• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การแพทย์ฉุกเฉิน


การแพทย์ฉุกเฉิน

แม้จะมีโรคในชื่อเป็นพันๆชื่อ แต่ปัญหาทางการแพทย์แบ่งได้เป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ
๑. ปัญหาฉุกเฉิน
๒. ปัญหาไม่ฉุกเฉิน

ปัญหาทั้ง ๒ ประเภท มีหลักการดูแลที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง สำหรับปัญหาไม่ฉุกเฉินนั้น มีทางเลือกหลายทาง เช่น ปล่อยไว้ให้หายเอง ลองรักษาดูตามการวินิจฉัยขั้นต้น หรือวิเคราะห์ให้ละเอียดว่าเป็นอะไรแน่

ส่วนปัญหาฉุกเฉินนั้นเป็นความเป็นความตายเฉพาะหน้า เป็นเรื่องรีบด่วนที่ต้องทำให้ถูกต้อง ถ้าไม่รีบด่วนและไม่ถูกต้องผู้ป่วยอาจตายเสียก่อน ขณะนี้ต้องถือว่าการแพทย์ฉุกเฉินของเรายังทำไม่ได้ดี สมควรได้รับความเข้าใจเชิงระบบและปรับปรุงทั้งระบบให้ดีขึ้น

เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคมที่ผ่านมา ในการประชุมคณะกรรมการแผนกแพทยศาสตร์ มูลนิธิ “อานันทมหิดล” ได้มีพันโทนายแพทย์สุรจิต สุนทรธรรม จากวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า ซึ่งได้รับพระราชทานทุนมูลนิธิ “อานันทมหิดล” ไปศึกษาต่อในต่างประเทศสำเร็จกลับมาแล้วเข้ารายงานตัว คุณหมอสุรจิตไปเรียนมาทางเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะกรรมการแผนกแพทยศาสตร์ มูลนิธิ “อานันทมหิดล” ได้รับฟังด้วยความยินดีที่แพทย์ผู้ได้รับพระราชทานทุนของมูลนิธิ ได้ไปศึกษาเรื่องที่มีความสำคัญเช่นนี้ จึงได้มอบหมายให้นายแพทย์สุรจิตไปแสวงหานักวิชาการสักกลุ่มหนึ่ง ทำการทบทวนระบบการแพทย์ฉุกเฉินทั้งหมดให้เป็นที่เข้าใจแจ่มแจ้ง พร้อมทั้งจัดทำข้อเสนอแนะสิ่งที่ควรทำต่อไป โดยขอให้นายแพทย์สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ กรรมการแผนกแพทยศาสตร์มูลนิธิ “อานันทมหิดล” เป็นผู้ดูแลประสานงานให้เรื่องนี้เกิดความสำเร็จ

นี้เป็นตัวอย่างของการดำเนินการทางวิชาการหรือการแสวงหาความรู้ที่ชัดเจนเพื่อหนุนช่วยให้งานที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะเกิดขึ้นได้จริง ขอให้สาธารณะเอาใจช่วยและสอดส่องการทำงานของคณะวิชาการดังกล่าว บ้านเรายังต้องการการทำงานทางวิชาการทำนองนี้อีกมาก เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สมคุณค่าความเป็นมนุษย์ ความเข้าใจของประชาชนถึงความจำเป็นที่ต้องมีการดำเนินการทางวิชาการที่เข้มแข็งจะช่วยทำให้เกิดความเข้มแข็งทางสติปัญญาเพื่อประโยชน์ของประชาชน


 

ข้อมูลสื่อ

208-001
นิตยสารหมอชาวบ้าน 208
สิงหาคม 2539
ศ.นพ.ประเวศ วะสี