• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ราชาวดี ดอกไม้ที่มีค่าคู่ควรพระราชา

หลายปีมาแล้ว ผู้เขียนมีโอกาสไปร่วมประชุมที่อาศรมวงศ์สนิท ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่ริมคลองรังสิต การประชุมจัดขึ้นง่ายๆ ในห้องโล่งใต้ถุนอาคารที่ยกพื้นสูงเช่นเดียวกับบ้านทรงไทยในชนบท เนื่องจากไม่มีฝากั้นจึงคล้ายการประชุมในสวน เพราะโดยรอบตัวอาคารมีต้นไม้ชนิดต่างๆปลูกไว้มากมาย

ยังจำได้ว่าระหว่างการประชุมซึ่งมีลมจากภายนอกพัดเข้ามาจากทิศต่างๆ เป็นครั้งคราวนั้น มีกลิ่นหอมของดอกไม้บางชนิดลอยตามลมมาด้วย ยิ่งในตอนเย็นเมื่อถึงเวลาเลิกประชุม ก็ยิ่งได้กลิ่นหอมแรงยิ่งขึ้น เป็นกลิ่นหอมของดอกไม้ที่ผู้เขียนยังไม่รู้จัก เมื่อเลิกประชุมแล้วจึงสำรวจถึงที่มาของกลิ่นหอมนั้น จึงพบว่าเป็นต้นไม้พุ่มขนาดย่อมชนิดหนึ่ง ซึ่งเจ้าหน้าที่ของอาศรมวงศ์สนิทบอกว่า ชื่อต้นราชาวดี
นั่นเป็นครั้งแรกที่ผู้เขียนรู้จักกับต้นราชาวดี เป็นความประทับใจที่คงไม่มีวันลืม เพราะเป็นความทรงจำเพียงอย่างเดียวที่เหลืออยู่จากการประชุมครั้งนั้น หลังจากที่ผ่านมานับสิบปี

                           
 
ราชาวดี : ดอกไม้ที่มีขึ้นสำหรับพระราชา
ราชาวดีเป็นไม้ยืนต้นขนาดย่อม ลักษณะกิ่งไม้เลื้อย ชนิดกิ่งแข็ง ที่ทอดกิ่งออกไป ไม่พันรอบเหมือนเล็บมือนาง แต่คล้ายมะลิลาหรือพุทธชาติ

ราชาวดีมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่าBuddleja paniculata Wall. อยู่ในวงศ์ Buddlejaceae เป็นไม้กิ่งเถาที่แตกกิ่งก้านสาขามาก ลำต้นเป็นเหลี่ยมเล็กน้อย เปลือกหุ้มลำต้นมี สีน้ำตาลอมเทา ใบดก เป็นใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงข้ามกิ่ง สีเขียว กว้าง 3 ถึง 5 เซนติเมตร ยาว 4 ถึง 7 เซนติเมตร หน้าใบสากคายคล้ายกระดาษทรายละเอียด ท้องใบเรียบกว่า ขอบใบจักเป็นซี่เล็กๆโดยตลอด ใบทรงรูปไข่ปลายค่อนข้างแหลม
 
ดอกราชาวดีออกบริเวณปลายกิ่ง เป็นช่อใหญ่ แยกออกจากซอกใบทั้ง 2 ด้านของกิ่ง แต่ละช่อจะประกอบด้วยกิ่งย่อย มีดอกสีขาวขนาดเล็ก รูปร่างเป็นหลอด ปลายกลีบบานคล้ายปากแตร ยาวประมาณครึ่งเซนติเมตรเรียงตัวอยู่รอบๆ กิ่งย่อย ดอกจะทยอยบานในเวลาไล่เลี่ย กันและบานจากโคนกิ่งไล่ขึ้นไปเรื่อยๆ ในขณะที่ปลายกิ่งจะมีดอกอ่อนเกิดขึ้นใหม่ยาวออกไปเรื่อยๆ ตามปลายแหลมของกิ่ง มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ช่วงกลางวัน และหอมแรงตอนกลางคืน ข้อมูลเกี่ยวกับราชาวดีผู้เขียน มีน้อยมาก เช่น ถิ่นกำเนิดดั้งเดิม* และระยะเวลาที่เข้ามาปลูกในเมืองไทยเป็นครั้งแรก ก็ยังไม่มี หากผู้อ่านท่านใดทราบกรุณาแจ้งมาที่กองบรรณาธิการหมอชาวบ้าน ก็จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านท่านอื่นๆ และตัวผู้เขียนเอง เท่าที่ทราบในขณะนี้คือราชาวดีเป็นต้นไม้มาจากต่างประเทศ คงเข้ามาในเมืองไทยหลังสงครามโลก ครั้งที่ 2 เพราะเอกสารที่มีในปี พ.ศ. 2480 ยังไม่ปรากฏชื่อราชาวดีเลย

ไม่ปรากฏว่าใครเป็นผู้ตั้งชื่อไม้ดอกต้นนี้ว่าราชาวดี นับว่าตั้งชื่อได้เหมาะสมมาก เพราะนอกจากไพเราะ แล้ว ยังมีความหมายดีมากอีกด้วย
ราชาวดีตามศัพท์แปลว่า ของที่มีขึ้นสำหรับพระราชา เดิมเป็นชื่อเรียกการลงยาเครื่องทองให้เป็นสีฟ้าว่าลงยาราชาวดี เป็นการลงยาเครื่องใช้ของพระราชาเท่านั้น ใช้ลงเฉพาะเครื่องใช้ที่เป็นเงินหรือทอง ถือเป็นของสูงไม่ใช่ของคนสามัญทั่วไป สำหรับต้นราชาวดีนั้น แม้จะมีค่าเทียบได้กับเครื่องทองลงยาสีฟ้าสำหรับพระราชา แต่คนธรรมดาสามัญอย่างพวกเราก็มีสิทธิ์ชื่นชมกับคุณลักษณะพิเศษของไม้หอมชนิดนี้ได้ทั่วกัน

ประโยชน์ของราชาวดี
เนื่องจากเป็นต้นไม้ที่เพิ่งเข้ามาประเทศไทยได้ไม่นาน จึงยังไม่พบคุณสมบัติทางสมุนไพรอย่างเป็นทางการของราชาวดี แต่เชื่อแน่นอนว่า หากเชื่อตามหมอชีวกโกมารภัท ว่าไม่มีพืชนิดใดที่ไม่เป็นยา ราชาวดีคงมีคุณสมบัติทางสมุนไพรด้วยแน่นอน โดยเฉพาะกลิ่นหอมแรงนั้น ย่อมมีน้ำมันหอมระเหย ซึ่งอาจใช้ในการรักษาแบบกลิ่นบำบัด (aroma therapy) อันเป็นการแพทย์แบบ ทางเลือกที่กำลังเป็นกระแสนิยมอยู่ทั่วโลกในขณะนี้

ราชาวดีในฐานะไม้หอม อาจปลูกลงดินในบริเวณบ้าน หรือข้างทางเดิน ก็จะให้กลิ่นหอมตลอดวันได้ตลอดทั้งปี หรือหากขาดแคลนที่ดินเหมือนผู้เขียน ก็อาจปลูกในกระถางได้โดยง่าย เพราะราชาวดีเป็นต้นไม้ ที่ปลูกง่ายและแข็งแรงทนทานมากที่สุด ออกดอกได้ง่ายและตลอดเวลา ยิ่งกว่าต้นไม้ดอกชนิดอื่น หากกิ่งเริ่มแก่หรือทรงพุ่มใหญ่โตเกินไปก็ตัดแต่งได้ตามสมควร ราชาวดีจะแตกกิ่งก้าน สาขาและให้ดอกได้ต่อเนื่องโดยไม่เสียเวลาพักตัวเลย โรคและแมลงก็ไม่เป็นปัญหา ผู้เขียนปลูกราชาวดีมาหลายปี ไม่เคยพบปัญหาจากโรคแมลงเลย และไม่เคยพบว่าราชาวดีขาดดอกเลย (ยกเว้นช่วงตัดแต่งกิ่ง)

ราชาวดีนั้นธรรมชาติคงมิได้สร้างขึ้นมาสำหรับพระราชาเท่านั้น แต่คงสร้างมาเป็นของขวัญสำหรับโลก ทั้งโลก ซึ่งรวมถึงสิ่งมีชีวิตทั้งปวง ขอเราจงมาชื่นชมกับของขวัญจากธรรมชาติชิ้นนี้ ให้สมคุณค่าที่มีอยู่นั้นเถิด * ในหนังสือคู่มือคนรักต้นไม้ ไม้ดอกหอมสีขาว สำนักพิมพ์บ้านและสวน กล่าวถึง ถิ่นกำเนิดของราชาวดีว่า มีถิ่นกำเนิดในอินเดียและมาเลเซีย

ข้อมูลสื่อ

265-015
นิตยสารหมอชาวบ้าน 265
พฤษภาคม 2544
ต้นไม้ใบหญ้า
เดชา ศิริภัทร