• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การฝากครรภ์

การฝากครรภ์

ในฉบับที่แล้วได้พูดถึงเรื่องชนิดของบริการฝากครรภ์ไว้ และได้กล่าวถึงบริการที่รับผิดชอบโดยแพทย์ผู้เดียวไปแล้ว ฉบับนี้จึงต่อด้วยการบริการโดยทีมการแพทย์

บริการโดยทีมการแพทย์

ลักษณะบริการเช่นนี้จะมีแพทย์ ๒-๓ คน ที่รวมกลุ่มกันทำงาน โดยที่ทุกคนจะมีคุณภาพที่เท่าเทียมกันผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันให้บริการ

การดูแลของแพทย์ทุกคนจะเป็นแนวทางเดียวกัน ระบบการดูแลนี้พบได้ในคลินิกแพทย์ที่เป็นคลินิกขนาดใหญ่ หรือโรงพยาบาลที่เป็นโรงพยาบาลศูนย์หรือโรงเรียนแพทย์โดยที่ผู้คลอดจะเป็นผู้รับบริการของโรงพยาบาลและคลินิก แพทย์ผู้ดูแลจะเป็นแพทย์ทั้งกลุ่มที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนให้บริการตามวันเวลาที่กำหนดไว้

  • ข้อดีของการดูแลนี้คือ คุณมีโอกาสได้พบแพทย์ที่หลากหลายในการดูแลชนิดเดียวกัน โดยที่คุณไม่จำเป็นจะต้องทำความรู้จักคุ้นเคยกับใครโดยเฉพาะ ในเวลาคลอดคุณจะได้รับการดูแลตามขั้นตอนที่วางไว้โดยไม่จำเป็นต้องรอใครคนใดคนหนึ่ง
  • ข้อเสียของการดูแลระบบนี้คือถ้าคุณเกิดความไม่พึงพอใจแพทย์คนใดคนหนึ่ง คุณจะไม่มีโอกาสเลือกหรือเปลี่ยนแปลง ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อความไม่มั่นใจในการดูแลที่ได้รับ และการได้รับข้อมูลหลายๆประการจากแพทย์หลายคนในทางหนึ่ง คือเป็นความคิดเห็นที่หลากหลายให้เลือก แต่ขณะเดียวกันก็อาจจะทำให้เกิดความสับสนในการเลือกข้อมูล

บริการชนิดผสมผสาน

เป็นลักษณะบริการที่ผสมบริการของแพทย์และพยาบาลผดุงครรภ์ร่วมกันให้การดูแล โดยหลักการเดียวกับบริการจากทีมแพทย์เป็นกลุ่ม การดูแลเป็นบริการจากสูติแพทย์ ๑ คน ที่จะคอยช่วยเหลือในส่วนเพิ่มเติม โดยการเปิดโอกาสให้ซักถามข้อข้องใจและช่วยเหลือทำความกระจ่างแผนการดูแลทั้งหมด ตลอดจนการดูแลอย่างใกล้ชิดตลอดเวลาในการคลอด และมีสูติแพทย์ที่จะเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือกรณีที่เกิดปัญหาฉุกเฉิน

บริการของศูนย์อนามัยแม่และเด็ก

ศูนย์อนามัยแม่และเด็กเป็นสถานที่ให้บริการการดูแลมารดาตั้งครรภ์และคลอด โดยทีมพยาบาลผดุงครรภ์ มีสูติแพทย์เป็นที่ปรึกษาและอำนวยการ ระบบการทำงานทั้งหมดจะดำเนินโดยพยาบาลผดุงครรภ์ สูติแพทย์จะให้คำปรึกษาและอยู่เวรรอเรียกตัวในกรณีต้องการความช่วยเหลือ ศูนย์อนามัยส่วนมากจะดำเนินงานเป็นเอกเทศของตนเอง โดยมีโรงพยาบาลเป็นเครือข่ายที่จะรับส่งต่อผู้ป่วยในกรณีจำเป็น

ศูนย์อนามัยเหล่านี้จะมีขอบเขตการดูแลเฉพาะการตั้งครรภ์ปกติและการตั้งครรภ์ที่มีภาวะเสี่ยงเล็กน้อย ระบบการดูแลของศูนย์อนามัยจะเป็นเช่นเดียวกับระบบแพทย์เจ้าของไข้ คือพยาบาลผดุงครรภ์จะดูแลติดตามคุณตั้งแต่เริ่มฝากครรภ์จนถึงการคลอด

มีข้อเสียอยู่ประการหนึ่งคือ ถ้าคุณมีปัญหาแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์เกิดขึ้น คุณจะถูกเปลี่ยนไปอยู่ในความดูแลของสูติแพทย์ ที่ทำให้คุณต้องเริ่มต้นสร้างสัมพันธภาพใหม่กับแพทย์ผู้ดูแล หรือระหว่างการคลอดคุณอาจจะต้องคลอดในมือสูติแพทย์ที่ถูกเชิญมาโดยที่คุณมิได้คาดการณ์มาก่อน

เลือกแหล่งให้บริการอย่างไร

เมื่อคุณมีข้อมูลเกี่ยวกับชนิดของบริการและคุณสมบัติต่างๆของผู้ให้บริการ คุณจะเลือกรับบริการที่คุณต้องการได้จากไหน แหล่งข้อมูลที่คุณจะได้ข้อมูลเหล่านี้ ได้แก่ 

 1. แพทย์ทางนรีเวชประจำตัวของคุณ ถ้าคุณถูกใจแพทย์ผู้นี้และแนวทางที่เขาปฏิบัติวิชาชีพ โดยทั่วไปแพทย์จะแนะนำเพื่อนแพทย์ที่มีลักษณะหรือแนวทางปฏิบัติวิชาชีพที่เหมือนๆกัน
 2. ญาติ เพื่อน ที่มีความชอบในสิ่งที่คล้ายคลึงกับคุณ และเขาเพิ่งผ่านการมีบุตรมาไม่นานนัก
 3. พยาบาลที่ทำงานในแผนกสูติ-นรีเวช ถ้าคุณรู้จักเธอเป็นการส่วนตัวได้ยิ่งดี
 4. ทำเนียบรายชื่อสูติแพทย์ประจำโรงพยาบาล หรือคลินิก
 5. ทำเนียบชื่อแพทย์ของสมาคมสูติแพทย์ หรือแพทยสภา ซึ่งคุณจะได้ข้อมูลเกี่ยวกับการฝึกอบรม สถานที่ทำงาน ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญพิเศษ
 6. สมุดโทรศัพท์หน้าเหลืองในรายชื่อคลินิกแพทย์

 การคลอดที่คุณเลือกได้

ในอดีตกาลสตรีจะเป็นผู้ควบคุมและรับผิดชอบการคลอดของเธอแต่เพียงผู้เดียว สมัยต่อมาการคลอดเป็นหน้าที่และการตัดสินใจของสูติแพทย์โดยผู้คลอดไม่มีสิทธิ์ร่วมรับรู้การตัดสินใจนั้นๆ

ปัจจุบันสังคมและการดูแลทางการแพทย์ยอมรับว่า การคลอดเป็นกระบวนการทางธรรมชาติที่ต้องการการดูแลทางการแพทย์เพียงบางส่วนเท่านั้น ผู้คลอดและคู่สมรสจึงเป็นผู้ที่จะกำหนดเลือกการคลอดด้วยตนเอง นับตั้งแต่ความรู้เกี่ยวกับการคุมกำเนิดแพร่หลาย คู่สมรสก็สามารถกำหนดเลือกเวลาที่จะมีบุตรได้ตามปรารถนา ขั้นต่อมาคู่สมรสก็จะเลือกแหล่งรับบริการที่จะฝากครรภ์และคลอดตามข้อมูลหรือชนิดของการบริการที่ต้องการ นัยของการเลือกแหล่งรับบริการก็คือ การเลือกกระบวนการดูแลที่ผู้รับบริการคาดว่าจะได้รับในขณะที่ใช้บริการนั้นๆโดยเฉพาะการคลอดและการดูแลหลังคลอด เมื่อคุณเลือกสถานที่ฝากครรภ์ คุณจะต้องระลึกอยู่เสมอว่าคุณกำลังเลือกการดูแลการคลอดของคุณด้วย ระบบการดูแลการคลอดที่คุณควรจะเรียนรู้เพื่อประกอบการพิจารณาเลือกสถานที่ฝากครรภ์ มีดังนี้

การดูแลที่เน้นระบบครอบครัว  เป็นการดูแลที่โรงพยาบาลหลายแห่งมุ่งมั่นที่จะใช้เป็นแนวทางในการให้บริการ แต่เป็นสิ่งที่จัดทำได้ยากเนื่องจากต้องระบุให้ชัดเจนในนโยบายของโรงพยาบาล และจัดให้มีชั้นเรียนของผู้ตั้งครรภ์เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการคลอด รวมทั้งการบริหารงานในห้องคลอดที่เอื้ออำนวยให้กระบวนการคลอดเป็นไปอย่างธรรมชาติ ใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีให้น้อยที่สุดโดยให้มีได้เท่าที่จำเป็น

การดูแลในขณะคลอดจะเน้นการดูแลที่ควบคุมภาวะจิตใจด้วยการฝึกการควบคุมตนเอง และใช้พลังจิตของตนเองในการควบคุมความเจ็บปวด โดยไม่จำเป็นต้องใช้ยาใดๆช่วยในการคลอด

การดูแลในระยะหลังคลอดจะให้โอกาสแม่ได้ใช้เวลาส่วนตัวกับลูกกระตุ้นให้นมมารดาแก่บุตร เปิดให้ครอบครัวเช่นคู่สมรสและบุตรคนโตได้ใช้เวลาร่วมกันอย่างอิสระ ปราศจากการรบกวนจากเจ้าหน้าที่ แต่เจ้าหน้าที่พยาบาลและบุคคลอื่นๆจะอยู่ใกล้ๆเพื่ออำนวยความสะดวกและให้การดูแลได้ทันท่วงที

ห้องคลอด การคลอดจะมีสถานที่ที่จัดไว้โดยเฉพาะที่เรียกขานกันว่า “ห้องคลอด” หลังจากการคลอดมารดาจะถูกย้ายมารับการดูแลในตึกหลังคลอด และเด็กทารกแรกเกิดก็จะถูกแยกไปเก็บตัวดูแลในห้องกระจกที่มิดชิด

การตัดสินใจเลือก

หลังจากที่คุณได้ข้อมูลที่เพียงพอเกี่ยวกับชนิดของการคลอด และสูติแพทย์ที่คุณพอใจ คุณควรนัดพบแพทย์ผู้นั้นเพื่อทำความคุ้นเคยและบอกความต้องการทั้งหมดที่คุณคาดหวัง ในบางกรณีคุณอาจจะพบว่าสูติแพทย์ของคุณและตัวคุณเองมีมุมมองหรือให้ความสำคัญในเรื่องต่างๆไม่ตรงกัน เช่น บางครั้งคุณมีความคิดเห็นว่าเรื่องของอารมณ์เป็นสิ่งสำคัญสำหรับคุณ แต่สูติแพทย์อาจจะมองเป็นเรื่องเล็กน้อยดังนี้เป็นต้น

การปรับความคิดเห็นเป็นสิ่งสำคัญ คุณควรเปิดเผยความต้องการของคุณด้วยการพูดคุยและแสดงความคิดเห็นร่วมกันกับสูติแพทย์ของคุณในทุกครั้งที่พบกัน ขอเวลาแพทย์ซักถามข้อข้องใจหรือขอความคิดเห็นเช่น การคลอดแบบธรรมชาติกับการคลอดที่ใช้ยาระงับปวด หรือการให้นมบุตรด้วยนมแม่ การเร่งคลอด การใช้เครื่องมือตรวจสอบสุขภาพทารกในขณะคลอด ฯลฯ การพูดคุยและขอความคิดเห็นจะช่วยให้คุณและสูติแพทย์ได้ทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน มีโอกาสวางแผนการดูแลร่วมกัน และมีส่วนรับผิดชอบร่วมกันในการคลอดที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อจะได้ไม่เกิดกรณีผิดหวังในบั้นปลาย

บางครั้งคุณอาจจะต้องซักถามเกี่ยวกับสถานที่คลอด โรงพยาบาลที่คุณเลือกโดยเฉพาะห้องคลอดและการดูแลทารกแรกเกิด ว่ามีลักษณะที่สอดคล้องกับความต้องการของคุณหรือไม่เพียงใด ทั้งหมดทั้งปวงเป็นสิ่งจำเป็นและควรพิจารณาในกระบวนการตัดสินใจเลือกสูติแพทย์ประจำตัวคุณ เพราะสูติแพทย์ที่คุณเลือกจะเป็นทั้งพี่เลี้ยงประจำตัวคุณในการช่วยให้คุณเดินทางอย่างปลอดภัย ถ้าจะคิดว่าการตั้งครรภ์เป็นการผจญภัยอันยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่งของชีวิต

สร้างสัมพันธ์ที่ดีกับสูติแพทย์

การเลือกสูติแพทย์เป็นเพียงขั้นตอนของการทำงานร่วมกันระหว่างคุณและสูติแพทย์ เพื่อให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามที่คุณคาดหมายและด้วยความราบรื่น คุณควรปฏิบัติดังนี้

  •  จดบันทึกช่วยจำทุกครั้งที่คุณมีข้อสงสัยที่ต้องการคำตอบ เก็บรวบรวมข้อสงสัยเหล่านี้ไว้เพื่อสนทนากับแพทย์ในการพบกันแต่ละครั้ง คุณจะได้ไม่ลืมรายงานอาการผิดปกติให้แพทย์ทาบ และเป็นการประหยัดเวลาสนทนาแต่ละครั้ง
  • ระหว่างการสนทนาหรือซักถามข้อสงสัย ควรมีสมุดบันทึกจดข้อแนะนำของแพทย์ วจสอบข้อความที่สำคัญกับแพทย์ เพื่อคุณจะได้ความกระจ่างในข้อแนะนำนั้นๆ สิ่งสำคัญที่ควรรู้คือ อาการอันไม่พึงประสงค์ในการรักษา การใช้ยาและเวลาที่ควรหยุดยา
  • อย่าลังเลที่จะซักถามข้อสงสัยกับแพทย์ แม้ว่าคุณจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย หรือเป็นคำถามเชยๆ ไม่มีใครที่จะเป็นผู้รอบรู้ในทุกเรื่อง สูติแพทย์ส่วนมากจะเข้าใจและคุ้นเคยชินกับสิ่งเหล่านี้ อย่าละเลยรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆในการเล่าถึงอาการที่เกิดขึ้นกับตัวคุณ เช่น อาการปวดท้อง ควรระบุอาการที่เป็น เวลาที่เริ่มเป็นและหาย ทำอย่างไรจึงหายหรือดีขึ้น ลักษณะอาการปวด(ปวดตื้อๆ ปวดบิด หรือปวดแปลบๆ) หรือการมีตกขาวจะต้องเล่าถึงสี กลิ่น อาการร่วมด้วย เป็นต้น
  • ในกรณีที่คุณได้ข่าวสารใหม่ๆทางการแพทย์ ควรปรึกษาและขอความคิดเห็นของแพทย์ก่อนที่จะตัดสินใจเลือกปฏิบัติหรือใช้วิถีทางนั้นๆ เพราะบางครั้งเป็นเพียงแนววิจัยใหม่ๆทางการแพทย์ที่ยังไม่ปลอดภัยในการนำมาใช้ หรือบางกรณีเป็นเรื่องการประชาสัมพันธ์เพื่อชวนเชื่อมากกว่าจะคำนึงถึงผลประโยชน์อันแท้จริงที่คุณควรได้รับ การเลือกใช้หรือตัดสินใจเชื่อควรจะได้ศึกษาอย่างละเอียดและขอความคิดเห็นจากบุคคลหลายๆกลุ่ม
  • ในกรณีที่คุณได้ข้อมูลหรือเรื่องราวบางอย่างที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่สูติแพทย์ประจำตัวคุณแนะนำ ควรตรวจสอบข้อมูลกับคนอื่นอีกคนหนึ่ง เพื่อการตัดสินใจที่เหมาะสม
  • ถ้าคุณสงสัยว่าแพทย์กำลังทำอะไรผิดพลาด อย่านิ่งเฉย ควรซักถามเพื่อตรวจสอบ ในบางครั้งแพทย์อาจจะลืมอ่านรายละเอียดในแฟ้มประวัติ คุณควรจะมีส่วนร่วมรักษาตัวคุณเองด้วยการอภิปรายปัญหา และเสนอความคิดเห็นโต้แย้งในลักษณะนุ่มนวล ทักท้วงในลักษณะที่จริงใจ สิ่งเหล่านี้เป็นประโยชน์แก่ตัวคุณเอง และเป็นการแสดงความสนใจและการมีส่วนร่วมรับผิดชอบตัวเองที่แพทย์ทุกคนพอใจ
  • การที่คุณเงียบเฉย และปล่อยให้เกิดข้อสงสัยในใจ โดยมิได้ซักถามหรือหาข้อมูลที่ถูกต้อง จะก่อให้เกิดช่องว่างระหว่างคุณและสูติแพทย์ผู้ดูแล ซึ่งอาจจะเป็นอันตรายต่อสัมพันธภาพระหว่างคุณกับแพทย์
  • ถ้าคุณไม่สามารถทำความเข้าใจกับสูติแพทย์ผู้ดูแลได้ จนเกิดสัมพันธภาพที่ไม่ดีต่อกัน อย่าลังเลที่จะเปลี่ยนแพทย์ผู้ดูแลคุณใหม่ เพราะสูติแพทย์ผู้นั้นอาจจะกำลังอึดอัดในการดูแลคุณเช่นกัน และการเปลี่ยนแพทย์ผู้ดูแลคนใหม่คุณก็ไม่ควรจะคาดหวังว่าอะไรๆจะดีขึ้นกว่าเดิม เพราะคุณกำลังใฝ่หาสูติแพทย์ที่ทำตามคำสั่ง (ความต้องการ) ของคุณ ซึ่งเป็นไปได้ยากในการปฏิบัติวิชาชีพแพทย์ที่จะให้คนไข้เป็นฝ่ายตัดสินใจในกระบวนการรักษาทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว

ปกป้องตัวคุณเองจากการปฏิบัติผิดพลาดของแพทย์

แพทย์และผู้ป่วยมีความรับผิดชอบร่วมกันในการรักษา การตัดสินใจเลือกปฏิบัติ โอกาสที่แพทย์จะตัดสินใจผิดพลาดหรือกระทำการที่เป็นอันตรายจะลดน้อยลง ถ้าทั้งสองฝ่ายมีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน เข้าใจกัน และปราศจากความระแวงแคลงใจ ในบางกรณีการเลือกไม่ปฏิบัติหรือปฏิบัติบางอย่าง จะส่งผลกระทบถึงสุขภาพทารกในครรภ์ โดยที่คุณไม่สามารถคาดการณ์ได้ ดังนั้นการป้องกันหรือให้ความสนใจเรื่องเล็กๆน้อยๆ ที่คุณอาจละเลยจะช่วยลดปัญหาเหล่านี้ได้ เพียงแต่คุณปฏิบัติดังนี้

  • บอกเล่าเรื่องราวของตัวคุณทั้งหมดให้สูติแพทย์ทราบข้อเท็จจริง แม้ว่าบางเรื่องจะเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายหรือศีลธรรม เช่น การทำแท้ง การใช้สารเสพติด และข้อมูลเกี่ยวกับความเจ็บป่วยและการรักษาที่คุณได้รับ
  • ก่อนที่จะปฏิเสธการตรวจพิเศษอื่นๆที่สูติแพทย์เสนอแนะควรหาข้อมูลเพิ่มเติม หรือสอบถามความคิดเห็นของบุคลากรทางการแพทย์
  • ในการทดสอบหรือการตรวจต่างๆ พยายามปฏิบัติตามคำแนะนำที่เจ้าหน้าที่บอกโดยเคร่งครัดเพื่อป้องกันความผิดพลาดที่อาจจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพทารก
  •  การพบแพทย์ตามนัดและปฏิบัติตามคำแนะนำต่างๆอย่างสม่ำเสมอ เช่น การควบคุมน้ำหนักตัว การพักผ่อน หรือการกินวิตามินจะช่วยให้การดูแลสุขภาพคุณและทารกในครรภ์ ดำเนินไปตามแผนการที่วางไว้ด้วยดี
  • ไม่ใช้ยารักษาโรคด้วยตนเอง หรือจากผู้อื่นที่มิใช่สูติแพทย์
  • รายงานแพทย์ผู้ดูแลคุณทันทีที่อาการไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นระหว่างการรักษา แม้ว่าอาการที่เกิดขึ้นจะเป็นเพียงอาการเล็กน้อย และอย่าลังเลที่จะโต้แย้งหรือซักถามในกรณีที่คุณสงสัยว่าจะได้การรักษาที่ไม่ถูกต้อง
  • ดูแลสุขภาพตัวคุณเอง โดยการปฏิบัติตามคู่มือและคำแนะนำต่างๆที่ได้รับ และพึงระลึกอยู่เสมอว่าคุณกำลังตั้งครรภ์ เพื่อที่คุณจะได้หลีกเลี่ยงการปฏิบัติอันเป็นข้อห้ามของหญิงตั้งครรภ์ เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มกาแฟ เหล้า เป็นต้น

                                                                                                              (อ่านต่อฉบับหน้า)
 

ข้อมูลสื่อ

206-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 206
มิถุนายน 2539
อื่น ๆ