• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ภาวะเจ็บป่วยในระหว่างตั้งครรภ์

ภาวะเจ็บป่วยในระหว่างตั้งครรภ์


โรคอีสุกอีใส

___________________________________________________________________

คำถาม : ลูกของฉันได้รับเชื้อโดยการสัมผัสโรคอีสุกอีใสจากเพื่อนในศูนย์เลี้ยงเด็กกลางวัน ถ้าเด็กมีอาการของโรค จะมีอันตรายต่อการตั้งครรภ์ไหมคะ?


การติดเชื้อของทารกในครรภ์จะไม่ติดจากบุคคลที่สาม การรับเชื้อโรคติดต่อใดๆ จะรับโดยตรงจากมารดา หญิงตั้งครรภ์ส่วนมากมักจะเคยเป็นอีสุกอีใสในวัยเด็กมาก่อน จากสถิติพบว่าร้อยละ ๘๕-๙๕ ของผู้ใหญ่เคยเป็นโรคนี้มาแล้ว และถ้าโชคร้ายคุณไม่เคยเป็นโรคนี้มาก่อนและสัมผัสโรคนี้โดยบังเอิญ การให้ยาที่เป็นวัคซีนกลอบูลินภายใน ๙๖ ชั่วโมงหลังการสัมผัสโรค จะช่วยลดปัญหาความรุนแรงของโรคได้

ภาวะโรคอีสุกอีใสในผู้ใหญ่มักจะรุนแรงกว่าในเด็ก โดยเฉพาะภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น อาการปอดบวม ผลกระทบต่อทารกในครรภ์ จะรุนแรงจนทำให้เกิดความพิการของทารกแต่กำเนิดได้ ถ้ามารดามีการติดเชื้อในไตรมาสแรกถ้าเป็นการติดเชื้อในระยะใกล้คลอด ทารกที่คลอดอาจจะมีอาการของโรคอีสุกอีใส และอาการของโรคจะรุนแรงมากน้อยขึ้นอยู่กับระยะเวลาของการเป็นโรคนานเพียงพอที่จะมีการสร้างภูมิต้านทานในมารดาก่อนการคลอดหรือไม่ เพราะภูมิต้านทานโรคที่สร้างในมารดาจะผ่านเข้าสู่ทารกในครรภ์ได้เช่นกัน (การสร้างภูมิต้านทานจะเกิดภายหลัง การติดเชื้อ ๑-๒ สัปดาห์) ดังนั้น ถ้ามารดามีการติดเชื้อ ๔-๕ วัน ก่อนคลอด ทารกแรกเกิดจะแสดงอาการของโรค ในระยะหลังคลอด ๑ สัปดาห์(ทารกมีการติดเชื้อร้อยละ ๑๕-๓๐ เท่านั้น) และถ้ามารดามีการติดเชื้อ ๕-๒๑ วันก่อนคลอดทารกจะไม่มีอาการแสดงของโรคและการติดเชื้อจะพบได้น้อยมาก

ข้อดีอีกประการหนึ่ง คือ การที่มารดามีการติดเชื้ออีสุกอีใสมาก่อน และมีการติดเชื้อเริมในระยะต่อมาการติดเชื้อเริมจะไม่มีอันตรายแต่อย่างใดต่อทารกในครรภ์ เพราะทารกมีภูมิต้านทานเชื้อไวรัสที่เพียงพอ


ไข้

____________________________________________________________________

คำถาม : ฉันกำลังมีไข้สูงอยู่ ฉันจะกินยาแอสไพรินเพื่อลดไข้ได้ไหมคะ?


อาการไข้เป็นสัญลักษณ์ของร่างกายในการต่อสู้กับเชื้อโรค และพบว่าถ้าหญิงตั้งครรภ์มีไข้สูงเกิน ๔๐ องศาเซลเซียส และนานกว่า ๑ วัน จะทำให้เกิดความพิการในทารกได้เช่นกัน ดังนั้นเมื่อมีไข้ควรพยายามลดไข้ให้เร็วที่สุด วิธีการลดไข้ขึ้นอยู่กับอาการ ถ้ามีไข้สูงมากควรไปพบแพทย์เพื่อการรักษาที่เหมาะสม ถ้ามีไข้ต่ำๆ ไปถึง ๓๘ องศาเซลเซียส ควรใช้การเช็ดตัว อาบน้ำ และดื่มน้ำมากๆ เพื่อลดไข้ ไม่ควรกินยาลดไข้เอง


การใช้ยาแอสไพริน

____________________________________________________________________

คำถาม : เมื่อสัปดาห์ที่แล้วฉันกินยาแอสไพริน ๒ เม็ดแก้ปวดศีรษะ และต่อมาฉันอ่านพบว่ายาแอสไพรินทำให้ทารกพิการได้ ฉันรู้สึกไม่สบายใจเลยค่ะ”


จากการรายงานการศึกษา พบว่า การกินยาแอสไพรินในระยะไตรมาสที่หนึ่งและสองของการตั้งครรภ์ และการกินในขนาดไม่มาก เพียง ๑-๒ ครั้ง ไม่มีอันตรายใดๆ ต่อทารกในครรภ์ ยาแอสไพรินส่งผลต่อทารกในครรภ์เฉพาะการได้ยาในไตรมาสที่สามเท่านั้น โดยจะรบกวนการเจริญเติบโตของทารกและอาจพบปัญหาอื่นๆ เพราะแอสไพรินมีผลมีผลไปต้านฤทธิ์ของพรอสตาแกลนดินซึ่งพรอสตาแกลนดินจะออกฤทธิ์ต่อการทำงานของกล้ามเนื้อมดลูกในกลไกการคลอด ดังนั้นแอสไพรินอาจทำให้การคลอดล่าช้า และตัวยาแอสไพรินจะทำให้เกิดความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือด การได้ยาในระยะ ๒ สัปดาห์ก่อนคลอด จะส่งผลทำให้เกิดปัญหาการตกเลือดในการคลอด และการแข็งตัวของเลือดในทารกแรกเกิด

ในทางตรงกันข้าม ประโยชน์ของแอสไพรินในการตั้งครรภ์ก็มี โดยพบว่าในหญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับยาแอสไพรินขนาดต่ำๆ เพื่อรักษาโรคภูมิต้านทานบกพร่องบางชนิด จะไม่มีปัญหาการคลอดก่อนกำหนดและไม่พบว่าทารกมีพัฒนาการช้ากว่าปกติเลย การกินยาแอสไพรินในขณะตั้งครรภ์เป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง ควรใช้ยาระงับปวดหรือลดไข้ชนิดอื่นแทน เช่น ยาพาราเซตามอล ไทลีนอล เป็นต้น แต่ควรจะเป็นการใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์จึงจะปลอดภัย

ข้อมูลสื่อ

219-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 219
กรกฎาคม 2540