• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สายหยุด เสน่ห์ยามเช้าของความหอม

สายหยุด หยุดกลิ่นฟุ้ง          ยามสาย
สายบ่หยุดเสน่ห์หาย            ห่างเศร้า
กี่คืนกี่วันวาย                     วางเทวษ ราแม่
ถวิลทุกขวบค่ำเช้า               หยุดได้ ฉันใดฯ
                                            

                                                ลิลิต ตะเลงพ่าย

โคลงสี่สุภาพที่ยกมาข้างบนนี้เป็นบทที่มีชื่อเสียงมากบทหนึ่ง รู้จักกันทั่วไปในบรรดาผู้สนใจวรรณคดีไทย เพราะนอกจากความไพเราะและความหมายลึกซึ้งแล้ว ยังเป็นการนำเอาชื่อและลักษณะพิเศษของไม้ดอกที่รู้จักดีมาเป็นสัญลักษณ์เปรียบเทียบกับความรู้สึกนามธรรมได้อย่างเหมาะสมอีกด้วย

หากจำไม่ผิด นักเขียนสตรีที่ล่วงลับไปแล้ว คือ สุวรรณี สุคนธา ได้เขียนนวนิยายชื่อ “สายบ่หยุดเสน่ห์ หาย” เอาไว้ด้วย เชื่อว่าคงได้ชื่อมาจากโคลงสี่สุภาพบทนี้นี่เอง

วรรณคดีไทยในอดีตมักเอ่ยชื่อสายหยุดไว้ในบทชมสวนหรือชมป่าอยู่เสมอ นอกจากลิลิตตะเลงพ่าย พระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสแล้ว ยังพบในวรรณคดีเรื่องอิเหนา พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 2 และนิราศเมืองแกลงของสุนทรภู่ เป็นต้น

คนไทยในอดีตดูเหมือนจะชื่นชอบสายหยุดกันมาก เพราะพ่อแม่นิยมนำมาตั้งชื่อให้ลูกสาวเช่นเดียวกับ ชื่อดอกไม้ยอดนิยม (สมัยนั้น) เช่น มะลิ หรือจำปา เป็นต้น น่าสังเกตว่าดอกไม้บางชนิดที่นิยมกันมาก คนไทย (ภาคกลาง) สมัยก่อนนำมาตั้งชื่อให้ทั้งลูกชายและลูกสาว เช่น กุหลาบ การะเกด แก้ว และสายหยุด ฯลฯ ที่มีชื่อเสียงรู้จักกันดีก็มี กุหลาบ สายประดิษฐ์ (ศรีบูรพา) และพลเอกสายหยุด เกิดผล เป็นต้น

จากตัวอย่างที่ยกมาพอสังเขปนี้ คงพอจะเห็นได้ว่า คนไทยในอดีต คุ้นเคยและชื่นชอบไม้ดอกหอมที่มีชื่อ สายหยุดมากเป็นพิเศษอย่างไร ต่างกับคนไทยปัจจุบันที่รู้จักสายหยุดกันน้อยลงทุกที ในขณะที่รู้จักดอกไม้จากต่างประเทศมากขึ้น เช่น ทิวลิป ลิลลี่ คาร์เนชั่น ฯลฯ

                                              

สายหยุด : จากป่ามาสู่สวน
สายหยุดมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Desmos chinensis Lour. อยู่ในวงศ์เดียวกันกับกระดังงา น้อยหน่า และน้อยโหน่ง คือ วงศ์ Annonaceae เป็นไม้เถาเนื้อแข็ง กึ่งเลื้อย กึ่งยืนต้น กล่าวคือหากมีเครื่องช่วยพยุง เช่น เสา ต้นไม้หรือนั่งร้าน ก็เลื้อยพันขึ้นไปได้ดี หากปลูกกลางแจ้งโดดๆ ก็ยืนต้นได้ในลักษณะไม้พุ่มคล้ายนมแมว ซึ่งอยู่ในวงศ์เดียวกัน

ใบเป็นใบเดี่ยวดอกสลับ กว้างราว 5 เซนติเมตร ยาวราว 10 เซนติเมตร ปลายใบแหลม หน้าใบเรียบท้องใบมีขน
ดอกเป็นดอกเดี่ยว ออกตามกิ่ง ตรงข้ามกับก้านใบ ดอกตูมมีสีเขียวเมื่อบานเปลี่ยนเป็นสีเหลือง มีกลีบดอก 6 กลีบ แบ่งเป็นชั้นนอก 3 กลีบ และชั้นใน 3 กลีบ กลีบดอกกว้างราว 1.5 เซนติเมตร ยาวราว 10 เซนติเมตร กลีบบิดงอเพราะค่อนข้างบาง มีกลีบเลี้ยงขนาดเล็ก 3 กลีบ และก้านดอกยาวราว 2.5 เซนติเมตร

สายหยุดออกดอกได้ตลอดทั้งปี ขึ้นอยู่กับดินฟ้าอากาศและความสมบูรณ์ของต้น จึงมักมีดอกมากช่วงฤดูฝนและต้นฤดูหนาว (ปลายฝนต้นหนาว)

ดอกสายหยุดจะเริ่มส่งกลิ่นหอมแรงขึ้นเมื่อยามพลบค่ำ และจะมีกลิ่นหอมแรงที่สุดช่วงเวลาเช้ามืด แล้วกลิ่นจะค่อยๆจางลงในเวลากลางวัน จึงเรียกกันว่าสายหยุด ดังโคลงที่ยกมาขึ้นต้นด้วย “สายหยุด หยุดกลิ่นฟุ้ง ยามสาย” นั่นเอง

ชื่อวิทยาศาสตร์ของสายหยุดมีคำว่า chinensis อยู่ด้วย หมายความว่า พบในประเทศจีน เพราะถิ่นกำเนิด ดั้งเดิมของสายหยุดอยู่ตอนใต้ของจีน ตลอดจนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนที่เป็นแผ่นดินใหญ่ ต่อลงไปถึงแหลมมลายู (ประเทศมาเลเซีย) ซึ่งประเทศไทยก็เป็นแหล่งกำเนิดดั้งเดิมของสายหยุดด้วย
คนไทยรู้จักสายหยุดกันมานานแล้ว ในหนังสืออักขราภิธานศรับท์ ของหมอปรัดเล พ.ศ. 2416 เรียกสายหยุดว่า สาวหยุด และบรรยายลักษณะไว้ว่า “สาวหยุด เป็นชื่อเถาวัลย์ อย่างหนึ่ง มันเลื้อยขึ้นต้นไม้ ดอกมันหอมแต่เวลาเช้า ครั้นสายขึ้นกลิ่น ก็หยุดไปนั้น” จากคำบรรยายนี้แสดงว่าคนไทยสมัยนั้นก็ให้ความสำคัญแก่คุณลักษณะพิเศษ คือ หอมตอนเช้า และตอนสายหยุดหอม อันเป็นที่มาของชื่อสายหยุดนั่นเอง คนไทยเรียกชื่อสายหยุด เป็นสาวหยุดบ้าง เช่น ในลิลิตตะเลงพ่ายของนิราศเมือง แกลง เรียก สายหยุด ในบทละครเรื่องอิเหนา เรียก สาวหยุด

ชื่อสายหยุดและสาวหยุดเป็นชื่อที่ใช้เรียกกันในภาคกลางและภาคใต้แต่บางจังหวัด เช่น สุราษฎร์ธานี เรียก เสลาเพชร สระบุรี เรียกกล้วยเครือ และเลย เรียกเครือเขาแกลบ

ประโยชน์ของสายหยุด
ในด้านสมุนไพร รากของสายหยุดใช้เป็นยาแก้บิด ดอกสายหยุดนำไปสกัดน้ำมันหอม ซึ่งอาจใช้บำบัด โรคตามวิธีอะโรมาเทอราปี (Aroma therapy) หรือใช้ทำน้ำหอมสำหรับเครื่องสำอางต่างๆ

ในด้านไม้ดอกไม้ประดับ นั้นสายหยุดเหมาะสำหรับปลูกในสวนไม้ดอก หรือในบริเวณบ้าน โดยทำนั่งร้านให้สายหยุดเลื้อยขึ้นไปปกคลุมอยู่ด้านบน เช่นเดียวกับเล็บมือนาง
 
จากประสบการณ์ของผู้เขียนเอง สายหยุดเป็นไม้ดอกที่พิเศษสุดอย่างหนึ่ง เพราะช่วงที่บวชและไปจำพรรษาที่สวนโมกขพลารามนั้น เวลาตั้งแต่ ตี 4 ถึง 6 โมงเช้า เป็นเวลาที่พระมารวมกันทำวัตรเช้าที่ลานหินโค้ง กลิ่นดอกสายหยุดจากบริเวณหน้ากุฏิ ท่านพุทธทาสภิกขุ ที่อยู่ข้างลานหินโค้งจะหอมอบอวลไปทั่วบริเวณ ตลอดเวลา 4 เดือนที่อยู่สวนโมกข์ฯ ผู้เขียนจะคุ้นเคยกับกลิ่นสายหยุด และ บรรยากาศยามเช้าของที่นั่น จนกระทั่งทุกวันนี้ เมื่อได้กลิ่นหอมของสายหยุดเมื่อใด ความทรงจำช่วง 4 เดือนที่สวนโมกข์ฯ ก็จะกลับมาอย่างแจ่มชัด ทำให้เข้าใจความเชื่อของคนไทยในอดีตที่ว่า การได้ดมกลิ่นดอกปาริชาติ จะทำให้ระลึกชาติได้ว่าเกิดจากอะไรและมีความหมายแค่ไหน

ทุกวันนี้ เมื่อมีโอกาส ผู้เขียนจะไปนอนค้างคืนที่เรือนไทยของมูลนิธิข้าวขวัญเสมอ แม้จะไม่ค่อยสะดวกสบายนัก แต่ตอนเช้ามืดของที่นั่น นอกจากจะได้รับบรรยากาศสดชื่นจากธรรมชาติคล้ายในอดีต เช่น เสียงนกกาเหว่า นกกะปูด และนกกวัก ฯลฯ แล้วกลิ่นหอมของสายหยุดที่ขึ้นอยู่ข้างสระน้ำด้านทิศตะวันออก ก็เป็นเสน่ห์ของยามเช้าที่ความหอมนั้นสามารถพาผู้เขียนกลับไปสู่สถานที่ซึ่งอยู่ไกลนับพันกิโลเมตร และช่วงเวลาที่ผ่านมากว่า 20 ปี
 

ข้อมูลสื่อ

266-014
นิตยสารหมอชาวบ้าน 266
มิถุนายน 2544
ต้นไม้ใบหญ้า
เดชา ศิริภัทร