• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

แพ้ยา ผลข้างเคียงจากยา

แพ้ยา ผลข้างเคียงจากยา

 
เรื่องของคุณติ๋ม แคชเชียร์บริษัทขายสินค้าใหญ่ย่านรังสิตที่เป็นอุทาหรณ์ของการใช้ยาระดับการไออย่างผิดๆนั้น น่าจะจบลงได้แล้ว เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ผมได้พบกับคุณติ๋มผมก็ต้องตกใจอีกครั้งเพราะ คุณติ๋มดูเศร้าหมองไปมาก พอดูชัดๆก็เห็น “ตุ่มสีคล้ำๆขึ้นทั่วใบหน้าเต็มไปหมด” ไม่เพียงเท่านั้น คุณติ๋มยังเล่าอาการไม่สบายขณะนี้ให้ฟังอีกว่า “ปวดแสบท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่บ่อยๆ และท้องผูกไม่ถ่ายมา ๓ วันแล้ว” ผมก็เดาสถานการณ์ได้ว่า คุณติ๋มคงจะแพ้ยาหรือได้รับผลข้างเคียงจากยาแน่ๆ

คุณติ๋มบ่นว่า ได้รับยามา ๓ ชนิด มีอยู่ชนิดหนึ่งได้รับมาจำนวน ๑๗๐ เม็ด คิดแล้วต้องกินยาอีกเป็นเวลาเกือบ ๑ เดือน คุณติ๋มพอจะรู้อาการไม่สบายของตนเป็นผลเนื่องมาจากยา แต่ก็ยังตั้งหน้าตั้งตากิน ตั้งใจจะอดทนเพื่อให้โรคที่เป็นหายขาด

ผมนึกชมเชยความอดทนของคนไทยว่ามีมากจริงๆ แต่ก็รู้สึกสงสารและเห็นใจผู้ป่วยอีกหลายๆคน ที่ต้องเจ็บป่วยโดยไม่มีเหตุอันควร หรือต้องเจ็บป่วยเพราะคุณภาพชีวิตไม่ดี หรือต้องเจ็บป่วยจากการใช้ยาไม่ถูกต้อง หรือแพ้ยา หรือได้รับผลข้างเคียงจากยา แม้ปัจจุบันจะมีสถานพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชนอยู่มากมาย แต่ผู้ป่วยหลายๆ คนก็ยังไม่มีโอกาสจะรู้ว่าตนเองป่วยเป็นโรคอะไร แม้จะเสียเงินค่าตรวจโรคแล้วก็ตาม ยังไม่มีการประกันได้ว่าตนเองจะหายป่วยเมื่อจ่ายค่ารักษาพยาบาลแล้วครั้งหนึ่ง คงยังต้องจ่ายเป็นครั้งที่ ๒ บ่อยๆ

เมื่อมีการใช้ยาสิ่งที่ต้องป้องกันไม่ให้เกิด คือ การแพ้ยา สิ่งที่ต้องให้เกิดน้อยที่สุด คือ ผลข้างเคียงจากยา โดยบอกข้อแนะนำการใช้ยาแก่ผู้ป่วยทุกครั้ง ยาที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้เปรียบเสมือนดาบสองคม ยาชนิดหนึ่งอาจออกฤทธิ์ได้หลายอย่าง ซึ่งผลของยาที่ต้องการในการรักษาโรคเรียกว่า therapeutic effect สำหรับผลที่เราไม่ต้องการเรียกว่า อาการข้างเคียง (side effect) ซึ่งอาการข้างเคียงไม่เป็นอันตรายต่อผู้ป่วย แต่ทำให้ผู้ป่วยรำคาญ ส่วนพิษของยาต่างจากอาการข้างเคียงพิษของยาจะเกิดอันตรายต่อผู้ป่วย เช่น ทำให้อวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งไม่สามารถทำงานได้อย่างปกติ ในกรณีที่รุนแรงอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้

การเกิดพิษที่อยู่ ๒ แบบ ส่วนใหญ่เป็นแบบคาดคะเนได้ แบบคาดคะเนไม่ได้ซึ่งมีเพียงส่วนน้อย เช่น อาการแพ้ยา (drug allergy) เป็นภาวะที่ร่างกายเปลี่ยนแปลงการตอบสนองต่อยาเนื่องจากร่างกายเคยได้รับยาชนิดนั้น หรือสูตรที่มีโครงสร้างคล้ายคลึงกันกระตุ้นร่างกายให้สร้างภูมิคุ้มกันทางอิมมูโนโลยี (immunology) เรียกว่า แอนติบอดี (antibodies) เมื่อร่างกายได้รับยาซ้ำอีก ซึ่งไม่ขึ้นกับขนาดของยาว่าจะได้รับมากหรือน้อยจะทำให้เกิดปฏิกิริยาให้สารชนิดหนึ่งกระตุ้นให้เซลล์ในร่างกายหลั่งสารภูมิแพ้พวกฮิสตามีน (histamine) ทำให้เกิดอาการแพ้ได้ แต่กระบวนการเหล่านี้ไม่ได้เกิดกับทุกคน การแพ้ยาจึงเป็นเรื่องเฉพาะคน

การแพ้ยาอาจเกิดแบบทันทีทันใด ซึ่งถ้ารุนแรงอาจถึงแก่ชีวิตได้ เรียกว่า anaphylaxis เช่น ทำให้หลอดลมตีบเกิดการบวมบริเวณกล่องเสียง หลอดเลือดขยายตัวมาก ความดันเลือดลดลง หมดสติและอาจเสียชีวิต ยาที่ทำให้เกิดการแพ้แบบนี้ได้แก่ยาฉีดทุกชนิด ยาที่เป็นชีววัตถุ เช่น เซรุ่ม ยากลุ่มเพนิซิลลิน การแพ้ยาอาจเป็นแบบทิ้งช่วงก็ได้ จะเกิดอาการแพ้หลังจากใช้ยา ๑-๒ วัน

สำหรับข้อแนะนำการใช้ยาเป็นหลักปฏิบัติในการใช้ยาเพื่อให้ยานั้นออกฤทธิ์ในทางรักษาโรคให้มีประสิทธิภาพที่สุดและเพื่อหลีกเลี่ยงหรือลดผลข้างเคียงจากยา เช่น

• ยาปฏิชีวนะ ที่ไม่ทนกรดต้องกินก่อนอาหารประมาณ ครึ่งถึง๑ ชั่วโมง

• ยาลดกรดในกระเพาะ อาหารจะออกฤทธิ์ได้ดีที่สุดต้องกินหลังอาหาร ๑ ชั่วโมง หรือก่อน

อาหาร ๒ ชั่วโมง

• เมื่อใช้ยาละลายเสมหะอยู่ต้องดื่มน้ำมากๆ

• ยาที่ตกตะกอนที่ไตได้ง่ายต้องดื่มน้ำมากๆ

• ยาที่ระคายเคืองกระเพาะอาหารต้องกินหลังอาหารทันที

• เมื่อใช้ยานอนหลับ ยาคลายเครียด ห้ามดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

• ยาแก้แพ้ลดน้ำมูกจะทำให้ง่วงนอนจึงไม่ควรขับรถยนต์หรือใช้เครื่องจักร เป็นต้น

กรณีของคุณติ๋ม ตุ่มคันที่ขึ้นบนใบหน้า อาการปวดท้องและท้องผูก จึงเป็นอาการข้างเคียง เพราะไม่ได้เป็นอันตรายแต่ทำให้รำคาญ เรามาพิจารณายาที่คุณติ๋มได้รับมาจากโรงพยาบาล ยาซองแรกเป็นยาเม็ดชื่อ แบคทริม (Bactrim) จำนวน ๑๗๐ เม็ด ที่ซองเขียนว่า “กินครั้งละ ๓ เม็ด วันละ ๓ ครั้ง หลังอาหารเช้า-กลางวัน-เย็น” ยาชนิดนี้จัดเป็นยาต้านจุลชีพชนิดหนึ่งมีชื่อสามัญว่า โคไตรมอกซาโซล (Sulfamethoxazole) และไตรเมโธพริม (Trimethoprim) ผู้ที่แพ้ยากลุ่มซัลฟาจะใช้ยานี้ไม่ได้

ขนาดการใช้ปกติจะกินครั้งละ ๒ เม็ด วันละ ๒ ครั้ง หลังอาหารเช้า-เย็น แต่คุณติ๋มต้องกินยามากเป็นพิเศษ เพราะติดเชื้อรุนแรง อาการข้างเคียงที่เกิดกับคุณติ๋มได้แก่ อาการอักเสบของเยื่อบุเมือกในปาก คลื่นไส้อาเจียนมีเสียงในหู ผิวหนังร้อนแดงเนื่องจากเลือดคั่ง ผื่น ข้อแนะนำในการใช้ยานี้ คือ ต้องดื่มน้ำมากๆ เพื่อป้องกันไม่ใช้ยาตกตะกอนที่ไต นี่กำลังจะเป็นปัญหาของคุณติ๋มอีก เพราะคุณติ๋มดื่มน้ำน้อยมากในแต่ละวัน ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการท้องผูกด้วย

ยาซองที่สองเป็นยาเม็ดชื่อ เพร็ดนิโซโลน (Prednisolone) จำนวน ๒๐ เม็ด กินครั้งละ ๒ เม็ด วันละ ๒ ครั้ง หลังอาหารเช้า-เย็น ยานี้เป็นสตีรอยด์ชนิดหนึ่ง แพทย์จะสั่งจ่ายในกรณีที่ไอรุนแรง ตามกฎหมายจัดเป็น “ยาควบคุมพิเศษ” ต้องมีใบสั่งแพทย์จึงจะหาซื้อได้ ผลข้างเคียงของยาเพร็ดนิโซโลนที่เกิดกับคุณติ๋ม ได้แก่ เกิดการคั่งของน้ำและเกลือแร่ทำให้บวม ความดันโลหิตสูง กล้ามเนื้ออ่อนแรง อารมณ์แปรปรวน แปลในกระเพาะอาหารข้อแนะนำในการใช้ยา คือ ไม่ใช้ติดต่อกันนานกว่าที่แพทย์สั่ง

ยาซองสุดท้าย คือ เม็ปติน (Meptin Tab.) จำนวน ๔๐ เม็ด กินครั้งละ ๑ เม็ด วันละ ๒ ครั้ง หลังอาหารเช้า-เย็น ยาออกฤทธิ์ขยายหลอดลม จะใช้กรณีที่ไอมากๆ และมีอาการหอบเหนื่อย ผลข้างเคียงของยาได้แก่ หัวใจเต้นเร็วอาการสั่นกระตุก ซึ่งคุณติ๋มไม่มีอาการเหล่านี้ ยาที่ค้นคว้าวิจัยใหม่จะพยายามลดอาการข้างเคียง

ยานอกจากจะออกฤทธิ์ในการรักษาโรคแล้ว ยังทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ ซึ่งต้องรู้ “ข้อแนะนำการใช้ยา” เพื่อลดอาการนั้นๆ และหากยาทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วยเรียกว่า “พิษของยา” ได้แก่ การแพ้ยา เราต้องจดจำยาที่เราแพ้ไว้เสมอ และอย่าลืมเมื่อจะไปซื้อยาหรือรับยาจากโรงพยาบาล ต้องบอกว่าเราแพ้ยาอะไร สอบถามข้อแนะนำในการใช้ยาให้เข้าใจอย่างละเอียดถี่ถ้วนนะครับ

“ไม่มีใครคุ้มครองของเราได้ดีเท่ากับเราคุ้มครองตัวเอง”

ตอนนี้คุณติ๋มใช้ยาอย่างมีความมั่นใจ อีกไม่กี่วันก็จะหายดี... ต่อสู้กับชีวิตต่อไป

ข้อมูลสื่อ

228-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 228
เมษายน 2541
ภก.นิพล ธนธัญญา