยิ่งสำหรับมนุษย์
นักปรับปรุงพันธุ์พืชได้นำกล้วยไม้ชนิดต่างๆ จากป่ามาเพาะเลี้ยงและคัดเลือก ผสมพันธุ์จนมีความสวยงาม และปรับตัวเข้ากับสภาพโรงเรือนที่ต่างจากถิ่นกำเนิดดั้งเดิมมาเป็นเวลานับร้อยปีแล้ว เริ่ม จากประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างเช่นประเทศในทวีปยุโรป แล้วเผยแพร่เข้าสู่ประเทศไทยในช่วงรัชกาลที่ ๕ หลังจากเสด็จประพาสยุโรปแล้ว  ตามบันทึกระบุว่าบรรดาชนชั้นสูง  ของไทยสมัยนั้น เช่น พระราชวงศ์ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ นักเรียนนอก เป็นต้น ได้สั่งกล้วยไม้ชนิดต่างๆ เข้ามาจากทวีปยุโรปตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๒๓ เป็นต้น นับถึงปัจจุบันก็  ถึง ๑๒๓ ปีแล้ว ผู้สั่งกล้วยไม้ต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทยคนแรก คือ มร.เฮนรี อาลาบาสเตอร์ (ต้นสกุล เศวตศิลา) ขณะที่ดำรงตำแหน่ง ผู้จัดการอุทยานสราญรมย์ กล้วยไม้ สกุลแรกที่สั่งเข้ามาคือกล้วยไม้สกุล แคทเลยา (Cattleya sp.) นั่นเอง

นอกจากยุโรปแล้ว กล้วยไม้ยัง ถูกนำเข้ามาจากฟิลิปปินส์และสิงคโปร์ ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของประเทศมหาอำนาจ ในขณะนั้น กล้วยไม้จึงเป็นพืชหายาก ราคาแพง นิยมเพาะปลูกเล่นกันในบรรดาชนชั้นสูงเท่านั้น ตำราเพาะเลี้ยง กล้วยไม้ภาษาไทยเล่มแรก เรียบเรียง โดย สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐ ชื่อ " ตำราเล่นกล้วยไม้"
จากชื่อตำรากล้วยไม้ฉบับแรกของไทย ชี้ให้เห็นฐานะของกล้วยไม้ในสมัยนั้นว่าเป็น "ของเล่น" ของชนชั้นสูงในสังคมคล้ายกับการเล่นเครื่องลายครามนั่นเอง

การเพาะเลี้ยงกล้วยไม้ในประเทศไทยยังคงจำกัดอยู่เฉพาะกลุ่ม คนชั้นสูงในสังคมอยู่เป็นเวลานาน  จนถึงช่วงปี พ.ศ.๒๔๘๓ ที่ศาสตราจารย์ระพี สาคริก เริ่มสนใจกล้วยไม้ ก็ยังอยู่ในสภาพเดิม ท่านได้สะท้อน ภาพการจำกัดวงของการปลูกกล้วยไม้ ในสมัยนั้นไว้ในบทความเรื่อง ดอก กล้วยไม้ในดวงใจ (พ.ศ.๒๕๓๗) เอา ไว้ว่า... " คนในกลุ่มเศรษฐีและมียศถาบรรดาศักดิ์ต่างก็เล่นกล้วยไม้กันอยู่ในรั้วบ้านตัวเองและพรรคพวก ซึ่งมี การปิดกั้นกันไว้อย่างแน่นหนา และ ลักษณะการเล่นก็ยังสะท้อนภาพพจน์ ให้คนทั่วไปรู้สึกว่า กล้วยไม้เป็นของ เล่นสำหรับคนมีเงินมียศถาบรรดา ศักดิ์เท่านั้น..."

วิถีชีวิตของศาสตราจารย์ระพี สาคริก จากปี พ.ศ.๒๔๘๓ เป็นต้น มาได้มุ่งพัฒนากล้วยไม้ในประเทศไทยจากสมบัติเฉพาะกลุ่มคนชั้นสูง มาเป็น... " คุณค่าออกสู่เพื่อนมนุษย์ที่มีสภาพชีวิตความเป็นอยู่อีกด้านหนึ่ง จนถึงมือชาวนาชาวไร่ซึ่งยังยากไร้ และถึงชีวิตเด็กๆ ที่ยังคงวิ่งอยู่บนทางเท้าริมถนน เพื่อการขายหารายได้เลี้ยงชีพ... "

นอกจากจะทำให้กล้วยไม้กลาย เป็นของประชาชนไทยทั่วไปได้เข้าถึง และชื่นชมโดยถ้วนหน้าแล้ว การเข้า ป่าเสาะหากล้วยไม้พื้นบ้านของไทยมา เพาะเลี้ยงพัฒนาให้ทรงคุณค่ายิ่งขึ้น ก็เป็นคุณูปการสำหรับวงการกล้วยไม้ ไทย ไม่ว่าจะเป็นกล้วยไม้สกุลช้าง (Rhynchostylis) รองเท้านารี (Pa-phiopedilum) หรือแวนด้า (Vanda) ที่เป็นของไทย เช่น ฟ้ามุ่ย อันมีกลีบ ดอกเป็นตาข่ายสีม่วงงดงาม เป็นที่มา ของสีประจำสายการบินไทย เป็นต้น

ประโยชน์ของกล้วยไม้
กล้วยไม้เป็นไม้ดอกที่สำคัญยิ่งประเภทหนึ่งของโลก ดอกกล้วยไม้มี มูลค่าซื้อขายกันทั่วโลกปีละหลายหมื่นล้านบาท ประเทศไทยเองก็   ส่งดอกกล้วยไม้ไปขายต่างประเทศปีละหลายพันล้านบาท และนับวันมูลค่าจะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ นอกจากนี้กล้วยไม้ยังส่งออกเป็นกระถางพร้อม ดอกและต้น หรือส่งต้นอ่อนที่เกิดจาก การเพาะเมล็ดไปขายทั้งขวดเลยก็สะดวกและได้ปริมาณมาก เกษตรกร ไทยนับเป็นกลุ่มผู้เพาะเลี้ยงและปรับปรุงพันธุ์กล้วยไม้ระดับแนวหน้า ของโลก เคียงบ่าเคียงไหล่กับประเทศ พัฒนาแล้วที่เริ่มเพาะเลี้ยงกล้วยไม้มาก่อนหน้าหลายประเทศ

ในด้านการปลูกเป็นไม้ดอกที่ไม่หวังผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ กล้วยไม้ก็สามารถตอบสนองรสนิยมของผู้ปลูกได้มากมาย เพราะ มีความหลากหลายให้เลือกได้ ทั้งการปลูก รูปทรงต้น ฤดู-กาลออกดอก สีสัน ขนาด และกลิ่น เป็นต้น กล้วยไม้มีศักยภาพในการปรับปรุงพันธุ์ ให้ตอบสนองความต้องการใหม่ๆ ได้ดีมาก อาจกล่าวได้ ว่าไม่มีที่สิ้นสุด เราทุกคนจึงอาจสร้างสรรค์กล้วยไม้พันธุ์ใหม่ๆ ขึ้นตามรสนิยมของเราได้ แทบจะไม่มีการซ้ำกับของเดิมเลย

กลิ่นของดอกกล้วยไม้ก็มีคุณค่า ไม่แพ้ความงามของดอกเหมือนกัน ตัวอย่างน้ำหอมจากดอกกล้วยไม้พันธุ์อุดรซันไชน์ เป็นต้น หรือในอุตสาหกรรมระดับโลก กลิ่นหอมที่เรียกว่า วานิลลา (Vanilla) ที่เรา คุ้นเคยจากไอศกรีมก็มาจากฝัก (ผล) ของกล้วยไม้สกุลวานิลลา (Vanilla sp.) นั่นเอง

กล้วยไม้บางชนิดนำมาทำยารักษาโรค บางชนิดนำมาทำเครื่องดื่ม และบางชนิดนำมาทำอาหารได้ หรือบางชนิดก็มีความเชื่อในทางโชคลางหรือไสยศาสตร์ในท้องถิ่นด้วย
ประการสำคัญที่สุด กล้วยไม้สามารถสอนให้มนุษย์เรียนรู้ความจริงของชีวิต ดังที่ท่านศาสตราจาย์ระพี สาคริกเขียนเอาไว้ว่า.....
" ไม่ว่า จะมุ่งทำอะไร ถ้าเกิดจากจิตวิญญาณ จริงและมั่นคงอยู่ได้ตลอดไป ย่อมรู้ และเข้าถึงความจริงของชีวิตอื่น สิ่งอื่นได้อย่างเป็นธรรมชาติ... "(๒๕๓๗)

ข้อมูลสื่อ

285-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 285
มกราคม 2546
ต้นไม้ใบหญ้า
เดชา ศิริภัทร