• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ถุงลมปอดโป่งพอง

ถุงลมปอดโป่งพอง


 

ข้อน่ารู้

1. ถุงลมปอด (alveoli) เป็นเนื้อเยื่อที่อยู่ส่วนปลายสุดของปอด มีลักษณะเป็นถุงอากาศเล็กๆ อยู่ต่อกับหลอดลมฝอยแขนงต่างๆ นับจำนวนเป็นล้านๆ ถุง (เปรียบเหมือนใบไม้ที่เกาะติดอยู่กับปลายของกิ่งไม้กิ่งต่างๆ) และโดยรอบของถุงลมจะมีหลอดเลือดฝอยห่อหุ้มถุงลมปอดจึงเป็นที่ที่มีการแลกเปลี่ยนอากาศ กล่าวคือ ก๊าซออกซิเจน (อากาศดี) ที่มากับลมหายใจเข้าเมื่อเข้ามาอยู่ในถุงลม ก็จะซึมผ่านผนังของถุงลมและผนังหลอดเลือดฝอยเข้าไปในกระแสเลือด ซึ่งจะไหลเวียนไปเลี้ยงทั่วร่างกาย ส่วนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (อากาศเสีย) ที่เกิดจากการเผาผลาญของร่างกายจะไหลเวียนมาตามกระแสเลือด เมื่อผ่านมาที่หลอดเลือดฝอยที่ห่อหุ้มถุงลมอยู่ ก็จะซึมผ่านผนังหลอดเลือดฝอยและผนังถุงลมเข้ามาในถุงลมแล้วถูกขับออกมาตามลมหายใจออก ดังนั้น ถุงลมปอดจึงมีความสำคัญต่อการแลกเปลี่ยนอากาศเป็นอย่างยิ่ง ถ้าถุงลมปอดเสื่อมสมรรถภาพหรือมีพื้นผิวในการแลกเปลี่ยนอากาศลดลง ก็จะทำให้การแลกเปลี่ยนอากาศไม่อาจเป็นไปอย่างปกติ ทำให้ปริมาณของออกซิเจนที่ไปเลี้ยงร่างกายลดลง เป็นเหตุให้เกิดอาการหอบเหนื่อยง่ายได้

2. โดยปกติเมื่อย่างเข้าสู่วัยสูงอายุ ถุงลมปอดของคนเราก็อาจมีการเสื่อมสมรรถภาพขึ้นได้เป็นธรรมดา เช่นเดียวกับอวัยวะส่วนอื่นๆ จึงอาจทำให้ผู้สูงอายุเวลาทำอะไรจะรู้สึกเหนื่อยง่ายได้บ้างในบางครั้งบางคราว แต่อย่างไรก็ตาม ปริมาณของถุงลมปอดที่เสื่อมสภาพนั้นจะมีไม่มาก จึงไม่เกิดอาการผิดปกติมากนัก และไม่ถือว่าเป็นอาการเจ็บป่วยหรือเป็นโรค แต่ถือเป็นธรรมดาของสังขารมากกว่า จึงไม่จำเป็นต้องให้การรักษาแต่อย่างใด

3. คนที่สูบบุหรี่จัด ถุงลมปอดจะมีการเสื่อมสภาพเร็วกว่าวัยอันควรและในปริมาณที่มาก จึงเกิดเป็นโรคที่เรียกว่า “ถุงลมปอดโป่งพอง” (Emphysema หรือ COPD) ทั้งนี้เป็นเพราะว่าบุหรี่ทำให้หลอดลมเกิดการระคายเคือง และมีการอักเสบอย่างเรื้อรัง มีอาการไอ มีเสลดเป็นประจำ เรียกว่า “หลอดลมอักเสบเรื้อรัง” (Chronic bronchitis) มีผลทำให้ผนังถุงลมปอดขาดความยืดหยุ่นและเปราะง่าย และมีการแตกทะลุทำให้ถุงลมขนาดเล็กๆ หลายๆ อันรวมตัวเป็นถุงลมขนาดใหญ่ (โป่งพอง) ทำให้จำนวนถุงลมปอดทั้งหมดลดลง และปริมาณพื้นผิวของถุงลมที่ยังทำหน้าที่ได้ทั้งหมดลดน้อยลงด้วย เป็นเหตุให้การแลกเปลี่ยนอากาศทำได้น้อยลง จึงเกิดอาการหอบเหนื่อยง่าย กลายเป็น “โรคถุงลมปอดโป่งพอง”

4. คนที่สูบบุหรี่กว่าจะเกิดอาการของโรคถุงลมปอดโป่งพอง อาจใช้เวลานาน 10-20ปีขึ้นไป ดังนั้น โรคนี้จึงมักจะปรากฏอาการเมื่อย่างเข้าวัยกลางคน ทั้งนี้ขึ้นกับปริมาณบุหรี่ที่สูบ ถ้าสูบมาก ก็จะกินเวลาในการเกิดโรคสั้นลง เนื่องจากในบ้านเราผู้ชายมีอัตราการสูบบุหรี่มากกว่าผู้หญิงมากๆ โรคนี้จึงแทบจะเรียกว่าผูกขาดยู่ในหมู่ผู้ชายก็ว่าได้ ยกเว้นในบางพื้นที่ที่ผู้หญิงนิยมสูบบุหรี่ ก็อาจพบโรคนี้ในผู้หญิงได้

5. ถุงลมปอดที่โป่งพองหรือเสื่อมสภาพไปแล้วจะเกิดขึ้นอย่างถาวร ไม่มีหนทางใดเลยที่จะช่วยให้กลับฟื้นตัวขึ้นได้ ดังนั้น โรคนี้จึงจัดว่าเป็นโรคที่ไม่มีทางรักษาให้หายขาด มีแต่ทรงกับทรุด แต่จะเป็นเรื้อรังนานสิบๆปี กว่าจะเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อชีวิตได้ คนที่เป็นโรคนี้จะต้องทนทุกข์ทรมานจากอาการหอบเหนื่อยง่าย และอาจจะต้องลาออกจากงานอาชีพ ทำให้เสียโอกาสความก้าวหน้าในอาชีพและหน้าที่การงาน

6. การป้องกันอยู่ที่อย่าสูบบุหรี่ ถ้าสูบอยู่ ก็ควรหาทางเลิกเสียก่อนที่จะปรากฏอาการของโรค ส่วนคนที่มีอาการหอบเหนื่อยจากโรคนี้อยู่แล้วก็ควรจะเลิกสูบบุหรี่เสีย จะช่วยให้ถุงลมปอดส่วนที่ยังดีอยู่ไม่ถูกทำลายต่อไป อาจช่วยให้โรคที่เป็นอยู่ทรงอยู่ ไม่ทรุดหนักลงไปอีก

รู้ได้อย่างไรว่าไม่ได้เป็นอื่น

คนที่เป็นโรคถุงลมปอดโป่งพองจะมีอาการหอบเหนื่อยง่ายเวลาออกแรง เช่น ยกของ เดินขึ้นที่สูง เดินไกลๆ เวลานั่งหรือนอนอยู่เฉยๆจะหายเหนื่อย ร่วมกับมีอาการไอมีเสลดอยู่เป็นประจำ บางครั้งอาจมีไข้สูง และไอมีเสลดเป็นหนอง ซึ่งเป็นการติดเชื้อแทรกซ้อน เมื่อกินยาปฏิชีวนะก็จะดีขึ้น อาจมีอาการแบบนี้เป็นครั้งคราว อาการหอบเหนื่อยง่ายจะเป็นอยู่ประจำนานเป็นแรมปี และถ้าคนไข้ยังสูบบุหรี่ต่อไป ถุงลมปอดมีการทำลายมากขึ้น ก็จะมีอาการหอบเหนื่อยที่รุนแรงขึ้น จนในที่สุดแม้แต่เวลาพูดหรือเคี้ยวข้าวก็เหนื่อยจนแทบจะจำอะไรไม่ได้ ได้แต่นอนให้ออกซิเจนอยู่บนเตียง บางครั้งอาจมีอาการหายใจหอบดังวี้ดๆ แบบโรคหืด จนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ในช่วงท้ายของโรค คนไข้มักมีอาการหายใจหอบหรือปอดอักเสบ (ปอดบวม) แทรกซ้อน จนต้องเข้าๆ ออกๆโรงพยาบาลเป็นประจำ ก่อนจะเสียชีวิตในที่สุด แต่อย่างไรก็ตาม อาการหอบเหนื่อยง่าย อาจเกิดจากสาเหตุอื่นก็ได้ เช่น

1. โรคหืด จะมีอาการหายใจหอบดังวี้ดๆ เป็นครั้งคราว เช่น เวลาแพ้อากาศ แพ้ฝุ่น หรือเป็นไข้หวัด เมื่อได้รับยารักษาอาการก็ดีขึ้นได้ สามารถทำงานต่างๆได้โดยไม่มีอาการเหนื่อยง่าย มักเป็นเมื่ออายุไม่มาก อาจเริ่มเป็นตั้งแต่วัยเด็ก อาจมีประวัติญาติพี่น้องเป็นโรคหืดหรือโรคภูมิแพ้ (เช่น หวัดแพ้อากาศ ลมพิษผื่นคัน) ร่วมด้วย

2. ภาวะหัวใจล้มเหลว เกิดจากหัวใจสูบฉีดเลือดไม่ได้ จะทำให้มีอาการเท้าบวมทั้ง 2 ข้าง และหายใจหอบเหนื่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลานอนราบ (หนุนหมอนใบเดียว) ทำให้นอนไม่ได้ ต้องลุกขึ้นนั่งจะค่อยยังชั่ว ถือเป็นภาวะร้ายแรงที่ต้องพบแพทย์โดยเร็ว

เมื่อไรควรไปหาหมอ

ถ้ามีอาการไอเรื้อรังและรู้สึกหอบเหนื่อยง่าย ควรปรึกษาหมอเพื่อค้นหาสาเหตุให้แน่ใจ ควรไปหาหมอที่โรงพยาบาลโดยเร็ว ถ้ามีอาการหายใจหอบถี่ เท้าบวมทั้งสองข้าง นอนราบไม่ได้ ไอมีเสลดออกเป็นสีเหลืองหรือสีเขียว หรือมีไข้สูง

แพทย์จะทำอะไรให้

แพทย์จะซักถาม (โดยเฉพาะประวัติการสูบบุหรี่) และตรวจร่างกาย (รวมทั้งเคาะปอด ฟังปอด) ถ้าไม่แน่ใจ อาจต้องเอกซเรย์ปอด ตรวจเสมหะ ใช้กล้องส่องตรวจหลอดลม (bronchoscope) หรือทำการตรวจพิเศษอื่นๆ ถ้าแน่ใจว่าเป็นโรคถุงลมปอดโป่งพอง ก็จะแนะนำให้คนไข้ปฏิบัติตัวดังกล่าวและให้ยารักษา เช่น ให้ยาขยายหลอดลม (ทีโอฟิลลิน, อะมิโนฟิลลีน, เทอร์บูทาลีน, หรือซาลบูทามอล ) ในรายที่มีอาการหอบมากอาจต้องให้ยาขยายหลอดลมชนิดพ่น ในรายที่มีการติดเชื้อ เช่น มีไข้ ไอมีเสลดเหลืองหรือเขียว จะให้ยาปฏิชีวนะ (อะม็อกซีซิลลีน อีริโทรมัยซิน หรือเตตราซัยคลีน) แพทย์จะนัดคนไข้มาตรวจเป็นระยะๆ (ทุก 1-3 เดือน) ถ้ามีโรคปอดอักเสบแทรกซ้อน หรือภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง อาจต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาลเป็นครั้งคราว ถ้าเป็นถึงระยะท้าย มีอาการหายใจหอบเหนื่อยจากปอดทำงานไม่ได้ อาจต้องเจาะคอและใช้เครื่องช่วยหายใจประทังชีวิตไประยะหนึ่ง

โดยสรุป โรคถุงลมปอดโป่งพอง มีสาเหตุจากการสูบบุหรี่เป็นสำคัญ เมื่อเป็นแล้วคนไข้จะมีอาการหอบเหนื่อยง่าย ทนทุกข์ทรมานนับเป็นสิบๆ ปี โรคนี้ไม่มีวิธีการเยียวยาให้หายขาด มีแต่ทรงกับทรุดลงช้าๆ ดังนั้น ทางที่ดีควรหาทางป้องกันด้วยการอย่าสูบบุหรี่
 
การดูแลรักษาตนเอง

คนที่มีอาการไอเรื้อรัง และทำอะไรรู้สึกหอบเหนื่อยง่าย ควรปรึกษาแพทย์เพื่อค้นหาสาเหตุ  หากแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคถุงลมปอดโป่งพอง ควรปฏิบัติตัว ดังนี้

1. เลิกสูบบุหรี่โดยเด็ดขาด รวมทั้งหลีกเลี่ยงการรับควันบุหรี่จากผู้อื่น จะช่วยป้องกันมิให้อาการเป็นมากขึ้น

2. ไปหาแพทย์ตามนัด และกินยาตามที่แพทย์แนะนำ ควรเลือกรักษากับแพทย์ที่รู้จักมักคุ้น

3. ศึกษาให้เข้าใจถึงโรคนี้อย่างถ่องแท้ โดยการอ่านหนังสือหรือพูดคุยกับแพทย์ผู้ให้การรักษา ทำใจยอมรับว่าโรคนี้จะเป็นเรื้อรังตลอดชีวิต และอย่าดิ้นรนเปลี่ยนหมอเปลี่ยนโรงพยาบาลให้สิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ

4. ถ้ามีเสลด ให้ดื่มน้ำมากๆ

5. กินอาหารพวกเนื้อ นม ไข่ เพื่อเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรง

6. ฝึกหายใจเข้าออกยาวๆ ลึกๆ เป็นประจำ

7. ออกกำลังกายเบาๆ เช่น ฝึกกายบริหาร เดินหรือว่ายน้ำช้าๆ ขณะเดียวกันก็ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องออกแรงจนรู้สึกหอบเหนื่อย

ข้อมูลสื่อ

161-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 161
กันยายน 2535
แนะยา-แจงโรค
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ