• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เจ็บเสียวชายโครงเพราะวิ่ง

เจ็บเสียวชายโครงเพราะวิ่ง


เคยนึกสงสัยตัวเองครามครันอยู่เหมือนกันว่า ทำไมเวลาเดินเร็วๆ หรือวิ่งบางครั้งจะรู้สึกเจ็บบริเวณชายโครง คราวนี้จึงได้ฤกษ์พิสูจน์ความสงสัยส่วนตัวเสียที และเชื่อว่าท่านผู้อ่านหลายท่านก็คงกังขาเช่นเดียวกัน

 

อาการเจ็บเสียวชายโครง เป็นอาการ “ตะคริว” ที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันทันใดในบริเวณกล้ามเนื้อกะบังลม ซึ่งกะบังลมนี้ก็เป็นแผ่นกล้ามเนื้อขนาดใหญ่ที่ยึดติดอยู่ในร่างกายภายใต้กระดูกซี่โครงระหว่างหน้าอกและช่องท้อง โดยทำหน้าที่ช่วยในการหายใจ ในการหายใจปกติ เวลาเราหายใจเข้า กล้ามเนื้อกะบังลมจะหดตัวลงพร้อมๆ กับที่ทรวงอกขยายตัวขึ้น ทำให้ช่องอกและปอดขยายตัวตาม ความดันภายในปอดจึงลดตัวลง และอากาศภายนอกที่มีความดันมากกว่าก็จะเคลื่อนที่เข้าไปในปอดเพื่อปรับความดันให้เท่ากัน ส่วนในเวลาที่คนเราหายใจออก กล้ามเนื้อกะบังลมจะคลายตัว และทรวงอกจะแคบลง หน้าอกจึงยุบตัวกลับมาอยู่ในลักษณะเดิม อากาศภายในปอดจึงถูกดันออกมาภายนอก

ย้อนกลับไปที่อาการเจ็บเสียวชายโครงที่เกริ่นกล่าวไว้ตั้งแต่ต้นนั้นมักจะเกิดขึ้นได้เสมอเมื่อคุณเริ่มออกกำลังกายอย่างหนักตั้งแต่ต้นโดยไม่มีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป เพราะนั่นจะทำให้คุณต้องหายใจเร็วขึ้น และด้วยการบังคับให้กล้ามเนื้อกะบังลมทำงานอย่างหนักในเวลาอันรวดเร็วเช่นนี้ ย่อมทำให้เกิดอาการเจ็บเสียวชายโครงได้ และใช่ว่าอาการ “ตะคริว” จะเกิดขึ้นแต่เฉพาะบริเวณชายโครงเท่านั้น แต่ที่บริเวณน่องก็เกิดขึ้นได้เช่นเดียวกัน วิธีแก้ไขก็คือ การยืดเส้นยืดสายให้กล้ามเนื้อผ่อนคลายอยู่เสมอ โดยเฉพาะการบีบนวดและดึงกล้ามเนื้อบริเวณนิ้วหัวแม่เท้าเข้าหาตัว จะช่วยบรรเทาอาการนี้ได้

นอกจากนี้อาการ “ตะคริว” ยังมีสาเหตุมาจากการที่ร่างกายขาดเกลือก็ได้ เช่นในเวลาที่อุณหภูมิภายนอกขึ้นสูง ทำให้ร่างกายต้องสูญเสียเหงื่อไปเป็นจำนวนมาก ร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งอาจเป็นตะคริว เพราะเลือดไปเลี้ยงไม่พอ คุณเองคงเคยได้ยินข้อห้ามที่ว่า ไม่ควรว่ายน้ำหลังจากกินอาหารอิ่มใหม่ๆ เพราะเลือดจำนวนมากจะถูกใช้ไปในการย่อยอาหาร เมื่อเป็นเช่นนี้ถ้าคุณใจร้อนอยากลงไปเริงร่าเพื่อคลายร้อนในสระว่ายน้ำเร็วๆ ในทันทีที่กินอาหารเสร็จ ตะคริวอาจเล่นงานคุณก็ได้ ถึงตอนนั้นต่อให้คุณว่ายน้ำเก่งเพียงใด คุณก็อาจจมน้ำได้ ทางที่ดีควรนั่งพักเพื่อรออาหารย่อยเสียก่อนจะปลอดภัยกว่าค่ะ

ข้อมูลสื่อ

158-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 158
มิถุนายน 2535
สุกาญจน์ เลิศบุศย์