• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

วัณโรค-เอดส์ แนวร่วมมรณะ

สมัยก่อน คนที่เป็นวัณโรค มักจะถูกเพื่อนบ้านมองอย่างรังเกียจ เพราะความกลัวว่าจะติดโรค ที่กลัวกันมากก็เพราะระยะแรกๆ ไม่มียารักษา ใครเป็นแล้วต้องพักผ่อนในที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์ กินอาหารดีๆ จึงจะมีโอกาสหายได้ ต่อมาเริ่มมีการค้นพบยารักษาวัณโรค ตอนแรกพบแต่ยาฉีดอย่างเดียว หลังจากนั้นก็พบยากินอีก ๒-๓ อย่าง แต่ต้องใช้ระยะเวลารักษานานมาก คนไข้จึงเกิดความเบื่อหน่ายการไปหาแพทย์ทุกเดือนนานเป็นปี 

- ปัญหาของการรักษา

ปัจจุบันความรู้สึกรังเกียจโรคนี้ได้เบาบางลงไปมากแล้ว เพราะวัณโรคเดี๋ยวนี้รักษาง่าย ใช้เวลารักษาแค่ ๖ เดือนก็หาย และไม่ต้องฉีดยา แต่ก็ยังมีปัญหาอีก เพราะยารุ่นใหม่มีประสิทธิภาพสูง กินเพียงไม่กี่เดือน คนไข้จะมีอาการดีขึ้นจนเกิดความประมาท คิดว่าหายแล้ว ไม่ต้องกินยาต่อก็คงหายแล้ว แต่ความจริงยังไม่หาย และการหยุดยาก่อนกำหนดมีผลเสียมากมาย มหาศาล ข้อแรกจะกลับมาเป็นใหม่อีก และข้อที่สองเมื่อกลับมาเป็นใหม่ คราวนี้เชื้ออาจจะดื้อยาหลายชนิดได้

ถ้าเชื้อไม่ดื้อยา ค่ารักษาต่อราย ตลอดระยะการรักษา ๖ เดือน ใช้เพียงประมาณ ๓,๐๐๐ บาท แต่ถ้าดื้อยาแล้ว ค่าใช้จ่ายในการรักษาจะเพิ่มเป็น ๓๐,๐๐๐-๑๐๐,๐๐๐ บาท ต่อราย และโอกาสหายมีแค่ร้อยละ ๔๐-๕๐ เท่านั้น ที่เหลือตายหมด เหตุนี้เราจึงต้องนำแนวทางใหม่ในการควบคุมวัณโรค ตามข้อเสนอแนะ ขององค์การอนามัยโลกมาดำเนินการ

แนวทางใหม่นี้เรียกว่า การรักษาวัณโรคแบบมีพี่เลี้ยงหรือคำย่อภาษาอังกฤษว่า DOTS คือหาคนมาดูแลให้คนไข้รับยาครบทุกมื้อ เพื่อให้แน่ใจว่าหายขาดไม่แพร่เชื้ออีก
ความจริงปัญหาวัณโรคในประเทศต่างๆ ลดลงมามากแล้ว แต่พอเอดส์เข้ามา วัณโรคก็เพิ่มขึ้นอีก ซึ่งเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
 
ในประเทศที่มีปัญหาโรคเอดส์รุนแรง รวมทั้งประเทศไทยด้วย ถ้าจะถามว่าแล้ววัณโรคมันไปเกี่ยวอะไรกับเอดส์ มันคนละโรคกันแท้ๆ ไม่น่าจะเกี่ยวข้องอะไรกันเลย ถ้าจะอธิบายก็คงยาวหน่อย คงจะต้องเริ่มจากการติดเชื้อกับการป่วยเป็นโรควัณโรค 

- วัณโรคไม่เหมือนโรคอื่น

โรคติดต่ออย่างอื่น การป่วยเกิดในระยะสั้นๆ ภายหลังได้รับเชื้อ และคนที่ได้รับเชื้อส่วนมากจะป่วย แต่ในเรื่องของวัณโรคมันกลับกัน คนที่ได้รับเชื้อ จะมีเพียงส่วนน้อยที่จะป่วย คนส่วนใหญ่ที่ได้รับเชื้อ แล้ว ถ้าร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง จะไม่ป่วย ถึงแม้จะมีเชื้ออยู่ในตัว และเป็นเชื้อที่ยังไม่ตาย แต่ก็ไม่เกิดโรค เพราะภูมิคุ้มกันของร่างกายไปกดเอาไว้ ไม่ให้เชื้อมันแข็งแรง และลุกลามได้

ทีนี้ถ้าคนที่มีเชื้อวัณโรคอยู่ในตัวแล้วนั้นไปติดเชื้อเอดส์มา ภูมิคุ้มกันจะถูกทำลาย เชื้อที่มีอยู่มันยังไม่ตาย มันจะกลับแข็งแรงขึ้นและลุกลามกลายเป็นวัณโรคได้ ด้วยเหตุนี้คนที่ติดเชื้อเอดส์ จึงมีโอกาสเป็นวัณโรคได้มากถึงครึ่งหนึ่งหรือมากกว่า และทำให้ตายได้เร็วขึ้น แต่ถ้ารักษาวัณโรคให้หายจะมีชีวิตอยู่ได้นานขึ้น

ในประเทศไทยคนที่ได้รับเชื้อวัณโรคมีมากถึงร้อยละ ๕๐-๗๐ ประเทศเราจึงได้รับผลกระทบในเรื่องนี้อย่างค่อนข้างรุนแรง ในระยะ ๕ ปี ที่ผ่านมา จำนวนผู้ป่วยวัณโรคเพิ่มขึ้นร้อยละ ๒ ต่อปี แต่เราก็ยังรับมือไหว โดยใช้แนวทางใหม่ หรือ DOTS ซึ่งขณะนี้ครอบคลุมร้อยละ ๓๔ ของประเทศแล้ว และจะครอบคลุมทั้งประเทศภายใน ๒ ปีนี้ หลังจากนั้นวัณโรคจะเริ่มลดลง 

- อาการและการตรวจ
ในต่างประเทศ ฝรั่งกลัววัณโรคกันมาก เคยมีการตรวจผู้โดยสารเครื่องบิน ในเที่ยวบินที่มีผู้โดยสารคนหนึ่งเป็นผู้ป่วยวัณโรคระยะแพร่เชื้อโดยสารไปด้วย เมื่อตรวจโดยการทดสอบทางผิวหนังโดยใช้น้ำยา ทูเบอร์คูลินพบว่าให้ผลบวก แปลผลได้ว่าติดเชื้อวัณโรคกันหลายคน ก็แตกตื่นกันใหญ่ ในต่างประเทศ ไม่มีการฉีดวัคซีนบีซีจี จึงสามารถทดสอบด้วยวิธีดังกล่าวได้ว่าติดเชื้อหรือยัง

ไม่เหมือนในบ้านเรา ฉีดบีซีจีในเด็กแรกเกิดทุกคน ปฏิกิริยาจากบีซีจี จะให้ผลบวกต่อการทดสอบได้ จึงบอกไม่ได้ว่าเป็นการติดเชื้อจริงๆหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ควรวิตกกังวลจนเกินเหตุในเรื่องของการติดเชื้อ เพราะบางคนที่ติดเชื้อแล้วก็ไม่จำเป็นต้องเป็นวัณโรคเสมอไป ถ้าร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง แต่ถ้ามีอาการสงสัยว่าเป็นวัณโรคท่านควรไปรับการตรวจได้ที่สถานบริการทุกแห่ง

อาการที่สมควรไปรับการตรวจ คือ ไอเรื้อรังเกิน ๒ สัปดาห์ หรือไอเป็นเลือด และอาจมีอาการอย่างอื่นร่วม เช่น มีไข้ต่ำๆตอนบ่าย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ผอม ซีด อ่อนเพลีย ควรรีบไปตรวจแต่แรกๆ อย่าปล่อยทิ้งไว้ เพราะถ้าลุกลามไปมากๆจะรักษายากขึ้น 

- ภยันตรายจากวัณโรค
องค์การอนามัยโลกประกาศ เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๓๖ ว่าวัณโรคเป็นภาวะฉุกเฉินของโลก นับว่า ภยันตรายจากวัณโรคใกล้ตัวเราเข้ามาทุกทีแล้ว เมื่อวัณโรคจับมือเป็นแนวร่วมกับเอดส์ ก็เรียกได้ว่า ฆาตกรรายใหม่ของประชากรโลกที่จะมาแทนที่เอดส์ได้ปรากฏตัวขึ้นแล้ว ในปี พ.ศ. ๒๕๔๓ หรืออีกไม่ถึง ๒ ปีข้างหน้า องค์การอนามัยโลกพยากรณ์ไว้เมื่อ ๑๑ ปีก่อนว่าจะมีผู้ป่วยวัณโรคทั่วโลก มากถึง ๙๖ ล้านคน และมีผู้ป่วยวัณโรคตายมากถึง ๓๖ ล้านคน

นับเป็นเรื่องที่น่าวิตกกังวลเป็นอย่างยิ่ง แล้วเราจะยังนิ่งนอนใจ คิดแต่จะกอบโกยผลประโยชน์ให้กับตัวเอง โดยไม่คำนึงถึงความหายนะของประชากรของประเทศอยู่อย่างนี้กันอีกหรือ

วันวัณโรคโลก
วันที่ ๒๔ มีนาคมของทุกปี กำหนดขึ้นให้เป็น วันวัณโรคโลก หรือ World TB Day ซึ่งแต่เดิมจัดขึ้นในประเทศยุโรป ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๕ ซึ่งเป็นปีครบ ๑๐๐ ปี นับตั้งแต่มีการค้นพบเชื้อวัณโรค โดยแพทย์ชาวเยอรมันชื่อ Dr. Robert Kock ในปี พ.ศ. ๒๔๒๕ ต่อมาเมื่อวัณโรคในประเทศต่างๆ มีความรุนแรงมากขึ้น และองค์การอนามัยโลกประกาศเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๓๖ ว่าวัณโรคเป็นภาวะฉุกเฉินของโลก จึงได้มีการรณรงค์ และจัดนิทรรศการเนื่องในโอกาสวันวัณโรคโลกขึ้นในประเทศต่างๆทั่วโลก เพื่อกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวในด้านวัณโรค

ข้อมูลสื่อ

240-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 240
เมษายน 2542
โรคน่ารู้