• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การไหว้และโอบกอดสานสัมพันธ์ในครอบครัว

การไหว้และโอบกอดสานสัมพันธ์ในครอบครัว

 “ไฮ... สบายดีมั้ย”
 “ฮัลโล”
 “เฮ...หวัดดี”

ปัจจุบันเราคงเคยได้พบได้เห็นได้สัมผัสกับการทักทายเช่นนี้ในชีวิตประจำวันมากขึ้น จนดูเหมือนว่าคนทันสมัยต้องทักทายเช่นนี้ สิ่งเหล่านี้คงไม่ได้เกิดขึ้นมาโดยไม่มีที่มาที่ไป

เราอาจพบการทักทายเช่นนี้ในภาพยนตร์ตะวันตกเป็นประจำหรือชาวต่างชาติที่เราพบเห็นหรือสัมผัส ซึ่งเป็นวัฒนธรรมของฝรั่งที่เขาทักทายกัน 

นับวันเราจะเห็นการทักทายของคนไทยโดยการยกมือไหว้และกล่าวคำว่าสวัสดีหาดูได้น้อยลงไปทุกที บางบ้านอาจไม่ได้ทักทายกันเลยไม่ว่าพ่อแม่ลูก

มีคนกล่าวว่าคนไทยเป็นชาติที่รับวัฒนธรรมของชาติอื่นได้รวดเร็ว ซึ่งมีทั้งสิ่งที่ดีถ้าเราเลือกรับวัฒนธรรมที่ดีงามของคนอื่นมาใช้ แต่ถ้าเรารับวัฒนธรรมที่ไม่ดีก็จะทำลายวัฒนธรรมอันดีงามของไทยให้สูญเสียไป เมื่อพูดถึงตรงนี้ท่านผู้อ่าน หมอชาวบ้าน” หลายท่านคงสงสัยว่าหมอชาวบ้านเป็นหนังสือเรื่องสุขภาพ ไปยุ่งอะไรกับเรื่องวัฒนธรรม

ความจริงมนุษย์ที่เจ็บป่วยกันอยู่นี้ ส่วนใหญ่แล้วเกิดจากการขาดวัฒนธรรมที่ดีในเรื่องสุขภาพ หากทุกคนมีวัฒนธรรมสุขภาพที่ดีแล้วการเจ็บป่วยจะน้อยลง

เพราะเรื่องของวัฒนธรรมคือวิถีชีวิตของทุกคน

เมื่อมีวิถีชีวิต(วัฒนธรรม)กินอาหารที่สะอาดและมีคุณค่าก็ไม่เจ็บป่วย

เมื่อมีวิถีชีวิต(วัฒนธรรม)ออกกำลังกายเป็นประจำร่างกายก็แข็งแรง

เมื่อมีวิถีชีวิต(วัฒนธรรม)ไม่สำส่อนทางเพศก็ไม่เกิดโรคเอดส์และอื่นๆ ฯลฯ

ดังนั้นเรื่องวัฒนธรรมจึงเป็นเรื่องลึกซึ้งที่ควรค่าแก่การสนใจ หมอชาวบ้านจึงขอนำเสนอเรื่องใกล้ตัวที่จะนำไปสู่ความเคารพ ความอบอุ่น และการให้ในครอบครัว คือการไหว้แบบสัมผัสและโอบกอด

ที่หมู่บ้านท่ามะไฟหวาน อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ เป็นที่มาของเรื่องนี้ และเราจะพาท่านผู้อ่านไปพบกับคุณอิศรา สุคงคารัตนกุล ผู้ก่อตั้งบ้านสายรุ้ง บ้านที่จะให้เด็กมาเรียนรู้ร่วมกัน

“เด็กที่นี่ก็เหมือนเด็กที่อื่นของไทย มีปัญหาสังคม พ่อไม่มีเวลาให้ลูก แม่ไม่มีเวลาให้ลูก ทำงานตลอด เวลาให้ลูกไม่มีเลย มีแต่เวลาด่าลูก ลูกสัมผัสพ่อแม่ตอนถูกด่า ไม่มีสัมผัสด้วยความรัก”

เด็กก็คงเอ๊ะ! พ่อแม่เกลียดฉันหรือเปล่า เจอทีไรก็โดนด่าทุกที

การที่เด็กโตขึ้นแล้วขาดคุณภาพ เป็นเพราะเหตุปัจจัยอะไร จะโทษเด็กก็ไม่ได้ โทษพ่อแม่ก็ไม่ได้ เป็นเรื่องของเศรษฐกิจสังคม โยงใยไปหมดโดยตรง ไม่รู้จะแก้ตรงไหน ต้องไปแก้ที่ต้นเหตุใช่มั้ย

โครงสร้างทางเศรษฐกิจทำให้ครอบครัวถูกทำลาย

โครงสร้างเศรษฐกิจมันพาให้คนวุ่นวายหาเงินหาทองหมกมุ่นในการบริโภค ทุกคนต้องการบริโภคเกินฐานะ แล้วระบบทุนนิยมของเราสร้างอะไร สร้างการซื้อของเงินผ่อน เอามาได้แล้วคุณก็เป็นหนี้เขาตลอดชาติเลย พ่อแม่วิ่งหาเงินเพื่อมารับผิดชอบการบริโภคที่เกินความจำเป็น โครงสร้างเศรษฐกิจทำให้ครอบครัวถูกทำลาย พ่อแม่ไม่มีเวลาแล้ว มีเวลาอย่างเดียวต้องไปหาเงินใช้หนี้

วัฒนธรรมไทยที่ไม่ควรมองข้าม
การแก้ต้นเหตุต้องใช้ปัญญา ต้องสร้างการศึกษา ซึ่งต้องใช้ระยะเวลายาวนาน ก็เลยมองว่าอะไรจะบรรเทาความรุนแรงในครอบครัวให้เบาบางลง เรามีต้นทุนทางสังคมไทยอย่างหนึ่ง  คือ วัฒนธรรม
วัฒนธรรมไทยที่สืบทอดมายาวนาน แสดงว่าสิ่งนี้มีคุณค่าต่อสังคม สิ่งเหล่านี้ทำให้สังคมอยู่ได้ เราก็เลยรักษามันมา

บางอย่างเป็นวัฒนธรรมฟองสบู่ มาเร็วหายไปเร็ว มันมาเดี๋ยวเดียวเป็นไปตามกระแสวัฒนธรรมบริโภคนิยม แล้วก็ไม่เป็นประโยชน์กับชีวิตอย่างแท้จริง

แต่วัฒนธรรมที่แท้ คือ วัฒนธรรมที่สร้างคุณค่าให้กับชีวิต

สังคมไทยมีวัฒนธรรมที่ดีๆหลายอย่าง ที่น่าเสียดาย คือ ถูกทำลายหมดแทบจะไม่เหลือเลย แน่นอนวัฒนธรรมที่ถูกทิ้งไว้นานไม่มีการปรับปรุงมันจะกลายเป็นของเก่า เช่น ลิเก รำไทย นุ่งโจงกระเบน สิ่งเหล่านี้ถูกทิ้งเป็นของเก่าไปแล้ว วัฒนธรรรมต้องปรับปรุงตลอดเวลาตามหลักการเปลี่ยนแปลงของสังคม วัฒนธรรมไทยก็เหมือนกัน

เลยมามองว่าวัฒนธรรมไทยอะไรที่สร้างสิ่งดีๆในครอบครัวได้ การปฏิบัติต่อครอบครัวของพ่อแม่ลูกมีอะไรบ้าง ก็ไปดูของเก่า ก็จะมีการไหว้ ลูกไหว้พ่อแม่ตอนไหน วันสำคัญ ไปไหนก็ไหว้ พอมีโรงเรียนไปโรงเรียนก็ไหว้เดี๋ยวนี้เกือบหมดแล้ว ไม่มีเหลือแล้ว

การไหว้อย่างเดียวไม่พอแล้ว
การไหว้ในสมัยก่อนคือการแสดงความเคารพ ในสมัยนั้นครอบครัวยังอบอุ่นกันอยู่ไม่ต้องแสดงความรักกันมาก แต่ตอนนี้มันหายไปเลย
การไหว้อย่างเดียวนี้ไม่พอแล้ว ก็ดูว่านำการไหว้มาปรับปรุงใหม่ให้มันเกิดความรักได้ด้วยดีหรือเปล่า ก็พบต่อไปว่ามีพฤติกรรมหรือวิธีอย่างไรที่จะแสดงความรักได้ดี ในทางตะวันตก คือ การกอดลูกกอดหลาน

มีนักจิตวิทยาในเมืองไทยแนะนำให้กอดลูกวันละครั้ง ซึ่งก็เป็นความจริง มันแสดงความรักกันได้ แต่สิ่งที่เราลืมไปคือมันไม่ใช่วัฒนธรรมไทย ฉะนั้น ทำให้พ่อแม่เกิดความรู้สึกกระดาก ว่าเอ๊ะ! ทำไมเราเป็นคนไทย ต้องทำอย่างฝรั่ง ทำให้เกิดความรู้สึกไม่กลมกลืนในวิถีชีวิต

ผสมผสานวัฒนธรรมในสิ่งที่ดี
เราก็เลยนำการไหว้ของไทยมาประสานกับการกอดของตะวันตกให้มันกลมกลืน ปรับปรุงให้เข้ากับยุคสมัย ก็เป็นการไหว้แบบสัมผัสและโอบกอด

อันนี้แหละเป็นต้นแบบวัฒนธรรมที่จะสร้างความรักในครอบครัวได้ เมื่อเราได้ตรงนี้ก็นำมาทดสอบว่าได้ผลหรือเปล่า ต้องมาทดสอบในครอบครัวจริงๆ

ทีนี้ก็ชวนเด็กๆในชุมชนมานั่งคุยกัน แล้วชักชวนรณรงค์ให้เขาใช้วิธีนี้กับพ่อแม่ เด็กๆเชื่อก็ตั้งสมาชิกครอบครัวสุขสันต์กัน เพื่อที่จะชักชวนให้เด็กมีวัฒนธรรมอย่างนี้กับพ่อแม่

รูปแบบก็ได้แล้ว ก็ต้องดูองค์ประกอบด้านอื่นๆด้วยว่าจะนำเข้าไปใส่ส่วนไหนของวิถีชีวิตประจำวัน จะได้เป็นวินัยที่ปฏิบัติเป็นกิจวัตรประจำวันและมีประโยชน์ ก็เห็นว่าเวลาที่เหมาะสม คือ ตอนไปโรงเรียน เพราะลูกต้องจากพ่อแม่ แล้วก็กลับมาอีกครั้งหนึ่ง ให้ไหว้พ่อแม่แล้วพ่อแม่ก็กอด ให้พรได้ด้วยยิ่งดี เสร็จแล้วก็ไปโรงเรียน

เริ่มวัยเด็กเล็กจะดีมาก
วัยเด็กเป็นวัยบริสุทธิ์ ถ้าเราเริ่มตั้งแต่อนุบาลนี่จะเป็นวัยที่ดีมาก เป็นวัยที่น่ากอดพอดี พ่อแม่จะรู้สึกไม่ผิดปกติเป็นเรื่องธรรมดา และผมเชื่อว่าถ้ารณรงค์อย่างต่อเนื่องเด็กรุ่นนี้เมื่อโตขึ้นเขาก็ยังคงมีความเคยชิน เมื่อโตเป็นหนุ่มเป็นสาวก็กล้าที่จะใกล้ชิดพ่อแม่เหมือนเดิม กล้าที่จะพูดคุยด้วย
แต่ว่ามันต้องเริ่มจากฐานเล็กๆก่อน เป็นสิ่งจำเป็นมาก ตอนแรกได้สร้างวินัยไว้ ๒ ข้อ คือ ไป-กลับโรงเรียน

พบว่าตอนปิดเทอม ๒ เดือนก็ไม่ต้องไหว้พ่อแม่กัน คราวนี้ก็มาวางแนวใหม่เลย คราวนี้เรามาเพิ่มเป็น ๓ เวลาเลย คือ ไหว้ก่อนนอน คือ บอกว่าไหว้พ่อแม่ก่อนนอนทำให้หลับฝันดีนะ มีสมองดี พูดถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์

การกอดเป็นการแสดงความรัก
การที่พ่อแม่ได้กอดลูกเป็นการแสดงความรัก ลูกรู้สึกเลยว่าพ่อแม่รักเขา เมื่อก่อนเวลาพบกันทีไรด่าทุกที ตอนนี้รู้สึกว่าแม่รักเขา เป็นพิธีกรรมที่สื่อความรักให้กันได้ เมื่อเกิดการสื่อสารทุกวัน สุขภาพจิตเด็กก็จะดีขึ้น สุขภาพจิตพ่อแม่ก็ดีขึ้น

แน่นอนลูกแสดงความรักทุกวัน พ่อแม่ต้องชอบทุกวัน แต่ก่อนไม่เคยแสดงเลย เราไม่รู้ว่าลูกรักเราหรือเปล่า ในเมื่อลูกเรียกร้องความรักจากพ่อแม่ได้ พ่อแม่ก็น่าจะเรียกร้องความรักจากลูกได้บ้าง

พิธีกรรมจะสร้างความรักให้เกิดขึ้นทั้งสองฝ่าย ตัวรูปแบบของมันเองทำให้เกิดความรักขึ้นเองโดยธรรมชาติ ทำให้เกิดผลดีต่อครอบครัว บางครอบครัวเคยตีลูกแรงๆก็เลิก เคยด่าก็หยุด คือ สุขภาพจิตพ่อแม่ดีขึ้น ลูกก็พลอยดีขึ้นด้วย ทำให้มีความสุขมากขึ้น แล้วก็ทำให้เขารู้สึกว่าครอบครัวเขาน่าอยู่

ความรักความอบอุ่นไม่จำเป็นต้องพึ่งเทคโนโลยี
อันนี้เป็นแนวคิดที่เราคิดว่า วัฒนธรรมของเราเองเป็นทรัพยากรที่สำคัญมากในการแก้ไขปัญหาสังคมไทยเรา ไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์มาสร้างความรักระหว่างพ่อแม่ลูก บางคนบอกว่าไปปิกนิกกัน ไปช้อปปิ้งกัน อันนั้นเราทำได้แต่มันจะกลายเป็นเงื่อนไขที่ทำให้เราต้องปฏิบัติได้ยาก ไม่สามารถทำให้เป็นสากลได้

แต่ก่อนมีสินค้าเครื่องดื่มยี่ห้อหนึ่งจับจุดนี้ได้ เอ้า ! คุณซื้อขวดนี้กลับบ้าน แล้วคุณก็สร้างความรักในครอบครัว เป็นการฉวยโอกาสทางวัฒนธรรม ทำไมการสร้างความรักต้องซื้อสินค้าชนิดนี้ด้วย เป็นการจับจุดอ่อนทางสังคมมาใช้ในการขายของ

เราต้องมีวัฒนธรรมของเราเองสร้างความรักในครอบครัวโดยไม่ต้องพึ่งเทคโนโลยี โดยไม่ต้องพึ่งการบริโภค ไม่ต้องพึ่งสินค้า เราสร้างวัฒนธรรมขึ้นมาเป็นการลงทุนที่ถูกที่สุด แล้วก็เป็นสิ่งที่ฝังติดที่นานที่สุดอยู่ในวิถีชีวิตมันก็จะอยู่กับเราตลอดไปเหมือนกับคนญี่ปุ่น การโค้งก็เป็นวัฒนธรรมของเขา แต่เมื่อในญี่ปุ่นเขาไม่มีความรักแล้วเขาก็ต้องฟื้นฟูวัฒนธรรมเขาให้ดีขึ้นเพื่อให้เกิดความรัก ถ้าเขาไม่มีความรัก สังคมเขาแตกสลายแล้วก็เกิดปัญหา

การไหว้ การโอบกอดไม่จำเป็นต้องได้จากพ่อแม่เสมอไป เพราะบางคนพ่อแม่ไม่อยู่บ้าน ไปทำงานทิ้งลูกอยู่กับปู่ย่าตายายหรือลุงป้าน้าอา ผู้ใหญ่ที่ดูแลรักษาก็จะเป็นเหมือนกับพ่อแม่นั้นแหละครับ เราก็เลยให้ปฏิบัติต่อผู้นั้นเลย

อยากให้มีการสานต่อจนเป็นวัฒนธรรม
ตอนนี้เรื่องที่น่าจะต้องทำกันต่อก็คือจะทำอย่างไร รณรงค์อย่างไรจะให้เกิดติดเป็นวัฒนธรรม เพราะว่าตรงนี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก ถึงแม้จะเกิดผลดี แต่ถ้าไม่ได้รณรงค์อย่างต่อเนื่อง ประสานงานอย่างจริงจังเพื่อจะทำให้เกิดค่านิยม ก็ไม่สามารถที่จะสร้างความรู้สึกนิยมชมชอบไปทั่วได้ สินค้าต้องใช้งบประมาณโฆษณามหาศาลในการโฆษณา ค่านิยมอันนี้ก็เช่นกัน มันต้องใช้ทุน ในการลงทุนนี้อาจจะไม่ใช้เงิน แต่อาจจะเป็นการร่วมมือจากหลายๆองค์กร หลายๆฝ่าย ทำให้เกิดความนิยมในเรื่องนี้ ถ้าจะให้ไปไกลยิ่งกว่านั้นสามารถทำให้คนไทยภูมิใจในวัฒนธรรมไทยของตนเองว่านำโลกได้ด้วยยิ่งดีใหญ่ วัฒนธรรมนี้ช่วยโลกได้ใช่มั้ย สังคมไหนมาเอาไปเลย คราวนี้เราจะเป็นผู้ให้แล้ว ตอนนี้เราเอาของเขามาหมด ใครเอาอะไรมาเราก็ตามเขาเอาหมด ไม่ได้เป็นผู้ให้เสียที เราสร้างให้คนไทยรู้สึกว่าวัฒนธรรมนี้ช่วยโลกได้ ช่วยสังคมบนโลก ช่วยทั้งครอบครัวที่มีปัญหาทั่วโลกได้ด้วย ก็ทำให้เขาภูมิใจในวัฒนธรรมแล้วก็เป็นจุดเริ่มของตัวอื่นๆ”

คุณอิสราได้ทำโครงการนี้มาเป็นเวลา ๒ ปีกว่าแล้ว เด็กรุ่นแรกที่คุณอิศราปลูกฝังนั้น หลายๆคนเมื่อสอบถามดูก็พบว่าความสัมพันธ์ในครอบครัวแน่นแฟ้นขึ้น ครอบครัวที่เคยดุด่าลูกก็เลิก ความตึงเครียดในครอบครัวก็ลดลง

ในวันที่ ๑๒ สิงหาคม วันแม่แห่งชาติ คุณอาจใช้วันนี้เป็นฤกษ์ดีในการเริ่มต้นสานสายใยในครอบครัวให้แน่นหนาขึ้นไปอีก

อย่ารอให้ค่านิยมอย่างอื่นมาทำลายครอบครัวของคุณ

 

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

รศ.พญ.อุมาพร ตรังคสมบัติ
หน่วยจิตเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 “การที่พ่อแม่โอบกอดลูกก่อให้เกิดความรักขึ้นได้ เพราะได้เห็น ได้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน ได้แสดงออกถึงความรักซึ่งกันและกัน การกอดลูกทำให้ลูกนั้นรู้ว่าเรารักลูก ความรู้สึกต่างๆ ก็ดีขึ้น แต่ต้องมีอย่างอื่นด้วยไม่ใช่แค่กอดลูกอย่างเดียว ต้องมีการแสดงออกอย่างอื่นด้วย มีการพูดคุยกัน มีการแสดงออกอย่างอื่นที่เหมาะสม
การที่มีข่าวว่าที่จิตแพทย์ออกมาบอกว่าต้องกอดลูกวันละ ๑ ครั้ง คือการเตือนว่าต้องกอดลูก แต่ไม่ได้หมายความว่าต้อง ๑ ครั้ง หรือถ้าวันไหนไม่ได้ทำแล้วรู้สึกผิด ไม่ใช่อย่างนั้น แต่ต้องทำอย่างสม่ำเสมอ”

ครอบครัวโชคเฉลิม
พ่อเปและลูกทองไส

พ่อ : เมื่อก่อนก็ไม่เคยไหว้แบบนี้ พอลูกไหว้เราก็กอด ยิ่งลูกมีปมด้อยที่ขาดแม่ก็ยิ่งสงสาร รักลูกมากขึ้น พยายามสอนให้ลูกเป็นคนดี ให้ความอบอุ่น ลูกก็ดีขึ้นกว่าแต่ก่อน สอนง่าย เรียบร้อยขึ้น แต่ก่อนไม่เป็นอย่างนี้ เวลากอดลูกรู้สึกว่าในใจมันตื้นตันไปหมด ดีใจ ภูมิใจ และรู้สึกว่าถึงเราจะลำบากก็ยังปลื้มใจที่ลูกเป็นเด็กดี
ลูก : อยากให้พ่อรักมากขึ้น และตอนนี้ก็ได้ความรักมากขึ้นค่ะ รู้สึกเสียใจมากที่แม่ตาย แต่ก็ยังดีใจที่มีพ่อ พ่อจะคอยเอาใจใส่ดูแลไม่เคยดุไม่เคยตีแม้แต่นิดเดียว พ่อสอนว่าอย่าโกรธเพื่อน อย่าโมโหเพื่อน คอยสอนให้ทำความดี หนูก็ปฏิบัติตาม เราเป็นลูกของพ่อ เราก็ควรปฏิบัติตามที่พ่อสอน หนูขอให้พ่ออยู่สอนหนูตลอดไป

ครอบครัวทองแสนคำ
พ่อหนูกาล แม่หนูไกร
ลูกดาห์วัน ลูกดวงจันทร์

พ่อ : พ่อแม่ก็ทำงาน ตอนเย็นค่อยพบครอบครัว ตอนเย็นกลับมาก็จังซี้แหละ บ่ค่อยได้คลุกคลีกับลูกเท่าไร ทำอยู่จังซี้แหละ
แม่ : พอลูกมาไหว้ก็ตกใจอยู่ ลูกหยั่งดีขึ้นกัวเก่า ไหว้ทุกมื้อก่อนสิไปโรงเรียน แม่ก็กอดแล้วก็ไป
พ่อ : ก่อนนี้ก็บ่ไหว้ พอให้เงินก็ไป่ ไปที่บ้านสายรุ้งมีอาจารย์อิศคอย ช่วยเหลือ แนะนำว่าปฏิบัติจังใด
แม่ : ยอมรับว่าลูกดีขึ้นกัวเก่า ฮู้จักไหว้พ่อไหว้แม่ ฮู้จักฮักพ่อฮักแม่ ฮักครอบครัว ซ้อยทำงานบ้าน เส้าขึ้นก็ล้างถ้วยล้างชาม กวดบ้าน บางทีก็ซ้อยแม่ทำกับข้าว
พ่อ : เสาร์อาทิตย์ ปิดโรงเรียนถึงไปซ้อยพ่อแม่ทำนา ก็คุยกันเว้าเล่นครับ ม่วนครับ เวลาลูกดำนาบ่เป็นปักกล้าบ่เป็น ก็สอนว่าทำจังสั้นจังซี้ ก็เหมือนอาจารย์ที่โรงเรียนสอน แต่เป็นอย่างพ่อสอนลูก ให้ซ้อยพ่อแม่นิดหน่อย ค่อยหัดไปเรื่อยๆ
รู้สึกว่าฮักลูกมากขึ้นในกายในใจมีความอบอุ่นขึ้นกัวเก่า พอลูกมาไหว้ก็จับผมลูบหัวให้พร มันออกมาจากใจ๋ ออกมาจากข้างใน บางทีก็ให้ในใจ๋ บางทีก็ให้ออกเสียง อยากให้ลูกโตขึ้นเป็นคนดี พ่อแม่มีแต่ภูมิใจ๋

ครอบครัวผานิล
พ่อคำพอง แม่สุภาพร
ลูกอานัด

แม่ : จะคอยสอนให้เขาเป็นคนดี มีความตั้งใจเรียนเวลาที่ครูสอน ลดความใจร้อนลง จะบอกเขาเวลาเขาเข้ามาไหว้ แต่ก่อนก็บ่เคยได้สนใจเท่าไรแต่พออาอิศมาแนะนำว่าให้ค่อยบอกเขาเพราะเขาเป็นคนใจร้อน ก็บอกเขา รู้สึกว่าเขาดีขึ้นนิด แต่ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเขาจะเป็นอย่างไรเมื่อเขาโตขึ้น เพราะเขาเป็นคนโมโหง่ายแต่ก็แป๊บเดียว เวลาเขาไหว้บางทีก็กอด บางทีก็เอามือลูบเฉยๆ

ประวัติส่วนตัว
คุณอิศรา สุคงคารัตนกุล

เกิดที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ในปีพ.ศ. ๒๕o๒  คุณพ่อเสียชีวิต คุณแม่จึงย้ายครอบครัวมาอยู่กรุงเทพฯ จบการศึกษาที่พาณิชยการพระนคร ด้านการตลาด แต่ไม่ชอบเรื่องค้า ๆ ขายๆ จึงเข้าเรียนต่อที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลันรามคำแหง เห็นกฎหมายมีแต่ปัญหาเลยย้ายมาเรียนคณะมนุษยศาสตร์ สาขาปรัชญา เพราะอยากค้นหาเป้าหมายชีวิต สนใจปรัชญาตะวันออก และคำสอนของท่านอาจารย์พุทธทาสมาก แต่ไม่มีสอน เลยออกจากการเรียนไปอยู่สวนโมกข์วราราม จังหวัดสุราษฎร์ธานี และไปอยู่วัดป่าสุคโต จังหวัดชัยภูมิ อยู่ได้ปีกว่าก็กลับมากรุงเทพฯ เป็นอาสาสมัครองค์กรพัฒนาเอกชนช่วยเด็กออกจากโรงงานนรก และไปร่วมงานกลุ่มศาสนาเพื่อสังคมเพื่อทำวิจัย

หลังจากนั้นจึงตัดสินใจบวช ๓ เดือน เพื่อจะเก็บข้อมูลปัญหาของพระรุ่นใหม่ที่เข้ามาบวช ปรากฏว่าติดใจในรสพระธรรมเลยบวชไป ๘ ปี ขณะที่บวชอยู่นั้นมีคนนิมนต์ไปสอนเด็กที่โรงเรียนบ้างหรือพาเด็กมาวัดบ้าง เกิดความสนใจกระบวนการเรียนรู้ของเด็ก ได้ทำงานเกี่ยวกับการศึกษาของเด็กจนรู้สึกว่าไม่เหมาะกับรูปแบบของพระสงฆ์ จึงลาสิกขาบทเมื่อปลายปี ๒๕๓๗ ออกมาตั้งเป็นโครงการบ้านสายรุ้ง เพื่อเป็นบ้านที่ให้บรรยากาศเป็นกันเอง ให้เสรีภาพ ความรัก ความรู้สึกของการเรียนรู้และเรื่องคุณธรรมที่อยู่ของบ้านสายรุ้ง

 

 

 

ข้อมูลสื่อ

208-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 208
สิงหาคม 2539
บทความพิเศษ
กองบรรณาธิการ