• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เสียงแหบแห้ง

เสียงแหบแห้ง

 
๑. เสียงแหบคืออะไร มีกี่ประเภท อันตรายหรือไม่
เสียงแหบ หมายถึง เสียงพูด หรือเสียงร้องที่ผิดไปจากภาวะปกติของผู้ป่วย หรือผิดไปจากเสียงของคนปกติ เป็นอาการที่แสดงว่า มีความผิดปกติเกิดขึ้นกับตัวกล่องเสียงเอง หรืออาจจะมีความผิดปกติเกิดขึ้นกับเส้นประสาทที่มาเลี้ยงกล่องเสียง

กล่องเสียงเป็นส่วนหนึ่งของทางเดินหายใจ จะอยู่บริเวณคอ ตรงบริเวณลูกกระเดือก ภายในจะมีสายเสียงที่สามารถขยับได้ตามการหายใจและการพูด เวลาที่พูด ลมหายใจจากปอดจะผ่านมาที่กล่องเสียง จะทำให้มีการสั่นสะเทือนของสายเสียง ทำให้มีเสียงออกมา ทั้งนี้ต้องอาศัยอวัยวะในช่องปากและริมฝีปากร่วมด้วยเพื่อทำให้เสียงเป็นคำต่างๆ

 
๒. สาเหตุที่ทำให้เสียงแหบ

๒.๑ มีความผิดปกติที่ตัวกล่องเสียงเอง

- มีการบวมของสายเสียง อาจเป็นจากการอักเสบ มักพบร่วมกับการเป็นหวัดหรือเนื่องจากการใช้เสียงที่ผิดวิธี เช่น ตะเบ็ง ตะโกน ทำให้สายเสียงบวมได้

- มีก้อนเนื้องอกที่สายเสียง เป็นได้ทั้งเนื้องอกธรรมดาและเนื้องอกมะเร็ง

๒.๒ มีความผิดปกติเกี่ยวกับการทำงานของกล่องเสียง เช่น อัมพาตของเส้นประสาทที่มาเลี้ยงกล่องเสียง ก็จะทำให้มีเสียงแหบได้ เช่น พบได้ในผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บบริเวณคอหรือผู้ป่วยหลังได้รับการผ่าตัดต่อมธัยรอยด์


๓. โรคต่างๆ ของเสียงแหบที่พบได้

๓.๑ การอักเสบและบวมของกล่องเสียง
ถ้าเป็นการอักเสบเฉียบพลัน มักพบร่วมกับการเป็นหวัด อาจจะมีอาการน้ำมูกไหล ไอ เจ็บคอ นำมาก่อนเสียงแหบ หรือเป็นจากการใช้เสียงมาก ตะโกน ตะเบ็ง มาก่อนเสียงแหบ ถ้าเป็นการอักเสบเรื้อรัง มักเป็นจากการใช้เสียงมาก หรือออกเสียงไม่ถูกวิธี การระคายเคืองจากควันบุหรี่ จากสิ่งแวดล้อมเป็นพา หรือมลภาวะ บางครั้งกล่องเสียงได้รับการระคายเคืองจากควันบุหรี่ จากสิ่งแวดล้อมเป็นพิษและมลภาวะทำให้ต้องกระแอมบ่อยๆ

สำหรับการใช้เสียงมาก ระดับสายเสียงบวมแดง ถ้าเป็นนานอาจมีติ่งเนื้อที่สายเสียงได้ รักษาโดยพักการใช้เสียงหรือฝึกออกเสียงให้ถูกวิธีอาการเสียงแหบจะดีขึ้นได้ แต่ถ้าเสียงแหบนาน ก็ควรจะมาพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาทางยา อาจร่วมกับการผ่าตัดเอาติ่งเนื้อที่บวมออก และฝึกการออกเสียงที่ถูกวิธีจะเป็นการป้องกันไม่ให้เป็นอีก

๓.๒ มะเร็งกล่องเสียง พบในผู้ป่วยอายุ ๕๐-๗๐ ปี พบในชายมากกว่าหญิงถึง ๗ ต่อ ๑ การสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงในการเป็นมะเร็งกล่องเสียง ผู้ป่วยเหล่านี้จะมีอาการเสียงแหบเป็นอาการนำ และจะแหบมากขึ้นเรื่อยๆ ตามระยะเวลาที่ผ่านไป ถ้าเป็นมาก จะมีอาการปวด หายใจลำบาก กลืนลำบาก ตามมาได้ โรคนี้ไม่หายเอง เพราะฉะนั้นถ้ามีอาการเสียงแหบที่เป็นมากขึ้นและไม่หายเองใน ๓-๔ สัปดาห์ ร่วมกับการสูบบุหรี่ก็ควรจะมาพบแพทย์เพื่อตรวจกล่องเสียง การรักษาต้องผ่าตัดเอากล่องเสียงออก

๓.๓ อัมพาตของเส้นประสาทที่มาเลี้ยงกล่องเสียงก็จะมีอาการเสียงแหบ สาเหตุจริงๆ ไม่แน่นอน เชื่อว่ามีการติดเชื้อไวรัสในเส้นประสาทนี้ นอกจากนี้ยังพบได้ในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดต่อมธัยรอยด์ เนื่องจากเส้นประสาทที่มาเลี้ยงกล่องเสียงจะอยู่ด้านข้างของต่อมธัยรอยด์ ฉะนั้นในการผ่าตัดต่อมธัยรอยด์จึงอาจมีการบาดเจ็บหรือดึงรั้งต่อเส้นประสาทที่มาเลี้ยงกล่องเสียงในขณะผ่าตัดได้

ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเสียงแหบจากอัมพาตของเส้นประสาทที่มาเลี้ยงกล่องเสียง ถ้าเป็นชั่วคราวเสียงแหบอาจจะหายเองได้ จากการที่เส้นประสาทกลับมาทำงานเหมือนเดิม หรือมีการทำงานชดเชยจากสายเสียงอีกข้างหนึ่ง แต่ถ้าเป็นเส้นประสาทอัมพาตถาวร อาจจะมีเสียงแหบตลอด

 
๔. เมื่อไรควรจะไปพบแพทย์ แพทย์จะทำอะไรให้บ้าง
ควรจะไปพบแพทย์เมื่อมีเสียงแหบที่เป็นมากขึ้นเรื่อยๆ นานเกิน ๓ สัปดาห์ เพื่อตรวจให้แน่ชัดว่ามี
ก้อนเนื้องอกหรือไม่ แพทย์จะส่องกระจก หรือส่งกล้องเพื่อนดูกล่องเสียง


๕. จะป้องกันการเกิดเสียงแหบได้อย่างไร

การเกิดเสียงแหบบางชนิดก็สามารถป้องกันได้ โดยเฉพาะการใช้เสียงที่ไม่ถูกต้อง ได้แก่ การตะโกน การกรีดร้องสุดเสียง การพูดมากเกินไป การเค้าเสียงพูด การเชียร์กีฬาบ่อยๆ การไอ หรือการกระแอมบ่อย การพูดแข่งในที่มีเสียงดัง หรืออ่านหนังสือเสียงดังมาก เป็นลักษณะการใช้เสียงที่ไม่ถูกต้องอาจจะทำให้กลายเป็นคนเสียงแหบต่อไปได้


ข้อพึงปฏิบัติเพื่อนป้องกันเสียงแหบ

๑. หลีกเลี่ยงการตะโกน การกรีดร้องสุดเสียง การเชียร์กีฬา และหัวเราะดังเกินไป

๒. ไอ กระแอมเมื่อจำเป็นเท่านั้นและทำค่อยๆ

๓. อย่าเค้นเสียงพูด หรือทำเสียงแปลก

๔. หลีกเลี่ยงการพูดในที่มีเสียงดัง เช่น พูดในสิ่งแวดล้อมที่มีเสียงเครื่องจักร หรือดนตรีเสียงดังหรืออยู่บนยานพาหนะที่เสียงดัง เช่น รถไฟ รถยนต์ หรือเรือยนต์ที่กำลังเคลื่อนที่

๕. เมื่อเป็นหวัดหรือเจ็บคอไม่ควรพูดโดยไม่จำเป็น

๖. เมื่อมีเสียงแหบไม่ควรร้องเพลงดัง

๗. พูดดังพอสมควร ไม่ตะโกน ควรมีการหยุดวรรคตอน ไม่พูดเป็นประโยคยาวมากจนหายใจไม่ทัน ไม่ควรออกแรงขณะพูดจนกล้ามเนื้อใบหน้าคอและไหล่เกร็ง

๘. ออกกำลังกายและพักผ่อนพอสมควร และรักษาสุขภาพให้สมบูรณ์

ข้อมูลสื่อ

225-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 225
มกราคม 2541
เรื่องน่ารู้
พญ.ลลิตา เกษมสุวรรณ