• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคบิดชิเกลล่า

โรคบิดชิเกลล่า

 
ข้อน่ารู้

1. โรคบิดในที่นี้ หมายถึง อาการถ่ายเป็นมูกหรือมูกปนเลือดกะปริดกะปรอยบ่อยครั้ง สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ชิเกลล่า (shigella) ซึ่งติดต่อโดยทางอาหารการกิน เราเรียกโรคบิดชนิดนี้ว่า “โรคบิดชิเกลล่า”

2. โรคนี้พบในคนทุกเพศทุกวัย สามารถป้องกันได้ด้วยการกินอาหารสุก ไม่มีแมลงวันตอม และดื่มน้ำสะอาด

3. อันตรายของโรคนี้ คือ ในระยะเริ่มแรกอาจมีอาการถ่ายเป็นน้ำรุนแรงจนเกิดภาวะขาดน้ำได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเกิดกับเด็กเล็กหรือผู้สูงอายุก็อาจเป็นอันตรายได้

โรคแทรกซ้อนอื่นๆ พบได้น้อย เช่น เชื้อแพร่กระจายเข้ากระแสเลือดทำให้เกิดโรคข้ออักเสบเฉียบพลัน หรืออาจทำให้ลำไส้อักเสบรุนแรงจนลำไส้ทะลุ ทำให้กลายเป็นเยื่อบุช่องท้องอักเสบถึงขั้นอันตรายได้
รู้ได้อย่างไรว่าไม่ได้เป็นอื่น คนที่เป็นโรคบิดชิเกลล่า จะมีอาการถ่ายเป็นมูกหรือมูกปนเลือดกะปริดกะปรอย (ประมาณชั่วโมงละ 1-3 ครั้ง) มีอาการปวดหน่วงที่ก้นคล้ายถ่ายไม่สุด มูกที่ออกมาจะมีกลิ่นเหม็นไม่มาก คนไข้มักจะมีอาการไข้ตัวร้อนร่วมด้วย และมักจะมีอาการถ่ายเป็นน้ำแบบท้องเสียนำมาก่อนที่จะถ่ายออกเป็นมูก (อาการถ่ายเป็นน้ำอาจเป็นรุนแรงถึงขั้นเกิดภาวะขาดน้ำก็ได้) คนไข้มีอาการถ่ายเป็นมูก อาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น

โรคบิดอะมีบา เกิดจากเชื้อโรคที่เป็นสัตว์เซลล์เดียว (เชื้อในกลุ่มเดียวกับไข้มาลาเรีย) ทำให้เกิดอาการถ่ายเป็นมูกหรือมูกปนเลือด แต่จะมีกลิ่นเหม็นเหมือนหัวกุ้งเน่า มักไม่มีไข้หรือถ่ายเป็นน้ำนำมาก่อน

มะเร็งลำไส้ใหญ่ พบมากในคนที่มีอายุมากกว่า 40 ปี จะมีอาการถ่ายเป็นมูกหรือมีเลือดปนเรื้อรัง ถ้ามีอาการถ่ายเป็นมูกนานเกิน 2 สัปดาห์ หรือน้ำหนักลด ก็ควรปรึกษาหมอ

เมื่อไรควรไปหาหมอ

ควรไปหาหมอเมื่อ

1. มีอาการปวดท้องรุนแรงหรืออาเจียนมาก หรือกดเจ็บตรงหน้าท้องมาก

2. มีอาการเป็นบิดนานเกิน 2 สัปดาห์ หรือน้ำหนักลด

3. กินยา 48 ชั่วโมงแล้ว ยังไม่ทุเลา

4. มีประวัติแพ้ยาซัลฟาและเพนิซิลลิน

5. มีความวิตกกังวลหรือไม่มั่นใจที่จะรักษาตนเอง


แพทย์จะทำอะไรให้
แพทย์จะซักถามอาการและตรวจร่างกาย ถ้าแน่ใจว่าเป็นโรคบิดชิเกลล่า ก็จะให้ยาในทำนองเดียวกัน
ในรายที่ไม่แน่ใจ อาจต้องทำการตรวจอุจจาระและเพาะเชื้อ หรือตรวจพิเศษอื่นๆ เช่น เอกซเรย์ลำไส้ ใช้เครื่องส่องตรวจทวารหนัก เป็นต้น แล้วทำการรักษาตามสาเหตุที่พบ

โดยสรุป โรคบิดชิเกลล่าเป็นโรคที่ไม่มีอันตรายร้ายแรง คนไข้สามารถให้การรักษาตนเองได้ และสามารถป้องกันได้โดยการระวังอาหารการกิน


การดูแลรักษาตนเอง
คนที่เป็นโรคบิด (ถ่ายเป็นมูกกะปริดกะปรอย) สามารถให้การดูแลรักษาตนเอง ดังนี้

1. ถ้าไม่เคยแพ้ยากลุ่มซัลฟา ให้กินโคไตรม็อกซาโซล (cotrimoxazole) ผู้ใหญ่ครั้งละ 2 เม็ด เด็กโตครั้งละ 1 เม็ด เด็กเล็กใช้ชนิดน้ำครั้งละ 1-2 ช้อนชา วันละ 2 ครั้ง หลังอาหารเช้าและเย็น ถ้ามีประวัติแพ้ยากลุ่มซัลฟา แต่ไม่แพ้ยากลุ่มเพนิซิลลิน ก็ให้กินอะม็อกซีซิลลิน (amoxycillin) ขนาด 250 มิลลิกรัม ผู้ใหญ่ครั้งละ 1 เม็ด (เด็กครั้งละ 1-2 ช้อนชา) วันละ 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน

2. ถ้ามีไข้ ให้กินยาลดไข้-พาราเซตามอล

3. ถ้ามีภาวะขาดน้ำ (ปากคอแห้ง ปัสสาวะออกน้อย) ให้ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่

4. ระวังการแพร่เชื้อให้คนอื่น โดย

  • ถ่ายอุจจาระลงในส้วมที่ถูกสุขลักษณะ
  • ล้างมือให้สะอาดก่อนเปิบข้าว และหลังถ่ายอุจจาระทุกครั้ง
  • ควรแยกสำรับอาหารจากคนอื่น หรือถ้าจำเป็นต้องกินร่วมกับคนอื่น ควรใช้ช้อนกลาง
  • เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว และเครื่องใช้ส่วนตัว อย่าใช้ปะปนกับคนอื่น

โดยทั่วไปหลังกินยารักษา 24-48 ชั่วโมง อาการจะค่อยๆ ทุเลา ควรกินยาอย่างน้อย 5 วัน

ข้อมูลสื่อ

158-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 158
มิถุนายน 2535
แนะยา-แจงโรค
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ