• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สะตอ ผักพื้นบ้าน กลิ่นแรงของภาคใต้

สะตอ ผักพื้นบ้าน กลิ่นแรงของภาคใต้

 
ชื่อวิทยาศาสตร์ Parkia speciosa Hassk. ชื่ออื่น กอตอ, ลูกตอ ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน จัดให้สะตอเป็นพืชที่อยู่ในวงศ์ Leguminosae ซึ่งเป็นไม้จำพวกที่มีฝัก เช่นเดียวกับกระถิน ทองหลาง ถั่ว แต่ในหนังสือบางเล่มก็จัดสะตออยู่ในวงศ์ Mimosaceae คือ เป็นไม้ตระกูลเดียวกับไมยราบ จามจุรี

สะตอเป็นไม้ยืนต้น ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงเฉลี่ยได้ถึง ๓๐ เมตร ต้นสูงขึ้นไปแล้วแตกกิ่งก้านเป็นพุ่มแผ่กว้าง ลำต้นเรียบ ลอกเป็นสะเก็ดเล็กน้อย สีน้ำตาลอ่อน กิ่งก้านมีขนละเอียด ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น ใบแขนงมีประมาณ ๑๔-๑๘ คู่ ช่อใบย่อยมีประมาณ ๓๑-๓๘ คู่ ปลายใบบนฐานใบด้านนอกเบี้ยวเป็นติ่ง ดอกออกเป็นช่อรวมกันเป็นกระจุก อัดกันแน่นเป็นก้อนคล้ายดอกกระถิน ช่อดอกจะห้อยระย้าอยู่ทั่วทรงพุ่ม แต่ละดอกมีก้านดอกและใบประดับรอง ประกอบด้วยช่อดอกตัวผู้ และช่อดอกสมบูรณ์เพศ กลีบดอกสีขาวนวล ดอกจะออกช่วงเดือนเมษายน หลังจากนั้น ๗๐ วัน จะสามารถเก็บฝักได้ ผลของสะตอเป็นฝักแบนกว้าง ๓-๕ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๓๕-๔๕ เวนติเมตร ฝักบิดเป็นเกลียวห่าง ฝักอ่อนมีสีเขียว พอแก่จะเปลี่ยนเป็นสีดำ เมล็ดสะตอมีลักษณะเป็นรูปรีเกือบกลมเรียงตามขวางกับฝัก มีสีเขียวอ่อน

การขยายพันธุ์สะตอ นิยมใช้เมล็ด โดยเลือกเมล็ดจากฝักแก่ ลอกเอาเยื่อหุ้มเมล็ดออกแล้วนำไปแช่น้ำ ๑ คืน นำมาสะเด็ดน้ำให้แห้ง เพาะในถุงเพาะชำหรือแปลงเพาะกล้า นอกจากเพาะเมล็ดแล้วยังมีการขยายพันธุ์โดยปักชำกิ่งและการติดตา สะตอเจริญเติบโตได้ดีตามเชิงเขาที่มีสภาพป่าสมบูรณ์ มีความชื้นในอากาศสูงจะพบทั่วไปในภาคใต้และภาคตะวันออก

 
สะตอในฐานะอาหาร

สะตอเป็นผักที่มีผู้นิยมกินมากชนิดหนึ่ง กินได้ทั้งยอดอ่อนและเมล็ด แต่นิยมกินเมล็ดมากกว่า (ถึงแม้เมล็ดจะมีกลิ่นเฉพาะตัวที่ค่อนข้างจะกลิ่นแรง) โดยกินเป็นผักแกล้ม (ทางได้เรียกเป็นผักเหนาะ) คือกินกับน้ำพริกหรือแกงเผ็ดต่าง ๆ แกงกะทิ แกงส้ม โดยนิยมกินเมล็ดสดทั้งแกะเปลือกหรือไม่แกะเปลือกหุ้มเมล็ด มีรสชาติมัน บางคนนำเมล็ดสะตอไปดัดแปลงโดยน้ำมาดอง ต้มหรือนำเอาทั้งฝักไปเผาไฟ เรียกว่า “ตอหมก” นอกจากกินเป็นผักแกล้มแล้ว ยังใช้เมล็ดปรุงอาหารได้อีกด้วย เช่น ผัดเผ็ด ผัดกะปิกุ้งสด และต้มกะทิ

 
สมุนไพร

“ตามตำราไทยใช้เมล็ดขับลมในลำไส้ แก้ปัสสาวะปวดขัดหรือกะปริบกะปรอย หรือขุ่นข้น หรือมีเลือดไหล หรือเกี่ยวกับไตพิการ ที่ปัสสาวะมีสีขุ่นข้น เหลืองหรือแดง และมีอาการแน่นท้อง กินอาหารไม่ได้
แพทย์แผนโบราณเชื่อว่าสะตอช่วยลดน้ำตาลในเส้นเลือดได้ ผู้ที่กินสะตอเป็นประจำจึงเป็นการป้องกันโรคเบาหวานได้ด้วย
 

ที่มา :

- ผักพื้นบ้าน(ภาคใต้)ทางเลือกในการผลิตและการบริโภค : สถาบันการแพทย์แผนไทย และกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก

- สยามไภษัชยพฤกษ์ ภูมิปัญญาของชาติ : บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน)

ข้อมูลสื่อ

220-013
นิตยสารหมอชาวบ้าน 220
สิงหาคม 2540
ต้นไม้ใบหญ้า
สุภาภรณ์ เจียมจิตร์