• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

น้ำปัสสาวะ นํ้ามหัศจรรย์รักษาโรค

เรื่องของน้ำปัสสาวะสามารถรักษาโรคได้สารพัด ถูก เผยแพร่ออกสู่สาธารณะอย่างครึกโครมเป็นระยะๆ จำได้ว่า ขึ้นเป็นข่าวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐเมื่อวันที่ ๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ โดยบรรยายสรรพคุณว่าสามารถรักษาโรคได้ ตั้งแต่โรคง่ายๆ เช่น หวัดไปจนถึงโรคร้ายแรง เช่น มะเร็ง โดย การศึกษาวิจัยของสถาบัน MCL (miracle cup of liquid แปลว่า น้ำในถ้วยมหัศจรรย์) ของญี่ปุ่น ขณะเดียวกันก็พบว่า มีการตื่นตัวแปลหนังสือเผยแพร่เป็นภาษาต่างประเทศทั่วโลก

ในขณะที่แพทย์สมัยใหม่หลายคนออกมาคัดค้านว่า ความเชื่อในเรื่องน้ำปัสสาวะเป็นน้ำมหัศจรรย์ ไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ยืนยัน ความวิเศษตามที่กล่าวอ้าง
ในชีวิตจริง ผู้เขียนเคยพบเห็นผู้ที่ใช้น้ำปัสสาวะเพื่อรักษาโรคเรื้อรัง ของตนเองตามความเชื่อ เนื่องจากผู้ป่วยพบว่าไม่สามารถหาทางออกได้จากการรักษาโดยการแพทย์แผนปัจจุบัน จึงตัดสินใจลองรักษาตัวเองโดยวิธีนี้

บทความที่จะเขียนต่อไปนี้ คงไม่สามารถให้คำตอบที่เบ็ดเสร็จว่า น้ำปัสสาวะจะสามารถแก้ปัญหาโรคภัยไข้เจ็บบางอย่าง ตามที่มีผู้กล่าวอ้างจริงหรือไม่ ในขณะเดียวกัน ก็ไม่อาจจะสรุปลงไปเลยว่า น้ำปัสสาวะ ไม่มีคุณค่าใดๆเลยต่อการรักษาโรค

บทความนี้ทำหน้าที่เสนอ เล่าสู่กันฟังถึงความเชื่อ และการใช้ น้ำปัสสาวะมารักษาโรคที่การแพทย์แผนจีนได้มีการบันทึกกล่าวไว้เพื่อเป็นข้อมูลในการเข้าใจถึงประสบการณ์ของคนจีน คงจะเป็นประโยชน์ แก่ผู้สนใจไม่มากก็น้อย การรักษาโรคด้วยน้ำปัสสาวะ หมายถึง การนำน้ำปัสสาวะของคนหรือสัตว์ (ส่วนที่เป็นน้ำใสและองค์ประกอบในน้ำปัสสาวะ) มา ใช้ดื่มเพื่อเข้าสู่ภายในร่างกาย หรือใช้ภายนอกในการรักษาโรคที่ได้มีการสืบทอดกันมา

ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการรักษาโรคด้วยน้ำปัสสาวะบันทึกไว้ว่า ประมาณ ๑,๔๐๐ ปีก่อน ในราชวงศ์หนาน ยุคฉีเหลียง มีบันทึกสรรพคุณทางยาของ น้ำปัสสาวะไว้ในบันทึกทางการแพทย์ ชื่อ “หมิง อวี เปียะ ลู่”
สมัยราชวงศ์ฮั่น แพทย์จีน ชื่อ จาง จ้ง จิ่ง ได้สร้างตำรับยา “น้ำปัสสาวะผสมกับน้ำดีหมู” รักษาภาวะสารยินในร่างกายเหือดแห้ง และพลังหยางถดถอยที่มีอาการรุนแรง
สมัยราชวงศ์ถัง มีบันทึกการ ใช้น้ำปัสสาวะส่วนใสของเด็กเล็กมารักษาโรคโดยการใช้ทาภายนอกร่างกาย
สมัยราชวงศ์หมิง ในบันทึก “อวี เซียะ เจิ้ง ฉวน” กล่าวถึงการใช้ปัสสาวะรักษาโรคสตรีภายหลังการคลอด การรักษาโรคกระดูกหักจากอุบัติเหตุ

หนังสือ “เปิ่น เฉ่า จิง ซู” ในสมัยราชวงศ์หมิง ได้กล่าวถึงสรรพคุณของน้ำปัสสาวะไว้ว่า “สามารถขับความร้อนจากความเหนื่อยล้า และภาวะร้อนภายใน แก้ไอ อาเจียนเป็นเลือด รวมถึงสตรีหลังคลอดที่เกิดอาการเวียนศีรษะ อึดอัด เนื่องจากเสียเลือด”
 
หนังสือ “จ้ง ชิ้ง ถัง สุย ปี่” กล่าวสรุปว่า น้ำปัสสาวะมีสรรพคุณ บำรุงธาตุยิน ลดไฟร้อนได้อย่างวิเศษสุด และมีบทบาทสำคัญในการรักษาโรคที่เกี่ยวกับเลือด

ชนิดของน้ำปัสสาวะและการแยก ส่วนของตะกอน
 ๑. น้ำปัสสาวะของคน
เลือกเอาน้ำปัสสาวะของคนที่แข็งแรง เอาเฉพาะน้ำปัสสาวะช่วงกลาง (คือน้ำปัสสาวะส่วนต้นที่เริ่มถ่ายออกและส่วนปลายขณะที่ถ่ายเกือบสุด เป็นส่วนที่ไม่ใช้) ปกติมักจะใช้ปัสสาวะเด็กที่อายุต่ำกว่า ๑๐ ขวบ ยิ่งเด็กเล็กยิ่งดี การดื่มควรดื่มขณะที่อุ่นๆ หรือทันทีเมื่อปัสสาวะใหม่ๆ ครั้งละ ๑-๒ ถ้วย หรือผสมกับยาสมุนไพรตามตำรับยาต่างๆ การใช้ทาภายนอก สามารถใช้โดยตรง ตรงตำแหน่งที่เป็นโรค

๒. ตะกอนจากส่วนประกอบในปัสสาวะ (เหวิน จง ไป๊)
เอาน้ำปัสสาวะใส่ไหหรือใส่กาทิ้งไว้เป็นเวลาแรมปี แล้วตักเอาส่วนที่ตกตะกอน แยกเอาสิ่งเจือปนอื่นๆออก นำตะกอนไปตากแห้ง ก็จะได้ส่วนที่เป็นสารประกอบหรือตะกอนแห้งลักษณะแข็ง สีขาวเทา ปราศจากสิ่งเจือปน

เหตุผลทางทฤษฎีแพทย์แผนจีน
แพทย์แผนจีนจัดน้ำปัสสาวะของคนปกติทั่วไปเป็นประเภทยิน สรรพคุณทางยาเป็นยาเย็น ไม่มีพิษ รสชาติเค็ม วิ่งสู่อวัยวะภายในคือ ตับ ไต ปอด
สรรพคุณทางยา เพิ่มธาตุยิน ลดไฟในร่างกาย หยุดเลือด สลายการอุดกั้นของเลือด
ส่วนตะกอนที่ได้จากน้ำปัสสาวะ ส่วนประกอบที่สำคัญในการวิเคราะห์ โดยวิธีทางแผนปัจจุบันพบว่า มีแคลเซียมฟอสเฟต แคลเซียมยูเรท ส่วนน้ำปัสสาวะของหญิงตั้งครรภ์ จะพบฮอร์โมนไคริโอนิก โกนาโดโทรปิน (chrionic gonadotropin) ซึ่งสามารถรักษาหญิงที่มีบุตรยาก นอกจากนี้ยังพบสารยูริเคส (Uricase) สามารถรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจขาดเลือด และภาวะอุดกลั้นของหลอดเลือดดำได้ด้วย

ข้อควรระวังเกี่ยวกับการใช้ปัสสาวะรักษาโรค
๑. ควรหาสาเหตุที่แน่นอนของ โรคก่อนว่ามีพยาธิสภาพหรือเป็นโรคอะไร เพราะบางโรคสามารถรักษาได้ง่ายโดยวิธีการแพทย์สมัยใหม่
๒. กรณีที่อยากจะทดสอบ ควรต้องสนใจ
- เนื่องจากปัสสาวะมีคุณสมบัติทางสมุนไพร มีฤทธิ์เย็น คนที่ร่างกายเย็นพร่องไม่ควรจะรักษาด้วยน้ำปัสสาวะ เพราะอาการจะเป็นมากขึ้น
- การเลือกดื่มน้ำปัสสาวะควรเลือกน้ำปัสสาวะของเด็กต่ำกว่า ๑๐ ขวบ หรือของคนที่ภาวะร่างกายแข็งแรงเป็นสำคัญ
- การเก็บน้ำปัสสาวะต้องใช้น้ำปัสสาวะช่วงกลาง (ช่วงแรกที่เริ่ม ปัสสาวะและน้ำปัสสาวะส่วนที่ใกล้จะสุดท้ายไม่ใช้)

เนื้อหาที่นำมาเล่าสู่กันฟัง เป็นประสบการณ์บันทึกของแพทย์แผนจีนที่มีการนำน้ำปัสสาวะมาใช้รักษาโรค ส่วนจะเป็นที่ยอมรับของคนทั่วไปคงยาก เพราะปัจจุบันมียาและการรักษาอื่นๆ ที่ง่ายแก่การยอมรับ เพราะคนทั่วไปจะรู้สึกว่าน้ำปัสสาวะเป็นของเสียหรือของสกปรก แต่ถ้าใครคิดอยากจะนำมาใช้ภายนอกเวลาฉุกเฉิน หรือไม่มีทางเลือกจริงๆ อยากจะดื่ม บทความนี้อาจเป็นแนวทางในการเลือกใช้และพอจะเป็น ประโยชน์บ้าง ใครมีประสบการณ์ดีๆก็ลองเล่าสู่กันฟังบ้างนะครับ

การรักษาด้วยน้ำปัสสาวะตามตำรับแพทย์แผนจีน
-ตำรับที่ ๑
น้ำปัสสาวะเด็ก ๕ ลิตร ผสมกับน้ำผึ้ง ๓ ช้อนโต๊ะ
สรรพคุณ รักษาโรคที่มีความร้อนเนื่องจากขาดสารยิน (ตามที่กล่าวมาแล้วรวมทั้งอาการที่มี ปัสสาวะเหลืองและหอบหืดจากภาวะยินพร่อง)
วิธีใช้ น้ำปัสสาวะของเด็กผู้ชายอายุต่ำกว่า ๓ ขวบ จำนวน ๕ ลิตร เคี่ยวไฟอ่อนๆ จนเหลือประมาณ ๑ ลิตร ผสมน้ำผึ้ง ๓ ช้อนโต๊ะ ดื่มครั้งละ ๒ ถ้วยเล็ก วันละ ๒ ครั้ง

-ตำรับที่ ๒ ใช้ปัสสาวะเด็กเล็กอย่างเดียว
สรรพคุณ - ใช้อมและดื่มรักษาอาการ เจ็บคอ เหงือกอักเสบ เลือดออกตามไรฟัน
- ดื่มรักษาภาวะเลือดออกจากแผลในกระเพาะอาหาร และลำไส้อักเสบ เช่น อาเจียนเป็นเลือด อุจจาระเป็นเลือด (แต่ไม่ได้ผลในกรณีที่เป็นแผลจากเนื้องอก)

-ตำรับที่ ๓ ยาจีน แชตี่ ๙๐ กรัม ลูกพุทราแดง ๑๕ ผล และปัสสาวะเด็ก
สรรพคุณ ช่วยขับร้อน ขับชื้นทางเดินปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะเป็นเลือด หรือมีนิ่วขนาด เล็กในทางเดินปัสสาวะ
วิธีใช้ ใช้แชตี่บดให้ละเอียด เติมน้ำพุทราแดงต้ม และชงกับน้ำปัสสาวะเด็กกินสัก ๒-๓ ครั้ง

-ตำรับที่ ๔
หมาก ๓๐ กรัม น้ำขิงสด ๓๐ กรัม ปัสสาวะเด็ก ๑ ถ้วย
สรรพคุณ รักษาเท้าชา ปวดเมื่อย เท้าไม่มีแรง ใจสั่น เหนื่อยง่าย คลื่นไส้อาเจียน อารมณ์ตึงเครียด
วิธีใช้ ให้ต้มหมาก แล้วเอาน้ำชงกับน้ำขิงต้ม ใช้ดื่มก่อนตามด้วยน้ำปัสสาวะเด็ก ๑ แก้ว

-ตำรับที่ ๕ สารตะกอนที่ได้จากส่วนประกอบในน้ำปัสสาวะ
สรรพคุณ โดยทั่วไปมักใช้รักษาโรคปากและลิ้นเป็นแผลเปื่อย เจ็บคอ (คออักเสบ) ปวดฟัน อาเจียนเป็นเลือด เลือดกำเดาออก (จากภาวะมีความร้อนมาก) ตัวอย่างเช่น
- หกล้มได้รับการกระทบกระเทือน บดสารตะกอนให้เป็นผงละเอียด โดยผสมกับเหล้า กินครั้งละ ๒-๕ กรัม
- แผลอักเสบในปาก ใช้ยาอึ่งแปะบดละเอียดผสมกับสารตะกอน แล้วเติมการบูรเล็กน้อย ใช้ป้ายบริเวณแผล

ข้อมูลสื่อ

240-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 240
เมษายน 2542
แพทย์แผนจีน
นพ.วิทวัส (ภาสกิจ) วัณนาวิบูล