• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อิมมูน – ภูมิคุ้มกัน

อิมมูน – ภูมิคุ้มกัน


ได้เขียนถึงเรื่องของ “โรคภูมิต้านตัวเอง” หรือ “ออโตอิมมูน” มา 2 ฉบับแล้ว ก็เลยขอถือโอกาสขยายความเกี่ยวกับคำว่า “อิมมูน” ต่อเลยดีไหมครับ มีอยู่บ่อยครั้งที่ผู้อ่านอาจรู้สึกงงงวยเมื่อเข้าไปในโรงพยาบาลแล้วเหลือบเห็นป้าย “แผนกอิมมูนวิทยา” หรืออ่านบทความทางการแพทย์พบกับประโยคว่า

“โรคนี้สาเหตุเกิดจากอะไรไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าอาจมีกลไกทางอิมมูนของร่างกายมาเกี่ยวข้อง” หรือ “โรคนี้จะต้องใช้ยากดอิมมูน หรือรักษาด้วยวิธีอิมมูนบำบัด” จะเห็นว่าคำๆ นี้มีที่ใช้กันในหลายๆ กรณีด้วยกัน

คำว่า “อิมมูน” เป็นคำทับศัพท์จากภาษาอังกฤษว่า immune ซึ่งแปลว่า “ภูมิคุ้มกัน” หรือ “ภูมิต้านทาน” นั่นเอง

ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ได้ให้ความหมายว่า “ภูมิคุ้มกัน น. สภาพที่ร่างกายมีแรงต่อต้านเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย, ภูมิต้านทาน ก็เรียก.” ดังที่ได้กล่าวไว้ในฉบับก่อนๆ ว่า ร่างกายของคนเรามีระบบป้องกันภัยที่สลับซับซ้อนและมหัศจรรย์ยิ่ง ที่เรียกว่า “ระบบภูมิคุ้มกัน” หรือ “ระบบภูมิต้านทาน” โดยมีเม็ดเลือดขาวทำหน้าที่เป็นเหมือนกองทหารที่ช่วยรักษาความปลอดภัยมิให้ถูกเชื้อโรคเข้ามาทำร้ายร่างกาย มีไขกระดูก (bone marrow) เป็นโรงงานผลิตเม็ดเลือดขาว (เปรียบเหมือนโรงเรียนนายร้อย จปร.) มีต่อมน้ำเหลือง รวมทั้งต่อมทอนซิลและม้ามทำหน้าที่เสมือนป้อมค่ายคอยตรวจตราและสกัดจับเชื้อโรค (ศัตรู) และมีเครือข่ายของหลอดเลือดเป็นเหมือนถนนยุทธศาสตร์ให้เม็ดเลือดขาวเดินทัพและลาดตระเวนไปทั่วทุกจุดของร่างกาย

ที่น่าทึ่งก็คือ กองทหารเม็ดเลือดขาวนั้นยังแบ่งออกเป็นหลายเหล่า มีเหล่าที่สร้างสารที่เรียกว่า แอนติบอดี (antibody) ซึ่งเปรียบเสมือนปืนใหญ่ จรวด และระเบิด เข้าต่อสู้กับเชื้อโรค มีเหล่าที่ทำหน้าที่เข้าประจัญบานกับเชื้อโรคโดยตรง มีเหล่าที่ทำหน้าที่ในด้านข่าวกรอง (จดจำชนิดของเชื้อโรค) และด้านอื่นๆ ซึ่งมีชื่อเรียกกันไปต่างๆนานา ระบบภูมิคุ้มกันจึงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการป้องกันโรค การลดอันตรายของโรค และการหายของโรค

วิทยาศาสตร์การแพทย์มีการค้นพบความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับระบบนี้จนกลายเป็นวิชาแขนงใหม่แขนงหนึ่ง เรียกว่า วิชาอิมมูโนวิทยา (Immunology) (บางคนก็แปลว่า “วิทยาอิมมูน” หรือ “วิทยาภูมิคุ้มกัน” แต่ไม่เป็นที่นิยมเรียกกัน) นักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานด้านนี้ก็เรียกว่า นักอิมมูโนวิทยา (Immunologist) บางคนก็เรียกว่า “นักวิทยาภูมิคุ้มกัน” แผนกที่ทำงานด้านนี้ก็เรียกว่า แผนกอิมมูโนวิทยา

วิธีการรักษาโรคโดยใช้ความรู้ทางด้านนี้ ก็เรียกว่า “อิมมูโนบำบัด” (Immunotherapy) ยาที่ใช้กดมิให้ภูมิต้านทานทำงานมากเกิน เช่น ที่ใช้ในคนไข้ที่ผ่าตัดเปลี่ยนไต (กดมิให้ร่างกายต่อต้านไตที่รับมาจากคนอื่น) หรือคนไข้ที่ป่วยเป็นโรคออโตอิมมูน (โรคภูมิต้านทานตัวเอง) ก็เรียกว่ายากดอิมมูน (Immunosuppressant)

จะเห็นว่าศาสตร์แขนงนี้ได้เข้ามามีบทบาทในการดูแลสุขภาพของคนเรามากขึ้น ท่านผู้อ่านอาจมีคำถามว่าปัจจัยอะไรที่มีผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย และจะมีวิธีสร้างเสริมภูมิคุ้มกันอย่างไร
ก็ต้องขอยกยอดไปครั้งหน้าครับ

ข้อมูลสื่อ

161-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 161
กันยายน 2535
ภาษิต ประชาเวช