• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคลมชัก – ลมบ้าหมู

โรคลมชัก – ลมบ้าหมู


ข้อน่ารู้

1. โรคลมชัก (epilepsy) หมายถึง อาการหมดสติและชักเกร็ง ซึ่งจะเกิดขึ้นชั่วขณะและเป็นครั้งคราว โบราณเรียกว่า “ลมบ้าหมู” ภาษาร่วมสมัยเรียกว่า “โรควูบ”

2.โรคนี้เกิดจากการทำงานของสมองผิดปกติไปชั่วคราว เซลล์สมองบางส่วนมีการปลดปล่อยพลังไฟฟ้าผิดปกติ กระตุ้นให้เกิดอาการชักเกร็ง ส่วนใหญ่เป็นโรคที่ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด กล่าวคือ ไม่พบความผิดปกติของโครงสร้างของสมอง และสาเหตุอื่นๆ บางคนอาจมีพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคนี้ด้วย บางคนอาจมีประวัติชักเวลาไข้สูงตั้งแต่ตอนเล็กๆ

3. โรคนี้พบได้ประมาณร้อยละ 0.5-1 ของประชากรทั่วไป เกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย ส่วนมากพบในเด็กอายุ 2-14 ปี เด็กที่มีอาการชักก่อนอายุ 2 ขวบ อาจมีสาเหตุจากโรคในสมอง เช่น โครงสร้างของสมองผิดปกติมาแต่กำเนิด หรือสมองได้รับบาดเจ็บระหว่างคลอด หรือเกิดจากภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ หรือภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ เป็นต้น คนที่มีอายุมากกว่า 25 ปี ซึ่งไม่เคยมีประวัติอาการชักมาก่อน แล้วอยู่ๆ ก็เกิดอาการชักขึ้นมา อาจมีความผิดปกติในสมอง เช่น เป็นเนื้องอกในสมอง ฝีในสมอง มีก้อนเลือดออกในสมอง (จากอุบัติเหตุหรือหลอดเลือดฝอยในสมองแตกในคนไข้ความดันเลือดสูง) , หลอดเลือดในสมองตีบตัน , พยาธิตืดหมูขึ้นสมอง , ความดันเลือดสูงชนิดร้ายแรง เป็นต้น

4. โรคลมชัก (ในที่นี้หมายถึงอาการชักที่ไม่พบความผิดปกติของโครงสร้างสมอง และสาเหตุอื่นใด) เป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายขาดได้เป็นส่วนใหญ่ ถ้าได้รับการรักษาอย่างจริงจังต่อเนื่องมาตลอดตั้งแต่แรกเกิดอาการ และคนไข้สามารถดำเนินชีวิตเช่นคนปกติ เรียนหนังสือ ทำงาน เล่นกีฬา ออกสังคม รวมทั้งสามารถแต่งงานได้ แต่ถ้าละเลยไม่ได้รับการรักษาอย่างจริงจัง ปล่อยให้ชักอยู่บ่อยๆ ก็อาจทำให้สมองเสื่อม ปัญญาทึบได้ บางรายอาจพิการหรือตายเนื่องจากอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นระหว่างชัก เช่น จมน้ำ ขับรถชน ตกจากที่สูง ไฟไหม้ น้ำร้อนลวก เป็นต้น

5. โรคนี้ไม่เกี่ยวกับเรื่องเวรกรรมหรือไสยศาสตร์ เป็นโรคเฉพาะตัวของคนไข้ ไม่ติดต่อให้คนอื่น พ่อ แม่ ญาติพี่น้อง และเพื่อนฝูงไม่ควรแสดงความรังเกียจ ควรให้กำลังใจคนไข้ และกระตุ้นให้คนไข้กินยารักษาเป็นประจำ รวมทั้งให้เข้าร่วมกิจกรรมในชีวิตประจำวันเช่นคนอื่นๆ

การรักษาทางไสยศาสตร์หรือทางแผนโบราณไม่มีผลต่อการทำให้โรคหายขาด นอกจากผลทางด้านกำลังใจ ควรกินยาแผนปัจจุบันที่แพทย์สั่งเป็นประจำ จะได้ผลในการรักษาที่แน่นอนกว่า

6. โดยทั่วไปโรคนี้จะเกิดอาการชักเพียง 2-3 นาทีเท่านั้น และจะไม่ชักจนหมดลมหายใจหรือสิ้นชีวิต (ยกเว้นในรายที่ชักซ้ำติดต่อกันหลายๆ หน ซึ่งพบได้น้อยมาก) ญาติหรือผู้พบเห็นเหตุการณ์ไม่ควรตกใจหรือวิตกจนเกินเหตุ และพยายามเรียนรู้วิธีปฐมพยาบาลที่ถูกต้อง

รู้ได้อย่างไรว่าไม่ได้เป็นอื่น

คนที่เป็นโรคลมชัก มักจะมีอาการอยู่ดีๆเป็นลมหมดสติล้มพับกับพื้น (เกิดอาการวูบ) ขึ้นทันทีทันใด แล้วมีอาการกล้ามเนื้อชักเกร็งทั้งตัว หายใจลำบาก หน้าเขียว ตาเหลือก กัดฟัน น้ำลายฟูมปาก อาจมีปัสสาวะหรืออุจจาระราด บางคนอาจกัดลิ้นตัวเองจนมีเลือดออก อาการชักจะเป็นอยู่นาน 2-3 นาทีเท่านั้น แล้วก็จะหยุดชักไปเอง แล้วจะฟื้นคืนสติได้ดังเดิม แต่อาจรู้สึกมึนงง อ่อนเพลีย บางคนอาจม่อยหลับต่อนานเป็นชั่วโมง

ก่อนจะชัก บางคนอาจมีอาการบอกเหตุล่วงหน้ามาก่อนหลายชั่วโมง หรือ 2-3 วัน เช่น หงุดหงิด เครียด ซึมเศร้า เวียนศีรษะ กล้ามเนื้อกระตุก เป็นต้น และก่อนจะหมดสติเพียงไม่กี่วินาที คนไข้อาจมีอาการเตือน เช่น ได้กลิ่นหรือรสแปลกๆ หูแว่วว่ามีเสียงคนพูด ตาเห็นภาพหลอน มีอาการชาตามตัว จุกแน่นยอดอก ตากระตุก เป็นต้น ถ้าไม่ได้กินยารักษา อาจมีอาการชักกำเริบซ้ำได้ปีละหลายครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีสิ่งกระตุ้น (ดูหัวข้อ “การดูแลรักษาตนเอง”) คนไข้จะไม่มีอาการไข้ (ตัวร้อน) ร่วมด้วย ลักษณะอาการดังกล่าวค่อนข้างเป็นลักษณะเฉพาะของโรคลมชัก ถ้าเคยเห็นเพียงครั้งเดียวก็จะจำได้ตลอดไป แต่อย่างไรก็ตาม คนที่มีอาการชัก อาจมีสาเหตุอื่นๆ เช่น

1. อาการชักจากไข้สูง จัดเป็นอาการที่ไม่มีอันตรายร้ายแรง พบในเด็ก 6 เดือนถึง 5 ปี จะมีอาการตัวร้อนจัด แล้วชักในลักษณะคล้ายๆ กันนาน 2-3 นาที หลังชักเด็กจะรู้สึกสบายดี วิ่งเล่นได้ตามปกติ แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าเกิดขึ้นครั้งแรกถึงแม้เด็กจะหายชักแล้ว ก็ควรจะปรึกษาหมอให้แน่ใจ

2. โรคติดเชื้อในสมอง เช่น ไข้สมองอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ฝีในสมอง มาลาเรียขึ้นสมอง จะมีอาการไข้สูงร่วมกับอาการชัก และไม่ค่อยรู้สึกตัว ซึ่งจะเป็นอยู่นานเป็นชั่วโมงๆ เป็นโรคที่อันตรายร้ายแรงแต่มีทางรักษาให้หายได้ หากสงสัยควรไปหาหมอโดยเร็ว

3. เนื้องอกในสมอง จะมีอาการปวดศีรษะเรื้อรังและชักกระตุกเป็นครั้งคราว อาจมีอาการอาเจียน เดินเซ หรือแขนขาอ่อนแรงร่วมด้วย

4. พยาธิตัวตืดขึ้นสมอง จะมีอาการคล้ายๆ กับเนื้องอกในสมอง และมีประวัติชอบกินเนื้อหมูดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ มาก่อน หรือเคยมีเห็นถ่ายเป็นตัวพยาธิแบนๆ

5. มีก้อนเลือดออกในสมอง จะมีประวัติได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะ (เช่น หกล้ม รถชน) ซึ่งอาจเพิ่งเกิดขึ้นหรือเกิดขึ้นนานเป็นแรมเดือนก็ได้ มักพบในผู้ใหญ่ คนไข้จะมีอาการปวดศีรษะ แขนขากระตุกเป็นครั้งคราว

สำหรับสาเหตุข้อ 3-5 หากสงสัยควรปรึกษาหมอโดยเร็ว

6. โรคหอบจากอารมณ์ จะมีอาการหายใจหอบลึกร่วมกับมือเท้าจีบคล้ายเป็นตะคริว คนไข้จะไม่มีอาการหมดสติ น้ำลายฟูมปาก ปัสสาวะหรืออุจจาระราด มักมีเรื่องขัดใจนำมาก่อนที่จะเกิดอาการ อาจเป็นๆ หายๆ ได้บ่อย หากสงสัยให้ปฐมพยาบาลโดยให้คนไข้ดมแอมโมเนียสักครู่ หากไม่ดีก็ควรปรึกษาหมอโดยเร็ว

เมื่อไรควรไปหาหมอ

คนไข้ทุกรายที่มีอาการชักครั้งแรก ควรไปปรึกษาแพทย์โดยเร็ว เพื่อค้นหาสาเหตุ

คนไข้ควรไปหาแพทย์ทันทีในกรณีดังต่อไปนี้

1. ชักนานเกิน 15 นาที หรือชักซ้ำๆ ติดต่อกันหลายครั้ง

2. มีอาการปวดศีรษะรุนแรง มีไข้สูง หรือแขนขาเป็นอัมพาตร่วมด้วย

สำหรับคนที่เป็นโรคลมชักที่กินยาเป็นประจำ ถ้าหากมีอาการชักกำเริบอีก เมื่อหายชักแล้วควรกลับไปหาแพทย์ประจำเพื่อปรึกษาการปรับใช้ยาให้เหมาะสม และควรเรียนรู้วิธีปรับยาเองเมื่อจำเป็น

แพทย์จะทำอะไรให้

แพทย์จะทำการตรวจคลื่นสมอง หรือ อีอีจี (EEG ซึ่งย่อจาก eletroencephalogram) ซึ่งพบว่าร้อยละ 60-70 ของคนไข้ที่เป็นโรคลมชัก จะมีคลื่นสมองที่ผิดปกติ (ร้อยละ 30-40 อาจมีคลื่นสมองปกติทั้งๆ ที่เป็นโรคนี้อยู่ก็ได้ คนกลุ่มนี้แพทย์จะวินิจฉัยจากการซักประวัติ และตรวจร่างกายเป็นสำคัญ) ส่วนเอกซเรย์คอมพิวเตอร์บริเวณสมอง จะเลือกตรวจเฉพาะในรายที่สงสัยว่ามีความผิดปกติของโครงสร้างในสมอง เช่น เนื้องอก พยาธิ ก้อนเลือด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนที่มีอาการชักครั้งแรกเมื่ออายุมากกว่า 25 ปีขึ้นไป

ถ้าสงสัยมีการติดเชื้อในสมอง (เช่นมีไข้สูงร่วมด้วย) แพทย์อาจทำการเจาะหลัง เพื่อกรวดน้ำไขสันหลัง
ถ้าพบว่า เป็นโรคลมชัก (ที่ไม่มีความผิดปกติอื่นใด) แพทย์จะให้ยาป้องกันโรคลมชัก เช่น ฟีโนบาร์บิทาล (phenobarbital) หรือไดเฟนิลไฮแดนโทอิน (diphenyl hydantoin) กินวันละครั้งๆ ละ 1-3 เม็ด บางคนอาจต้องกินยาติดต่อกันอย่างน้อย 2-3 ปี จนกว่าจะไม่มีอาการชักอีกเลย แล้วจึงค่อยพิจารณาค่อยๆ ลดขนาดยาลงและหยุดยาในที่สุด หลังหยุดยาแล้วมีคนไข้ประมาณร้อยละ 20-30 ที่จะกลับมาชักใหม่ได้อีก ก็จำเป็นต้องกินยากันชักต่อไปจนตลอดชีวิต

โดยสรุป โรคลมชักจะเกิดกับคนบางคนได้โดยที่ไม่มีโรคอื่นใดซ่อนเร้นอยู่ การรักษาอย่างจริงจังและต่อเนื่องตามคำแนะนำของแพทย์เป็นหนทางเดียวที่จะช่วยให้คนไข้มีคุณภาพชีวิตเช่นคนปกติทั่วไป คนไข้และญาติมิตรควรเรียนรู้จักโรคนี้ ช่วยกันให้กำลังใจคนไข้ และหาทางช่วยเหลือที่ถูกต้องเมื่อคนไข้มีอาการชักกำเริบ

การดูแลรักษาตนเอง

คนที่มีอาการชักเป็นครั้งแรก ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อตรวจหาสาเหตุให้แน่ใจ แล้วปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างจริงจัง ถ้าตรวจพบว่า เป็นโรคลมชักที่ไม่มีความผิดปกติของโครงสร้างของสมองและสาเหตุอื่นใด ควรปฏิบัติตัว ดังนี้

1. กินยาป้องกันโรคลมชักตามขนาดที่แพทย์สั่งเป็นประจำ อย่าให้หยุดยาเอง หรือกินๆ หยุดๆ จนกว่าแพทย์จะพิจารณาให้หยุด ซึ่งอาจกินเวลา 2-3 ปี

2. ไปตรวจกับแพทย์ประจำตามนัด อย่าเปลี่ยนแพทย์เปลี่ยนโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น (ควรเลือกแพทย์ที่รู้จักมักคุ้นที่สามารถให้คำแนะนำที่กระจ่างได้)

3. หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นให้เกิดอาการชัก ได้แก่

- อย่าอดนอน หรือนอนไม่เป็นเวลา หรือพักผ่อนไม่เพียงพอ

- อย่าทำงานตรากตรำคร่ำเครียดหรือเหนื่อยเกินไป

- อย่าอดอาหารหรือกินอาหารไม่เป็นเวลา

- อย่าดื่มเหล้าหรือเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์

- อย่าเข้าไปในที่ๆ มีเสียงอึกทึก หรือมีแสงจ้า หรือแสงวอบแวบ

- เมื่อมีไข้สูง ต้องรีบกินยาลดไข้และเช็ดตัวให้ไข้ลดลง มิเช่นนั้นอาจกระตุ้นให้ชักได้

4. หลีกเลี่ยงการกระทำหรือสิ่งแวดล้อมที่เสี่ยงอันตราย เช่น ว่ายน้ำ ปีนขึ้นที่สูง อยู่ใกล้ไฟ ทำงานกับเครื่องจักร ขับรถ ขับเรือ เดินข้ามถนนตามลำพัง เป็นต้น เพราะถ้าหากเกิดอาการชักขึ้นมา อาจได้รับอันตรายได้

5. ควรเปิดเผยให้เพื่อนที่ทำงานหรือที่โรงเรียนได้ทราบถึงโรคที่เป็น รวมทั้งควรพกบัตรที่บันทึกข้อความเกี่ยวกับโรคที่เป็นและวิธีปฐมพยาบาลเพื่อว่าเมื่อเกิดอาการชัก ผู้ที่พบเห็นจะได้ไม่ตกใจ และหาทางช่วยเหลือให้ปลอดภัยได้

6. การปฐมพยาบาลคนไข้ขณะที่มีอาการชัก

- โยกย้ายคนไข้ไปยังที่ๆ ปลอดภัย เช่น ให้ห่างจากน้ำ ไฟ รถรา

- ปลดเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายให้หลวม

- คอยจับศีรษะและแขนขา อย่าให้กระแทกพื้นหรือกำแพง

- คอยระวังมิให้เศษอาหาร เสมหะ น้ำลาย หรือเลือดที่อาจไหลอยู่ในปากสำลักเข้าไปในปอด โดยจับศีรษะคนไข้เอียงเอาหน้าตะแคงคว่ำลงพื้น

- ถ้าคนไข้มีฟันปลอม ให้เอาออก

- อย่าให้คนมุงดู อาจทำให้ขาดอากาศหายใจ

- ห้ามใช้มือหรือนิ้วล้วงคอ หรือง้างปากคนไข้ อาจถูกคนไข้กัดนิ้วขาดได้

- ไม่จำเป็นต้องทำการเป่าปาก นวดหัวใจ

- ไม่จำเป็นต้องใช้ช้อน ด้ามไม้ ดินสอ ปากกา หรือวัตถุใดๆ สอดใส่ปากคนไข้ เพื่อป้องกันมิให้กัดลิ้น (ดังที่เคยแนะนำ) นอกจากจะไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควรแล้ว ยังอาจทำให้ปากและฟันได้รับบาดเจ็บหรือมีเศษวัตถุถูดกัดแตกหักอุดกั้นทางเดินหายใจได้

- เมื่อคนไข้รู้สึกตัว ให้จับนั่งในท่าที่หายใจสะดวก และอยู่รอจนกว่าจะแน่ใจว่าคนไข้ฟื้นตัวดีแล้ว

ข้อมูลสื่อ

166-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 166
กุมภาพันธ์ 2536
แนะยา-แจงโรค
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ