• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ความดันโลหิตสูง

ความดันโลหิตสูง


หมอชาวบ้านครั้งนี้นำเรื่องความดันโลหิตสูงเป็นเรื่องขึ้นปก ความดันโลหิตสูงเป็นสภาวะที่พบบ่อยและเพิ่มมากขึ้นในสังคมปัจจุบัน ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้มีความดันโลหิตสูงไม่มีอาการ ฉะนั้นจึงไม่รู้ว่าตนเองมีความดันโลหิตสูง จะรู้หรือมีผู้อื่นรู้ก็ต่อเมื่อเกิดเรื่องแล้ว เช่น เส้นโลหิตในสมองแตก หัวใจวาย หรือการทำงานของไตล้มเหลว (ไตวาย) เพราะความดันโลหิตสูงเรื้อรังทำให้หลอดโลหิตเสื่อมไปเรื่อยๆ เกิดการตีบ ตัน แตก และการทำงานของสมอง หัวใจ และไต บกพร่องหรือเสียไปได้

ทุกคนควรเอาใจใส่เรื่องความดันโลหิตสูง 3 ประการด้วยกัน

1. หาความรู้เกี่ยวกับเรื่องความดันโลหิตสูงให้ดีที่สุด

2. มีพฤติกรรมป้องกันความดันโลหิตสูง

3. หากมีความดันโลหิตสูงมีการดูแลรักษาให้ดีที่สุด

สำหรับพฤติกรรมที่สำคัญๆ ในการป้องกันความดันโลหิตสูงมี 5 ประการ หรือเบญจพฤติกรรม ป้องกันความดันสูง มีดังนี้

1. ระวังอย่าให้อ้วน ความอ้วนกับความดันสูงมักไปด้วยกัน ต้องไม่บริโภคมากเกิน โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ ไขมัน และอาหารที่มีความเค็มจัด ผู้บริโภคมังสวิรัติเป็นโรคความดันโลหิตสูงน้อยกว่าผู้บริโภคเนื้อสัตว์

2. ออกกำลังกายมากเป็นประจำ ผู้ที่ทำงานเบามีความดันโลหิตสูงได้ง่ายกว่าผู้ที่ต้องใช้แรงกาย ถ้าทำงานเบาควรออกกำลังกายให้มากเป็นประจำ

3. การบริหารจิต การมีความเมตตา การเจริญสติ เจริญสมาธิ ช่วยลดการเป็นโรคความดันโลหิตสูง

4. งดการสูบบุหรี่ การสูบบุหรี่ทำให้หลอดเลือดตีบและความดันสูง

5. งดหรือลดการดื่มแอลกอฮอล์ การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์มากๆ ทำให้ความดันสูง หัวใจวาย และเป็นโรคติดเชื้อได้ง่าย จึงควรงดหรือลด

การมีสุขภาพดีเป็นบ่อเกิดของความสุขที่สำคัญ ขอให้ท่านทั้งหลายมีสุขภาพดีด้วยการมีพฤติกรรมดี พฤติกรรม ก็คือ กรรม นั่นแหละครับ

ข้อมูลสื่อ

166-001
นิตยสารหมอชาวบ้าน 166
กุมภาพันธ์ 2536
ศ.นพ.ประเวศ วะสี