• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ประจำเดือนหน้าต่างสุขภาพ

ประจำเดือนหน้าต่างสุขภาพ

 


“มีความเชื่อกันว่า สุขภาพของผู้หญิงดีไม่ดี สามารถดูได้จากความผิดปกติของประจำเดือน”

“ผู้หญิงคลอดลูกมา ๑ คน สุขภาพจะทรุดโทรมไป บางคนพอมีลูก ๒-๓ คน ก็ดูแก่ไปถนัดตา”

“เมื่อเข้าสู่วัยทองของชีวิต (วัยหมดประจำเดือน) จะมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจอย่างมากโดยเฉพาะในคนที่มีพื้นฐานสุขภาพไม่ดี”

แพทย์แผนจีนได้กล่าวถึงโรคของผู้หญิง แบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆ ด้วยกัน ๔ ประเภท ตามพื้นฐานทางสรีระของร่างกาย

๑. โรคเกี่ยวกับประจำเดือน

๒. โรคเกี่ยวกับการตั้งครรภ์

๓. โรคเกี่ยวกับการคลอด(ก่อนและหลังการคลอด)

๔. โรคเกี่ยวกับตกขาว

เนื่องจากสรีระของผู้ชายและผู้หญิงมีความแตกต่างกัน โรคที่เกิดก็มีลักษณะแตกต่างกัน ผู้หญิงเป็นยิน ผู้ชายเป็นหยาง เลือดเป็นยิน พลังเป็นหยาง โรคของผู้หญิงมักเกี่ยวข้องกับเรื่องของยินหรือเลือด, ของ เหลว เป็นหลัก ครั้งนี้จะนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับปัญหาประจำเดือน ซึ่งเชื่อว่าเป็นหน้าต่างสุขภาพของผู้หญิงได้อย่างไร

ผู้หญิงบางคนเมื่อย่างเข้าสู่วัยมีประจำเดือน ระยะแรกประจำเดือนอาจจะมาไม่ตรงตามกำหนด ถือเป็นภาวะปกติ แต่เมื่อเวลาผ่านไปเป็นปีหรือหลายๆปี ภาวะประจำเดือนยังมาครั้งหนึ่ง และหายไปหลายๆ เดือน ถือว่าเป็นความผิดปกติ ตัวอย่างปัญหาเกี่ยวกับประจำเดือนที่พบบ่อยๆ ได้แก่


๑. รอบประจำเดือนมาผิดปกติ

ภาวะรอบประจำเดือนของผู้หญิงจะ ๒๘ วัน การมาคลาดเคลื่อนก่อนหรือหลัง ๓-๔ วัน ถือว่าไม่ผิดปกติ แต่ถ้ารอบประจำเดือนนานเกิน ๓๙ วัน หรือเร็วกว่า ๒๔ วัน ถือว่ามีความผิดปกติ

(๑) รอบของประจำเดือนมาผิดปกติ
ถ้าปริมาณของประจำเดือนน้อย สีประจำเดือนออกแดงคล้ำ หรือลิ่มเลือดเป็นก้อน, มีอาการปวดท้องน้อย, ปวดแน่นเต้านม, อารมณ์หงุดหงิด, พลุ่งพล่าน, กระหายน้ำ, อุจจาระแข็งแห้ง, ปัสสาวะสีเหลือง, ฝ้าบนลิ้นเป็นสีเหลือง, ชีพจรเร็ว สาเหตุดังกล่าว แพทย์แผนจีนมองว่าเกิดจากการอุดตันของพลังตับ ทำให้มีการคั่งค้างอุดกั้นของการไหลเวียนเลือดและพลัง เมื่อให้ยารักษาโรคโดยการบำรุงเลือดพลังและสลายการอุดกั้น การมีรอบเดือนจะเข้าใกล้รอบปกติรวมทั้งเลือดที่มีสีแดงไม่คล้ำ อาการปวดประจำเดือนและอาการอื่นๆ ก็จะดีตามไปด้วย

(๒) รอบของประจำเดือนมาช้ำผิดปกติ
สาเหตุกว่าครึ่งมาจากเลือดและพลังพร่อง มีความเย็นในร่างกายแต่ไม่ใช่เกิดการอุดกั้น ประจำเดือนจะมีสีดำ, ปริมาณน้อย, ปวดท้องน้อย, ชอบความร้อน, ปวดเมื่อยเอว, ขา ๒ ข้างไม่มีแรง, มือเท้าเย็น, สีหน้าซีด, ฝ้าบนลิ้นขาว, ชีพจรอ่อนเบา การรักษาโดยให้ยาบำรุงเลือดและพลัง จะทำให้ร่างกายโดยรวมดีขึ้น รวมทั้งอาการผิดปกติของประจำเดือนก็ดีขึ้นด้วย

(๓) ประจำเดือนมามากผิดปกติ
มี ๒ แบบ แบบแรก คือ ปริมาณเลือดประจำเดือนมีมากตลอด หรือแบบที่ ๒ คือ ปริมาณเลือดประจำเดือนมีปริมาณน้อยแต่มากะปริบกะปอยต่อเนื่อง ทำให้รอบประจำเดือนสั้นเข้า เช่น เดือนละ ๒-๓ ครั้ง จนดูเหมือนมาต่อเนื่องไม่หยุด

(๔) ขาดประจำเดือนหรือรอบประจำเดือนหลายๆ เดือนมาครั้ง
ภาวะขาดประจำเดือนหรือประจำเดือนหายไปทีละหลายๆเดือน พบได้ปกติในคนที่ตั้งครรภ์หรือสตรีวัยหมดประจำเดือน (หรือได้รับยาฮอร์โมน, ยาคุมกำเนิดมาก่อน)

อีกสาเหตุหนึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากความผิดปกติของการมีภาวะรอบประจำเดือนมาช้ากว่าปกติ เช่น เริ่มจาก ๒ เดือนมาครั้ง จนบางครั้งเป็น ๓ เดือนมาครั้ง


๒. อาการปวดประจำเดือน

อาการปวดประจำเดือนเป็นผลจากการขาดเลือดที่มาหล่อเลี้ยงบริเวณอุ้งเชิงกราน มักจะมีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในช่วงใกล้มีประจำเดือน หรือระหว่างมีประจำเดือน แพทย์แผนจีนแบ่งอาการปวดประจำเดือนเป็น ๒ แบบ

(๑) การปวดประจำเดือนที่บรรเทาดีขึ้นเมื่อใช้ความอุ่น หรือร้อน
ประจำเดือนมีสีดำ ปริมาณน้อย มีก้อนเลือด กลัวความเย็นแขนขาเย็น หนาวสั่น ลิ้นซีด ฝ้าขาว เคลือบเป็นมัน ชีพจรเบาลึก สาเหตุจากมีการสะสมของความเย็นชื้นในร่างกาย ยาสมุนไพรที่ใช้รักษา จึงต้องเป็นกลุ่มที่ให้ความอบอุ่นและบำรุงเลือดพลัง

(๒) การปวดประจำเดือนที่อาการมากขึ้นเมื่อกดหรือกดทับ
ประจำเดือนจะมีสีม่วงคล้ำ, ปริมาณน้อยร่วมกับมีก้อนเลือด อาการดีขึ้นภายหลังลิ่มเนื้อหลุดออกมามีอาการแน่นหน้าอก, คัดเต้านม, ลิ้นสีม่วงคล้ำ, มีจุดย้ำพราย, ชีพจรตึง การรักษาต้องให้ยาที่เพิ่มพลังบำรุงเลือดและสลายการอุดกั้น

(๓) ภาวะหงุดหงิด, เครียด ก่อนมีประจำเดือน
แม้ว่าจะถือเป็นภาวะปกติของผู้หญิงใกล้มีประจำเดือน แต่ความรุนแรงของอาการยังขึ้นกับพื้นฐานของร่างกาย ผู้หญิงที่มีภาวะการอุดกั้นของพลังตับ จะมีอาการแน่นคัดหน้าอก, หัวนม, แน่นหน้าอก, สีข้าง, รู้สึกอึดอัดท้องน้อย อาจมีอาการปวดศีรษะ, มึนงง, หงุดหงิด, โมโหง่าย ตรวจร่างกายจะพบลิ้นซีดมีฝ้าขาวบางเคลือบ, ชีพจรตึง, ส่วนในรายที่พลังของไตหรือม้ามพร่อง พวกนี้จะมีตาบวม, แขนขาบวม(ช่วงใกล้มีประจำเดือน), เบื่ออาหาร, แน่นอึดอัดในท้อง, ปวดเมื่อยตามเอว และหัวเข่าอ่อนล้า สีประจำเดือนจะเจือจาง, ลิ้นจะบวมโตมีฝ้าขาว, ชีพจรลึกเบา

จากตัวอย่างของภาวะต่างๆที่เกี่ยวข้องกับประจำเดือนจะพบว่าการมีประจำเดือนเป็นภาวะการเปลี่ยนแปลงที่เป็นเสมือนการทดสอบ หรือกระจกสะท้อนถึงความมีสุขภาพโดยพื้นฐานของร่างกาย การเปลี่ยนแปลงของสรีระของร่างกายเป็นเพียงเงื่อนไขที่มากระทำ แต่ปัจจัยภายใน (ความสมดุลของปัญจธาตุและระบบเลือดลม) เป็นมูลฐานของการแสดงออกของอาการที่มากน้อยต่างกันในผู้หญิงแต่ละคน

โดยทั่วไปอวัยวะภายในที่เกี่ยวข้องและมีความสำคัญในแพทย์แผนจีน คือ ไต, ม้าม, ตับ ม้าม เกี่ยวข้องกับระบบย่อยดูดซึม และลำเลียงอาหาร เป็นแหล่งพื้นฐานของการสร้างเลือดและพลังของร่างกาย เป็นอวัยวะที่ช่วยพยุงเหนี่ยวรั้งให้เลือดและของเหลวไม่ถูกดึงออกจากผนังเส้นเลือดและอวัยวะต่างๆ ขณะที่ตับเป็นอวัยวะสร้างเลือด เก็บสำรองเลือด และไตเป็นแหล่งเก็บพลังงาน กระจายพลังงานไปส่วนต่างๆ ของร่างกาย

ด้วยทัศนะการมองเช่นนี้ความผิดปกติของประจำเดือนตั้งแต่เริ่มแรก จึงเป็นสัญญาณบ่งบอกความผิดปกติของความสมดุลของอวัยวะภายในและเส้นลมปราณ การแก้ปัญหาเฉพาะส่วน เช่น การใช้ยาแก้ปวดประจำเดือน การใช้ฮอร์โมนปรับเปลี่ยนรอบประจำเดือน โดยไม่แก้ไขความขัดแย้งพื้นฐานที่เป็นเหตุที่แท้จริง จะทำให้มีอาการต่างๆ หรือโรคต่าง ๆเกิดตามมาในอนาคต เช่น เนื้องอก พังผืดของมดลูก (ถือเป็นภาวะการอุดกั้นและมีการสะสมของเสมหะ ก้อนเลือดทำให้ขัดขวางการไหลเวียนของเลือดและพลัง) หรือภาวะแพ้ท้องรุนแรงระหว่างตั้งครรภ์ ภาวะมีบุตรยาก การเกิดโรคต่างๆ ระหว่างตั้งครรภ์ ภาวะเต้านมคัดอักเสบหลังคลอด, การไม่มีน้ำนมภายหลังคลอด, โรคอ้วนภายหลังการคลอด, การทรุดโทรมของร่างกายหลังคลอด

ด้วยพื้นฐานของความเสียสมดุลของอวัยวะภายในร่างกายรวมทั้งเส้นลมปราณที่เกี่ยวข้อง (โดยเฉพาะเส้นบริเวณเอว เส้นแนวกลางลำตัว) ทำให้อาจคาดคะเนปัญหาที่จะตามมาเมื่อเกิดภาวะตั้งครรภ์ หรือหลังคลอด หรือเมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน

การรักษาโรคที่เกี่ยวกับประจำเดือนจึงไม่ได้มุ่งเน้นเพียงเพื่อรักษาอาการเท่านั้น แต่ต้องรักษาความขัดแย้งพื้นฐานเพื่อป้องกันโรคในระยะยาว วิธีการที่ใช้รักษานอกจากจะใช้สมุนไพร เพื่อปรับธาตุภายในแล้ว การฝังเข็มบนเส้นลมปราณที่เกี่ยวข้อง, การกินอาหาร, การฝึกลมปราณ, การนวดคลายจุด การดูแลสุขภาพที่ดี สามารถนำมาใช้ประยุกต์เพื่อแก้สมดุลความผิดปกติของร่างกายได้ ประจำเดือนจึงเป็นกระจกเงาสะท้อนสุขภาพที่ดีด้วยเหตุฉะนี้แล

ข้อมูลสื่อ

228-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 228
เมษายน 2541
แพทย์แผนจีน
นพ.วิทวัส (ภาสกิจ) วัณนาวิบูล