• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

รสชาติกับสุขภาพ

รสชาติกับสุขภาพ


อาหารเป็นบำรุงเลี้ยงร่างกาย อาหารที่กินเข้าไปในร่างกายต้องอาศัยระบบการย่อย ดูดซึมและส่งลำเลียงไปเลี้ยงอวัยวะและส่วนต่างๆของร่างกาย (แพทย์แผนจีน หมายถึง กระเพาะอาหารและม้าม) การกินอย่างมีศาสตร์และศิลป์โดยคำนึงถึงลักษณะอาหาร วิธีการกิน และหลักการทะนุถนอม ระบบการย่อย (กระเพาะอาหารม้าม) จึงเป็นพื้นฐานสำคัญของการทำให้เกิดเลือดลมที่ดี และสร้างความแข็งแรงกับร่างกาย


กินอาหารในปริมาณที่พอเหมาะและเหมาะสม
ความต้องการอาหารขึ้นกับภาวะความอยากอาหาร และภาวะของร่างกายของแต่ละคน อาหารปริมาณที่พอเหมาะ (ไม่มากหรือน้อยเกินไป) อาหารที่เหมาะสมขึ้นอยู่กับวัย สภาพของคนแต่ละคนและสภาพแวดล้อม อาหารที่น้อยไป ทำให้ขาดสารบำรุงเลี้ยง ทำให้ร่างกายอ่อนแอ ขาดภูมิต้านทานโรค เจ็บป่วยได้ง่าย อาหารที่มากเกินไป ทำให้สมรรถภาพการทำงานของกระเพาะอาหารและม้ามในการย่อยดูดซึม ทำงานหนักมากเกินไป การย่อยดูดซึมบกพร่อง มีอาหารคั่งค้าง ทำให้ท้องอืด, เรอ, อาเจียนมีรสเปรี้ยว, ไม่มีความรู้สึกอยากอาหาร จนในที่สุดเกิดภาวะขาดอาหาร


ตัวอย่างภาวะพบได้บ่อยในเด็กเล็กที่ระบบการย่อยยังไม่สมบูรณ์ดีพอ ถ้าหากกินอาหารที่ย่อยยาก เช่น ของมัน ของหวานจัด ของที่มีคุณสมบัติเย็นมากเกินไป จะทำให้เกิดการทำลายสมรรถภาพการย่อย ทำให้มีอาการร้องไห้เก่ง ท้องอืดแน่น หน้าตาซีดเหลือง เส้นผมไม่มีมัน, แห้ง เบื่ออาหาร ผอม ท้องเสีย บางรายมีอาการหน้าแดง มือเท้าร้อน นอนหลับไม่สนิท คอแห้ง เหงื่อออกง่าย ท้องผูก ฯลฯ ในผู้ใหญ่ การกินอาหารปริมาณมากเกินไป ทำให้ระบบการย่อยไม่ดี ทำให้เกิดภาวะอุดตันของเลือดพลังของลำไส้ ทำให้เป็นริดสีดวงทวาร เป็นฝีได้ง่าย โดยเฉพาะถ้ากินอาหารประเภทเนื้อสัตว์มากเกินไป เพราะจะมีการสะสมของความร้อนในร่างกาย ถ้าดื่มเหล้ามากเกินไปจะทำลายกระเพาะอาหารทำให้เป็นหวัดง่าย ทั้งนี้เพราะรสเผ็ดขมของเหล้า มีฤทธิ์กระจาย แผ่ซ่าน ทำให้พลังของปอดขึ้นสู่ด้านบน (ปกติพลังปอดจะต้องลงล่าง) ทำให้มีอาการไอและหอบได้ง่าย


ไม่ควรกินอาหารประเภทเดียวซ้ำซาก
อาหารที่กินจะต้องหลากหลายและไม่ซ้ำซาก ไม่ควรเลือกกินอาหารตามความชอบ ความเคยชินหรือถูกปากแต่เพียงอย่างเดียว ร่างกายต้องการสารอาหารหลายประเภท การได้อาหารซ้ำซากและเป็นเวลายาวนาน นอกจากจะขาดความสมดุลของธาตุแล้ว ยังทำให้ระบบการดูดซึม การย่อยอาหารบกพร่องได้ง่าย ทำให้เกิดโรค

ลักษณะอาหารที่กินซ้ำซาก ได้แก่ คุณสมบัติทั้ง ๒ และรสทั้ง ๕ คือ กินอาหารที่มีลักษณะเย็น(ยิน) ลักษณะร้อน(หยาง) รสเปรี้ยว(ธาตุไม้-ตับ) รสหวาน(ธาตุดิน-ม้าม) รสเผ็ด(ธาตุทอง-ปอด) รสเค็ม(ธาตุน้ำ-ไต) รสขม(ธาตุไฟ-หัวใจ) การเลือกกินอาหารที่มีลักษณะเย็น(ยิน)หรือร้อน(หยาง) สามารถปรับเปลี่ยนให้เข้ากับบุคคล สถานที่ และสภาพฤดูกาลได้ เช่น ในฤดูร้อน อากาศค่อนข้างอุ่นถึงร้อน การเลือกกินอาหารค่อนไปทางเย็น ขม เค็ม เปรี้ยว จะทำให้รู้สึกสบายกว่า กินอาหารที่มีลักษณะร้อน เผ็ด หวาน ในฤดูหนาว อากาศหนาวเย็น การเลือกกินอาหารที่มีลักษณะอุ่น ร้อน รสเผ็ด หวาน จะทำให้ร่างกายอบอุ่น สบายกว่ากินอาหารที่มีลักษณะเย็น ขม เค็ม เปรี้ยว


หลักการเลือกรสชาติของอาหารและข้อควรระวัง

รสเปรี้ยว วิ่งเส้นตับ (ธาตุไม้) รสเปรี้ยวมีสรรพคุณ พยุง เหนี่ยวรั้ง ทำให้หยุด ระงับการหลั่งเหงื่อ ระงับการปล่อยสารคัดหลั่งต่างๆ การหยุดเลือด คนที่มีภาวะของตับเลือดพร่องให้กินของเปรี้ยวได้เพิ่มขึ้น แต่ถ้าเป็นโรคตับ (ภาวะของตับพร่องมากแล้ว) ห้ามกินของเปรี้ยวโดยเด็ดขาด

รสเปรี้ยวมากเกินไปจะกระทบกระเทือนธาตุดิน(กระเพาะ ม้าม)

รสเผ็ด วิ่งเส้นปอด (ธาตุทอง) รสเผ็ดมีสรรพคุณ กระจาย แผ่ซ่าน ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนเลือด คนที่ภาวะปอดอ่อนแอควรกินอาหารรสเผ็ดให้มากหน่อย แต่ถ้าเป็นโรคปอด (ภาระปอดพร่องมากแล้ว) ห้ามกินของเผ็ดโดยเด็ดขาด

รสเผ็ดมากเกินไปจะกระทบกระเทือนธาตุไม้ (ตับ)
 


รสหวาน
วิ่งเส้นม้าม (ธาตุดิน) รสหวานมีสรรพคุณ บำรุงเสริมสร้าง ลดการปวดเกร็งของกล้ามเนื้อ ลดอาการปวด คนที่ระบบการย่อยอ่อนแอ พลังม้ามบกพร่องให้กินอาหารรสหวานมากหน่อย แต่ถ้าเป็นโรคที่เกี่ยวกับการย่อยอาหารอ่อนแอมากๆ โรคเกี่ยวกับเอ็น ไม่ควรกินของหวานจัด

รสหวานมากเกินไปจะกระทบกระเทือนธาตุน้ำ (ไต)

รสเค็ม วิ่งเส้นไต (ธาตุน้ำ) รสเค็มมีสรรพคุณ ช่วยการสลายทำให้นิ่ม (สลายก้อนแข็ง) ช่วยระบาย แก้ท้องผูก คนที่มีไตพร่อง (ร้อนใน คอแห้ง ท้องผูก เหงื่อออกตามมือ, เท้า ปอด เมื่อยเอว สมรรถภาพทางเพศลดลง) ให้กินอาหารรสเค็มมากหน่อย แต่ถ้าเป็นโรคที่เกี่ยวกับไต (ไตอ่อนแอมากแล้ว) หรือโรคเลือด ห้ามกินของเค็ม

รสเค็มมากเกินไป จะกระทบกระเทือนธาตุไฟ (หัวใจ รวมทั้งระบบประสาท)

รสขม วิ่งเส้นหัวใจ (ธาตุไฟ) รสขมมีสรรพคุณขจัดร้อน สลายไฟ (ความร้อนในตัว) คนที่เลือดหัวใจพร่อง(นอนไม่หลับ ฝันบ่อย ความรู้สึกร้อนในตัว ร้อนฝ่ามือฝ่าเท้า มีแผลร้อนในปาก กินอาหารรสขมมากหน่อย แต่ถ้าเป็นโรคพลังหัวใจพร่องมาก หรือโรคปวดกระดูก คอแห้ง ลิ้นแดง ไม่ควรกินอาหารรสขม

รสขมมากเกินไปจะกระทบกระเทือนธาตุทอง (ปอด)

การกินอาหารที่มีรสชาติเดียวกันซ้ำซากทุกสถานการณ์ ย่อมก่อให้เกิดความเสียสมดุลของธาตุในร่างกาย
 

ข้อมูลสื่อ

222-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 222
ตุลาคม 2540
แพทย์แผนจีน
นพ.วิทวัส (ภาสกิจ) วัณนาวิบูล