• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

งูสวัด

งูสวัด


ข้อน่ารู้

1. งูสวัด เป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่ง มีลักษณะพุขึ้นเป็นตุ่มน้ำใสเล็กๆ เรียงเป็นแนวยาวตามแนวเส้นประสาท เกิดจากการติดเชื้องูสวัดซึ่งเป็นไวรัสชนิดหนึ่ง มีชื่อว่า เชื้อเฮอร์ปีส์ ซอสเตอร์ (Herpes zoster) ซึ่งเป็นเชื้อชนิดเดียวกันกับไข้สุกใส (อีสุกอีใส) ติดต่อโดยการสัมผัสกับคนที่เป็นงูสวัดหรือไข้สุกใส

2. งูสวัดกับไข้สุกใส ถือว่าเป็นโรคพี่โรคน้องที่มีสาเหตุจากเชื้อไวรัสตัวเดียวกัน ไข้สุกใสจะเกิดกับเด็กหรือคนที่ไม่เคยเป็นโรคสุกใสมาก่อน คนพวกนี้เมื่ออยู่ใกล้ชิดกับคนที่เป็นไข้สุกใสไข้สุกใสหรืองูสวัดก็จะกลายเป็นไข้สุกใส (มีไข้ และขึ้นตุ่มสุกตุ่มใสกระจายทั่วตัว) ส่วนคนที่เคยเป็นไข้สุกใสมาแล้ว ร่างกายจะมีภูมิต้านทานต่อเชื้อชนิดนี้อยู่บ้าง เมื่อติดเชื้อจากการอยู่ใกล้ชิดกับคนที่เป็นไข้สุกใสหรืองูสวัดก็จะกลายเป็นงูสวัด (ตุ่มขึ้นเฉพาะที่) ดังนั้นงูสวัดจึงมักจะพบในเด็กโต และผู้ใหญ่ที่เคยมีประวัติเป็นไข้สุกใสมาก่อน ในเด็กเล็กจะพบได้น้อย

3. โรคนี้มักจะเป็นเพียงครั้งเดียวในชีวิต เมื่อหายแล้วก็จะไม่เป็นซ้ำอีกเช่นเดียวกับไข้สุกใส ตรงข้ามกับโรคเริม (ที่เกิดจากไวรัสเริม) มักจะเป็นซ้ำๆ ซากๆ เรื้อรัง

4. งูสวัดเป็นโรคที่เป็นเองหายเองภายใน 2-3 สัปดาห์ มักไม่มีโรคแทรกซ้อนที่ร้ายแรง ยกเว้นว่าถ้าดูแลไม่สะอาด แผลอาจติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ทำให้กลายเป็นตุ่มหนอง โรคจะหายช้า และกลายเป็นแผลเป็น บางคนอาจมีงูสวัดเกิดขึ้นที่หน้าผาก ลามเข้ากระจกตา (ตาดำ) หากรักษาไม่ถูกต้อง อาจทำให้กระจกตากลายเป็นแผลเป็น บางคนอาจมีงูสวัดเกิดขึ้นที่หน้าผาก ลามเข้ากระจกตา (ตาดำ) หากรักษาไม่ถูกต้อง อาจทำให้กระจกตากลายเป็นแผลเป็น ตาบอดมัวได้ ถ้าเกิดที่บริเวณเส้นประสาทที่เลี้ยงใบหน้า (บริเวณหน้าหู) บางครั้งอาจทำให้เกิดอาการอัมพาตของใบหน้าซีกนั้น ทำให้ปากเบี้ยวและหลับตาไม่มิด แต่โชคดีที่มักจะเป็นเพียงชั่วคราว แล้วจะค่อยๆ หายเองใน 1-2 เดือน

โรคแทรกที่พบได้บ่อย คือ อาการปวดปลายประสาท จะเกิดอาการหลังจากแผลหายสนิทแล้ว คนไข้จะรู้สึกปวดเสียวที่บริเวณรอยแผลเป็นเวลาสัมผัสถูกหรือเสื้อผ้าเสียดสีถูก ซึ่งอาจเป็นอยู่นานเป็นแรมปีกว่าจะทุเลา

5. โรคนี้จะมีอาการรุนแรงมากขึ้นตามอายุ และระยะเวลาที่เป็นก็จะนานขึ้นตามอายุเช่นกัน กล่าวคือ เด็กจะเป็นไม่รุนแรงและหายเร็ว (2-3 สัปดาห์) ส่วนผู้สูงอายุจะเป็นรุนแรงและหายช้า (4-5 สัปดาห์)

6. ความเชื่อของชาวบ้านที่ว่างูสวัดเป็นรอบเอวแล้วตายนั้น ไม่เป็นความจริง โดยทั่วไปงูสวัดจะขึ้นตรงซีกใดซีกหนึ่งของร่างกายเท่านั้น เช่น ที่ชายโครง จะเกิดที่ชายโครงซีกซ้ายหรือขวาเพียงซีกเดียวเท่านั้น จะไม่ข้ามไปยังอีกซีกหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตาม คนที่มีภูมิต้านทานต่ำ เช่น เป็นมะเร็ง หรือใช้ยารักษามะเร็ง ถ้าหากติดเชื้องูสวัดก็อาจเป็นกระจายทั่วร่างกาย อาจรุนแรงถึงตายได้

7. สันนิษฐานว่า ชื่อ “งูสวัด” ที่เรียกตามพื้นบ้านไทย คงเพี้ยนมาจากคำว่า “งูตระหวัด” เป็นการเรียกตามลักษณะอาการของโรคที่ขึ้นเป็นแนวยาวคล้ายงู และคงเป็นที่มาของความเชื่อที่ว่า งูสวัดเป็นรอบเอวแล้วตาย

รู้ได้อย่างไรว่าไม่ได้เป็นอื่น

งูสวัดจะมีลักษณะเฉพาะที่สังเกตได้ง่าย โดยเริ่มแรกจะรู้สึกไม่ค่อยสบาย อาจมีไข้ขึ้น และปวดตามผิวกายตรงบริเวณแนวเส้นประสาทที่จะเกิดงูสวัด (เช่น ชายโครง บั้นเอว หน้าผาก แขน หรือขา ซีกใดซีกหนึ่ง) บางคนอาจปวดมากหรือมีอาการปวดแสบปวดร้อนคล้ายถูกไฟลวก 3-4 วันต่อมาจะมีผื่นแดงๆ ขึ้นตรงบริเวณที่ปวดแล้วพุเป็นตุ่มใสเล็กๆ เรียงตัวเป็นแนวยาวตามแนวเส้นประสาท ต่อมาตุ่มน้ำจะแตก และค่อยๆ ยุบไปจนแห้งเป็นสะเก็ดหายไปได้เองภายใน 2-3 สัปดาห์ ลักษณะพุเป็นตุ่มน้ำใส อาจพบในโรคต่อไปนี้

1. ไข้สุกใส จะมีไข้ และมีตุ่มใสขึ้นกระจายทั่วตัว ตุ่มมักจะคันมาก

2. เริม จะพุเป็นตุ่มเล็กๆ อยู่กระจุกเป็นหย่อมเดียวตรงริมฝีปาก ปลายองคชาต หรือช่องคลอด หรือบริเวณอื่นๆ ตามผิวกาย จะเป็นๆ หายๆ เรื้อรัง


เมื่อไรควรไปหาหมอ

ควรหาหมอโดยเร็ว เมื่อ

1. แผลงูสวัดขึ้นที่หน้าและลุกลามเข้าตา

2. มีอาการปวดรุนแรง กินยาแก้ปวดไม่ได้ผล

3. แผลกลายเป็นหนองเฟะเนื่องจากไม่สะอาด

4. มีอาการอัมพาตของใบหน้าซีกหนึ่ง

5. มีอาการปวดเสียวตรงบริเวณรอยแผลเรื้อรัง

6. มีความวิตกกังวล หรือไม่มั่นใจที่จะดูแลรักษาตนเอง


แพทย์จะทำอะไรให้

แพทย์จะให้การรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาแก้ปวดลดไข้ ทายาคาลาไมน์โลชั่น ในรายที่แผลเป็นหนองเฟะอาจให้กินยาปฏิชีวนะ เช่น เพนวี อะม็อกซีซิลลิน หรืออีริโทรมัยซิน ถ้างูสวัดเข้าตา แพทย์จะให้ยาฆ่าเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า อะไซโคลเวียร์ (acyclovir) ซึ่งมีชื่อทางการค้า เช่น โซวิแรกซ์ (Zovirax)

โดยสรุป งูสวัดเป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่เป็นเองหายเองเป็นส่วนใหญ่ มีเพียงส่วนน้อยที่อาจเกิดโรคแทรกซ้อน การรักษาคือให้ยาบรรเทาอาการและรักษาความสะอาด อย่าให้ติดเชื้อแทรกซ้อน


การดูแลรักษาตนเอง

งูสวัดเกิดจากเชื้อไวรัส เป็นเองหายเองเป็นส่วนใหญ่ให้ปฏิบัติ ดังนี้

1. ถ้ามีอาการปวดหรือมีไข้ ให้กินยาแก้ปวดลดไข้-พาราเซตามอล

2. ถ้าคันหรือปวดแสบปวดร้อน ให้ทาคาลาไมน์โลชั่น

3. ถ้านิยมสมุนไพร ให้นำต้นเสลดพังพอน (ตัวผู้หรือตัวเมียก็ได้) ล้างน้ำให้สะอาด แล้วตำกับเหล้าพอกวันละ 2-3 ครั้ง

4. ห้ามใช้ครีมสตีรอยด์ทา อาจทำให้แผลลุกลาม หายยาก หรือติดเชื้อแทรกซ้อนได้

ข้อมูลสื่อ

164-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 164
ธันวาคม 2535
แนะยา-แจงโรค
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ