• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคพาร์กินสัน-โรคสั่นสันนิบาต

โรคพาร์กินสัน-โรคสั่นสันนิบาต
 

โรคพาร์กินสัน คือโรคอะไร

ในอดีตคนไทยน้อยคนที่จะรู้จักโรคนี้ ในยุคปัจจุบัน (พ.ศ.๒๕๔๐) คนไทยมีอายุเฉลี่ยยืนยาวกว่าเดิมมาก คือ ผู้ชายอายุเฉลี่ยถึง ๖๗.๔ ปี ส่วนผู้หญิงอายุเฉลี่ย ๗๑.๗ ปี (อดีตคนไทยเราอายุเฉลี่ยเพียง ๔๕ ปี) ดังนั้นโรคในผู้สูงอายุจึงพบบ่อยขึ้นมากในคนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคทางระบบประสาทที่มีชื่อเรียกว่า โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease)

โรคพาร์กินสัน เป็นโรคที่รู้จักกันครั้งแรกในวงการแพทย์ในปี พ.ศ.๒๓๖๐ หรือเกือบ ๒๐๐ ปีมาแล้ว โดย น.พ.เจมส์ พาร์กินสัน แห่งประเทศอังกฤษ เป็นคนรายงานผู้ป่วยเป็นคนแรก โรคนี้จะทำให้ผู้ป่วยซึ่งส่วนมากจะเป็นผู้สูงอายุ (อายุเกิน ๖๐ ปีขึ้นไป) มีอาการทางระบบประสาทที่เด่นชัด ๔ ประการ ได้แก่

๑. อาการสั่น

๒. อาการเกร็ง

๓. อาการเคลื่อนไหวช้า

๔. การทรงตัวไม่ดี

ในอดีตโรคดังกล่าวนี้รักษาไม่ได้และอาการของผู้ป่วยจะเป็นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนเคลื่อนไหวไม่ได้เลยต้องนอนอยู่กับเตียงตลอดเวลา ซึ่งในที่สุดก็จะเสียชีวิตเพราะโรคแทรกซ้อนภายในเวลาไม่เกิน ๑๐ ปีหลังเริ่มเป็นโรค ในปัจจุบันความก้าวหน้าทางการแพทย์ทำให้สามารถรักษาโรคนี้ได้อย่างดีมีอายุใกล้เคียงกับคนปกติ และสามารถทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้นมาก จึงสมควรจะรู้จักโรคนี้ไว้บ้าง

ความผิดปกติในสมองของผู้ป่วยพาร์กินสันเป็นอย่างไร

ในอดีตแพทย์เข้าใจว่าโรคพาร์กินสันนี้มีความผิดปกติที่ไขสันหลัง แต่ในปัจจุบันเป็นที่ทราบกันแน่นอนแล้วว่า พยาธิสภาพของโรคนี้เกิดที่บริเวณตัวสมองเองในส่วนลึกๆ บริเวณก้านสมอง ซึ่งมีกลุ่มเซลล์ประสาทที่มีสีดำมีจำนวนเซลล์ลดลง หรือบกพร่องในหน้าที่ในการปล่อยสารเคมีที่เรียกว่า โดพามีน (dopamine) จึงทำให้เกิดอาการเคลื่อนไหวช้า เกร็งและสั่นเกิดขึ้นตามลำดับ ดังนั้นในปัจจุบันการรักษาโรคนี้จึงหวังมุ่งให้สมองมีระดับสารโดพามีนกลับสู่ค่าปกติ ซึ่งอาจทำได้โดยการกินยา หรือผ่าตัดสมอง

สาเหตุของโรคพาร์กินสันมีอะไรบ้าง

โรคพาร์กินสันอาจเกิดได้จากสาเหตุต่างๆ มากมาย ได้แก่

๑. ความชราภาพของสมอง ทำให้เซลล์สมองที่สร้างสารโดพามีนมีจำนวนลดลง ในผู้ป่วยกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่พบบ่อยที่สุด และจัดว่าเป็นกลุ่มที่ไม่มีสาเหตุจำเพาะแน่นอน มักพบในผู้ที่อายุเกิน ๖๕ ขึ้นไป และพบได้บ่อยพอๆกันในเพศชายและเพศหญิง ไม่มีใครทราบว่าในอนาคตใครจะเกิดโรคนี้บ้าง ในช่วงวัยชรา แต่จากสถิติอุบัติการณ์เกิดโรคนี้ ในต่างประเทศจะพบประมาณร้อยละ ๑-๕ ในผู้ที่อายุเกิน ๕๐ ปี สำหรับประเทศไทยยังไม่ทราบสถิติของโรคนี้

๒. ยากล่อมประสาทหลักหรือยานอนหลับที่ออกฤทธิ์กดหรือต้านการสร้างสารโดพามีน ซึ่งผู้ป่วยโรคทางจิตเวชบางคนอาจจำเป็นต้องได้ยากลุ่มนี้ เพื่อควบคุมอาการคลุ้มคลั่ง เพิ่มหรือสับสน ยากลุ่มนี้ในอดีตใช้กันมากกว่าปัจจุบัน ยานอนหลับรุ่นหลังๆ ปลอดภัยกว่าและไม่มีผลต่อการเกิดโรคพาร์กินสัน

๓. ยาลดความดันเลือดสูง ในอดีตมียาลดความดันเลือดที่มีคุณสมบัติออกฤทธิ์ทำให้สมองลดการสร้างสารโดพามีน จึงเกิดโรคพาร์กินสันได้ อย่างไรก็ตามยาควบคุมความดันเลือดสูงในระยะหลังๆ ส่วนใหญ่จะมีฤทธิ์ขยายหลอดเลือดส่วนปลาย จึงไม่มีผลต่อสมองที่จะทำให้เกิดโรคพาร์กินสันอีกต่อไป

๔. หลอดเลือดในสมองอุดตัน ทำให้เซลล์สมองที่สร้างสารโดพามีนมีจำนวนน้อยหรือหมดไป

๕. สารพิษทำลายสมอง ได้แก่ สารพิษแมงกานีสในโรงงาน พิษจากสารคาร์บอนมอนอกไซด์ ซึ่งสามารถทำให้เซลล์สมองเสื่อมและเกิดโรคพาร์กินสันได้

๖. สมองขาดออกซิเจน ในผู้ป่วยจมน้ำ ถูกบีบคอ หรือมีการอุดตันในทางเดินหายใจจากเสมหะหรืออาหาร เป็นต้น

๗. อุบัติเหตุศีรษะถูกกระทบกระเทือน หรือกระแทกบ่อยๆ เช่น อุบัติเหตุรถยนต์ หรือมอเตอร์ไซค์ นักมวยที่ถูกชกศีรษะบ่อยๆ จนเป็นโรคเมาหมัด เช่น มูหะหมัด อาลี เป็นต้น

๘. การอักเสบของสมอง

๙. โรคพันธุกรรม เช่น โรควิลสัน (Wilson’s disease) ที่มีโรคตับพิการร่วมกับโรคสมอง เนื่องจากมีธาตุทองแดงไปเกาะในตับและสมองมากจนเป็นอันตรายขึ้นมา

อาการของโรคพาร์กินสันมีอะไรบ้าง

ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันอาจมีอาการและอาการแสดงของโรคมากน้อยแตกต่างกันได้มาก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอายุผู้ป่วย ระยะเวลาการเป็นโรค และภาวะแทรกซ้อนที่ตามมา โรคพาร์กินสันนั้นนอกจากจะมีอาการเด่น ๔ อย่าง ดังกล่าวแล้วอาจเกิดมีอาการอื่นๆ เพิ่มเติมได้อีกดังในรายละเอียด ดังนี้

๑. อาการสั่น ประมาณร้อยละ ๖๐-๗๐ ของผู้ป่วยจะมีอาการสั่น เป็นอาการเริ่มต้นของโรค อาการสั่นนี้จะมีลักษณะเฉพาะ คือ สั่นมากเวลาอยู่นิ่งๆ แต่ถ้าเคลื่อนไหวหรือยื่นมือทำอะไรอาการสั่นจะลดลงหรือหายไป (ผิดจากอาการสั่นอีกแบบที่พบบ่อยในผู้สูงอายุทั่วๆไปที่จะสั่นมากเวลาทำงาน เมื่ออยู่เฉยๆ ไม่สั่น) อาการสั่นในโรคพาร์กินสันนี้ ถ้านับอัตราเร็วจะพบว่า สั่นประมาณ ๔-๘ ครั้งต่อวินาที และอาจสั่นของนิ้วหัวแม่มือ-นิ้วมืออื่นๆ คล้ายแบบปั้นลูกกลอน อาการสั่นของโรคอาจเริ่มเกิดขึ้นที่มือ แขน ขา คาง ศีรษะ หรือลำตัวก็ได้ ระยะแรกของโรคอาจเกิดข้างเดียวก่อนและต่อมาจึงมีอาการทั้งสองข้างก็ได้

๒. อาการเกร็ง จะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกปวดเมื่อยกล้ามเนื้อของร่างกาย โดยเฉพาะแขน ขา และลำตัว โดยที่ผู้ป่วยไม่ได้เคลื่อนไหว หรือทำงานหนักแต่อย่างใด กล้ามเนื้อของร่างกาย จะมีความดึงตัวสูงและเกร็งแข็งอยู่ตลอดเวลา จนผู้ป่วยบางรายต้องกินยาแก้ปวดเมื่อย หรือหายามาทา บรรเทาตามร่างกายส่วนต่างๆ หรือหาหมอนวดมาบีบคลายเส้นเป็นประจำ

๓. อาการเคลื่อนไหวช้า ผู้ป่วยในระยะแรกๆ จะรู้สึกว่าตัวเองทำอะไรช้าลงไปจากเดิมมาก ไม่กระฉับกระเฉงว่องไวแบบเดิม เดินช้า และงุ่มง่าม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะต้นๆ ของการเคลื่อนไหวในรายที่เป็นมากขึ้นอาจพบว่า อาจหกล้มบ่อยๆ จนบางรายกระดูกต้นขาหัก สะโพกหัก หลังเดาะ แขนหัก ศีรษะแตก เป็นต้น ในรายที่เป็นมากอาจเดินเองไม่ได้ต้องใช้ไม้เท้าหรือคนคอยพยุง

๔. ท่าเดินผิดปกติ ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันจะมีลักษณะท่าเดินจำเพาะตัวที่ผิดจากโรคอื่น คือ จะเดินก้าวสั้น ๆ แบบซอยเท้าในช่วงแรกๆ และต่อมาจะก้าวยาวขึ้นเรื่อยๆ จนเร็วมากและหยุดทันทีทันใดไม่ได้จะล้มหน้าคว่ำเลย นอกจากนี้ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะเดินหลังค่อม ตัวงอโค้งและแขนไม่แกว่งตามเท้าที่ก้าวออกไป มือจะชิดแนบตัวเดินแข็งทื่อแบบหุ่นยนต์

๕. การแสดงสีหน้า ผู้ป่วยพาร์กินสันจะมีใบหน้าแบบเฉยเมย ไม่มีอารมณ์เหมือนคนใส่หน้ากาก ไม่ยิ้มหัวเราะ หน้าตาทื่อเวลาพูดก็จะมีมุมปากขยับเพียงเล็กน้อย เหมือนคนไม่มีอารมณ์

๖. เสียงพูด ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะพูดเสียงเครือๆ และเบามากฟังไม่ชัดเจน และยิ่งพูดนานไปๆ เสียงจะค่อยๆ หายไปในลำคอ บางรายที่เป็นไม่มากเสียงพูดจะค่อนข้างเรียบ รัวและอยู่ในระดับเดียวกันตลอด ไม่มีพูดเสียงหนักเบาแต่อย่างใด

๗. การเขียนของผู้ป่วยกลุ่มนี้ จะทำได้ลำบากและตัวเขียนจะค่อยๆ เขียนเล็กลงๆ จนอ่านไม่ออก

๘. การกลอกตา ในผู้ป่วยโรคนี้ จะทำได้ลำบาก ช้า และไม่คล่องแคล่วในการมองซ้ายหรือขวาบนหรือล่าง ลูกตาจะเคลื่อนไหวแบบกระตุกไม่เรียบ

๙. น้ำลายไหล เป็นอาการที่พบได้บ่อยอันหนึ่ง คือ มีน้ำลายมาสอยอยู่ที่มุมปากสองข้าง และไหลเยิ้มลงมาที่บริเวณคาง ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีลักษณะแบบมีน้ำลายมากอยู่ตลอดเวลา

อาการแทรกซ้อนของโรคพาร์กินสันที่สำคัญ

นอกจากอาการหลัก ๆ ดังกล่าวแล้ว ยังพบว่าในผู้ป่วยโรคพาร์กินสันมักจะมีอาการแทรกซ้อนที่สำคัญ ๔ อย่างที่สมควรทราบไว้ คือ

๑. อาการท้องผูกประจำ โดยปกติคนเราจะมีการถ่ายอุจจาระปกติ เมื่อได้เดินเคลื่อนไหว หรือออกกำลังกายที่พอเหมาะ ดื่มน้ำมากเพียงพอ (อย่างน้อยวันละ ๘ แก้ว) กินอาหารถูกส่วน คือ มีผักและผลไม้เพียงพอ ในกลุ่มผู้ป่วยโรคพาร์กินสันนี้ ปัญหาท้องผูกจะเป็นหลักที่ทำให้ญาติและผู้ดูแลตลอดจนผู้ป่วยเองหงุดหงิด เนื่องจากผู้ป่วยพาร์กินสัน มักมีการเคลื่อนไหวน้อย ไม่ชอบดื่มน้ำ ไม่กินผักและผลไม้ เนื่องจากไม่มีฟันเคี้ยว และยิ่งกว่านั้นยาที่ใช้รักษาโรคพาร์กินสัน ยังมีผลแทรกตามมาทำให้ท้องผูกได้อีก วิธีแก้ไขอาการท้องผูก คือ

ก. ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ ๘ แก้ว (หน้าร้อนอาจต้องถึง ๑๐ แก้ว) และหลีกเลี่ยงชาและกาแฟ ซึ่งอาจทำให้ท้องผูกเพิ่มขึ้น

ข. ในรายที่กินผักหรือผลไม้ไม่ได้เพียงพอ จำเป็นต้องให้น้ำผลไม้เสริม หรืออาหารที่เป็นกาก

ค. ให้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอทุกวัน อย่างน้อยก็ให้เดินเคลื่อนไหวแขนขาในท่าบริหารร่างกาย

ง. ในรายที่ยังไม่ได้ผล อาจต้องให้ยาระบายอ่อนๆ กับผู้ป่วยในบางราย

๒. อาการท้อแท้และซึมเศร้า เป็นอาการทางอารมณ์ที่พบบ่อย ในผู้ป่วยกลุ่มนี้ นอกจากจะเปลี่ยนแปลงสารเคมีในสมองแล้ว สิ่งแวดล้อมก็จะมีบทบาทที่สำคัญด้วย เพราะผู้ป่วยกลุ่มนี้จะไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างกระฉับกระเฉงคล่องแคล่วว่องไวเหมือนเดิม ขาดคนดูแลเอาใจใส่ บางรายอาจช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ดี จึงอาจมีความท้อแท้เบื่อหน่ายในชีวิต และคิดว่าโรคนี้รักษาไม่หายไม่อยากเป็นภาระต่อครอบครัวที่ตนเองพิการ ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดโดยสิ้นเชิง การเอาใจใส่ดูแลของสมาชิกในครอบครัวตลอดจนความเข้าอกเข้าใจในผู้ป่วยและลักษณะของโรคนี้จะทำให้ผู้ป่วยมีกำลังใจและหายจากภาวะซึมเศร้าได้ เพราะภาวะนี้เป็นอันตรายอย่างยิ่งที่ผู้ป่วยอาจคิดสั้นและทำลายชีวิตตนเองและผู้อื่นได้ ในรายที่มีอาการมากและบ่นอยากตายจำเป็นต้องปรึกษาจิตแพทย์เพื่อการบำบัดรักษาที่ถูกต้องต่อไป

๓. อาการปวด ในผู้ป่วยโรคนี้บางรายอาจมีอาการปวดในตำแหน่งต่างๆ ของร่างกายอย่างมาก อาจปวดแบบกล้ามเนื้อเกร็งหรือปวดขา ปวดหลังอย่างมาก โดยเฉพาะเวลานอนหรือช่วงกลางคืน จนนอนไม่หลับ ในกรณีเช่นนี้การได้ยาแก้ปวดอาจจำเป็น แต่ต้องระวังปัญหาเลือกออกในกระเพาะอาหาร ซึ่งในผู้สูงอายุจะเกิดได้บ่อยกว่าคนทั่วไป เพราะเยื่อบุกระเพาะอาหารบาง การใช้นวด ประคบร้อนหรือกายภาพบำบัดมักจะช่วยได้อย่างดี

๔. อาการอ่อนเพลีย มักเป็นอาการที่พบเสมอๆ ในผู้ป่วยกลุ่มนี้ โดยเฉพาะในกรณีที่มีงานมาก เครียดหรือกังวล การพักผ่อนในผู้ป่วยกลุ่มนี้จำเป็นต้องมีให้เพียงพอ และในรายที่นอนไม่หลับก็จำเป็นต้องให้ยานอนหลับร่วมด้วยกับยาคลายกังวล ผู้ป่วยกลุ่มนี้ไม่สมควรทำงานหามรุ่งหามค่ำเกินกำลังและตื่นอยู่เสมอ ญาติหรือคนดูแลจำเป็นต้องเข้าใจ มิเช่นนั้นถ้าหากอดนอนด้วยกันทั้งสองฝ่ายก็อาจทำให้หงุดหงิดง่าย โมโหและทำให้สภาพจิตของผู้ป่วยเลวลงได้อีก

อย่างไรก็ตามการจัดสภาพห้องนอนให้เหมาะสม แสงไฟไม่สว่างเกินไป เตียงนุ่มสบาย หมอนที่ไม่สูงหรือต่ำเกินไป อากาศไม่ร้อนหรืออบชื้น และให้ฝึกนิสัยถ่ายปัสสาวะก่อนนอนเสมอก็จะช่วยให้ผู้ป่วยหลับได้ง่ายและไม่ตื่นกลางดึก


การรักษาโรคพาร์กินสันมีอย่างไรบ้าง

โรคพาร์กินสันนี้ในปัจจุบันสามารถรักษาได้ผลอย่างดีจนเป็นที่น่าพอใจ ทำให้ผู้ป่วยกลับสู่ปกติได้ การรักษาโรคพาร์กินสันสามารถจำแนกได้เป็น ๓ วิธีหลัก คือ

๑. การรักษาทางยา แม้ว่ายาจะไม่สามารถทำให้เซลล์สมองที่ตายไปแล้วฟื้นตัวกลับมาหรืองอกใหม่ทดแทนเซลล์เดิมได้ก็ตาม แต่ยาก็จะทำให้สารเคมีโดพามีนในสมองมีปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการของร่างกายได้ การปรับขนาดยาดังกล่าวในผู้ป่วยแต่ละรายที่มีอาการมากน้อยต่างกันจึงมีความสำคัญที่จะไม่ให้ยามากหรือน้อยเกินไป เพราะยาทุกชนิดเป็นดาบสองคมมีทั้งคุณและโทษ ถ้าใช้ไม่ถูกต้องหรือขนาดไม่เหมาะสม โดยเฉพาะยากลุ่มรักษาโรคนี้อาจมีผลแทรกซ้อนต่อหลอดเลือดหัวใจ โรคต้อหิน โรคต่อมลูกหมากโต (ทำให้ปัสสาวะลำบาก) บางรายอาจมีการเคลื่อนไหวผิดปกติหรืออาจมีสับสน วุ่นวายอันเป็นผลจากยาได้ เป็นต้น อาการที่พบบ่อยอันเป็นผลจากยา คือ อาการทางระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ อาการคลื่นไส้ อาเจียน และท้องผูก

ยาที่ใช้กันในปัจจุบัน ได้แก่

ก. อาร์เทน (Artane) และโคเจนทิน (Cogentin) นิยมใช้ในรายที่มีอาการน้อยๆ และเป็นในระยะแรกๆ ยากลุ่มนี้อาจทำให้คอแห้ง สับสน ท้องผูก ตามัว และบางรายถ่ายปัสสาวะลำบากเกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ตามในผู้ป่วยที่อายุเกิน ๗๐ ปี มักไม่นิยมใช้ยากลุ่มนี้เพราะอาจทำให้ความจำเสื่อมได้

ข. ไซนีเมต (Sinemet) และมาโดพาร์ (Madopar) ยานี้นิยมใช้กันมากในปัจุบัน เพราะตัวยาเองจะเปลี่ยนเป็นสารโดพามีนเข้าไปสู่สมองโดยตรง ผลแทรกซ้อนที่สำคัญ คือ อาจทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกหรือหัวใจเต้นผิดปกติ และหัวใจวายได้ การใช้ยาชนิดนี้ต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ โดยเฉพาะในรายที่เคยมีปัญหาโรคหัวใจมาก่อน การใช้ยาตัวนี้นานๆ อาจเกิดอาการดื้อยาและตอบสนองยาผิดปกติ เกิดปรากฏการณ์เคลื่อนไหวของร่างกายแขนขาผิดปกติได้มากและรุนแรง ผลแทรกซ้อนอื่นๆ ที่พบได้ คือ ท้องผูก และปัสสาวะลำบากในบางราย

ค. พาโรเดล (Parodel), โดเพอร์จิน (Dopergin) และซีลานซ์ (Celance) มักนิยมใช้ร่วมกับยากลุ่มที่ ๒ ในกรณีที่มีผลแทรกซ้อนของการเคลื่อนไหวผิดปกติ หรือต้องการลดขนาดยากลุ่มที่ ๒ ลง ในปัจจุบันเริ่มนิยมใช้กันมากขึ้น และสามารถทำให้การควบคุมอาการของโรคพาร์กินสันดีขึ้นกว่าการใช้ยาสองกลุ่มแรกอย่างเดียว ผลแทรกซ้อนที่อาจพบ ได้แก่ อาการคลื่นไส้ อาเจียน งงวิงเวียน แต่สามารถแก้ไขได้ถ้าเริ่มใช้ในขนาดต่ำๆ ก่อน ผลแทรกซ้อนที่รุนแรงอาจมีสับสนและเอะอะโวยวายได้แต่พบน้อยมาก

ง. จูเมกซ์ (Jumex) ยากลุ่มนี้นิยมใช้ในผู้ป่วยที่เริ่มต้นเป็นโรคนี้ ฤทธิ์ของยาไม่แรงแต่มีผลแทรกซ้อนน้อย ที่พบ ได้แก่ ปากแห้ง นอนไม่หลับ เป็นต้น

โดยสรุปการรักษาทางยานั้น เป็นการรักษาทดแทนชดเชยสารเคมีส่วนที่สมองขาดไป ซึ่งจำเป็นต้องได้รับยาทุกวันสม่ำเสมอไปจนตลอดชีวิต ขนาดยาอาจต้องเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเพราะการตอบสนองของร่างกายในช่วงเวลาและสภาวะต่างๆ อาจเปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับพยาธิสภาพในสมองมักจะเป็นมากขึ้นเรื่อยๆตามอายุ ยาไม่สามารถยับยั้งการเสื่อมสลายของเซลล์ได้ ดังนั้นผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงคล้ายกับโรคเบาหวาน โรคความดันเลือดสูง ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาควบคุมตลอดชีวิต

๒. การรักษาทางกายภาพบำบัด จุดมุ่งหมายของการรักษาโรคพาร์กินสัน คือ สามารถทำให้ผู้ป่วยกลับคืนมาสู่สภาพชีวิตใกล้เคียงกับคนปกติให้ได้มากที่สุด สามารถเข้าสังคมได้ ช่วยเหลือตนเองได้ และมีความสุขทั้งทางด้านจิตใจและร่างกาย การรักษาทางกายภาพบำบัดจะช่วยเหลือผู้ป่วยได้ในหัวข้อการเคลื่อนไหวที่ถูกต้องและสมส่วน ท่าเดิน นั่ง การทรงตัว ตลอดจนการออกกายบริหารและแก้ไขภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น หลังโกง ไหล่ติด ปวดหลัง ปวดเอว ปวดคอ ปวดขา เป็นต้น

หลักการทางกายภาพบำบัดที่ง่ายๆ และผู้ป่วยอาจทำเองได้ มีดังนี้

ก. การเดิน ให้ยืนตัวตรงก่อนและก้าวเท้าให้ยาวพอสมควรอย่าสั้นเกินไป ให้เดินเอาส้นเท้าลงให้เต็มฝ่าเท้าอย่าใช้แต่ปลายเท้า ให้แกว่งแขนไปด้วยในขณะเดินเพราะทำให้การทรงตัวดีขึ้นจะได้ไม่ล้มง่าย ห้ามหมุนตัวหรือกลับตัวเร็ว ๆ และให้ฝึกเดินทุกวันให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ขณะเดินอย่าหันรีหันขวางหรือเดินไขว้ขา ในบางรายอาจจำเป็นต้องใช้ไม้เท้าช่วยเดิน

ข. การจัดท่าของร่างกาย สมควรจัดทำให้ถูกต้องในทุกอิริยาบถมิเช่นนั้นจะมีผลต่อการปวดเมื่อยร่างกายและการทรงตัว ในบางรายอาจต้องใช้การส่องดูตัวเองในกระจกช่วยเพื่อแก้ไขท่าของร่างกาย เช่น ไหล่เอียง คอเอียง หลังโก่ง เป็นต้น การนอนราบบริหารกล้ามเนื้อหลังโดนแอ่นท้องในท่านอนหงายราบกับพื้นแข็งทุกวัน วันละ ๓๐ นาที นับว่ามีประโยชน์ยิ่งสำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้ การฝึกยืนเชิดหน้าเชยคางหลังชิดกำแพงหรือผนังห้อง ขาสองข้างห่างกันเล็กน้อย ปลายส้นเท้าห่างฝาห้องประมาณ ๔ นิ้ว จากนั้นยกไหล่ หลังและหัวแตะกำแพงเป็นท่าที่จะทำให้ผู้ป่วยยืนยืดตัวได้เต็มที่

ค. การทรงตัว ไม่ควรใส่รองเท้าส้นสูงเป็นอันขาดให้ใช้รองเท้าส้นเตี้ย และไม่ใช้รองเท้าที่ทำด้วยวัสดุบางหรือเหนียวติดพื้นง่าย การบริหารร่างกายนับว่าเป็นสิ่งสำคัญเช่นกันในการทรงตัวของผู้ป่วย การบริหารข้อทุกข้อของร่างกายอย่างสม่ำเสมอสมควรทำทุกวัน

ง. การนอน ไม่ควรใช้เตียงที่สูงเกินไป เวลาขึ้นเตียงนอนให้นั่งที่ขอบเตียงก่อน จากนั้นเอนตัวนอนตะแคงข้างโดยใช้ข้อศอกยันแล้วจึงยกเท้าขึ้นขอบเตียง วิธีนี้จะช่วยลดอาการปวดหลังปวดเอวได้ ในกรณีที่ผู้ป่วยต้องลุกตื่นกลางดึก ถ้าจะลุกเดินเข้าห้องน้ำต้องเปิดไฟให้สว่างเพียงพอก่อนเสมอ อย่าใช้วิธีเดิมสุ่มในความมืด

จ. การพูด ญาติหรือผู้ดูแลใกล้ชิดต้องพยายามเข้าใจผู้ป่วยว่า บางครั้งในขณะพูดผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องใช้ความพยายามมากและอาจเหนื่อยได้ถ้าพูดนานหรือประโยคยาวๆ ดังนั้นการพูดประโยคหรือคำพูดสั้นๆ ที่ได้ใจความจึงจำเป็น และต้องให้เวลากับผู้ป่วยเวลาจะนึกคำพูด บางคราวผู้ป่วยมีน้ำลายเต็มปากการพูด จะฟังไม่ชัด การออกเสียงกระดกลิ้นของผู้ป่วยอาจลำบากและการพูดเว้นจังหวะช่องไฟของคำหรือประโยคอาจผิดไปจากปกติได้ การจ้องดูหน้า ริมฝีปากผู้ป่วยขณะพูด จะช่วยให้เข้าใจความหมายดีขึ้น ไม่ควรมีเสียงดังรบกวนในขณะที่ผู้ป่วยพูด

จะเห็นได้ว่าบทบาทของการทำกายภาพบำบัด มีความสำคัญในการช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นฟูสมรรถภาพและสามารถกลับไปดำรงชีวิตประจำวันได้ใกล้เคียงกับคนปกติ

๓. การรักษาโดยการผ่าตัด ปัจจุบันมีกรรมวิธีก้าวหน้าทางประสาทศัลยกรรม ทำผ่าตัดสมองโดยเอาเนื้อเยื่อจากต่อมหมวกไต หรือปมประสาทบริเวณคอไปปลูกเลี้ยงในโพรงสมองเพื่อให้เนื้อเยื่อเหล่านี้ สร้างสารเคมีโดพามีนขึ้นมาทดแทนส่วนที่สมองขาดไปได้ วิธีการนี้เริ่มใช้กันมากขึ้นทั้งในต่างประเทศและประเทศไทย ผลดีของการรักษาวิธีนี้ คือ ผู้ป่วยอาจไม่ต้องกินยาหรือลดขนาดยาลงได้ เพราะยาส่วนใหญ่มีราคาแพง ส่วนผลแทรกซ้อนของการผ่าตัดก็ย่อมเกิดขึ้นได้เช่นกัน โดยมากนิยมทำผ่าตัดในรายผู้ป่วยที่อายุน้อยและมีอาการไม่มากนัก วิธีนี้เป็นทางเลือกอีกวิธีหนึ่งของการรักษาโรคพาร์กินสันในปัจจุบันแต่ต้องเลือกทำเป็นรายๆไป วิธีผ่าตัดนี้เพิ่งเริ่มทำกันมาได้ประมาณ ๑๐ กว่าปี ในต่างประเทศมีการศึกษาทำผ่าตัดปลูกเซลล์สมองจากทารกที่เสียชีวิตในครรภ์มาใช้กับผู้ป่วย ผลการศึกษานับว่าได้ผลดีพอสมควร


การพยากรณ์โรคพาร์กินสันเป็นอย่างไร

โดยปกติผู้ป่วยกลุ่มนี้มีการพยากรณ์โรคดี ภายหลังที่ได้รับยารักษาโดยอาจมีการดำรงชีวิตได้แบบปกติ และอายุของผู้ป่วยจะยืนยาวเหมือนคนทั่วไป มีผู้ป่วยหลายรายที่นอนอยู่กับเตียงมานานนับปีและญาติเข้าใจว่าเกิดจากโรคสมองเสื่อมหรือโรคอัมพาต นอนแข็งอยู่กับเตียงมาตลอด เดินไม่ไดจึงไม่ได้ให้การรักษาแต่อย่างใด แต่เมื่อมาพบแพทย์จึงได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคพาร์กินสัน ภายหลังการรักษาพบว่าผู้ป่วยกลับมาเดินได้ทำกิจวัตรประจำวันได้ และมีชีวิตครอบครัวเหมือนเดิมได้อีกครั้งหนึ่ง

ดังนั้นโรคพาร์กินสันนี้หรือโรคสั่นสันติบาตรในอดีตนั้น ในปัจจุบันเราสามารถให้การบำบัดรักษาและทำให้ผู้ป่วยกลับมามีชีวิตที่สดใสอีกเช่นเดิม โดยมีคุณภาพชีวิตที่ดีมีประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติได้ต่อไป

ข้อมูลสื่อ

219-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 219
กรกฎาคม 2540
โรคน่ารู้