• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

หอบเหนื่อย (๒)

หอบเหนื่อย (๒)

คนไข้รายที่ ๒  หญิงอายุ ๓o ปี ถูกพามาห้องฉุกเฉินที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง เพราะมีอาการหอบเหนื่อยมาก เวลาหายใจออกมีเสียงหวีดได้ยินชัดเจน

 ญาติ :คุณหมอช่วยหน่อยครับ หอบหืดอีกแล้ว”
 หมอ : “เป็นมานานหรือยัง”
 ญาติ : “ประมาณชั่วโมงเศษครับ กินยาและพ่นยาแล้วก็ไม่ดีขึ้น”

หมอตรวจดูคนไข้ คนไข้นั่งหอบตัวโยน โดยหายใจออกลำบาก เวลาหายใจออกมีเสียงหวีดชัดเจน  ริมฝีปากและปลายมือปลายเท้าไม่เขียว แม้จะหอบจนพูดไม่ได้

หมอ : “ไม่เป็นไรนะ เดี๋ยวหมอฉีดยาให้”

แล้วหมอก็ฉีดยาแก้หอบหืด (อะดรีนาลิน) เข้าใต้ผิวหนังให้คนไข้ ๕-๑o นาทีต่อมา คนไข้ก็หายหอบ

นี่เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการหอบเหนื่อยที่เป็นภาวะฉุกเฉินที่รักษาง่าย โดยเฉพาะถ้ารักษาถูกทางตั้งแต่ระยะแรกๆ อาการมักจะทุเลาหรือหายภายในเวลาไม่นาน และคนไข้จะกลับบ้านได้โดยไม่ต้องอยู่โรงพยาบาล

แต่ถ้ารักษาไม่ถูกทาง เพราะวินิจฉัยผิด หรือเพราะห่วงการตรวจเพิ่มเติม เช่น ตรวจเลือด เอกซเรย์ หรืออื่นๆ ทำให้การรักษาล่าช้าออกไป จนคนไข้อาการทรุดลงก็อาจจะต้องอยู่โรงพยาบาลได้

ภาวะฉุกเฉินจึงไม่ได้หมายถึงภาวะเจ็บไข้ที่รักษายากเสมอไป แต่หมายถึงภาวะที่ต้องการการรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงที เพื่อที่จะหยุดยั้งอันตรายหรือภาวะแทรกซ้อนที่จะทำให้ถึงแก่ชีวิตหรือพิการได้
อาการหอบเหนื่อย ที่ถือว่าเป็นภาวะฉุกเฉิน

อาการหอบเหนื่อย ที่ถือว่าเป็นภาวะฉุกเฉิน คืออาการหอบเหนื่อยที่ร่วมกับอาการหรือการตรวจพบอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างดังต่อไปนี้

1. หายใจไม่ออกทันที เช่น ถูกรัดคอ บีบคอ สำลักอาหารชิ้นใหญ่ที่ไปปิดกั้นหลอดลมหรือคอหอย เป็นต้น

ถ้าถูกรัดคอ หรือบีบคอ ต้องรีบหาทางให้สิ่งที่รัดคอหรือบีบคอคลายออก โดยตั้งสติทันที อย่ากลัวหรือดิ้นรน เพราะอาจจะทำให้สิ่งที่รัดหรือบีบคออยู่แน่นมากขึ้น แล้วรีบทำให้สิ่งที่รัดหรือบีบอยู่เกิดอาการตกใจหรือเจ็บปวดทันที จนเผลอตัวคลายแรงรัดหรือแรงบีบลง เช่น กระแทกเข่าหรือหมัดหรือศอก เข้าที่จุดอ่อนของศัตรู เช่น ท้องน้อย อวัยวะเพศ ตา เป็นต้น แล้วรีบผละออกจากศัตรู เตรียมตัวสู้หรือหนีต่อไป

ถ้าสำลักอาหารชิ้นใหญ่ที่ไปปิดกั้นหลอดลมหรือคอหอย ต้องพยายามไอหรือขย้อนให้อาหารชิ้นนั้นเลื่อนหลุดจากที่ ถ้าไม่สำเร็จต้องใช้นิ้วมือพยายามล้วงคอให้ขย้อนหรือล้วงชิ้นอาหารนั้นออกมา ถ้ายังไม่ออกอีกต้องให้ผู้อื่นช่วย

ส่วนมาก ถ้าสำลักอาหารชิ้นใหญ่ไปปิดกั้นตอหอย หรือหลอดลม มักจะเอามือล้วงไม่ถึง และผู้ที่นั่งกินอาหารอยู่ด้วยจะต้องเป็นผู้ช่วยเหลือทันที มิฉะนั้น คนไข้จะขาดใจตายก่อนจะนำส่งหมอหรือโรงพยาบาลได้ทัน

ผู้ที่กินอาหารอยู่ด้วยจะรู้หรือวินิจฉัยภาวะนี้ได้ เมื่อเห็นคนที่กินอาหารอยู่ด้วยกัน เกิดอาการหยุดชะงักทันที มีท่าทีตกใจมาก พูดไม่มีเสียงออกจากปาก เอานิ้วมือล้วงเข้าไปในคอ พยายามไอ แต่ไอไม่ออก พยายามอาเจียน ต่อมาจะเอามือกุมคอ หน้าเขียว มือเท้าเขียว แล้วล้มฟุบลงหมดสติ และเสียชีวิตภายในเวลาไม่กี่นาที

ดังนั้น ประชาชนทั่วไปจะต้องรู้จักโรคนี้หรือภาวะนี้ เพื่อให้การช่วยเหลือเพื่อนฝูงหรือญาติ หรือคนรักที่นั่งกินอาหารอยู่กับตนได้ทันที มิฉะนั้นจะไม่ทันการ

วิธีช่วยเหลือ เช่น

  • การรัดหรืออัดยอดอก (Heimlich’s maneuver)
  • การวางตัวคนไข้พาดโต๊ะหรือเก้าอี้หรือเข่าแล้วตบหลัง(ระหว่างสะบัก)แรงๆ จนชิ้นอาหารหลุดออก และคนไข้หายใจได้
  • การใช้คีมก้านยาวสอดเข้าไปในปากจนถึงคอหอย เพื่อคีบชิ้นอาหารออก เป็นต้น

หมายเหตุ : อาการหายใจไม่ออกทันที อาจเกิดหลังฉีดยา(แพ้ยา) แพ้อาหาร หรือแพ้พิษผึ้ง ต่อแตน หรืออื่นๆ ทำให้สายเสียงบวมหรือหลอดลมตีบตัวทันที ต้องรีบแก้โดยฉีดยาอะดรีนาลินเข้ากล้าม หรือพ่นยาอะดรีนาลินเข้าสู่คอหอย และหลอดลมทันที อาจต้องช่วยหายใจและ/หรือฉีดยาแก้แพ้จำพวกแอนตี้ฮีสตามีน (เช่น คลอร์เฟนิรามีน) หรือพวกสตีรอยด์ (เช่น เด็กซาเมธาโซน) เข้าเส้น แล้วรีบส่งโรงพยาบาล

2 เขียว นั่นคือ ริมฝีปาก เล็บมือ(ปลายนิ้วมือ) เป็นสีม่วงคล้ำ จากที่เคยเป็นสีชมพู แสดงว่าเลือดขาดออกซิเจน (hypoxemia)

ถ้ามีออกซิเจนอยู่ใกล้ตัว ให้คนไข้ดมออกซิเจนไปก่อน ถ้าไม่มีออกซิเจนหรือได้ให้ออกซิเจนแก่คนไข้แล้วรีบนำคนไข้ส่งโรงพยาบาล

3 ซึมลง สับสน ชัก หรือหมดสติ ควรรีบส่งโรงพยาบาลทันที นอกจากว่าคนไข้เคยเป็นเช่นนั้นมาก่อนแล้ว ไม่เกิดอันตรายใดๆ นั่นคือ ไม่ได้ซึม สับสน หรือชักจริง หรือไม่ได้หมดสติจริง แต่แกล้งทำให้ญาติหรือเพื่อนตกใจ เพราะคนไข้ไม่พอใจญาติหรือเพื่อนของตน
คนไข้ที่แกล้งชัก แกล้งสับสน หรือแกล้งหมดสติ โดยรู้ตัวว่าตัวเอง แกล้ง เรียกว่าเป็น “โรคแกล้ง” (malingering) ส่วนคนที่แกล้งโดยไม่รู้ตัว (ไม่ตั้งใจ) ว่าตนเองแกล้ง เรียกว่าเป็น “โรคปฏิกิริยา” (conversion reaction หรือ hysteria) ทั้ง ๒ โรคนี้ คนไข้จะไม่แกล้งจนทำให้ตนเองเจ็บปวดรุนแรง จึงไม่มีอันตราย และไม่ฉุกเฉิน แต่ก็ต้องรักษาทางจิตใจ มิฉะนั้นจะเกิดอาการแปลกๆต่างๆ ทำให้ญาติมิตรและหมอปวดเศียรเวียนเกล้าได้

4 ไข้สูง  หรือตัวร้อนจัด คนไข้ที่หอบเหนื่อยและมีไข้สูง มักเกิดจากโรคปอดบวม (pneumonia) หรือปอดอักเสบ โลหิตเป็นพิษ หรืออื่นๆ ควรส่งโรงพยาบาลทันที

5 ไอเป็นเลือด 
5.1เสมหะเป็นฟองปนเลือดสีแดงสด มักเกิดจากภาวะปอดบวมน้ำเฉียบพลัน (acute pulmonaryedema) ต้องให้คนไข้อยู่ในท่านั่งแล้วรีบนำส่งโรงพยาบาล
ถ้ามีออกซิเจน และยาอมใต้ลิ้นพวกไนโตรกลีเซอรีน หรือไอโซซอร์ไบด์ รีบให้อมใต้ลิ้นไปก่อนแล้วรีบนำส่งโรงพยาบาล
5.2เสมหะเป็นหนองปนเลือดแบบสนิมเหล็ก หรือเลือดเก่าๆมักเกิดจากปอดบวม ปอดอักเสบ ฝีในปอด (lung abscess) วัณโรค (tuberculosis หรือ T.B.) หลอดลมโป่งพอง (bronchiectasis) เป็นต้น ควรนำส่งโรงพยาบาล
5.3เป็นเลือดสดๆและออกเป็นลิ่มๆ แสดงว่าเลือดออกในปอด ต้องรีบส่งโรงพยาบาลทันที

6 ทรวงอกข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้างไม่มีการเคลื่อนไหว หรือเคลื่อนไหวน้อยมากขณะหายใจ แสดงว่าปอดข้างนั้นไม่มีลมเข้าออกเลยหรือไม่มีลมเข้าออกเท่าที่ควร เพราะปอดแฟบ(lung atelectasis) หรือ มีลม น้ำ หนอง หรือเลือดในช่องอก (pneumo-, hydro-, pyo, or hemothorax) หรืออื่นๆ ต้องรีบส่งโรงพยาบาล

7 ซีดมาก หรือแดงก่ำผิดปกติ
ถ้าซีดมากแสดงว่าอาการหอบเหนื่อยนั้นเกิดจากการขาดเลือด จำเป็นต้องส่งโรงพยาบาลเพื่อให้เลือดและหาสาเหตุของการขาดเลือด

ส่วนในกรณีที่แดงก่ำผิดปกติแล้วหอบเหนื่อย อาจเกิดจากเม็ดเลือดแดงมากกว่าปกติ (polycythemia หรือ erythrocytosis) จนหัวใจทำงานไม่ไหว ต้องเจาะเลือดทิ้ง หรืออาจเกิดจากเลือดได้รับสารผิดปกติเข้าไป เช่น คนที่หายใจเอาก๊าซหุงต้ม หรือควันรถยนต์เข้าไปมากๆ จะทำให้ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (carbonmonoxide) ไปจับกับเม็ดเลือดแดงแน่น ทำให้เม็ดเลือดแดงไปจับออกซิเจนในปอดไม่ได้อีก เลือดจึงขาดออกซิเจน แต่แทนที่จะเป็นสีเขียวกลับแดงก่ำกว่าปกติเพราะก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ที่จับกับเม็ดเลือดแดง จะทำให้เม็ดเลือดแดงมีสีแดงเข้มผิดปกติ
ในกรณีที่คนไข้ได้รับก๊าซหุงต้มหรือควันรถยนต์จนหอบเหนื่อยหรือหมดสติ ต้องรีบนำคนไข้ออกจากบริเวณนั้นไปสู่ที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์หรือในที่โล่ง ถ้ามีออกซิเจนอยู่รีบให้คนไข้ดมออกซิเจน แล้วคนไข้จะค่อยๆดีขึ้นเองได้ ถ้าไม่รีบนำคนไข้ออกจากบริเวณที่เป็นพิษ คนไข้จะเสียชีวิตได้

8 หายใจมีเสียงหวีด หรือเสียงครืดคราด แสดงว่าหลอดลมตีบ หรือมีสิ่งอุดกั้นในหลอดลม เช่น เสมหะ น้ำ สิ่งแปลกปลอม สายเสียงอักเสบบวม หรืออื่นๆ ควรรีบนำส่งโรงพยาบาล

9 บวม คนไข้ที่หอบเหนื่อยและมีอาการบวมเท้า บวมหน้า หรือบวมทั้งตัว มักเกิดจากโรคหัวใจ ไต หรือตับที่เป็นรุนแรงแล้ว จึงควรนำส่งโรงพยาบาล

10อาการเจ็บหนักอื่นๆ  (ดู มาเป็นหมอกันเถิด ในหมอชาวบ้านฉบับที่ ๖๔-๖๕)
อาการหอบเหนื่อยที่ฉุกเฉินนั้น หากผู้ประสบเหตุทราบและแก้ไขได้อย่างถูกต้องทันท่วงที ก็จะไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต ดังนั้นจึงควรศึกษาและจดจำไว้เพื่อช่วยเหลือตนเองและผู้อื่น
(อ่านต่อฉบับหน้า)

 

ข้อมูลสื่อ

208-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 208
สิงหาคม 2539
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์