• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ภาวะเจ็บป่วยในระหว่างตั้งครรภ์

ภาวะเจ็บป่วยในระหว่างตั้งครรภ์


ในขณะตั้งครรภ์สิ่งที่หญิงตั้งครรภ์ปรารถนาคือสุขภาพที่ดี แข็งแรงตลอดการตั้งครรภ์ และส่วนมากเราจะพบว่านอกจากภาวะไม่สุขสบายเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่นอาการแพ้ท้อง เป็นตะคริว หรืออาการเหนื่อยล้า อาหารไม่ย่อยแล้ว โดยทั่วไปหญิงตั้งครรภ์มักจะไม่ค่อยเจ็บป่วย โดยเฉพาะโรคหรือความเจ็บป่วยที่มักจะแพร่กระจายในกลุ่มชนใกล้ชิด เช่น ไข้หวัด หรือทางเดินอาหารอักเสบ(โรคอุจจาระร่วง) แต่อย่างไรก็ดีการป้องกันไว้ดีกว่าแก้ เป็นภาษิตที่ใช้ได้ดีมาทุกยุคทุกสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของมารดาในขณะตั้งครรภ์ การดูแลตนเองและการรักษาสุขภาพของตนให้ปลอดจากภาวะ แทรกซ้อนต่าง ๆ เป็นสิ่งที่ควรเรียนรู้และปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

 

หวัดหรือไข้หวัด
_____________________________________________________________________________________
คำถาม : ฉันเป็นหวัดบ่อยครั้งและมักจะมีอาการรุนแรงมาก จะมีอันตรายต่อลูกในท้องไหมคะ?

หญิงตั้งครรภ์บางคนจะเผชิญกับอาการเป็นหวัด และรู้สึกไม่สบายจากอาการเหล่านี้ โดยปกติการเป็นหวัดไม่มีผลกระทบต่อทารกในครรภ์แต่อย่างใด แต่การกินยาแก้หวัดบางชนิดอาจจะมีผลกระทบเพราะยาที่ใช้กินแก้อาการหวัด มักจะเป็นกลุ่มยาต้านภูมิแพ้ (แอนติฮิสตามีน) หรือยาลดไข้ที่เป็นยาลดการอักเสบ เช่น แอสไพริน และการซื้อยาแก้หวัดกินเอง อาจจะทำให้ได้รับยาเกินขนาดความจำเป็นที่ส่งผลเสียต่อร่างกายได้ ดังนั้นถ้าจะใช้ยาแก้หวัดควรให้เป็นยาตามคำสั่งแพทย์ผู้ดูแล และเมื่อเป็นหวัดควรปฏิบัติตนดังนี้

๑. ทันทีที่เริ่มมีอาการหวัด เช่น มีน้ำมูกไหล หรือคัดจมูก พยายามให้ร่างกายได้พักผ่อนให้มากและดูแลร่างกายให้อบอุ่น เพื่อป้องกันการเป็นหวัดมิให้มากขึ้น

๒. นอนยกศีรษะสูงขึ้นเล็กน้อย เมื่อเริ่มคัดจมูก จะทำให้การหายใจโปร่งโล่งขึ้น

๓. กินอาหารตามปกติ แม้ว่าคุณจะรู้สึกไม่อยากกิน หรือไม่หิว ดื่มน้ำผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวมากๆ เพื่อเพิ่มปริมาณวิตามินซีให้ร่างกาย อาหารและวิตามินจะช่วยให้ร่างกายต่อต้านโรคภัยไข้เจ็บได้ดี

๔. ดื่มน้ำให้มาก ๆ การมีน้ำมูกไหล จาม ภาวะใช้เป็นสิ่งที่ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำ การที่ร่างกายได้รับการชดเชยน้ำไม่เพียงพอจะทำให้อาการของโรคเลวลง

๕. ใช้ยาพ่นจมูก หรือเครื่องพ่นไอน้ำ ช่วยให้จมูกและช่องทางเดินหายใจชุ่มชื้นเสมอ

๖. ถ้ารู้สึกคอแห้ง แสบคอ ใช้น้ำเกลืออุ่นๆ อมกลั้วปาก และงดการดื่มน้ำชา

๗. ถ้ามีไข้ ควรลดไข้ด้วยการเช็ดตัว อาบน้ำ ดื่มน้ำเย็นบ่อยๆ ครั้ง เป็นการลดไข้ด้วยวิธีธรรมชาติ ซึ่งดีกว่าการใช้ยา และถ้ามีไข้สูงเกินกว่า ๓๘ องศาเซลเซียส ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที

การเป็นหวัดในหญิงตั้งครรภ์ดูจะหายช้ากว่าปกติเล็กน้อย เพราะในขณะตั้งครรภ์ระบบภูมิต้านทานโรคของร่างกายจะลดต่ำลงเล็กน้อย และถ้ามีอาการหวัดที่รุนแรง เช่น ไอมาก นอนไม่หลับ มีเสมหะสีเขียวข้น หรือเป็นหวัดนานเกินหนึ่งสัปดาห์ ควรจะรีบไปหาแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง และไม่ควรกลัวที่จะกินยาตามแพทย์สั่งแม้ว่ายาจะมีอันตราย แต่ถ้าใช้ในความควบคุมของแพทย์ ก็จะมีความปลอดภัยพอสมควร

 

ความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร
_____________________________________________________________________________________
คำถาม : ฉันมักจะมีอาการกระเพาะอาหารอักเสบทำให้กินอาหารไม่ลง อาการนี้เป็นความผิดปกติไหมคะ และจะมีอันตรายต่อทารกในครรภ์หรือไม่

ความผิดปกติของระบบทางเดินอาหารมักจะเป็นและหายภายใน ๒๔ ชั่วโมง เช่น โรคลำไส้อักเสบหรือกระเพาะอาหารอักเสบ และถ้าจะเป็นเรื้อรังก็จะไม่เกิน ๓ วัน ในขณะที่มีอาการแม้ว่าจะทำให้กินอาหารไม่ได้ แต่ถ้าพยายามดื่มน้ำหรือทำให้ร่างกายได้รับน้ำอย่างเพียงพอตลอดทั้ง ๓ วัน ก็จะไม่มีปัญหาใดๆ ต่อสุขภาพร่างกาย แต่มิได้หมายความว่าคุณจะไม่ต้องสนใจเกี่ยวกับอาการผิดปกติเหล่านี้ ในขณะที่คุณรอให้กระเพาะอาหารหายอักเสบด้วยตัวเอง คุณควรจะปฏิบัติบางอย่างเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงขึ้นและช่วยให้ร่างกายต่อสู้กับโรคภัยได้ดีขึ้น โดย :

๑. พยายามนอนพักให้มากขึ้น การพักผ่อนในที่เงียบสงบจะทำให้ร่างกายสดชื่นและฟื้นสภาพได้เร็ว

๒. ดื่มน้ำมาก ๆ ชดเชยการเสียน้ำของร่างกาย พึงระลึกอยู่เสมอว่าในระยะนี้น้ำมีความสำคัญมากกว่าอาหาร ถ้าคุณไม่อยากดื่มน้ำเปล่า จะเป็นน้ำผลไม้หรืออาหารเหลวประเภทใดก็ได้ที่คุณชอบเพียงแต่ให้ได้ปริมาณน้ำที่มากเพียงพอ และถ้าคุณเบื่ออาหารและรู้สึกไม่สามารถดื่มได้ ควรใช้การจิบบ่อยๆ ทุก ๑๕ นาทีหรืออมน้ำแข็งก้อนเล็กๆ ตลอดเวลา

๓. ในระยะที่เกิดอาการภายใน ๑๒ ชั่วโมงแรก คุณไม่ควรกินอาหารใดๆ ทั้งสิ้น โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการกระเพาะอาหารอักเสบจากเชื้อไวรัส แพทย์มักจะแนะนำให้งดอาหารและน้ำทางปาก ๑๒-๒๔ ชั่วโมง และเริ่มกินอาหารอ่อนย่อยง่าย ที่ไม่ใช่น้ำผลไม้รสเปรี้ยว เช่น อาจจะเป็นซุปใส น้ำข้าวต้ม ผักต้มเปื่อย เป็นต้น และตามด้วยอาหารที่ไม่มีไขมันและกากใยมาก จนอาการดีขึ้นจึงเริ่มกินอาหารได้ตามปกติ

๔. ไม่ต้องกังวลว่าคุณจะอดอาหาร แม้ว่าระยะนี้คุณกินอาหารไม่ได้ พยายามพักผ่อนและทำให้อาการของโรคหายในเร็ววัน ร่างกายสามารถที่จะทดแทนสารอาหารได้ด้วยตนเอง

๕. ไปพบแพทย์ทันทีที่รู้สึกว่าอาการแย่ลง หรือมีไข้ หรืออาการไม่ดีขึ้นภายใน ๔๘ ชั่วโมง บางกรณีคุณจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยา

ประการสำคัญ มีโรคที่มีอาการคล้ายกัน โดยมิใช่เกิดกระเพาะอาหารอักเสบ เช่นเกิดจากอาหารเป็นพิษ หรือการเป็นโรคอุจจาระร่วง ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการตรวจรักษาอย่างเหมาะสมโดยเฉพาะไม่ควรกินยาแก้ท้องเสียทันทีที่มีอาการ เนื่องจากในกรณีที่เป็นโรคอุจจาระร่วง หรืออาหารเป็นพิษ จะทำให้โรครุนแรงและรักษาได้ยาก การป้องกันภาวะผิดปกติของระบบทางเดินอาหารในหญิงตั้งครรภ์เป็นสิ่งสำคัญเพียงแต่ระวังเรื่อง ความสะอาดของมือ ภาชนะ และอาหารที่กิน ก็จะทำให้คุณปลอดภัยจากการติดเชื้อใดๆ โดยไม่จำเป็น

 

หัดเยอรมัน
_____________________________________________________________________________________
คำถาม : ฉันบังเอิญสัมผัสผู้ป่วยโรคหัดเยอรมันในขณะที่เดินทางกลับบ้านต่างจังหวัดฉันจะต้องทำอย่างไร

การติดเชื้อหัดเยอรมันจากการสัมผัสนั้นพบว่าเกิดได้ ๑ ใน ๗ กล่าวคืออีก ๖ คนไม่ติดเชื้อ เนื่องจากผู้คนส่วนใหญ่จะมีภูมิต้านทานโรคหัดนี้โดยธรรมชาติจากในวัยเด็กที่เล่นคลุกคลีกับเด็กที่เป็นหัดหรือบางคนได้รับการฉีดวัคซีนคุ้มกันโรคนี้มาตั้งแต่เด็ก แต่อย่างไรก็ดีคุณควรได้รับการทดสอบว่ามีการติดเชื้อหรือไม่ โดยการตรวจหาระดับแอนติบอดีในเลือด ตามปกติในการฝากครรภ์ครั้งแรกมักจะมีการทดสอบดูระดับแอนติบอดีของโรคหัดเยอรมัน ดังนั้นถ้าคุณเป็นผู้ที่มีภูมิต้านทานโรคอยู่แล้ว การสัมผัสโรคก็ไม่มีอันตรายแต่อย่างไร

โรคหัดเยอรมันจะมีอันตรายต่อทารกในครรภ์เมื่อมารดามีการติดเชื้อและแสดงอาการของโรคและอาการของโรคมักจะมีเพียงเล็กน้อยภายหลังการรับเชื้อ ๒-๓ สัปดาห์ โดยบางครั้งผู้ป่วยแทบจะไม่รู้สึกว่ามีอาการผิดปกติ เช่น มีไข้ต่ำ ๆ ปวดเมื่อยตัว และมีต่อมน้ำเหลืองโตเล็กน้อย

ปัญหาการติดเชื้อหัดเยอรมันเป็นของหญิงตั้งครรภ์ จะมีผลกระทบต่อทารกในครรภ์โดยไม่สามารถป้องกันได้ แต่ผลกระทบนั้นจะรุนแรงมากน้อยต่างกันตามระดับอายุครรภ์ กล่าวคือ ถ้ามีการติดเชื้อในเดือนแรกของการตั้งครรภ์ โอกาสที่ทารกในครรภ์จะมีความพิการอย่างรุนแรงถึงร้อยละ ๒๕ ในขณะที่ถ้าเป็นการติดเชื้อในเดือนที่สาม อัตราการเกิดความพิการของทารกจะลดลงเหลือร้อยละ ๑๐-๑๕ และความรุนแรงจะลดลงด้วย ดังนั้นถ้าคุณไม่แน่ใจว่าการสัมผัสโรคจะทำให้คุณมีการติดเชื้อหรือไม่ คุณก็ควรจะปรึกษาแพทย์เพื่อการตรวจเลือด และการช่วยเหลือที่เหมาะสม

การฉีดวัคซีนหัดเยอรมันตามปกติวัคซีนนี้จะให้กับเด็กเล็กและเด็กวัยรุ่น โดยเฉพาะเด็กหญิงในวัยผู้ใหญ่ตอนต้นทุกคนควรได้รับวัคซีน เนื่องจากปัญหากระทบของการติดเชื้อหัดเยอรมันนั้นจะเป็นปัญหาในหญิงตั้งครรภ์โดยส่งผลต่อทารกในครรภ์ในเรื่องโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ดังนั้นการฉีดวัคซีนหัดเยอรมันจึงเป็นสิ่งต้องห้ามในหญิงตั้งครรภ์และภายหลังการฉีดวัคซีน ต้องระวังมิให้มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นภายใน ๓ เดือน เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดแก่ทารกในครรภ์

ข้อมูลสื่อ

217-013
นิตยสารหมอชาวบ้าน 217
พฤษภาคม 2540