• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยานอนหลับ

ดิฉันอยากจะรบกวนถามเรื่องยานอนหลับ คือเคยทราบมาว่ายานอนหลับจะมีส่วนผสมที่เป็นสารเสพย์ติด ถ้ากินเข้าไปมากจะทำให้เสพติดได้และยังมียาที่ไม่ใช่ยานอนหลับโดยตรง แต่เป็นยาที่มีฤทธิ์ทำให้ง่วงและหลับ จึงใช้เป็นยานอนหลับอย่างธรรมดาได้ เช่น พวกยาแก้แพ้
อยากทราบว่า
1. ยานอนหลับแบบที่จะทำให้เสพติดได้นี้คือยาอะไรบ้าง ออกฤทธิ์อย่างไร
2. ยานอนหลับแบบที่จะทำให้เสพติดได้นี้มีขายอยู่ตามท้องตลาดหรือไม่ และเหมาะจะนำมาใช้เพื่อการนอนไม่หลับแบบใด
3. มียาอะไรบ้างที่มีฤทธิ์ทำให้หลับได้ และสามารถนำมาใช้แทนยานอนหลับ
4. การใช้ยาที่ไม่ใช่ยานอนหลับโดยตรง แต่เป็นยาที่มีสรรพคุณในการรักษาอื่นๆ ซึ่งออกฤทธิ์ทำให้หลับ จะมีผลข้างเคียงอะไรหรือไม่ ในเมื่อเราไม่ได้ป่วยเป็นอะไรตามอาการที่ยานั้นจะรักษาโดยตรง
5. ยาที่มีฤทธิ์ทำให้ง่วงและหลับแบบนี้จะมีผลทำให้หลับได้มากน้อยแค่ไหน
6. เคยมีญาติเป็นโรคเนื้องอก ในสมอง จะมีอาการเครียด กังวล นอนไม่หลับ พยาบาลให้กินยานอนหลับ แต่ก็ยังไม่ยอมหลับ เดินไปเดินมาอยู่ตลอด พยาบาลก็บอกว่า “ถึงกินยานอนหลับถ้าไม่นอนก็ไม่หลับอยู่ดี” อธิบายประโยคนี้ให้เข้าใจด้วยได้ไหมคะ
7. ยาที่ทำให้หลับแบบเฉียบพลัน อย่างที่ผู้ร้ายแอบใส่ในน้ำให้กินเป็นยาอะไร มีจริงหรือไม่ คนร้ายไปหายาแบบนี้มาจากไหนกัน
วรรณา/กรุงเทพฯ


1. ยานอนหลับที่ทำให้เสพติดได้ คือ กลุ่มเบนโซไดอะซีพีนส์ (benzodiazepines) ซึ่งมีอยู่หลายชนิด ชนิดที่ใช้กันมานานนมและเป็นที่รู้จักกันดี ก็คือไดอะซีแพม (diazepam) ซึ่งมีชื่อยี่ห้อว่า “วาเลียม” (Valium)
ยากลุ่มนี้ จัดเป็นยากล่อมประสาท แก้ความวิตกกังวล คลายเครียด คลายกล้ามเนื้อ (คลายเส้น) ถ้ากินในขนาดสูงจะกดสมอง ทำให้นอนหลับ

2. เนื่องจากมีฤทธิ์ทำให้เสพติดได้ถ้าใช้ติดต่อกันนานๆ ยากลุ่มนี้ จึงจัดเป็นยาควบคุมพิเศษที่ต้องสั่งใช้โดยแพทย์เท่านั้น ไม่สามารถซื้อขายแบบยาทั่วไปได้
แพทย์จะพิจารณาให้คนไข้กินยานอนหลับในกรณีที่จำเป็นจริงๆ (เช่น อาการนอนไม่หลับนั้นอาจมีผลต่อกิจวัตรประจำวัน) และไม่สามารถแก้ไขด้วยวิธีอื่น (เช่น บางคนอาจนอนไม่หลับ เพราะดื่มชา กาแฟหรือดื่มเหล้า ช่วงก่อนนอนหรือกินยาแก้หวัดที่มีส่วนผสมของกาเฟอีน หรือยาแก้คัดจมูก หรืออาจนอนไม่หลับเพราะถูกแสงหรือเสียงรบกวน การหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านี้ก็จะ ช่วยให้นอนหลับได้โดยไม่ต้องใช้ยา) เพื่อความปลอดภัย แพทย์จะให้กินยานอนหลับเพียงช่วงสั้นๆ เมื่อหลับได้ดี ก็จะหยุดยา มิเช่นนั้นอาจทำให้ดื้อยา (ต้องปรับเพิ่มขนาดยา) และเสพติดได้

3. ยากลุ่มแก้แพ้ หรือแอนติฮิสตามีน (antihistamine) ซึ่งใช้กินแก้แพ้ แก้หวัด มักมีฤทธิ์ทำให้ง่วงนอนหลับได้ ในต่างประเทศมีการนำยาแก้แพ้ ได้แก่ ไดเฟนไฮดรามีน (diphenhydramine), โพรเมทาซีน (promethazine) มาใช้เป็นยานอนหลับ แม้แต่ยาแก้แพ้ชนิดพื้นๆ ได้แก่ คลอร์เฟนิรามีน ก็มีคนเคยนำมากินแทนยานอนหลับ

4. ยาแก้แพ้ ถ้ากินในขนาดปกติ และกินเป็นช่วงสั้นๆ เพียงไม่กี่วันก็นับว่าค่อนข้างปลอดภัย ผลข้าง เคียงที่อาจพบได้ก็คืออาการคอแห้ง ปากแห้ง เสมหะเหนียว

5. มีฤทธิ์ทำให้นอนหลับอ่อนๆ จึงเหมาะสำหรับอาการนอนไม่หลับ ที่ไม่รุนแรง หากกินแล้วไม่ได้ผล ก็ควรจะปรึกษาแพทย์เพื่อค้นหาสาเหตุ และให้การรักษาที่ถูกต้องจะดีกว่า

6. สำหรับคนที่มีปัญหานอนไม่หลับอย่างรุนแรง หรือประสาทแข็ง หรือมีความคิดวิตกกังวลอย่างมากยานอนหลับขนาดที่ใช้ปกติ อาจได้ผลน้อย แพทย์อาจจำเป็นต้องเพิ่มขนาดยาหรือใช้ยาที่ออกฤทธิ์แรง จึงจะได้ผล

7. มียาในกลุ่มเบนโซไดอะซีพีนส์บางชนิดที่สามารถออกฤทธิ์ได้รวดเร็ว กินไปเพียงไม่กี่นาทีก็ทำให้หลับ เป็นยาควบคุมพิเศษ แต่ก็อาจมีการแอบซื้อขายกันอย่างผิดกฎหมายได้

ข้อมูลสื่อ

267-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 267
กรกฎาคม 2544
พูดจาภาษายา
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ