• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ออกกำลังกาย บรรเทา โรคข้อเสื่อม

ออกกำลังกาย บรรเทา โรคข้อเสื่อม

โรคข้อเสื่อมอักเสบเป็นโรคหรือภาวะที่คนเป็นกันมากที่สุดในบรรดาโรคที่ทำให้ปวดๆ เมื่อยๆ ทั้งหลาย โดยเฉพาะในผู้สูงอายุจะพบว่าเป็นโรคนี้กันมาก ประมาณว่า ๘ ใน ๑o คนเป็นโรคนี้กัน จนกระทั่งบางคนสรุปว่าเป็นโรคคนแก่หรือว่าโรคที่มากับความชราภาพ แต่จากการสำรวจจริง ในประเทศทางยุโรปและอเมริกา กลับพบว่าคนที่แก่มากๆ ขนาด ๘o กว่าปีขึ้นไปมีอัตราการเป็นโรคนี้น้อยกว่าคนในวัย ๕o-๖o ปี เด็กมีอัตราการเป็นโรคข้อเสื่อมอักเสบน้อยกว่าผู้ใหญ่

โรคนี้ดูเหมือนว่าจะไม่รุนแรงถึงชีวิต แต่ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อเศรษฐกิจเป็นอันมาก เนื่องจากเป็นโรคเรื้อรังทุกข์ทรมานเป็นมากแล้วรักษาไม่หาย ต้องเสียเงินค่ารักษาบ่อยๆ เสียเวลาในการทำงาน หรือทำงานไม่ค่อยเต็มประสิทธิภาพ การรักษาดั้งเดิมผู้ป่วยจะพึ่งหมอพึ่งยามาก โดยเฉพาะยาแก้ปวดและยาต้านการอักเสบ ซึ่งนอกจากจะแพงแล้วยังมีฤทธิ์อันไม่พึงประสงค์อยู่ด้วยเสมอ เช่น ระคายกระเพาะอาหารและลำไส้ ทำให้ผู้ป่วยบางคนได้โรคทางเดินอาหารอักเสบเพิ่มจากโรคข้ออักเสบเดิมที่เป็นอยู่แล้ว

จากงานวิจัยในช่วงสิบปีที่ผ่านมาพบว่า การให้ยาแก้ปวดอย่างเดียวให้ผลดีพอๆกับการให้ยาต้านการอักเสบอย่างเดียว แนวโน้มของการรักษาด้วยยาหลายอย่างจึงลดน้อยลง

นอกจากนี้ยังพบอีกว่า การออกกำลังกายที่เหมาะสมเป็นประจำจะให้ผลดี เช่น บรรเทาอาการปวดข้อ ทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรงและทนทาน ข้อเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น ไม่ฝืดขัด ทำให้ทำงานได้นาน และทำให้สุขภาพจิตดีขึ้นด้วย

การออกกำลังกายอย่างไรจึงเหมาะสม เนื่องจากการออกกำลังกายมีหลากหลาย ในที่นี้จะขอชี้แจงหลักการง่ายๆดังนี้

1. ชนิดของการออกกำลังกายนั้น ควรเป็นชนิดที่มีการเคลื่อนไหวของข้อและไม่รุนแรง ตัวอย่างเช่น การเดิน โดยค่อยๆเพิ่มความเร็วและระยะเวลาเท่าที่พอรู้สึกว่าไม่เพิ่มความปวด การว่ายน้ำ การรำมวยจีน การปั่นจักรยาน (ทั้งชนิดที่อยู่กับที่และเคลื่อนที่ได้) การบริหารท่าต่างๆที่ไม่รุนแรงหรือพิสดาร

2. ปริมาณของการออกกำลังกายขึ้นอยู่กับ อายุ ความรุนแรงของโรค และสมรรถภาพทางกายของผู้ป่วย โดยทั่วไปควรเริ่มแต่พอทนได้ ไม่ควรหักโหม เช่น คนที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อมอักเสบขนาดปานกลาง (ปวดเข่าไม่มาก เคลื่อนไหวข้อเข่ามีเสียงกรุกกรักในข้อ ไม่มีอาการบวมน้ำในข้อ ไม่ร้อนที่ข้อ ภาพเอกซเรย์แสดงว่ายังพอมีช่องว่างระหว่างผิวข้อ) อาจเดินบนพื้นราบให้ได้ระยะทางขนาดที่ตนเองเริ่มรู้สึกว่าเริ่มจะขัดๆในข้อก็พอ แล้วจึงค่อยๆเพิ่มระยะทางทีละน้อยในครั้งต่อๆไป
 คนที่สมรรถภาพทางกายไม่ดี (ไม่แข็งแรง) อาจเดินได้ไม่เกิน ๑oo เมตร ก็เหนื่อยแล้วทั้งที่ยังไม่รู้สึกขัดในข้อ ก็ไม่ควรฝืนเดินต่อไป วามเหนื่อยขนาดที่ไม่ถึงกับหอบก็เพียงพอแล้ว

3. ความถี่บ่อย ควรออกกำลังกายทุกวัน หรืออย่างน้อย ๓ วันต่อสัปดาห์จะให้ผลดีทั้งความแข็งแรงและทนทาน บรรเทาปวด การออกกำลังมักให้ผลที่สังเกตได้ชัดตั้งแต่สัปดาห์ที่สองหรือสาม ควรออกกำลังกายต่อไปเรื่อยๆ ถึงแม้ว่าไม่รู้สึกปวดข้ออีกแล้ว เพราะการออกกำลังกายเป็นประจำให้ผลดีมากกว่าผลเสียหลายเท่า

4. หากออกกำลังกายแล้วมีอาการบวมน้ำในข้อ แสดงว่าออกกำลังมากเกินไปหรือไม่ถูกวิธี ควรลดปริมาณลง หรืองดการออกกำลังกายสัก ๒-๓ วัน จนกว่าอาการบวมน้ำในข้อกลับเป็นปกติ แล้วจึงเริ่มออกกำลังกายใหม่ทีละน้อย

5. ผู้สูงอายุบางคนมีโรคประจำตัวที่ต้องระมัดระวังในการออกกำลังกาย (ไม่ถึงกับห้ามออกกำลังกาย) เช่น โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ โรคเบาหวาน และโรคหอบหืด ควรขอคำแนะนำจากแพทย์ก่อน 

การออกกำลังกายนั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่หากไม่ดูความเหมาะสม เช่น ออกจนเหนื่อยมากเกินไปประเภทการออกไม่เหมาะสมกับวัยและสภาพร่างกายก็จะทำให้เกิดโทษได้มากกว่าประโยชน์ ดังนั้น ในการออกกำลังกายใดๆ จึงควรเลือกดูที่เหมาะสมกับสภาพร่างกาย เพื่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุด
 

                            ************************************************

ข้อมูลสื่อ

208-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 208
สิงหาคม 2539
โรคน่ารู้
ผศ.ดร.วิชัย อึ้งพินิจพงศ์