• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ดึงและดันอย่างไรจึงปลอดภัย

ดึงและดันอย่างไรจึงปลอดภัย

ผศ.ดร.วรรธนะ ชลายนเดชะ


การเคลื่อนย้ายวัตถุด้วยการดึงและดันมีความจำเป็นมากขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากมีการใช้อุปกรณ์ช่วย ในการทำงานมากขึ้นแทนการแบกหรือหามด้วยแรงคน  เช่น การดึงหรือดันรถเข็นของ การดึงและดันระหว่างการทำงานอาจทำให้เกิดบาดเจ็บได้ เช่น ปวดหลัง หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน ปวดกล้ามเนื้อแขนและลำตัว หรือการบาดเจ็บจากการลื่นล้ม ซึ่งพบว่าเคยมีรายงานการเสียชีวิตจากการลื่นล้มจนศีรษะฟาดพื้นเนื่องจากการดึงและดันวัตถุมาแล้ว

ในฉบับนี้ผู้เขียนจึงขอเสนอวิธีการป้องกันการบาดเจ็บจาก ดึง และ ดัน    เริ่มต้นจากการอธิบายถึงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ และตามด้วยวิธีการลดปัจจัยเสี่ยงนั้น ซึ่งจะเป็นการป้องกันอาการบาดเจ็บจากการดึงและดันในผู้ที่ทำงาน

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บจากการดึงและดัน

การออกแรงดึงและดันที่เกินกำลังจะทำให้ต้องใช้แรงกล้ามเนื้อทั้งแขน ขา และลำตัวอย่างมาก ทั้งนี้จะขึ้นกับ ๔ ปัจจัย คือ น้ำหนักของวัตถุ ความฝืดของการหมุนล้อรถเข็น ความฝืดระหว่างยางล้อรถเข็นพื้นที่ทำงาน และความฝืดระหว่างพื้นรองเท้าพื้นที่ทำงาน ยกตัวอย่างเช่น การสวมรองเท้าที่มีพื้นลื่น
เข็นรถที่ล้อฝืด ตัวยางล้อสึก และบรรทุกของหนัก ผู้เข็นหรือ ดันรถต้องใช้แรงอย่างมาก  ปัจจัยในเรื่องความฝืดของพื้นนั้น จะมีความสัมพันธ์กับการลื่นล้ม ซึ่งจะขอกล่าวในฉบับต่อๆ ไป

ระยะทางและความถี่ในการดึงและดันวัตถุจะ  มีผลทำให้เกิดความเมื่อยล้าได้ ทั้งที่แขนและลำตัว ยิ่งต้องดันหรือดึงเป็นระยะทางยาว และต้องดันและดึง บ่อยๆ จะมีโอกาสทำให้เกิดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ ที่ใช้งานได้ ความสูงของตำแหน่งที่ทำการดึงและดัน ความสูงของมือจับมีผลเกี่ยวกับความสามารถในการดึงและ ดัน ถ้ามือจับที่ต่ำจะทำให้แรงดึงและดันสูงขึ้น เพราะสามารถใช้น้ำหนักตัวช่วยได้ดีขึ้น แต่ผู้ทำงานต้องก้มหลัง เพื่อทำการดัน และต้องใช้กล้ามเนื้อหลังมากในการดึง

ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ วิธีการดึงและดันของผู้ทำงาน ซึ่งได้แก่ การดึงและดันขณะบิดหรือเอียงลำตัว ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายต่อหลังได้ เนื่อง จากหมอนรองกระดูกสันหลังจะมีความแข็งแรงลดลง เพราะถูกกระทำจากแรงหลายทิศ นอกจากนี้วิธีการดันแบบข้อศอกเหยียดตรง พบว่าจะทำให้มีแรงกดที่ข้อต่อมากเกินไป ทำให้ข้อศอกได้รับบาดเจ็บได้ แม้ว่าการดึงและดันแบบเท้าคู่ (เท้าทั้งสองข้างอยู่ในระดับเดียวกัน ถ้ามองจากด้านข้าง) จะทำให้ได้แรงมากขึ้น เพราะได้แรงดันจากขาทั้งสองข้างช่วยกัน แต่การดึงและดันแบบนี้มีความเสี่ยงต่อการล้ม เพราะจุด ศูนย์ถ่วงของร่างกายจะออกนอกขาทั้งสองขณะที่วัตถุเริ่มเคลื่อน ถ้าผู้ทำงานไม่ได้ระวังตัวก้าวตามการเคลื่อนที่ของวัตถุ จะล้มฟาดกับพื้นหรือรถเข็นในขณะดันวัตถุ หรือหงายหลังล้มกระแทกพื้นขณะดึงได้

การเคลื่อนย้ายวัตถุด้วยการดึงนั้นมีข้อด้อยกว่า การดัน ในการดึงจะต้องใช้กล้ามเนื้อหลังมากกว่า ยิ่งถ้าดึงวัตถุจากระดับที่ต่ำ เช่น ใต้ระดับหัวเข่าลงไป จะต้องใช้แรงกล้ามเนื้อหลังมาก ใกล้เคียงกับการยกวัตถุนั้นขึ้นในแนวดิ่ง ก่อให้เกิดการบาดเจ็บที่หลังได้

ปัจจัยเสี่ยงอีกประการหนึ่งที่อาจนึกไม่ถึงคือ วิสัยการมองเห็นผู้ทำงาน ถ้าดึงและดันแบบมองไม่เห็นด้านหน้าเพราะวัตถุหรือรถเข็นที่สูงเกินจนบังวิสัยการมอง รถเข็นอาจตกทาง
หรืออาจเข็นวัตถุไปชนผู้อื่นให้ได้รับบาดเจ็บได้

จะลดปัจจัยเสี่ยงได้อย่างไร

ปรับปรุงสภาพการทำงาน

เป็นวิธีป้องกันการบาดเจ็บได้ดีที่สุด เช่น การปรับปรุงจากการเคลื่อนย้ายของหนักด้วยแรงคน มาเป็นการใช้รถเข็นแทน  ดังตัวอย่างในรูปประกอบ การเปลี่ยนมาใช้เข็นแทนที่จะเคลื่อนย้ายถังด้วยการหมุน
ซึ่งทั้งหนักและต้องบิดลำตัวในขณะเคลื่อนย้าย เช่นเดียวกับการยก  น้ำหนักของวัตถุจะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุด ไม่ว่าจะดึงหรือดันในท่าทางใด หรืออุปกรณ์ที่ใช้มีความเหมาะสมที่สุดแล้ว ถ้าผู้ทำงาน ต้องออกแรงดึงและดันเกินกำลังของตัวเอง ย่อมทำให้เกิดอาการบาดเจ็บได้บำรุงรักษารถเข็นที่ใช้อยู่
โดยการหยอดน้ำมันหรือจารบีที่ล้อรถเข็น สำรวจรอยแตกของล้อที่จะอาจทำให้ความฝืดระหว่างล้อกับพื้นเพิ่มขึ้น เติมลมยางของล้อให้เหมาะสมในกรณีที่รถเข็นเป็นลมยางให้แข็งพอดี

สำรวจพื้นบริเวณที่จะทำการเข็นรถผ่านว่ามีหลุม หรืออุปสรรคกีดขวางการหมุนของล้อรถเข็นหรือไม่ เช่น สายไฟที่พาดวางอยู่บนพื้น ในกรณีเช่นนี้  จะเข็นรถผ่านได้ยากมากเพราะจะต้องยกล้อให้พ้นสายไฟ ต้องออกแรงกดหรือยกล้อให้ผ่านไปได้ ซึ่งไม่ต่างอะไรกับการยกวัตถุนั้น ทำความสะอาดพื้นบริเวณที่จะดึงหรือดันวัตถุผ่านไม่ให้มีน้ำขัง หรือ น้ำมันจับอยู่ ไม่ควรดึงหรือดัน วัตถุผ่านพื้นที่ยังไม่แห้ง ความฝืดของพื้นจะลดลงอย่างมากเพราะน้ำ โอกาสลื่นล้มจะมีสูงมาก ใส่รองเท้าที่มีพื้นฝืด หรือมีรอยหยัก
เพื่อให้เกาะจับกับพื้น อย่าลืมว่าแรงดันหรือดึงจะมากหรือน้อย นั้นจะขึ้นกับความฝืดระหว่างรองเท้ากับพื้น ถ้าพื้นลื่นจะทำให้แรงดึงหรือดันลดลงอย่างมาก และเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการลื่นล้ม 
ปรับความสูงของมือจับของการดึงและดันให้อยู่ ที่ระดับเอวของผู้ทำงาน จะดึงและดันได้น้ำหนักมากและปลอดภัย

ไม่ควรดันหรือดึงรถเข็นขึ้นหรือลงทางลาดที่ชันมาก ในกรณีนี้ต้องใช้แรงดึงและดันในแนวดิ่งเพิ่ม ซึ่งจะใกล้เคียงกับการยกวัตถุนั้นในแนวดิ่ง ถ้าน้ำหนักวัตถุหนักเป็นร้อยกิโลกรัม ผู้ทำงานอาจถูกรถเข็นไหลมาทับได้ หรือไม่สามารถดึงรถให้หยุดได้ขณะลงทางลาด ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อผู้อื่น
ในทางปฏิบัติแล้วทางลาดไม่ควรมีความชันเกิน 6 องศา
ไม่ควรซ้อนวัตถุสูงเกินไปจนบังการมองเห็นของผู้ทำงาน อาจเข็นรถเข็นไปชนผู้อื่นได้

ดึงและดันให้ถูกวิธี ทดสอบแรงดึงและดันก่อน ถ้าไม่ไหว ให้คนอื่นช่วย อย่าดึงหรือดันพร้อมกับการบิดลำตัว โดยเฉพาะการดึงขณะที่วัตถุเริ่มเคลื่อนผู้ดึงจะต้องเอี้ยว   ลำตัวมามองทาง อาจเป็นอันตรายต่อส่วนหลังได้

ดึงและดันแบบก้าวเท้า อย่าใช้เท้าคู่ จะปลอดภัยจากการลื่นล้ม ขณะดึงและดันอย่าเหยียดศอกตรง ให้งอข้อศอกมากหรือน้อยตามแต่ถนัด เพื่อลดแรงกดที่ข้อศอก ถ้าเมื่อยล้าให้พักสักครู่ ถ้าเลือกได้ให้ใช้การดันซึ่งมีโอกาสบาดเจ็บน้อยกว่าการดึง

ออกกำลังด้วยการแอ่นหลังบ่อยๆ ในขณะทำงาน โดยการเอามือทั้งสองข้างวางที่ด้านหลังของสะโพก พร้อมกับแอ่นตัวไปทางด้านหลังขณะยืน ค้างไว้ประมาณ 10 วินาที   ช่วงเวลาว่างให้เดิน วิ่ง หรือ ว่ายน้ำ อย่างน้อย  15 นาที 3 ครั้งต่อสัปดาห์

อย่าลืมว่าสามารถป้องกันการบาดเจ็บได้ง่ายๆ ด้วยการใช้การดันแทนการดึงถ้าของหนักใช้รถเข็น ช่วยดีกว่า บำรุงรักษาล้อรถเข็นไม่ให้ฝืด ขจัดสิ่งกีดขวางบนพื้น ป้องกันการลื่นล้มด้วยการใส่รองเท้าพื้นฝืด อย่าเข็นขึ้นหรือลงทางลาดที่ชันมาก อย่าดึงหรือดันเกินกำลัง อย่าบิดตัวขณะดึงหรือดัน ดึงและดันแบบก้าวเท้า ข้อศอกงอมือจับอยู่ระดับสะโพก ขณะดึงและดันต้องมองเห็นตลอด เหนื่อยล้าให้พักสักนิด เท่านี้ตัวท่านรวมทั้งผู้ร่วมงานจะปลอดจากการบาดเจ็บจากการดึงและดัน

 

ข้อมูลสื่อ

301-015
นิตยสารหมอชาวบ้าน 301
พฤษภาคม 2547
คนกับงาน
ผศ.ดร.วรรธนะ ชลายนเดชะ