• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สะเดา ความขมที่เป็นยา

สะเดา ความขมที่เป็นยา


“หวานเป็นลม ขมเป็นยา” คำพังเพยเก่าแก่ของชาวไทยประโยคนี้ แสดงถึงความเชื่อเกี่ยวกับคุณสมบัติด้านยารักษาโรคของสิ่งที่มีรสขมเช่นสมุนไพรต่างๆ คำพังเพยประโยคนี้เปรียบเทียบคำพูดหรือคนที่พูดไพเราะอ่อนหวานว่า อาจจะเป็นพิษภัยเหมือนกับลม ซึ่งเชื่อว่าเป็นสาเหตุของโรคต่างๆ ในขณะที่คำพูดหรือคนที่พูดไม่ไพเราะนั้น มักจะมีประโยชน์เหมือนกับยา (เพราะพูดด้วยความจริงใจหรือความหวังดี)

สมุนไพรรสขมที่รู้จักกันดีในหมู่ชาวไทย นอกจากบอระเพ็ดแล้วยังมีสะเดาที่ได้ยินชื่อเมื่อใด ก็จะนึกถึงความขมทันที ความแตกต่างกันอยู่ตรงที่คนไทยมักนึกถึงความขมของบอระเพ็ดเมื่อนำมาทำยา แต่นึกถึงความขมของสะเดาเมื่อนำมาเป็นอาหาร ทั้งนี้เพราะคนไทยทั่วไปคุ้นเคยกับการนำสะเดามาเป็นอาหารมากกว่านำมาทำยานั่นเอง

สะเดา มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Azadirachta indica ภาษาอังกฤษเรียกว่า Neem ซึ่งเป็นชื่อของสะเดาในภาษาฮินดี สะเดาเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง เมื่อโตเต็มที่มีความสูงประมาณ 12-15 เมตร ถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของสะเดาอยู่ในบริเวณประเทศพม่าและประเทศอินเดีย นับว่าเป็นต้นไม้ที่มีความสำคัญต่อชีวิตของชาวอินเดียเป็นอย่างสูง ทั้งในด้านศาสนา การใช้สอย และยารักษาโรค เป็นต้นไม้ที่ชาวอินเดียรู้จักดีที่สุดชนิดหนึ่ง สะเดาที่ขึ้นอยู่ทั่วไปในประเทศอินเดียนั้น มีลักษณะแตกต่างจากสะเดาไทยบ้าง เพราะเป็นสะเดาต่างสายพันธุ์ แม้จะเป็นพืชชนิด (Species) เดียวกันก็ตาม สะเดาอินเดีย คนไทยเรียกว่าสะเดาอินเดียหรือควินิน มีผิวลำต้นค่อนข้างเกลี้ยง ใบเล็กและมีหยักมากกว่า ดอกและใบอ่อนรสขมจัดกว่าสะเดาไทย จึงไม่นิยมนำมากินเหมือนสะเดาไทย แต่คุณสมบัติด้านอื่นๆคล้ายคลึงกับสะเดาไทย สามารถใช้แทนกันได้

เราอาจจัดสะเดาเป็นต้นไม้ประเภทโตเร็วได้ เพราะสามารถเติบโตได้รวดเร็วแม้ในพื้นที่แห้งแล้งหรือดินเลว สะเดามีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้ดี นอกจากทนแล้งแล้วยังทนโรคแมลง ดินเค็ม ดินเปรี้ยว ดินด่าง หรือสภาพน้ำท่วมขัง ในสภาพธรรมชาติจะพบสะเดาขึ้นอยู่ตามพื้นที่รกร้างว่างเปล่า หัวไร่ปลายนา หรือข้างถนน ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากนกกินผลสุกของสะเดาแล้วถ่ายเมล็ดสะเดาออกมา เป็นการปลูกสะเดาตามธรรมชาติ คุณสมบัติอย่างหนึ่งของสะเดาที่ต่างจากไม้โตเร็วส่วนใหญ่ ก็คือ เนื้อไม้สะเดาเป็นไม้เนื้อแข็ง ทนทาน เนื้อสีแดงปนน้ำตาลมอดและปลวกไม่ทำลาย เนื้อไม้สะเดานับว่าเป็นไม้คุณภาพดี เหมาะสำหรับนำมาปลูกสร้างบ้านเรือน ทำเฟอร์นิเจอร์ ทำเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ

ความเชื่อเกี่ยวกับสะเดา
ชาวฮินดูเชื่อว่าสะเดาเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ มีพิธีบูชาต้นสะเดาอยู่หลายพิธี รวมทั้งการนำสะเดาไปประกอบพิธีต่างๆ อีกมากมาย โยคีบางพวกใช้กิ่งสะเดาเสียบที่หูคล้ายตุ้มหู เพราะเชื่อว่าช่วยให้เข้าถึงเทพเจ้าได้ง่ายขึ้น สำหรับชาวไทยแต่ก่อนถือว่าสะเดาเป็นต้นไม้มงคลที่สมควรปลูกเอาไว้ในบริเวณบ้าน โดยกำหนดให้ปลูกทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของตัวบ้าน นอกจากนี้ยังเชื่อว่าพระพุทธเจ้าเคยประทับใต้ต้นสะเดาอีกด้วย

ประโยชน์ทางยา
สะเดาเป็นพืชที่ทุกส่วนมีคุณสมบัติเป็นยาทั้งสิ้น ในประเทศอินเดียใช้สะเดาเป็นยารักษาโรคต่างๆ มากมายหลายชนิดมาตั้งแต่โบราณกาล และยังคงใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน สำหรับชาวไทย มีหลักฐานการใช้สะเดาเป็นตัวยารักษาโรคต่างๆมากมาย ตัวอย่างเช่น ตำราประมวลสรรพคุณยาไทย ว่าด้วยพฤกษชาติฯ ของสมาคมโรงเรียนแพทย์แผนโบราณวัดพระเชตุพน กล่าวเอาไว้ว่า ดอกบำรุงธาตุ ยางดับพิษร้อน เปลือกรสฝาดสมาน แก้ท้องเดิน แก้บิด มูกเลือด รากแก้ไข้ ทำให้อาเจียน แก้โรคผิวหนัง ลูกอ่อนแก้ไข้ ถ่ายพยาธิ แก้ริดสีดวง แก้ปัสสาวะพิการ ก้านใบปรุงเป็นยาต้ม แก้ไข้ทุกชนิด

ประโยชน์ด้านการเกษตร
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ สะเดากลับมาเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางทั่วโลก เมื่อมีผู้นำสะเดามาใช้ควบคุมแมลงศัตรูพืชอย่างได้ผล และไม่เป็นพิษภัยต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมเหมือนสารเคมีกำจัดแมลงที่กำลังเป็นปัญหาร้ายแรงของการเกษตรในปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา และเยอรมณี ได้วิจัยค้นคว้าเกี่ยวกับการใช้สะเดาควบคุมแมลงศัตรูพืชมาไม่น้อยกว่า 30 ปี และพัฒนาวิธีการเตรียมสารควบคุมแมลงศัตรูพืชจากสะเดาจนตั้งโรงงานสกัดสารจากสะเดาออกขายได้แล้ว

สำหรับในประเทศไทยนอกจากมีโรงงานสกัดสารจากสะเดาไม่ต่ำกว่า 3 โรงงานในปัจจุบัน เกษตรกรไทยยังมีวิธีเตรียมสารจากสะเดาได้เองโดยไม่ต้องซื้อจากโรงงาน สามารถนำไปใช้ควบคุมแมลงในนาข้าว ในสวนผัก และสวนผลไม้ได้ผลดี ประหยัดค่าใช้จ่าย ปลอดภัย ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนไม่ทำลายแมลงที่เป็นประโยชน์อีกด้วย สะเดาจึงเป็นต้นไม้ที่มีบทบาทมากยิ่งขึ้นในด้านแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และเศรษฐกิจของเกษตรกรไทย อันจะส่งผลดีมาถึงผู้บริโภค และสังคมโดยส่วนรวมด้วย

ข้อมูลสื่อ

157-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 157
พฤษภาคม 2535
ต้นไม้ใบหญ้า
เดชา ศิริภัทร