• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เรื่อง “เหน็บชา” กับกรณีศึกษา

เรื่อง “เหน็บชา” (ตอนที่ ๒)

 
คนไข้รายที่ ๒ ชายไทยอายุประมาณ ๓๕ ปี

ชาย : “สวัสดีครับ คุณหมอ นิ้วเท้าผมเป็นอะไรไม่รู้ ชาไปหมดและเริ่มเจ็บมาประมาณครึ่งชั่วโมงแล้วครับ”
หมอ : “อยู่ดีๆ ก็เป็นขึ้นมาเองหรือครับ”
ชาย : “ครับ อยู่ดีๆ ก็เป็นขึ้นมาเอง แต่อาจจะเป็นเพราะว่าเมื่อเช้าผมเดินมากไปหน่อย และรองเท้าคู่นี้อาจจะคับไปหน่อยหรือเปล่าก็ไม่ทราบครับ”
หมอ : “คุณเคยมีอาการอย่างนี้มาก่อนหรือไม่ครับ”
ชาย : “เคยครับ แต่ไม่มากเหมือนคราวนี้ แต่เดิมถ้าเดินมากๆ มันจะรู้สึกเพียงชาๆ เมื่อยๆ ในบางนิ้วและนิ้วที่ชาๆ เมื่อยๆ จะค่อนข้างเย็นซีดและรับความรับความรู้สึกได้น้อยกว่านิ้วอื่น บางครั้งก็มีอาการเหมือนเป็นเหน็บด้วย”
หมอ : “ขอหมอตรวจดูหน่อยครับ”
คนไข้ถอดรองเท้าและถุงเท้าออก พลางชี้ให้ดูนิ้วกลางของเท้าขวา และนิ้วชี้ของเท้าซ้ายที่มีอาการเหน็บชา นิ้วทั้งสองซีดและเย็นกว่านิ้วอื่น และดูเหี่ยวกว่านิ้วอื่นที่อยู่ข้างๆ กัน ผิวหนังตรงปลายของนิ้วกลางเท้าขวาเริ่มมีสีคล้ำดำ เล็บของนิ้วเท้าทั้งสองหนาและขรุขระกว่าเล็บของนิ้วอื่น
หมอ : “คุณสูบบุหรี่มากมั๊ย”
ชาย : “ทำไมหมอถึงคิดว่าผมสูบบุหรี่ละครับ”
หมอ : “ก็ริมฝีปากของคุณดำเหมืนคนสูบบุหรี่ และนิ้วเท้าของคุณที่เป็นเช่นนี้ก็มักจะเกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่”
ชาย : “ที่นิ้วของผมเป็นอย่างนี้ เป็นเพราะสูบบุหรี่หรือครับ ถ้าอย่างนั้นผมจะต้องหยุดสูบบุหรี่แล้ว ผมสูบบุหรี่มาตั้งแต่อายุ ๑๕-๑๖ ปี เดิมสูบวันละครึ่งซอง แต่หลังจบการศึกษาและเข้าทำงานแล้ว ได้สูบเพิ่มเป็นวันละ ๑-๒ ซอง ครับ”
หมอ : “ที่นิ้วของคุณเป็นอย่างนี้ เพราะมันขาดเลือด เนื่องจากเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงมันอักเสบและตีบตัน ถ้ามันขาดเลือดมากกว่านี้ นิ้วมันจะตาย กลายเป็นสีดำ ดำกว่าสีที่ปลายนิ้วกลางขวาแล้วมันจะเหี่ยวแห้งลง ๆ และดำขึ้นจนในที่สุดจะหลุดออกจากเท้าไป
ยังไม่มีใครรู้ว่าอะไรเป็นสาเหตุ แต่รู้ว่าคนที่สูบบุหรี่จะเป็นมากกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่หลายเท่าตัว และถ้าไม่หยุดสูบบุหรี่ โรคจะลุกลามอย่างรวดเร็ว ทำให้ต้องตัดนิ้ว ตัดเท้า หรือตัดมือได้”
ชาย : “หมอขู่ผมหรือเปล่า”
หมอ : “หมอไม่ได้ขู่คุณ หมอพูดความจริงให้ฟัง คุณมีสิทธิที่จะไม่เชื่อหมอได้ แต่คุณเชื่อหมอดีกว่า เพราะคุณคงไม่อยากเสียเท้า หรือเล็บนิ้วมือนิ้วเท้าไปไม่ใช่หรือ”
ชาย : “ครับ นอกจากการหยุดสูบบุหรี่แล้ว มียารักษาให้หายไหมครับ”
หมอ : “ยังไม่มียารักษาให้หายครับ มีแต่ยาที่ช่วยทุเลาอาการและช่วยให้เลือดไหลไปเลี้ยงส่วนที่ชาดเลือดได้สะดวกขึ้น แต่ที่สำคัญที่สุด คือ การปฏิบัติตนของคุณเอง

๑. คุณจะต้องหยุดสูบบุหรี่ทันทีและตลอดไป

๒. คุณจะต้องหลีกเลี่ยงสิ่งต่างๆ ที่ทำให้เกิดอาการได้มากที่สุดเท่าที่คุณจะทำได้ เช่น การใส่รองเท้าคับๆ การเดินมากเกินไป หรือการใช้อวัยวะส่วนที่ขาดเลือดมากเกินไป การใส่เสื้อกางเกงที่คับๆ การใช้ผ้ายางหรือเครื่องรัดที่ทำให้เลือดไปเลี้ยงส่วนปลายไม่สะดวก เช่น ถุงเท้าที่รัดเกินไป เป็นต้น

การนั่งยองๆ การนั่งพับเพียบ การนั่งขัดสมาธิ หรืออื่นๆ ที่ทำให้มีการพับหรือทับขา ก็จะทำให้เลือดไปเลี้ยงเท้าและนิ้วเท้าลดลง และไม่ควรทำเช่นนั้น นอกจากจะเป็นช่วงสั้นๆ ที่ไม่ทำให้เกิดอาการเท่านั้น

๓. คุณจะต้องพยายามให้ส่วนที่ขาดเลือดอยู่ต่ำกว่าระดับร่างกาย เช่น เวลานอน ควรจะยกหัวเตียงขึ้นโดยใช้อิฐรองขาเตียงให้หัวเตียงสูงกว่าปลายเตียงประมาณ ๒๐-๓๐ เซนติเมตร เพื่อให้เลือดไหลลงไปเลี้ยงเท้าของคุณได้สะดวกขึ้น

๔. ในขณะที่เกิดอาการเหน็บชาขึ้น ควรจะหยุดพักเท้าและขาทันที เช่น หยุดเดิน นั่งพักและนั่งห้อยเท้า แช่เท้าในน้ำอุ่นถ้าทำได้ เพื่อให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงเท้าได้ดีขึ้น

ส่วนยาช่วยอาการ หมอจะให้ยาแอสไพริน กินวันละ ครึ่งถึง ๑ เม็ดหลังอาหารทันที (กินมื้อไหนก็ได้แต่ควรกินหลังอาหารมื้อใหญ่ที่สุดจะได้ไม่ระคายกระเพาะ) แต่ถ้าคุณเป็นโรคแผลในกระเพาะอาหารอยู่ หมอก็ให้คุณกินยานี้ไม่ได้เพราะอาจทำให้แผลในกระเพาะของคุณกำเริบขึ้น

ถ้านิ้วของคุณเริ่มดำมากขึ้นหรือปวดมากขึ้น หรือเป็นแผล เป็นหนอง หรือมีอาการไข้ขึ้น คุณรีบมาโรงพยาบาลทันที เพราะอาจจะต้องตัดนิ้วเท้านิ้วนั้นออก มิฉะนั้นอาจลุกลามไปถึงเท้าได้”
ชาย : “ตกลงผมไม่ต้องอยู่โรงพยาบาลนะครับ”
หมอ : “ยังไม่ต้องครับ เพราะอยู่โรงพยาบาลในตอนนี้ ก็ไม่มีวิธีรักษาอื่น นอกจากที่เล่าให้คุณฟังแล้ว ซึ่งคุณรักษาตนเองที่บ้านได้”

คนไข้รายนี้เกิดอาการเหน็บชาจากการขาดเลือดที่นิ้วเท้า เนื่องจากหลอดเลือดแดงอักเสบและตีบตัน (thromboangitis obpiterans หรือ Barraquer’s disease) ซึ่งถ้ามาโรงพยาบาลช้า ปล่อยให้ส่วนที่ขาดเลือดตายจนเหี่ยวแห้งและดำ ก็จำเป็นต้องอยู่โรงพยาบาลเพื่อเฝ้าดูอาการให้หลุดที่ตายหลุดไปเอง หรือผ่าตัดส่วนที่ตายทิ้งไปก่อนที่จะเน่า หรือติดเชื้อจนเป็นแผลหรือไข้ขึ้น

 

คนไข้รายที่ ๓ หญิงไทยอ้วนอายุ ๖๐ ปี ถูกพานั่งรถเข็นมาที่ห้องฉุกเฉิน

หญิง : “สวัสดีค่ะ หมอ ดิฉันมีอาการเหน็บชาที่ขาและเท้าขวามากค่ะ และขาก็อ่อนแรงจนเดินไม่ได้ ถ้าเดินยิ่งปวดมากจนเดินไม่ได้”
หมอ : “สวัสดีครับ คุณเป็นมานานเท่าไรแล้วครับ”
หญิง : “เป็นมาประมาณครึ่งชั่วโมงค่ะ ดิฉันจะเป็นอัมพาตมั๊ยคะ”
หมอ : “เดี๋ยวหมอต้องตรวจดูก่อนครับจึงจะบอกอาการได้ว่าคุณเป็นอะไร คุณเคยมีอาการอย่างนี้มาก่อนมั๊ยครับ”
หญิง : “ไม่มีค่ะหมอ”
หมอ : “คุณมีโรคประจำตัวอะไรบ้างมั๊ยครับ”
หญิง : “ดิฉันมีโรคเบาหวาน ความดันเลือดสูง และไขมันในเลือดสูง แต่ดิฉันก็กินยารักษามาตลอดเลยนะคะ ไม่เคยขาดยาเลย”
หมอ : “ครับ เดี๋ยวขอหมอตรวจดูก่อนนะครับ”
จากการตรวจร่างกาย ขาข้างขวาอ่อนแรงกว่าข้างซ้าย แต่รับความรู้สึกต่าง ๆ ได้ดี (ยังรู้สึกเวลาใช้สำลีแตะเบาๆ รับความรู้สึกร้อนและเย็นได้ เป็นต้น) แต่ขาข้างขวาเย็นและซีดขาวกว่าข้างซ้ายตั้งแต่ระดับเข่าลงไป และเมื่อคลำชีพจรที่ขาหนีบ (femoral pulse) พบว่า ชีพจรที่ขาหนีบข้างขวาเบากว่าข้างซ้ายมาก และคลำชีพจรที่ขาพับ (popliteal pulse) พบว่า คลำชีพจรที่ขาพับข้างขวาไม่ได้ (ดูวิธีตรวจชีพจรในหมอชาวบ้าน ฉบับที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๒๓)
หมอ : “อาการเหน็บชาและอ่อนแรงที่ขาขวาของคุณเกิดจากการที่เส้นเลือดไปเลี้ยงขาขวาของคุณตีบตันหรือถูกอุดตัน ทำให้ขาของคุณขาดเลือด คุณเพิ่งเป็นมาครึ่งชั่วโมง หมอยังไม่แน่ใจว่า อาการของคุณจะทรุดลงหรือไม่ จึงจำเป็นต้องให้คุณอยู่โรงพยาบาลเพื่อเฝ้าดูอาการ เพราะถ้าอาการทรุดลงมาก อาจต้องทำการผ่าตัดทันที”
หญิง : “ดิฉันอยู่โรงพยาบาลได้ค่ะ แต่ไม่อยากผ่าตัดเพราะเป็นโรคเบาหวานอยู่”
หมอ : “ผมยังรับปากไม่ได้ว่า จะไม่ต้องผ่าตัด แต่ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ แล้วเราจะไม่ผ่าตัด แต่ถ้าจำเป็นจริงๆ เพื่อช่วยให้คุณไม่ต้องเสียขาของคุณไปจากการขาดเลือด เราก็อาจจะต้องผ่าตัดเข้าไปเอาสิ่งที่อุดตันเส้นเลือดของคุณออก”
หญิง : “ถ้าอย่างนั้น ตกลงค่ะ”

คนไข้รายที่ ๓ นี้มีอาการเหน็บชาที่จัดได้ว่าเป็นกรณีฉุกเฉินจนต้องรับไว้ในโรงพยาบาล เพราะอาจต้องทำการผ่าตัดฉุกเฉินเพื่อเอาสิ่งที่อุดตันเส้นเลือดออกถ้าเอาออกได้หรือทำทางเบี่ยง (by-pass) ข้ามส่วนที่อุดตันเพื่อให้มีเลือดไปเลี้ยงขาส่วนที่กำลังจะตายจากการขาดเลือดได้ กรณีที่ให้ยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น

คนไข้ที่มีเส้นเลือดอุดตันรายที่ ๓ นี้ ต่างจากรายที่ ๒ เพราการอุดตันเกิดขึ้นกับเส้นเลือดที่ใหญ่กว่าและจะเป็นอันตรายต่ออวัยวะในระดับที่ใหญ่กว่าและอันตรายกว่ารายที่ ๒ (รายที่ ๒ อาจเสียเพียงนิ้วเท้า แต่รายที่ ๓ นี้ อาจเสียขาทั้งขา) ประกอบกับคนไข้รายที่ ๓ มีโรคเบาหวาน และโรคอื่นๆ อยู่ด้วย ซึ่งมักจะกำเริบมากขึ้นเวลามีภาวะแทรกซ้อน (โรคแทรก) เช่นนี้ และการอยู่โรงพยาบาลมีความจำเป็นเพราะสามารถให้ยาและ/หรือการผ่าตัดเพื่อช่วยภาวะขาดเลือดของขาในคนไข้รายที่ ๓ ได้ (ในขณะที่ไม่มีการรักษาพิเศษใดๆ สำหรับคนไข้รายที่ ๒ นอกจากการตัดนิ้วเท้าออกถ้าเป็นมาก คนไข้รายที่ ๒ จึงไม่จำเป็นต้องอยู่โรงพยาบาล)

แต่คนไข้ทั้งรายที่ ๒ และรายที่ ๓ ต่างก็เป็นคนไข้อาการเหน็บชาที่เป็นภาวะฉุกเฉินทั้งคู่ แต่ภาวะฉุกเฉินอย่างหนึ่งต้องการคำแนะนำที่ถูกต้อง เพื่อการปฏิบัติรักษาตนเองที่บ้าน ส่วนภาวะฉุกเฉินอีกอย่างหนึ่งต้องการตรวจรักษาอย่างใกล้ชิดในโรงพยาบาล

ดังนั้น ภาวะฉุกเฉินจึงไม่ใช่ภาวะที่ต้องอยู่โรงพยาบาลเสมอไป เพราะถ้าได้รับการแก้ไขได้ทันท่วงทีจนอาการดีขึ้น หรือได้รับคำแนะนำให้ปฏิบัติรักษาตนเองได้ที่บ้าน การกลับไปรักษาที่บ้านจะได้รับความอบอุ่น ความดูแลเอาใจใส่และความสะดวกสบายมากกว่าการอยู่โรงพยาบาล ยกเว้นแต่กรณีที่คนในบ้าน (ญาติมิตร) ต้องการจะเอาคนไข้มาทิ้งไว้ให้คนอื่นดูแลแทนเท่านั้น หรือในกรณีอื่นๆ

...............................................................

เหน็บชา ตอนที่ 1 | เหน็บชา ตอนที่ 3

ข้อมูลสื่อ

220-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 220
สิงหาคม 2540
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์