• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เกาต์

เกาต์


ข้อน่ารู้

1. โรคเกาต์ (เก๊าท์, เก๊าต์ก็มีการเขียนกัน) ชื่อประหลาดเนื่องจากเป็นชื่อทับศัพท์จากคำว่า “gout” หมายถึง โรคปวดข้อ ข้ออักเสบเรื้อรังชนิดหนึ่ง เกิดจากร่างกายมีการสะสมของสารที่เรียกว่า “กรดยูริก” (uric acid) มากเกินไป กรดยูริกเป็นสารที่ย่อยสลาย (เผาผลาญ) มาจากสารเพียวรีน (purine) ซึ่งมีมากในเนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ และพืชผักอ่อน รวมทั้งเกิดจากการสลายตัวของเซลล์ภายในร่างกาย จึงเป็นสิ่งที่พบได้เป็นปกติภายในร่างกายของคนเรา กรดยูริกจะไหลเวียนอยู่ในกระแสเลือด และถูกขับออกทางไต (ปัสสาวะ)

ในคนปกติทั่วไป ถ้าหากกินเนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ และพืชผักอ่อนในปริมาณมาก ร่างกายก็จะมีการสร้างกรดยูริกมากขึ้น แต่ก็สามารถขับกรดยูริกส่วนเกินออกทางไตได้มากขึ้นตามส่วน เรียกว่าสามารถรักษาดุลของกรดยูริกในร่างกายไว้ได้อย่างอัตโนมัติ ถ้าตรวจเลือดของคนปกติทั่วไป จะพบว่า มีกรดยูริกในเลือดระหว่าง 4-8 มก. ต่อเลือด 100 มล. ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่ปกติ

แต่คนบางคนร่างกายมีความบกพร่องในการรักษาดุลของกรดยูริก กล่าวคือ ถ้าหากกินอาหารที่มีสารเพียวรีนมาก ร่างกายก็จะมีการสร้างกรดยูริกมากขึ้น แต่ไม่สามารถขับกรดยูริกส่วนเกินออกได้เต็มที่ดังคนปกติทั่วไป จึงมีการสะสมกรดยูริกส่วนเกินไว้ในร่างกายซึ่งจะตกผลึกอยู่ตามข้อ ตามผนังหลอดเลือด ในไต และอวัยวะต่างๆ ทำให้เกิดอาการไม่สบายต่างๆ มีชื่อเรียกโรคนี้เป็นการจำเพาะว่า “โรคเกาต์” เมื่อตรวจเลือดของคนไข้จะพบว่ามีระดับกรดยูริกสูงเกิน 8 มก. ต่อเลือด 100 มล. ระดับยูริกในเลือดยิ่งสูงมากเท่าใด ก็มีความรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น

2. ความบกพร่องในการรักษาดุลของกรดยูริกของคนไข้ดังกล่าวเกิดจากความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ ทำให้ร่างกายทำหน้าที่ในส่วนนี้ไม่เหมือนคนปกติ พูดง่ายๆ ก็คือ โรคเกาต์เป็นโรคทางกรรมพันธุ์ (เช่นเดียวกับโรคเบาหวาน โรคภูมิแพ้ โรคหืด โรคไมเกรน) คนที่เป็นโรคเกาต์นอกจากรับเชื้อกรรมพันธุ์มาจากพ่อแม่แล้ว ยังสามารถถ่ายทอดความผิดปกติไปยังลูกหลานได้อีกด้วย เรียกว่า เป็นครอบครัวพันธุ์โรคเกาต์ ดังนั้น เมื่อพบคนไข้เป็นโรคเกาต์ จะต้องสืบค้นว่ามีญาติพี่น้องคนอื่นๆ เป็นโรคนี้ด้วยหรือไม่

3. โรคนี้ถือเป็นโรคประจำตัวหรือโรคเรื้อรังติดตัวไปจนตาย ต้องคอยควบคุมอาหารและกินยาช่วยควบคุมระดับกรดยูริกในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติตลอดไป จึงเป็นโรคที่ห่างหมอห่างยาไม่ได้ และต้องคอยตรวจเลือดเป็นระยะๆ ถ้าสามารถดูแลรักษาตัวเองได้ดี ก็สามารถมีชีวิตยืนยาวเช่นคนปกติ (เรียกว่า “หายขาด” ภายใต้การควบคุมกำกับ)

4. ถ้าปล่อยปละละเลย ไม่รักษาตัวเองอย่างจริงๆจังในระยะยาว (5-10 ปีขึ้นไป) อาจมีผลแทรกซ้อนที่สำคัญ คือ

- ข้อพิการ เนื่องจากมีผลึกของกรดยูริกไปพอกในข้อ นอกจากทำให้มีอาการปวดข้อ-ข้ออักเสบเรื้อรังแล้ว ข้ออาจพิการจนใช้งานไม่ได้

- นิ่วในไต เนื่องจากมีผลึกของกรดยูริกไปจับตัวที่ไต ถ้าปล่อยทิ้งไว้ อาจทำให้ไตพิการได้

- ภาวะหลอดเลือดแดงแข็งตัวและตีบตัน ทำให้เกิดโรคความดันเลือดสูง โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน โรคอัมพาต อัมพฤกษ์ได้ ภาวะนี้จะรุนแรงยิ่งขึ้นถ้าคนไข้สูบบุหรี่หรือมีภาวะไขมันในเลือดสูงร่วมด้วย

5. โรคนี้จะเกิดกับผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก เกิดกับผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ผู้ชายจะมีอาการแสดงเมื่ออายุมากกว่า 30 ปีขึ้นไป ส่วนผู้หญิงจะมีอาการหลังวัยหมดประจำเดือน

รู้ได้อย่างไรว่าไม่ได้เป็นอื่น

คนที่มีระดับกรดยูริกในเลือดสูง ในระยะเริ่มแรกหรือในระดับที่สูงเกินไม่มาก อาจไม่มีอาการผิดปกติให้เห็นชัดเจน จะทราบได้ด้วยการตรวจเช็กเลือดเท่านั้น ต่อมาจะค่อยๆ ปรากฏอาการให้เห็น ที่พบบ่อยก็คือ อาการปวดข้อซึ่งจะมีลักษณะจำเพาะ ได้แก่

ก. มีอาการอักเสบของข้ออย่างฉับพลันและรุนแรงตรงข้อหัวแม่เท้า (บางคนอาจอักเสบที่ข้อเท้าหรือข้อเข่า) เพียงข้างใดข้างหนึ่ง และมักเป็นเพียงข้อเดียว ข้อจะบวมแดงร้อนและเจ็บมากจนเดินไม่ไหว ขณะที่อาการเริ่มทุเลา ผิวหนังในบริเวณที่ปวดนั้นจะลอกและคัน

ข. มักจะเริ่มปวดตอนกลางคืน มักมีอาการกำเริบหลังดื่มเหล้า ดื่มเบียร์ (แอลกอฮอล์ทำให้ไตขับกรดยูริกได้น้อยลง จึงมีกรดนี้คั่งในร่างกาย) หรือหลังกินเลี้ยง กินโต๊ะจีนหรือกินอาหารมากเกินปกติ หรือเป็นหลังเดินสะดุด

ค. อาจมีอาการไข้ หนาวสั่น อ่อนเพลียร่วมด้วย

ถ้าเป็นการปวดข้อครั้งแรกในชีวิต มักจะเป็นอยู่เพียงไม่กี่วัน (แม้จะไม่ได้กินยา ก็อาจค่อยๆ หายไปได้เอง) ถ้าไม่ได้รับการรักษา อาจมีอาการปวดข้อกำเริบทุก 1-2 ปี โดยที่จะเป็นที่ข้อเดิม ต่อมาจะเป็นถี่ขึ้น เช่น ทุก 4-6 เดือน แล้วเป็นทุก 2-3 เดือน จนกระทั่งทุกเดือนหรือเดือนละหลายครั้ง และระยะการปวดแต่ละครั้งจะนานวันขึ้นเรื่อยๆ เช่น นาน 1-2 สัปดาห์ จนกระทั่งเป็นแรมเดือน ส่วนข้อที่ปวดจะเพิ่มเป็น 2-3 ข้อ เช่น ข้อมือ ข้อศอก ข้อเข่า ข้อเท้า นิ้วมือ เป็นต้น

บางครั้งอาการอาจกำเริบเวลามีความเครียดทางจิตใจ หรือเป็นโรคติดเชื้อ (เช่น ไข้หวัด เจ็บคอ) หรือหลังเข้ารับการผ่าตัดด้วยโรคอื่น

อาการข้ออักเสบบวมแดงจนเคลื่อนไหวลำบากแบบนี้ อาจมีสาเหตุจาก

1. ไข้รูมาติก พบมากในเด็ก 5-15 ปี มักมีการอักเสบรุนแรงที่ข้อใหญ่เพียง 1-2 ข้อ เช่น ข้อเข่า ข้อเท้า ข้อไหล่ ข้อศอก บางครั้งอาจมีอาการคออักเสบนำมาก่อน 1-4 สัปดาห์ โรคนี้อาจทำให้กลายเป็นโรคลิ้นหัวใจพิการ ดังที่เรียกว่า “โรคหัวใจรูมาติก” ตามมาในภายหลังได้ หากสงสัยควรไปพบแพทย์ทันที

2. ข้ออักเสบเป็นหนองเฉียบพลัน มักปวดรุนแรงที่ข้อใดข้อหนึ่ง และมีไข้สูงร่วมด้วย อาจพบร่วมกับโรคติดเชื้ออื่นๆ เช่น หนองใน ไข้ไทฟอยด์ เป็นต้น หากสงสัยควรไปพบแพทย์ทันที

ส่วนอาการปวดข้อเป็นๆ หายๆ เรื้อรัง อาจมีสาเหตุจาก

1. โรคข้อเข่าเสื่อม จะพบในคนสูงอายุหรือคนอ้วน มีอาการปวดข้อในหัวเข่า เวลาเดินหรือนั่งงอเข่าเป็นประจำทุกวัน โดยไม่มีอาการอักเสบ (บวม แดง ร้อน) ให้เห็นชัดเจน การรักษาโดยให้ยาบรรเทาปวดหรือยาแก้ข้อ อักเสบเป็นครั้งคราว

2. โรคปวดข้อรูมาตอยด์ พบมากในหญิงอายุ 20-45 ปี จะมีอาการปวดข้อนิ้วมือพร้อมกันทุกนิ้วทั้ง 2 ข้าง และกำมือลำบาก ตอนเช้ามืดหรือเวลาอากาศเย็น โดยไม่มีอาการข้ออักเสบของข้อให้เห็นชัดเจน การรักษาต้องกินยาแก้ข้ออักเสบตลอดไป

3. โรคเอสแอลอี พบมากในหญิงอายุ 20-45 ปี มีอาการปวดข้อนิ้วมือนิ้วเท้าพร้อมกันทุกข้อ ร่วมกับมีไข้เรื้อรัง ผมร่วง มีฝ้าแดงขึ้นที่แก้ม 2 ข้าง ถือเป็นโรคร้ายแรง หากสงสัยควรพบแพทย์โดยเร็ว

เมื่อไรควรไปหาหมอ

คนที่มีอาการปวดข้อควรไปหาหมอโดยเร็วเมื่อ

1. ปวดข้อรุนแรงจนเคลื่อนไหวลำบาก

2. ข้อมีลักษณะบวม แดง ร้อน

3. มีไข้ตัวร้อนร่วมด้วย


แพทย์จะทำอะไรให้

นอกจากซักถามอาการและสาเหตุที่ทำให้ปวดข้อกำเริบแล้ว แพทย์อาจจะตรวจเลือด เอกซเรย์ หรือตรวจพิเศษอื่นๆ ถ้าพบว่าเป็นโรคเกาต์จริง จะให้ยาอย่างน้อย 2 กลุ่ม ได้แก่

1. ยาลดการอักเสบของข้อ ที่นิยมใช้ ได้แก่ ยาเม็ดคอลชิซีน (colchicine) ในระยะแรกอาจให้กินหลายมื้อ เมื่อดีขึ้นจะให้กินวันละเม็ดเป็นประจำ นอกจากนี้ระหว่างที่มีอาการปวดรุนแรง แพทย์จะให้ยาแก้ข้ออักเสบ (เช่น บรูเฟน, อินโดซิด, นาโพรซิน, เฟลดีน) กินจนกว่าจะทุเลา ยานี้อาจทำให้เป็นโรคกระเพาะ จะให้ยาลดกรดกินควบด้วย

2. ยาลดกรดยูริก นิยมให้ยาเม็ดโพรเบเนซิด (probenecid) กินวันละ 1-2 เม็ดทุกวันตลอดไป ยานี้ช่วยให้ไตขับกรดยูริกได้มากขึ้น

แพทย์บางท่านอาจใช้ยาอีกชนิดหนึ่งที่ช่วยให้ร่างกายลดการสร้างกรดยูริก ได้แก่ ยาเม็ดอัลโลพูรินอล (allopurinol) กินวันละ 1-3 เม็ด แทนยาเม็ดโพรเบเนซิด (ซึ่งห้ามใช้ในคนไข้ที่มีนิ่วในไตหรือมีภาวะไตวายแทรก) ส่วนข้อเสียของยาเม็ดอัลโลพูรินอลนั้น ก็คือ อาจทำให้เกิดอาการแพ้ มีผื่นคันได้ ถ้าแพ้ก็ห้ามใช้ยานี้ต่อไป แพทย์จะนัดคนไข้ตรวจเป็นระยะ (ทุก 2-3 เดือน) โดยการตรวจเลือดดูระดับกรดยูริก เพื่อปรับขนาดของยาจนสามารถควบคุมระดับกรดยูริกในเลือดให้ลงมาอยู่ในเกณฑ์ปกติ เมื่อคนไข้กินยาลดกรดยูริกเป็นประจำ ก็อาจไม่จำเป็นต้องควบคุมอาหารอย่างเคร่งครัดนัก สามารถดำเนินชีวิตเป็นปกติสุขได้

โดยสรุป โรคเกาต์เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ ทำให้ร่างกายมีกรดยูริกสูงเกินจนเป็นพิษ ซึ่งทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนอันตรายในระยะยาวได้ คนไข้จะต้องดูแลรักษาตนเอง และกินยาควบคุมระดับกรดยูริกให้อยู่ในเกณฑ์ปกติตลอดไปแม้ว่าจะรู้สึกสบายดีแล้วก็ตาม

การดูแลรักษาตนเอง

คนที่มีอาการปวดข้อรุนแรง สังเกตว่าข้อมีอาการบวมแดงร้อน เคลื่อนไหวลำบาก หรือมีอาการเป็นไข้ตัวร้อนร่วมด้วย ควรพบแพทย์โดยเร็วเพื่อตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัด ถ้าตรวจพบว่าเป็นโรคเกาต์ ควรปฏิบัติตัว ดังนี้

1. ติดต่อรักษากับแพทย์ตามนัด และกินยาอย่างสม่ำเสมอ มิได้ขาดยาจะช่วยควบคุมระดับกรดยูริกในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เพื่อบรรเทาอาการข้ออักเสบ และป้องกันโรคแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวได้

2. ถ้ามีอาการข้ออักเสบกำเริบ ควรไปพบแพทย์ก่อนนัดระหว่างรอพบแพทย์สามารถบรรเทาอาการปวดข้อด้วยการกินยาแก้ข้ออักเสบ เช่น บรูเฟน (Brufen) อินโดซิด (Indocid) ครั้งละ 1-2 เม็ด วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร และควรกินยาลดกรดร่วมด้วย เพื่อป้องกันมิให้เกิดโรคกระเพาะจากยาดังกล่าว

3. ห้ามดื่มเหล้า เบียร์ ไวน์ เป็นอันขาด เพราะแอลกอฮอล์ในเครื่องดื่มนี้จะทำให้ไตขับกรดยูริกได้น้อยลง ทำให้โรคปวดข้อกำเริบได้

4. หลีกเลี่ยงการกินเลี้ยง หรือโต๊ะจีน

5. ขณะที่มีอาการปวดข้อ ควรงดอาหารที่มีสารเพียวรีนสูง (ที่จะสลายเป็นกรดยูริก) เช่น เครื่องในสัตว์ เป็ด ไก่ ห่าน นก อาหารทะเล กุนเชียง หมูยอ กะปิ เนื้อสัตว์ พืชผักอ่อน (เช่น หน่อไม้ ถั่วงอก สะเดา ยอดกระถิน ยอดผักอ่อน แตงกวา) ถ้าไม่มีอาการปวดข้อและกินยาลดกรดยูริกเป็นประจำ ก็อาจกินอาหารประเภทเนื้อหมู เนื้อวัว ปลาได้บ้างในปริมาณที่พอกับความต้องการของร่างกาย

6. ควรดื่มน้ำมากๆ วันละ 10-15 แก้ว เพื่อป้องกันมิให้เกิดนิ่วในไต

7. หลีกเลี่ยงการใช้ยาแอสไพริน และยาขับปัสสาวะ เพราะจะทำให้ไตขับกรดยูริกได้น้อยลง ทำให้อาการกำเริบได้

8. ญาติพี่น้องของคนที่เป็นโรคเกาต์ควรตรวจเช็กเลือดดูระดับกรดยูริก หากพบว่าสูงเกินไป จะได้หาทางป้องกันมิให้กลายเป็นโรคเกาต์ตามมา

การดูแลรักษาตัวเองอย่างเคร่งครัด จะช่วยให้สามารถมีชีวิตที่เป็นสุขและยืนยาวเช่นคนปกติได้

ข้อมูลสื่อ

165-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 165
มกราคม 2536
แนะยา-แจงโรค
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ