• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ตื่น-นอน วงจรชีวิตที่สมดุล

ตื่น-นอน วงจรชีวิตที่สมดุล


สิ่งมีชีวิตทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นสัตว์น้ำ สัตว์บก สัตว์ปีก ล้วนมีช่วงเวลาของแต่ละวันที่อยู่ในภาวะตื่น และบางช่วงเวลาอยู่ในภาวะนอน ทั้งนี้สัตว์แต่ละชนิดย่อมแตกต่างกันทั้งเวลาตื่นและนอน สัตว์ส่วนใหญ่จะออกหากินในเวลากลางวัน รวมทั้งนกและมนุษย์ แต่สัตว์บกบางชนิดโดยเฉพาะสัตว์ป่าจำพวกเสือ สิงโต รวมทั้งแมว หนู มักจะออกหากินในเวลากลางคืน สัตว์เหล่านี้จึงมักนอนในเวลากลางวัน และตื่นในเวลากลางคืน

สำหรับมนุษย์โดยธรรมชาติแล้ว มักจะนอนในเวลากลางคืนและตื่นในเวลากลางวัน แต่ปัจจุบันเมื่อปรากฏแสงสว่างเจิดจ้าที่มนุษย์ผลิตขึ้นในกลางคืน และโลกของเรามีขนาดเล็กลงจากความเจริญก้าวหน้าทางคมนาคม มนุษย์บางคนเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรม คือ นอนในเวลากลางวัน และทำงานในเวลากลางคืน รวมทั้งนักทัศนาจรที่มาจากประเทศในซีกโลกที่มีกลางวันและกลางคืนแตกต่างกับประเทศเรา พอถึงเวลากลางคืนกลับนอนไม่หลับ ชอบเที่ยวเตร่จนถึงตี 3 ตี 4 ของวันรุ่งขึ้น
 

กลไกของร่างกายขณะหลับ-ตื่น

การที่ร่างกายจะอยู่ในภาวะตื่นหรือภาวะนอนนั้น ล้วนถูกควบคุมโดยระบบประสาท โดยมีศูนย์กลางการนอนหลับและการตื่นอยู่ที่ก้านสมอง ขณะที่เราตื่น ระบบตื่นในก้านสมองจะทำงานหนัก โดยยอมปล่อยให้ความรู้สึกตามผิวกาย เช่น การสัมผัส ความเจ็บปวด แรงกด ความรู้สึกร้อนหรือเย็น รวมทั้งความรู้สึกพิเศษที่เกี่ยวกับการมองเห็น การได้ยิน การลิ้มรส การดมกลิ่น ผ่านเข้าไปในสมองใหญ่ เพื่อให้เกิดการรับรู้และเกิดพฤติกรรมตอบสนองต่อสิ่งเหล่านี้ได้อย่างเหมาะสม ขณะเดียวกัน ระบบตื่นจะช่วยปรับความตึงตัวของกล้ามเนื้อให้เข้ากับกิจกรรมต่างๆที่สมองใหญ่สั่งการลงมา หรือตอบสนองแบบฉับพลัน

ในทางตรงกันข้าม เมื่ออยู่ในภาวะนอน ระบบนอนหลับในก้านสมองซึ่งทำหน้าที่แตกต่างกับระบบตื่นจะสั่งงานห้ามการทำงานของระบบตื่น ดังนั้น ความรู้สึกต่างๆ จะไม่สามารถถูกส่งเข้าสมองใหญ่ นอกจากสิ่งเร้าที่รุนแรงมากจนสามารถปลุกให้ตื่นได้ เช่น เสียงนาฬิกาปลุกถูกเขย่าอย่างแรง หรือความร้อนจากไฟไหม้ แต่ในบางกรณีการตื่นของเพศชายและหญิงก็อาจจะมีขึ้นโดยสิ่งเร้าที่ไม่รุนแรงแต่จำเพาะ เช่น มารดาจะตื่นทันทีที่ทารกร้องเสียงเบาๆ ในขณะที่บิดายังนอนหลับสนิทอยู่ หรือการมีเสียงดังกุกกักเพียงเบาๆ อาจทำให้สามีรีบลุกขึ้นจากเตียงเพื่อมองหาแหล่งที่มาของเสียงว่ามีขโมยขึ้นบ้านหรือไม่ แต่ภรรยากลับนอนหลับสบายไม่รู้เรื่อง

เนื่องจากการนอนหลับมีอยู่ 2 ช่วงซึ่งสลับกัน คือ ช่วงที่ฝันและช่วงที่ไม่ฝัน ดังนั้น ถ้าเราถูกปลุกให้ตื่นจากช่วงที่ฝันอยู่ ย่อมจำความฝันนั้นได้อย่างติดตา แต่ถ้าถูกปลุกในช่วงที่ไม่มีการฝัน มักจะบอกว่าไม่ฝันตลอดคืน ซึ่งความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ ในภาวะที่เกิดอุบัติเหตุ ทำให้เลือดคั่งในก้านสมอง หรือภาวะขาดก๊าซออกซิเจนเนื่องจากหยุดหายใจและหัวใจหยุดเต้นชั่วขณะ เมื่อถูกช่วยให้เต้นใหม่หรือหายใจด้วยเครื่องช่วยหายใจ ทั้งสองกรณีอาจทำให้ศูนย์กลางการตื่นเสียไป ดังนั้น ไม่ว่าสิ่งเร้าจะรุนแรงเพียงใด ย่อมไม่สามารถปลุกให้ตื่นได้ กลายเป็นเจ้าชายหรือเจ้าหญิงนิทราไปโดยปริยาย ซึ่งมีชีวิตอยู่อย่างพืชผัก คือ ต้องป้อนให้ทุกอย่าง แต่ไม่สามารถรับรู้สิ่งที่อยู่รอบๆ ตัวได้


บริหารร่างกายก่อนตื่นนอน

อุณหภูมิกายขณะที่ตื่นและนอนจะไม่เท่ากัน โดยที่เวลานอนอุณหภูมิจะลดลงประมาณ 1/2-1 องศาเซลเซียส ชีพจรจะเต้นช้าลง กล้ามเนื้อแขนขามีเลือดคั่งอยู่มาก ดังนั้น เวลาตื่นจากการนอนไม่ควรลุกขึ้นทันที โดยเฉพาะคนที่มีปัญหาของหัวใจและหลอดเลือด เพราะอาจทำให้หน้ามืดตาลาย เจ็บหน้าอกได้ ดังนั้น เวลาตื่นควรจะกระดกเท้าขึ้น-ลงและหมุนไปรอบๆ สัก 5 นาที หายใจเข้าลึกๆ และเป่าออกทางปาก ชันเข่าบิดไปมาและยกแขนขึ้นลงสลับกัน วิธีที่ดีควรจะพลิกตัวไปมา นอนคว่ำ นอนตะแคงก่อนลุกขึ้น ไม่ควรกระโดดขึ้นจากที่นอนทันที เพื่อรีบเข้าห้องน้ำ แต่งตัว ขับรถพาลูกไปโรงเรียน เพราะอาการรีบร้อนเหล่านี้ยิ่งทำให้หัวใจต้องทำงานหนักเพิ่มขึ้นโดยที่ร่างกายยังไม่ทันได้เตรียมพร้อม ผู้เชี่ยวชาญทางโรคหัวใจแนะนำว่า ในช่วงหลังตื่นนอน 2-3 ชั่วโมง เป็นช่วงที่หลอดเลือดหัวใจมีโอกาสอุดตันได้ง่ายที่สุด ซึ่งมีผลทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตายได้ง่าย จึงต้องระมัดระวังอย่างมาก

นักวิทยาศาสตร์ยังพบว่า ช่วงเวลา 2-3 ชั่วโมงก่อนและหลังเที่ยงวัน เป็นช่วงที่มีความจำชั่วคราวดีที่สุด เช่น การจดจำหมายเลขโทรศัพท์ หรือราคาของหุ้นแต่ละตัว แต่หลังจากบ่ายโมง การทำงานและพลังงานจะลดลงมาก หลังจากนั้นในช่วงตั้งแต่ 6 โมงเย็นถึง 2 ทุ่ม เป็นช่วงที่มีความจำถาวรดีที่สุด เช่น การท่องตำราจะจำได้แม่น ซึ่งตรงกันข้ามกับความเชื่อของนักเรียนนักศึกษาที่ชอบอ่านหนังสือตอนดึกๆ หรือช่วงเช้าตรู่ เพราะเข้าใจว่าจะสามารถทำให้ประสิทธิภาพในการท่องจำดีขึ้น แต่จริงๆ แล้วปรากฏว่า เป็นช่วงเวลาที่ความจำถาวร ความเข้าใจและสมรรถภาพการเรียนต่ำที่สุดในรอบวัน


ควรตื่น-นอนเวลาใด

การที่มีบางคนชอบตื่นแต่เช้าตรู่ นอนแต่หัวค่ำ หรือพวกนก กับบางคนที่ทำตัวเป็นค้างคาว ตื่นสายและนอนดึก สภาพของร่างกายย่อมแตกต่างกัน โดยเฉพาะการหลั่งสารฮอร์โมนบางชนิด เพราะขณะที่คนตื่นเช้าเริ่มอ่อนเพลียหลังจากบ่าย 2 โมง คนตื่นสายกลับรู้สึกกระปรี้กระเปร่าในช่วง 5-6 โมงเย็น ยังมีการโต้เถียงกันอยู่มากว่า คนเราควรเข้านอนเวลาไหน และตื่นนอนเวลาใด นักวิทยาศาสตร์ พบว่า เนื่องจากในร่างกายแต่ละคนมีนาฬิกาชีวิตที่แตกต่างกัน และมีข้อแตกต่างกันในการใช้พลังงาน ดังนั้น เมื่อเวลาที่รู้สึกเพลียอาจนอนพักสักครู่หนึ่ง หรือเมื่อง่วงนอนอาจเข้านอนก่อน แต่ถ้านอนไม่หลับก็ควรทำงานหรือออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายอ่อนเพลียจนรู้สึกง่วงนอนถึงเข้านอน หรือเมื่อนอนไม่หลับก็อาจลุกขึ้นมาทำงานก่อน ย่อมไม่ขัดกับความต้องการของร่างกายแต่อย่างใด

การที่กังวลอยู่ตลอดเวลาว่านอนไม่พอนอนไม่หลับ ยิ่งก่อให้เกิดภาวะเครียดไม่ผ่อนคลาย ยิ่งไม่สามารถนอนหลับได้ง่าย การอาศัยยาเพื่อห้ามการทำงานของระบบตื่นจะมีข้อเสียมาก คือ นอกจากทำให้ติดยาหรือต้องใช้ยาปริมาณมากขึ้นเป็นลำดับแล้ว ยิ่งทำให้ไม่สดชื่น ทำงานไม่มีประสิทธิภาพ หงุดหงิด และกระวนกระวายอยู่ตลอดเวลา

การตื่นและการนอนเป็นภาวะความสมดุลของร่างกายที่เป็นเครื่องบ่งชี้ว่า ร่างกายอยู่ในสภาพอย่างไร คนที่นอนไม่หลับ คือ รู้สึกอยากนอนอยู่ตลอดเวลา เป็นสัญญาณเตือนว่าร่างกายไม่แข็งแรง ควรจะหาทางออกกำลังกายที่เหมาะสม เพื่อจัดนาฬิกาชีวิตในร่างกายให้เที่ยงตรงและปกติเหมือนเดิม
 

ข้อมูลสื่อ

158-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 158
มิถุนายน 2535
ดุลชีวิต
รศ.ประโยชน์ บุญสินสุข