• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เชื้อราร้าย ทำลายกระจกตา

ช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หลายท่านคงเคยผ่านตากับข่าว กระเป๋ารถเมล์หญิงคนหนึ่ง ที่ออกมาร้องเรียนต่อแพทยสภาในหน้าหนังสือพิมพ์ติดต่อกันหลายวัน ว่าจะฟ้องร้องและเรียกค่าเสียหายจากหมอและผู้เกี่ยวข้องของโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ได้ความว่าเธอเกิดอาการตาข้างขวาเจ็บ จึงเข้าไปรักษาที่โรงพยาบาลจักษุแพทย์ก็ทำการรักษาและจ่ายยามาให้ปกติ เมื่อใช้ยาหยอดตาแล้วอาการก็ยังไม่ดีขึ้น แต่กลับแย่ลง และเพียงแค่ไม่กี่วันหลังจากนั้นอาการเจ็บตาเพียงเล็กน้อยก็ลุกลามจนทำให้ดวงตาข้างขวาของเธอบอด และดูเหมือนกำลังลามไปที่ตาอีกข้างหนึ่งด้วย โดยตัวการที่ทำให้เธอต้องสูญเสียการมองเห็นไปครั้งนี้มาจากเชื้อราตัวเล็กๆ ตัวหนึ่งเท่านั้น ข่าวนี้สร้างความน่ากลัวให้กับ “เชื้อโรค” ที่เรียกว่า “เชื้อรา” ตัวนี้ มากขึ้นอีกเป็นกอง ถ้าพูดถึงเชื้อราเราคงคุ้นกับเชื้อราที่ขึ้นบนขนมปังเก่าที่หมดอายุ เชื้อราสีเขียวสีเหลืองในอาหารที่ทิ้งค้างไว้หลังครัว เชื้อราที่เสื้อผ้าหรืออวัยวะในร่มผ้า มากกว่าจะคุ้นเคยกับเชื้อราที่มาสร้างแผลติดเชื้อบนกระจกตา อย่างนั้นลองมารู้จักกระจกตาของเราและเชื้อราตัวร้ายนี้กัน

คอลัมน์ “เรียนรู้จากข่าว” ฉบับนี้จึงขอนำท่านมาพบกับศาสตราจารย์แพทย์หญิงสกาวรัตน์ คุณาวิศรุต แห่งคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อไขข้อกระจ่าง


กระจกตาหรือที่ชาวบ้านมักเรียกกันว่าตาดำ ที่จริงเป็นส่วนที่ไร้สี แต่ที่เรามองเห็นว่าเป็นสีดำในตาพวกเรา หรือสีฟ้าในตาฝรั่งนั้น เป็นสีของม่านตาที่อยู่ลึกเข้าไป
 
กระจกตาเป็นอวัยวะครอบบนม่านตา มีความโค้งคล้ายกระทะคว่ำ อยู่เป็นส่วนที่มีความสำคัญยิ่งเกี่ยวกับการมองเห็นด้วยคุณสมบัติพิเศษคือ ใสจากการเรียงตัวสม่ำเสมอของเนื้อกระจกตา ไม่มีหลอดเลือดพาดผ่าน ทำหน้าที่คล้ายเลนส์แว่นตาที่รวมแสงจากวัตถุให้หักเหไปตกที่จอประสาทตาทำให้เรามองเห็น

เนื่องจากกระจกตาเป็นอวัยวะอันแรกที่ต้องรับแสงจากวัตถุเพื่อเกิดการมองเห็น อยู่ส่วนหน้าสุดของดวงตา จึงมีโอกาสได้รับภยันตรายได้ง่าย
 
ร่างกายจะพยายามปกป้องกระจกตาโดยอัตโนมัติจากการที่มีผิวเรียบ มีน้ำตาหล่อลื่นตลอดเวลามีการกะพริบตาเพื่อขจัดสิ่งสกปรกและวัสดุแปลกปลอมออกไป และที่สำคัญซึ่งหลายๆคน อาจไม่ทราบว่าในน้ำตามีเอนไซม์ ตลอดจนสารคุ้มกันประเภทภูมิคุ้มกันทางธรรมชาติคอยฆ่าเชื้อโรคที่อาจพลัดหลงเข้าไป”

แผลอักเสบของกระจกตาที่เกิดจากเชื้อง่ายๆ ที่จักษุแพทย์คุ้นเคยกันดี แพทย์มักจะให้การรักษาได้ทัน หากผู้ป่วยมาพบเร็ว
เมื่อแพทย์รักษาเก่งขึ้นดูเหมือนโรคที่พบมักจะรุนแรงขึ้นเป็นเงาตามตัว เชื้อโรคที่เป็นสาเหตุก็แปลกออกไป ได้แก่ เชื้อรา เชื้ออะมีบา เป็นต้น เชื้อราที่เราคุ้นๆกันก็พอมี

ในปัจจุบันมีเชื้อราแปลกๆที่เป็นสาเหตุ ได้แก่ เชื้อราที่ชื่อ pythium ซึ่งแต่เดิมก่อให้เกิดโรคในพืช ปลาตลอดจนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น ม้า วัว ควาย และสุนัข ส่วนการเกิดในคนพบน้อยมาก

ในระยะแรกพบการอักเสบของผิวหนัง และที่มีรายงานพบที่โรงพยาบาลรามาธิบดีและโรงพยาบาลศิริราชเกิดการอักเสบของหลอดเลือดแดงจนผู้ป่วยถึงแก่ชีวิตเมื่อปี พ.ศ. 2530
 
สำหรับการอักเสบของกระจก ตาที่เคยมีรายงานในโรงพยาบาลรามาธิบดี เมื่อปี พ.ศ. 2531 ที่พบ ผู้ป่วยโรคนี้มีถึง 3 ราย ในปีนั้น และทั้ง 3 ราย แม้จะให้การรักษาเต็มที่ ก็ไม่อาจรักษาตาไว้ได้ ต้องควักตาออก เพื่อสกัดกั้นมิให้เชื้อโรคลุกลามไป

เมื่อเร็วๆนี้ มีการพบผู้ป่วยโรคนี้ในโรงพยาบาลต่างจังหวัด ก่อให้เกิดปัญหาระหว่างผู้ป่วยและแพทย์ผู้รักษา จึงได้ลองรวบรวมผู้ป่วยแผลกระจกตาจากเชื้อตัวนี้ของโรงพยาบาลรามาธิบดี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531 ถึงปัจจุบันรวมเวลา 13 ปี พบผู้ป่วยเพียง 10 ราย ต้องลงเอยด้วยการเอาตาออกถึง 9 ราย ส่วนหนึ่งรายที่เหลือติดตามผลไม่ได้ เนื่องจากผู้ป่วยไม่มาติดตามการรักษา แต่ก็คาดว่าน่าจะสูญเสียสายตาเช่นกัน จึงนับว่าเป็นเชื้อที่รุนแรง
 
การรักษามักจะไม่ได้ผลเนื่องจากผู้ป่วยมักมาพบแพทย์เมื่อเป็นมากแล้ว การวินิจฉัยค่อนข้างยุ่งยาก อีกทั้งเชื้อตัวนี้ยังไม่มียาตัวใดรักษาได้

หากจะอิงการรักษาเหมือนในพืชและสัตว์ เช่น ใช้ยากำจัดเชื้อราในพืชก็ไม่สามารถทำในคน เพราะว่าเป็นพิษต่อคน หรือการใช้สารเคมีบางตัวรักษาปลาที่ติดเชื้อนี้ สารเหล่านี้ก็มักจะเข้าร่างกายคนไม่ได้ หรือบางตัวยังไม่เคยทดลองว่าปลอดภัยสำหรับคนหรือไม่

หากจะลองใช้ยาหยอดรักษาเชื้อราที่มีใช้อยู่สำหรับเชื้อราตัวอื่นเป็นที่ทราบกันดีว่ายารักษาเชื้อราส่วนใหญ่ไม่สามารถฆ่าเชื้อราโดยตรง เป็นเพียงสกัดกั้นมิให้เชื้อราเจริญเติบโต และรอให้ร่างกายมากำจัดเอง และพบว่ายารักษาเชื้อราที่มีอยู่ไม่ได้ผลเลยสำหรับเชื้อตัวนี้

จักษุแพทย์บางท่านถึงกับแนะนำว่าหากเป็นแผลกระจกตาจากเชื้อตัวนี้ ควรรักษาโดยการเปลี่ยนกระจกตา หรือตัดเอากระจกตาที่ติดเชื้อออกไป เอากระจกตาจากผู้เสียชีวิตที่สละดวงตาให้มาเปลี่ยน ซึ่งก็มีปัญหาเนื่องจากดวงตาที่บริจาคใช่ว่าจะมีอยู่มากมายหรือมีอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งการเปลี่ยนดวงตาขณะมีการอักเสบมากมักจะไม่ได้ผล แผลอักเสบของกระจกตาจากเชื้อตัวนี้ยังเป็นปัญหาอย่างมากสำหรับพวกเรา การป้องกันน่าจะได้ประโยชน์กว่า
 
เชื้อ pythium เป็นเชื้อที่เจริญเติบโตอยู่ในเขตร้อนที่มีอุณหภูมิพอเหมาะร่วมกับพืชในน้ำ ตลอดจนสิ่ง แวดล้อมที่เหมาะสม เชื้อจะเจริญเติบโตอย่างครบวงจร โดยมีพืช เช่น บัว ข้าว ข้าวโพด เป็นที่พักโดย ธรรมชาติ และจะปล่อย zoospore ซึ่งมีหนวด 2 เส้นปนอยู่ในดินในน้ำ เป็นระยะที่ก่อให้เกิดโรค คนหรือสัตว์ที่ไปสัมผัสกับ zoospore นี้ ก็จะก่อให้เกิดการติดเชื้อและเป็นโรค
 
ผู้ที่มีอาชีพอยู่กับดินกับน้ำก็มีโอกาสที่เชื้อนี้จะเข้าสู่ได้ง่าย ดังจะเห็นผู้ป่วยจากโรงพยาบาลรามาธิบดี ที่ติดเชื้อนี้กว่าร้อยละ 90 เป็นชาวนา การระมัดระวังอย่าให้น้ำเข้าตา หรือถ้าบังเอิญเข้าก็อย่าขยี้ตา อันจะทำให้ผิวตาดำถลอกและเชื้อโรคจะฝังตัวในกระจกตาได้
 
ได้ยินได้ฟังกันอย่างนี้แล้วอย่าลืมหันมาดูแลดวงตาคู่เดียวของตัวเองให้มากขึ้นหน่อย เพราะถ้าเกิดโชคไม่ดีเจ้าเชื้อราตัวร้ายนี้เข้ามาเยี่ยมเยือนถึงกระจกตาเมื่อไหร่ คุณอาจไม่มีโอกาสมองเห็นโลกผ่านดวงตาคู่นี้อีกต่อไปเชียวล่ะ

ข้อมูลสื่อ

265-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 265
พฤษภาคม 2544
กองบรรณาธิการ