• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

แย่งความสนใจ

แย่งความสนใจ

 
ดิฉันได้มาอยู่กับพี่ชายประมาณ ๑ เดือนเศษ และได้ช่วยเลี้ยงหลานผู้หญิงอายุ ๒ ขวบครึ่ง (เป็นลูกของพี่ชายของดิฉัน เป็นลูกคนแรกของพ่อแม่ และมียายอีกคนที่มาช่วยเลี้ยงแกและก็รักแกมากด้วย เพราะแกเป็นหลานคนแรกและตอนนี้ก็เป็นหลานคนเดียวของยายด้วย (แม่แกเป็นลูกคนเดียวของยาย) ทั้งพ่อและแม่ต่างก็รักแกมาก แต่รู้สึกว่าแกจะไม่เต็มอิ่มกับความรักที่พ่อแม่และยายมอบให้สักเท่าไร (พ่อแม่ของแกไม่เคยอุ้มหรือแสดงความสนใจ เมื่ออยู่ต่อหน้าของแก) แกจะมีนิสัยแปลกอยู่อย่างคือจะชอบวิ่งไปหาแม่ของเพื่อนเวลาที่มาเล่นด้วยกันที่สนามเด็กเล่น (เพื่อนของแกจะมีตั้งแต่อายุ ๓-๘ ขวบ) จะอ้อนให้อุ้ม จะกอด ทั้งที่ก็มีพ่อ แม่หรือยาย อยู่ตรงนั้นด้วย

คราวนี้ปัญหามันมีอยู่ตรงที่ว่าเพื่อนของแกก็หวงแม่ของเขาเหมือนกัน เพื่อนแกก็จะร้องให้ให้แม่อุ้มบ้าง แม่ของเพื่อนก็บอกลูกเขาว่าลูกโตแล้วจะให้อุ้มเหมือนน้องได้อย่างไร( แต่ก็เป็นการบอกที่ไม่จริงจังอะไร) เพื่อนของแกก็จะแอบตีแอบหยิกแกบ้างแต่แกก็ไม่ร้อง แกจะทน ไม่ร้องและไม่หลบ จะทำหน้าแบบไม่รู้สึกรู้สาทั้งที่ดิฉันคิดว่าแกเจ็บ คราวนี้พอเพื่อนแกเลิกสนใจแม่ แกก็จะเลิกสนใจบ้าง ก็จะผละจากแม่เพื่อนแล้ววิ่งไปเล่นกับเพื่อนๆ แต่พอเพื่อนจะวิ่งมาหาแม่เขาบ้าง แกก็จะเลิกเล่นและวิ่งมาหาแม่ของเพื่อน เป็นการวิ่งที่เร็วมาก และไปถึงแม่เพื่อนได้ก่อนทุกที ( เท่าที่สังเกตเห็น ) พ่อ แม่หรือยายของแกจะไปอุ้มแกออกไปจากแม่เพื่อน แกก็จะร้องและก็ตีด้วย

จึงอยากจะเรียนถามป้าหมอว่าทำไมแกจึงเป็นเช่นนี้คะ แกมีปัญหาทางจิตใจอะไรหรือเปล่า ไม่ทราบว่าจะมีวิธีแก้ไขอย่างไร


ป้าหมอต้องชมเชยคุณสุธิดาอย่างมากที่คุณไม่ได้มีหน้าที่เพียงแต่เลี้ยงดูหลานไปวันๆหนึ่ง แต่ยังสนใจพฤติกรรมของหลาน และสิ่งแวดล้อมรอบตัวหลาน ซึ่งประกอบด้วยคุณพ่อ คุณแม่ และคุณยาย และเพียงระยะเวลาเดือนเศษคุณก็เห็นว่า หลานได้รับความรักความสนใจจากคนรอบตัวมากเหลือเกินจนรู้สึกไปว่าเด็กมีพฤติกรรมบางอย่างเหมือนกับไม่อิ่มในความรักที่ได้รับ ขณะนี้ทั้งๆที่พ่อแม่ของหลานก็ไม่เคยสนใจใครเมื่ออยู่ต่อหน้าหลาน

คุณสุธิดาคะเด็กอายุ ๒ ขวบเช่นนี้ ภาษาจิตแพทย์เรียกว่าเป็นวัยที่เริ่มควบคุมพฤติกรรมทางร่างกายและจิตใจที่ค่อนข้างซับซ้อนได้ทางร่างการเราเห็นได้ชัด คือ เด็กจะสามารถช่วยตัวเองอย่างง่ายๆไม่ซับซ้อน เช่น แต่งตัวได้ กินข้าวเองได้ วิ่งเล่นได้ และเด็กยังมีพฤติกรรมทางจิตใจที่เกิดขึ้น เนื่องจากเด็กสามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายรวมทั้งการถ่ายอุจจาระ และปัสสาวะได้ ทำให้เด็กที่มีสมองเล็กๆเริ่มเรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบๆตัว แต่เรียนรู้อย่างเด็กๆนะคะ ก็เลยพาลคิดไปว่าตัวเองคงจะสามารถควบคุมทุกสิ่งรอบๆตัวได้ บางครั้งจิตแพทย์เราก็เรียกเด็กวัยนี้ว่าเป็นวัยของเจ้าโลก คือ ทุกสิ่งทุกอย่างเด็กคิดว่าเด็กควบคุมเอง และตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล

ดังนั้นในสังคมยุคใหม่ที่เป็นสังคมเดี่ยว ซึ่งพ่อแม่มักจะอยู่ร่วมกันโดยไม่อยู่รวมกับครอบครัวใหญ่เด็กๆจึงได้รับความสนใจและการดูแลอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะสังคมยุคใหม่ซึ่งมีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ การต่อสู้และการแข่งขันมากขึ้น บางครอบครัวพ่อแม่จึงมีลูกเพียง ๑ คน หรืออย่างมากก็ไม่เกิน ๒ คน เด็กเหล่านี้เมื่อเติบโตขึ้นมาก็จะได้รับการดูแล และได้รับความรักจากพ่อแม่อย่างทุ่มเทตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุขภาพอนามัย อาหาร การกินอยู่หลับนอน เสื้อผ้าเครื่องนุ่มห่มตลอดจนสิ่งที่ตามมาคือการศึกษาแน่นอนค่ะ เด็กเหล่านี้ได้รับความรักจากพ่อแม่ล้นเหลือมากกว่าเด็กยุคก่อนๆ ซึ่งพ่อแม่มีลูกหลายคนจนไม่มีเวลามาสนใจกัน เด็กๆต้องเรียนรู้และคิดจะมีพฤติกรรมปรับตัวให้เข้ากับคนอื่น ให้เป็นที่ยอมรับของพี่น้องและญาติซึ่งอยู่รวมกันในตระกูลใหญ่ๆ และไม่สามารถทำอะไรได้ดังใจเหมือนเด็กยุคนี้

เด็กเดี๋ยวนี้นะคะยิ่งพ่อแม่รักมาก และให้ทุกอย่างมากโดยไม่ได้สอนไม่ได้แนะ ก็จะทำให้เด็กไม่สามารถเรียนรู้กฎระเบียบวินัยและพฤติกรรมที่ถูกต้องในสังคม ซึ่งสิ่งที่ตามมาถ้าไม่แก้ไข เด็กเหล่านี้ก็จะกลายเป็นเด็กหลงตัวเอง ซึ่งมีได้ทั้งทางสร้างสรรค์ เช่น เด็กบางคนอาจจะเรียนเก่งมาก และมีความสามารถในการเรียนสูง แต่พฤติกรรมด้านอื่นๆก็จะลดน้อยลง เช่น การเข้ากับเพื่อน การทำงานรวมกลุ่ม และการรู้จักหาความถูกเมื่อต้องอยู่ร่วมกับคนอื่นๆ ในวัยที่ต้องทำการงาน เด็กเหล่านี้ระยะแรกของชีวิตก็ดีเลิศไปหมด เรียนเก่ง ความประพฤติดี ประสบความสำเร็จ เอนทรานซ์ติด และเรียนจบได้เกียรตินิยมคะแนนสูงริบลิ่ว แต่เมื่อต้องทำงานจะมีปัญหาไม่สามารถที่จะปรับตัวเข้ากับผู้อื่นได้ ยกเว้นว่าโชคดีได้งานทำเป็นงานซึ่งไม่ต้องติดต่อกับบุคคลอื่นในสังคม เช่น ทำงานกับเครื่องคอมพิวเตอร์ เป็นบรรณารักษ์ห้องสมุด หรือเป็นนักวิทยาศาสตร์ ทั้งนี้เพราะเด็กเหล่านี้ไม่เรียนรู้ในการปรับตัวให้เข้ากับบุคคลอื่นๆ ซึ่งมีพฤติกรรมแตกต่างกันในสังคม

อีกแบบหนึ่งที่เราจะพบได้ก็คือการหลงตัวเองแบบไม่สร้างสรรค์อย่างที่เราพบบ่อยๆตามหนังสือพิมพ์ เวลามีเรื่องมีราวเกิดขึ้น เด็กพวกนี้จะเป็นลูกคนรวย คนมีชื่อเสียง แต่มักจะก่อเรื่อง มักจะใช้คำว่า...มึงรู้ไหมกูเป็นใคร? ซึ่งอันนี้เป็นลักษณะว่าเด็กหลงตัวเองอย่างมาก

ป้าหมอเล่าซะยาวเฟื้อยไปหมดคุณอย่าเพิ่งตกใจนะคะ เพราะหลานคุณยังไม่เป็นอย่างนั้นหรอกค่ะ เด็กยังไม่มีปัญหาทางจิตใจ เพียงแต่เด็กเริ่มเรียนรู้ว่า เด็กจะสามารถเป็นที่หนึ่งของทุนคนได้หรือไม่นอกเหนือจากการเป็นที่หนึ่งเฉพาะในบ้าน คือ เป็นยอดรักขอคุณพ่อ คุณแม่และคุณยาย รวมทั้งของคุณสุธิดาด้วยหรือเปล่า เมื่ออกสู่สังคมภายนอกเด็กจะเริ่มทดสอบตัวเองด้วยการลอง หรือเรียกร้องพ่อแม่ของเพื่อนให้อุ้ม และมีพฤติกรรมในทางออดอ้อนอย่างน่ารัก จนทำให้ผู้ใหญ่คล้อยตามโดยไม่รู้ตัว ซึ่งสิ่งที่เด็กจะเรียนรู้ ก็คือ ปฏิกิริยาโต้ตอบจากเพื่อน ที่จะต้องอิจฉาเพราะหวงแม่ของตัวเองเหมือนกัน อันนี้เป็นการอิจฉาแบบตรงไปตรงมา ซึ่งก็คงหยิกคงตีเด็กบ้าง แต่ในสังคมซึ่งเติบโตขึ้นเด็กจะต้องเรียนรู้ว่าเราทำสิ่งต่าง ๆได้มากน้อยแค่ไหน และสังคมที่โตขึ้นเพื่อนก็คงไม่ได้แค่ตีและแอบหยิก แต่อาจจะต่อว่าหรือมีปฏิกิริยาไม่คบด้วยซึ่งจะทำให้เด็กต้องเสียใจเมื่อเติบโตขึ้นต่อไป

พฤติกรรมเหล่านี้ไม่ใช่ของติดตัวไปหรอกค่ะ ยังแก้ไขได้ เนื่องจากเด็กนั้นยังไร้ดียงสายังไม่ทราบว่าตัวเองมีสิทธิ์ให้คุณพ่อคุณแม่และคุณยายรับอย่างที่สุดเท่านั้น ส่วนคุณแม่คุณพ่อของเพื่อนๆแน่นอนย่อมเป็นของเพื่อเช่นกัน เราต้องช่วยหยุดนะคะ อยู่ในบ้านเราจะทำอย่างไรก็ได้ แต่อยู่นอกบ้านเด็กควรมีพฤติกรรมที่ทำให้เพื่อนฝูงยอมรับ ซึ่งจะทำให้เด็กสามารถอยู่ร่วมกับเพื่อนในวัยเดียวต่อไปในอนาคตได้ และปรับตัวได้อย่างมีความสุข

ป้าหมอรู้ว่าคุณสุธิดาเป็นห่วงหลานและคงอย่างจะช่วยหลาน เราต้องช่วยกันแก้ และแนะนำเด็กให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างนิ่มนวลและค่อนข้างจะต้องมั่นคง คือ พฤติกรรมของผู้ใหญ่ในการเลี้ยงเด็กจะต้องมั่นคงและคงเส้นคงวา เช่น เมื่อเห็นว่าเด็กวิ่งเข้าไปหาพ่อ แม่เพื่อนเพื่อให้อุ้ม ถ้าทำได้คุณควรเดินเข้าไปแล้วก็บอกหลานว่าเดี๋ยวอาอุ้มเอง คุณแม่ของเพื่อนต้องอุ้มเพื่อนคนนี้เพราะว่าเพื่อนคนนี้เป็นลูกของเขา แต่หนูเป็นหลานของอาก็จะอุ้มหนูเอง แน่นอนละค่ะมันเป็นการสอนที่แยกแยะสิทธิของตัวเอง และเคารพในสิทธิของผู้อื่น และเด็กคงจะต้องมีปฏิกิริยาที่ฝืดฟาด ฟูมฟาย หรือประท้วงบ้างเป็นธรรมดา แต่เมื่อคุณทำบ่อยครั้งขึ้นรวมทั้งถ้าคุณสามารถทำให้คุณพ่อคุณแม่และ คุณยายของเด็กเห็นว่าสิ่งเหล่านี้น่าจะแก้ไขแล้วเราทุกคนก็ทำวิธีเดียวกัน เด็กก็จะเรียนรู้ว่าพฤติกรรมที่ควรกระทำในสังคมส่วนใหญ่ควรจะทำอย่างไร

และเมื่อเด็กทำพฤติกรรมที่เราเห็นว่าเหมาะสมในสังคมแล้ว ท่าทีที่ยกย่องชมเชยและให้ความรู้สึกดีๆต่อสิ่งที่เด็กทำ ก็จะทำให้เด็กเกิดความมั่นใจในตัวเองและกลับมามีพฤติกรรมเรียนรู้กฎระเบียบของสังคม ทำให้สามารถปรับตัวอยู่ในสังคมกับเพื่อนฝูง แยกแยะได้ว่า มีแม่และพ่อของฉันนั่นพ่อและแม่ของเธอ นั่นโต๊ะเรียนหนังสือของฉัน และนี่โต๊ะเรียนหนังสือของเธอ นี่กระเป๋าใส่หนังสือของฉัน แล้วนั่นกระเป๋าใส่หนังสือของเธอ ก็จะทำให้เข้าสู่กรอบสามารถรู้จักดูแลตัวเองตลอดจนรักษาสิทธิของตัวเองไม่ให้คนอื่นมาด้าวก่ายสิทธิของผู้อื่นเช่นกัน โตขึ้นก็จะเป็นเด็กซึ่งมีวุฒิภาวะสมวัย ไม่เป็นเด็กที่หลงตัวเองจนนำความเดือดร้อนไม่สบายใจมาสู่พ่อแม่ หรือเด็กที่หลงตัวเองแต่ไม่สามารถเข้ากับผู้อื่นได้ ซึ่งนำความเดือดร้อนไม่สบายใจมาสู่ตัวเองและพ่อแม่เช่นกัน ถ้าพบอะไรที่คุณสงสัยหรือต้องการความเห็นเพิ่มเติมก็มาคุยกันอีกนะคะ น่าสนใจมากค่ะ

ข้อมูลสื่อ

225-013
นิตยสารหมอชาวบ้าน 225
มกราคม 2541
ป้าหมอ