• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยาสมุนไพรจีน บำรุงยิน

ความรู้สึกเป็นไข้ตอนบ่าย ร้อนบริเวณแก้ม เหงื่อออก เวลากลางคืน ร้อนฝ่ามือ ฝ่าเท้า และบริเวณทรวงอก ปากคอแห้ง ลิ้นแดง ฝ้าบนลิ้นน้อย หรือลิ้นเลี่ยน ชีพจรเบาเร็ว อาการเหล่านี้คนจีนเรียกว่า อิมฮือ อิมฮือ หมายถึง ภาวะเลือด ภาวะยินพร่อง ที่รวมถึงสารจิงไม่พอ เสียสารน้ำในร่างกาย ทำให้เกิดภาวะยินไม่สามารถควบคุมหยาง เกิดอาการแสดงออกของ ยินพร่อง มีความร้อนภายในร่างกาย (เนื่องจากหยางในร่างกายแกร่ง เพราะยินในร่างกายน้อยกว่าปกติ)

สาเหตุที่มีอาการเหงื่อออกตอนกลางคืน เป็นเพราะตอนกลางวันพลัง ปกป้องผิวมักจะอยู่บริเวณส่วนนอก กล้ามเนื้อและผิวหนัง เมื่อตกกลางคืน พลังเหล่านี้จะลดลง ความร้อนภายในร่างกายที่สะสมอยู่จะระบายเหงื่อ และความร้อนสู่ภายนอก โบราณเรียกว่า “เหงื่อที่ระเหยจากกระดูกส่วนลึกของร่างกาย” เป็นลักษณะเด่นของภาวะยินพร่อง

ภาวะขาดสารน้ำในร่างกาย เช่น เสียเหงื่อมาก ไข้สูงเรื้อรัง ท้องเสีย ฯลฯ ภาวะเช่นนี้จะทำให้เกิดภาวะแห้ง ภายในร่างกายเนื่องจากสูญเสียน้ำและของเหลว มักพบอาการคอแห้งริมฝีปากแห้ง ผิวหนังแห้ง ปัสสาวะน้อยสีเข้ม อุจจาระแห้งแข็ง ฯลฯ

ระยะแรกของยินพร่องเป็นภาวะขาดสารน้ำแล้วมีภาวะแห้ง มักมีอาการที่ปอด กระเพาะอาหาร ระยะ หลังของยินพร่องมักมีภาวะร้อน อาการจะแสดงออกที่หัวใจ ตับ และไต

สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะยินพร่อง เกิดได้จากกรรมพันธุ์ การเจ็บป่วยเรื้อรัง มีไข้สูง สูญเสียยินและสารน้ำ ทำงานหนัก พักผ่อนไม่พอเป็นเวลายาวนาน การสูญเสียสารจิงเนื่องจาก มีเพศสัมพันธ์มากเกินไป สตรีที่สูญเสียเลือดประจำเดือนมากผิดปกติและต่อเนื่อง การได้รับยาบำรุงหยาง สมุนไพรที่กระตุ้นหยาง ให้ความร้อนที่ต่อเนื่องและไม่เหมาะสม เช่น เขากวางอ่อน โสมคน ยาวนานเกินไป

ยาบำรุงยินตามแพทย์แผนจีน ที่รู้จักกันทั่วไป ที่จะกล่าวถึง ได้แก่ ซาเซิน  ม่ายตง  เทียนตง  อวี้จู๋  โก่วฉีจื่อ  กุยป่านหรือกระดองเต่า  เปี๋ยเจียะหรือกระดองตะพาบน้ำ

ยาบำรุงยินกับยาบำรุงเลือดมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน เนื่องจากเลือดจัดเป็นยิน คนที่ยินพร่องจะมีเลือดพร่องเสมอ และคนที่มีเลือดพร่องมักจะทำให้เกิดยินพร่อง ยาสมุนไพรบางตัวจึงมีบทบาททั้งบำรุง เลือดและบำรุงยิน เช่น (สูตี้), (อาเจียว), (เหอเส่าอู), (โก่ว-ฉี-จื่อ)

ซาเซิน 
เป็นสมุนไพรจีนที่ใช้ส่วนของรากมาทำเป็นยา ซึ่งมีทั้งชนิดซาเซินเหนือ  มีสรรพคุณไปทางยิน ส่วนอีกชนิดคือซาเซินใต้  มีสรรพคุณไปทางขับเสมหะ
ซาเซินมีคุณสมบัติค่อนไปทางเย็น รสหวาน ขมเล็กน้อย วิ่งเส้นลมปราณ ปอด และกระเพาะอาหาร สรรพคุณของซาเซินคือ ให้ความชุ่มชื้นกับปอด แก้ไอแห้ง บำรุงกระเพาะอาหารช่วยสร้างน้ำย่อย ตามตำราจะนำซาเซินมาใช้
1. บำรุงยินของปอด ทำให้ปอดชุ่มชื้น (เหมาะสำหรับผู้ป่วยวัณโรค หรือคนที่มีอาการ คอแห้ง ไอแห้ง ไอไม่มีเสมหะ เสมหะแห้ง)
2. บำรุงยินของกระเพาะอาหาร เหมาะสำหรับคนที่ป่วยด้วยไข้สูง หรือไข้เรื้อรังนานๆ ทำให้เสียสารยินในร่างกาย ขาดน้ำย่อย ไม่เจริญอาหาร ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการคอแห้ง กระหายน้ำ ลิ้นแดง ฝ้าบนลิ้นน้อย

ปัจจุบันได้มีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม พบว่าซาเซินนั้น หากนำไปสกัดด้วยแอลกอฮอล์ จะมีฤทธิ์ลดไข้ ระงับการเจ็บปวด หรือหากนำไปสกัดด้วยน้ำ จะมีฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของหัวใจ

ม่ายตง 
เป็นสมุนไพรจีนที่ใช้ส่วนของรากมาทำเป็นยา
ม่ายตงมีคุณสมบัติค่อนไปทางเย็น รสหวาน ออกไปทางขม วิ่งเส้นลมปราณ หัวใจ ปอด กระเพาะอาหาร
สำหรับสรรพคุณของม่ายตงคือ บำรุงยินของปอด กระเพาะอาหาร และหัวใจ นอกจากนั้นยังช่วยรักษาโรคเบาหวาน ท้องผูก เนื่องจากลำไส้ขาดน้ำหล่อเลี้ยง กล่อมประสาท ลดความร้อน อาการหงุดหงิด นอนไม่หลับ ใจสั่น

เทียนตง 
เป็นสมุนไพรจีนที่ใช้ส่วนของรากมาทำเป็นยา
เทียนตงมีคุณสมบัติเย็น รสหวาน ขม วิ่งเส้น ลมปราณ ปอด และไต
สำหรับสรรพคุณของเทียนตงคือ บำรุงยินของปอด โดยช่วยลดกระหายน้ำ รวมถึงผู้ป่วยเบาหวานด้วย บำรุงยิน ของไตในคนที่เป็นไข้ตอนบ่าย เหงื่อออกกลางคืน น้ำกามเคลื่อน เอว เข่า ขาอ่อนแรง ท้องผูกเรื้อรังเนื่องจากขาดน้ำหล่อเลี้ยงลำไส้

ปัจจุบันทางแพทย์แผนจีนนำเทียนตงมาใช้รักษาผู้ป่วยคออักเสบเรื้อรัง ไอกรน ใช้เสริมการรักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านม มะเร็ง ต่อมน้ำเหลือง (ลิมโฟม่า) นอกจากนั้น ปัจจุบันได้มีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม พบว่าเทียนตง
1. มีสารแอสพาราไมด์ (Asparamide) ช่วยขับเสมหะ แก้ไอ แก้หอบ
2. มีฤทธิ์ระงับการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวในสัตว์ทดลอง
 
อวี้จู๋ 
เป็นสมุนไพรจีนที่ใช้ส่วนของหัวใต้ดินมาทำเป็นยา
อวี้จู๋มีคุณสมบัติสุขุม รสหวาน วิ่งเส้นลมปราณปอด และกระเพาะอาหาร
สำหรับสรรพคุณของอวี้จู๋คือ บำรุงยินของปอด บำรุงยินของกระเพาะอาหาร แต่ปัจจุบันทางแพทย์แผนจีนนำอวี้จู๋มาใช้รักษาผู้ป่วยที่มีไขมันในเลือดสูง และหลอดเลือดหัวใจตีบที่มีลักษณะยินพร่อง
 
นอกจากนั้น ปัจจุบันได้มีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม พบว่าอวี้จู๋มีฤทธิ์เพิ่มกำลังบีบตัวของหัวใจ และระงับการเติบโตของเชื้อสแตฟ ออเรียส โพรเทียส แบซิลลัสโคไลในลำไส้

โก่วฉีจื่อ
เป็นสมุนไพรจีนที่ใช้ส่วนของผลมาทำเป็นยา
โก่วฉีจื่อมีคุณสมบัติ สุขุม รสหวาน วิ่งเส้นลมปราณ ตับไต
สำหรับสรรพคุณของโก่วฉีจื่อ คือ บำรุงยิน บำรุงเลือด บำรุงสายตา บำรุงยินของตับและไต
ทางแพทย์แผนจีนนำโก่วฉีจื่อ มารักษาผู้ป่วยที่มีอาการยินและเลือดของตับไตพร่อง ซึ่งผู้ป่วยมักมีอาการ เวียนศีรษะ ตาลาย ความสามารถในการมองเห็นลดลง เสียงดังในหู น้ำกามเคลื่อน เอวและเข่าเมื่อยอ่อนแรง

นอกจากนั้น ปัจจุบันได้มีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม พบว่าโก่วฉีจื่อมีส่วนประกอบของวิตามินซี วิตามินบี วิตามินบี 2 แคโรทีน กรดนิโคทินิ เบตาสิโทสเตอโรล เบตาอีน ช่วยระงับการอักเสบของตับ



กุยป่าน หรือกระดองเต่า 

เป็นสมุนไพรจีนที่ใช้ส่วนกระดองมาทำเป็นยา
กุยป่านมีคุณสมบัติค่อนไปทางเย็น รสเค็ม หวาน วิ่งเส้นลมปราณ ตับ และไต
สำหรับสรรพคุณของกุยป่านคือ บำรุงยิน ลดหยาง บำรุงไต เสริมกระดูก บำรุงเลือดและหัวใจ ภาวะยินพร่องร่วมกับมีอาการหยางแกร่ง ไฟกำเริบ จะมีอาการตัวอุ่น เหงื่อออกในเวลาบ่าย เหงื่อออกมากเวลากลางคืน น้ำกามเคลื่อน เวียนศีรษะเสียงดังในหู อาการชักเนื่องจากลมกำเริบ เพราะภาวะยินพร่องทำให้เกิดความร้อนมากจึงเกิดลมขึ้นสู่ส่วนบน

ทางแพทย์แผนจีนมองว่าไตและตับควบคุมกระดูกและเอ็น คนที่กระดูกและเอ็นอ่อนแอ จะแสดงออกที่เอวและขาอ่อนแรง มีการเจริญเติบโต ในพัฒนาการด้านการยืน การเดิน การงอกของฟัน การปิดของกระหม่อม ศีรษะช้ากว่าปกติ จึงต้องบำรุงไต กุยป่านยังช่วยควบคุมประจำเดือนและ หยุดอาการประจำเดือนมากผิดปกติ โดยเฉพาะจากภาวะยินพร่อง ทำให้เลือดร้อน เป็นผลให้ประจำเดือนและตกขาวมากผิดปกติ

เปี๋ยเจียะ หรือกระดองตะพาบน้ำ 
เป็นสมุนไพรจีนที่ใช้ส่วนกระดองมาทำเป็นยา
เปี๋ยเจียะมีคุณสมบัติค่อนไปทางเย็น กลิ่นคาว เค็ม วิ่งเส้นลมปราณตับและไต
สำหรับสรรพคุณของเปี๋ยเจียะ คือ บำรุงยิน ลดหยางกำเริบ เช่นเดียวกับกระดองเต่า กระจายก้อน ทำให้ก้อนเนื้ออ่อนนุ่ม

ปัจจุบันทางแพทย์แผนจีนนำมาใช้เสริมยาสลายก้อนเนื้องอกใน ช่องท้อง ตับ ม้ามโต
นอกจากนั้น ปัจจุบันได้มีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม พบว่าเปี๋ยเจียะประกอบด้วยคอลลอยด์ เคอราติน ไอโอดีน วิตามินดี ซึ่งสามารถระงับการแบ่งตัวของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน และกระตุ้นการทำงานของโปรตีนในพลาสมา(ส่วนของน้ำเหลืองและเลือด)

สรุป กลุ่มยาบำรุงยิน มักมีคุณสมบัติเย็น รสหวาน หรือเค็ม มีลักษณะชุ่มชื้นและหนืด ซึ่งจะทำให้ระบบการย่อยอาหารทำงานหนัก ผู้ป่วยหรือคนที่ระบบกระเพาะอาหาร หรือม้ามพร่อง อ่อนแอ เสมหะมากท้องอืด อุจจาระเหลว ไม่ควรกินหรือต้องใช้อย่างระมัดระวัง โดยประกอบกับยาอื่นที่เหมาะสม

ข้อมูลสื่อ

266-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 266
มิถุนายน 2544
แพทย์แผนจีน
นพ.วิทวัส (ภาสกิจ) วัณนาวิบูล