• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ลำคอ เป็นได้มากกว่าท่อลำเลียงอาหาร

ลำคอ เป็นได้มากกว่าท่อลำเลียงอาหาร

 


ก่อนที่จะเริ่มเขียนต้นฉบับเรื่องนี้ ได้มีโอกาสนั่งพลิกดูคอลัมน์นี้อย่างคร่าวๆ ตั้งแต่ฉบับที่ 1 จนถึงฉบับปัจจุบัน ก็ให้รู้สึกแปลกใจเมื่อพบว่า “หมอชาวบ้าน” ยังไม่เคยกล่าวถึงเรื่อง “ลำคอ” กันจริงๆเลยสักครั้งในคอลัมน์นี้ ทั้งที่ “ลำคอ” หรือ “คอ” ก็เป็นอวัยวะที่ค่อนข้างจะเห็นเด่นชัดกว่าส่วนอื่นๆเสียด้วยซ้ำ โดยเฉพาะบรรดาคุณผู้หญิงที่รักสวยรักงามบางคนถึงกับเปลี่ยนสร้อยเพชรวันละเส้นก็ยังมีเลย ทั้งนี้เพื่อเสริมความโดดเด่นของลำคออันเรียวระหงของเจ้าหล่อนให้ดูดียิ่งขึ้น

อย่างที่จั่วหัวข้างต้นไว้ว่า “ลำคอ” มิใช่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของระบบทางเดินอาหารเท่านั้น แต่เป็นกลไกที่ธรรมชาติสร้างขึ้นมาโดยออกแบบให้มีสวิตช์ปิด-เปิดที่แม่นยำในการจำแนกแจกแจงและเคลื่อนย้ายสิ่งที่ผ่านมาที่ลำคอ อันประกอบด้วยอากาศ ของเหลว และของแข็ง ไม่ให้สิ่งเหล่านี้ปนเปกันอย่างขาดระบบ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการสำลักหรือติดคอได้ ดังนั้นในกิจวัตรประจำวันของคนเรา ไม่ว่าจะเป็นการกิน การดื่ม หรือการพูด จึงจำเป็นต้องอาศัยกลไกการทำงานของลำคอทั้งสิ้น
 

โครงสร้างของลำคอ

การจราจรในลำคอของคนเราไม่ต่างจากถนนเยาวราชยามชั่วโมงเร่งรีบสักเท่าใด เพราะในบริเวณนี้จะประกอบไปด้วยเส้นประสาท เส้นเลือด กระดูกคอ และยังมีท่อต่างๆ อีกมากมาย

ท่อแรกนั้นอยู่ที่ลำคอส่วนต้น เรียกว่า คอหอย หรือ ”ฟาริงซ์” (pharynx) ซึ่งยาวประมาณ 5 นิ้ว โดยเริ่มต้นจากจมูกและไปสิ้นสุดที่บริเวณด้านหลังลูกกระเดือก

ส่วนที่อยู่ถัดมาคือกล่องเสียง หรือ “ลาริงซ์” (larynx) อันเป็นจุดสับสวิตช์ใหญ่ ซึ่งจะแยกแยะการจราจรให้เดินถูกทาง และทำหน้าที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในการออกเสียง มีความยาวประมาณ 1 3/4 นิ้ว และประกอบด้วยกระดูกอ่อน 9 ชิ้น ซึ่งจัดวางตัวอยู่อย่างซับซ้อนปกคลุมด้วยแผ่นเยื่อเมือก และยึดติดกันด้วยเส้นเอ็น ส่วนหนึ่งของกระดูกหลอดเสียงในผู้ชายจะโผล่เป็นลูกกระเดือกออกมา

ถัดลงมาอีกจะเป็นท่อ 2 ท่อ คือ หลอดอาหาร (esophagus) ซึ่งต่อไปสู่กระเพาะอาหาร และหลอดลม (trachea) ซึ่งต่อไปเข้าปอด ท่อทั้งคู่มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 นิ้ว
 

หน้าที่เป็นท่อลำเลียงอาหาร

หลังจากอาหารถูกเคี้ยวแล้ว ลิ้นจะกวาดอาหารไปอยู่ที่ส่วนหลังของปาก แล้วลิ้นไก่ (uvula) ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อชิ้นเล็กๆ แขวนห้อยลงมาจากเพดานปากส่วนที่ติดกับลำคอจะกระดกขึ้น และช่วยปิดช่องทางที่ต่อไปยังรูจมูกทั้งสองข้างเพื่อป้องกันการสำลักอาหาร ต่อจากนั้นลิ้นก็จะทำหน้าที่ดันอาหารให้ไหลลงไปสู่ลำคอ

ในการป้องกันอาหารมิให้เกิดอาการที่อาหารไปอุดหลอดลมนั้น เกิดจากกลไกพิเศษในการปิด-เปิดหลอดลม ลองสังเกตดูว่า ถ้าเราลองเอามือแตะลำคอบริเวณลูกกระเดือกแล้วกลืนน้ำลาย จะพบว่ากระดูกเลื่อนขึ้น ซึ่งอาการนี้แสดงถึงการปิดลิ้นกระพือที่เรียกว่า “อีพิกล็อตทิส” (epiglottis) ซึ่งอยู่คร่อมปากท่อหลอดลมพอดี อาหารที่ถูกกลืนจึงลื่นไหลลงสู่หลอดอาหารซึ่งยาวประมาณ 10 นิ้วได้อย่างปลอดภัย และเนื่องจากว่าหลอดอาหารมีกล้ามเนื้อช่วยทำงานอยู่เป็นอันมาก จึงสามารถทำให้เกิดแรงผลักเป็นระลอกๆ ซึ่งก็จะช่วยให้การส่งอาหารไปยังกระเพาะอาหารลุล่วงไปด้วยดี

แต่ว่าอาหารที่เรากลืนเข้าไปนั้นไม่ได้หล่นตุบลงไปในกระเพาะอาหารโดนตรง เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น เราก็คงจะมีอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อยอย่างรุนแรง และในขณะที่เรากินอาหารอยู่นั้น ลำคอก็จะทำหน้าที่ปิด-เปิดกล้ามเนื้อ อันทำหน้าที่คล้ายๆ ลิ้นปิด-เปิดตรงตำแหน่งที่หลอดอาหารต่อเข้ากับกระเพาะ เพื่อทยอยส่งอาหารให้แก่กระเพาะด้วยอัตราเร็วที่กระเพาะพอจะจัดการได้อย่างสบายๆ แต่ถ้าเรากินอาหารอย่างตะกละตะกราม อาหารอาจจะกองซ้อนกันเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดความรู้สึกอิ่มแบบที่ค่อนข้างจะอึดอัดอยู่พักใหญ่ทีเดียว

ศิลปินนักร้องระดับซูเปอร์สตาร์ที่ว่ากันว่ามีเสียงไพเราะราวกับระฆังเงินบ้าง เสียงขยี้ฟองเบียร์บ้าง หรือแม้แต่เสียงแหบเสน่ห์ที่กำลังได้รับความนิยมอยู่ในขณะนี้ก็ตาม ล้วนเป็นเสียงที่ต้องอาศัยพลังที่เปล่งออกมาจาก “ลำคอ” ทั้งสิ้น

ครั้งหน้าคงจะมาว่ากันต่อถึงความสามารถในด้านนี้ของลำคอ ใครที่คิดว่าตนเองดูเหมือนจะไม่มี (ลำ) คอเนื่องจากว่าอ้วนมาก มองเผินๆ ดูแล้วจะเป็นส่วนศีรษะแล้วมาถึงไหล่เลยนั้น ก็ไม่ต้องน้อยอกน้อยใจนะคะ เพราะคุณอาจจะมีแววศิลปินเหมือนคนอื่นเขาบ้างก็ได้ หากกล่องเสียงของคุณทำหน้าที่ได้ดี

(ข้อมูลจาก J.D.Ratcliff สรีรวิทยาสำหรับประชาชน (Your body and how it works). มงคล เดชนครินทร์, แปล. กรุงเทพฯ)

ข้อมูลสื่อ

163-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 163
พฤศจิกายน 2535
สุกาญจน์ เลิศบุศย์