• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคด่างขาว

โรคด่างขาว

ผู้อ่านคงเคยเห็นโรคด่างขาวมาบ้าง โดยอาจจะมีเพื่อนหรือญาติที่เป็นโรคนี้ และคิดว่าโรคนี้เกิดจากการรักษาผิวหนังไม่สะอาด หรือติดเชื้อรา พลอยทำให้เราหวาดวิตกไปด้วย เพราะกลัวว่าจะเป็นโรคติดต่อ 

ความจริงแล้วโรคด่างขาวไม่ใช่โรคร้ายแรง ไม่ใช่โรคติดต่อและไม่มีอันตราย จะมีข้อเสียก็เฉพาะในด้านความสวยงามเท่านั้น

โรคด่างขาวนั้นเป็นความผิดปกติของสีผิวเป็นหย่อมทำให้เกิดเป็นรอยด่างขาวมีสีเหมือนน้ำนม มีรูปร่างและขนาดต่างๆกัน จะเกิดขึ้นที่ผิวบริเวณใดก็ได้ ถ้าเกิดบริเวณที่มีขนหรือผมอาจจะทำให้ขนหรือผมบริเวณนั้นมีสีขาวไปด้วย

โรคด่างขาวเกิดขึ้นได้อย่างไร

สีผิวของคนเราอาจเปลี่ยนเป็นรอยด่างขาวได้จากหลายสาเหตุ เช่น เป็นปาน เป็นเชื้อรา หรือรอยที่ผิวหายจากผิวอักเสบ หรือผิวหลุดออกจากถูกไฟลวก ถูกสารเคมี กรดด่าง หรือยาฟอกสีผิว (เช่น ยาทาลอกฝ้า) โรคของระบบภายในร่างกาย ก็ทำให้เกิดผิวด่างขาวได้ (เช่น โรคภูมิแพ้ โรคต่อมธัยรอยด์เป็นพิษ โรคต่อมหมวกไตพิการ โรคแพ้แสง) แต่โรคที่เป็นและมีผิวด่างร่วมด้วยจะไม่เรียกว่าเป็น

โรคด่างขาว แต่จะเรียกตามชื่อโรคที่เป็นสาเหตุ

ถ้าเป็นโรคด่างขาวที่เกิดขึ้นเองโดยไม่มีสาเหตุ ไม่มีโรคอื่นร่วมด้วย จึงจะเรียกว่าเป็นโรคด่างขาว มีชื่อภาษาอังกฤษว่า วิทีไลโก้ (Vitiligo) ซึ่งเกิดจากความผิดปกติในการสร้างสีของผิวหนัง
โดยปกติผิวของคนเราแบ่งเป็น ๒ ชั้น คือ ชั้นนอกสุดที่เรามองเห็น เรียกว่า หนังกำพร้า ชั้นถัดลงไป เรียกว่า หนังแท้

ในชั้นหนังกำพร้ามีเซลล์เรียงตัวกันแน่น และมีการผลิตเซลล์ใหม่ออกมาตลอดเวลา ตัวที่ทำหน้าที่ผลิตซึ่งเปรียบเหมือนเซลล์แม่อยู่ที่บริเวณพื้นของชั้นหนังกำพร้า ในชั้นเซลล์พื้นนี้มีเซลล์สร้างสีแทรกอยู่เป็นระยะ ทำหน้าที่ผลิตเม็ดสีเรียกว่า เมลานิน (Melanin) แล้วส่งเม็ดสีกระจายไปทั่วผิวทำให้เกิดสีผิวตามที่เรามองเห็น เม็ดสีจึงเป็นตัวสำคัญในการกำหนดสีผิวของคน ถ้ามีการผลิตเม็ดสีเป็นจำนวนมากผิวจะมีสีดำคล้ำ เช่น คนนิโกร ส่วนคนที่มีเม็ดสีจำนวนน้อยจะมีผิวขาว เช่น ฝรั่ง และในคนเผือกจะไม่มีเม็ดสีภายในผิวหนังเลย ผิวด่างขาวเกิดจากเซลล์ผลิตสีในบริเวณนั้นไม่ทำงาน ไม่มีการสร้างเม็ดสีเกิดขึ้น ทำให้เห็นเป็นรอยด่าง

โรคด่างขาวไม่ใช่โรคติดต่อ แต่อาจมีกรรมพันธุ์เข้ามาเกี่ยวข้องได้ และโรคนี้สามารถลุกลามได้ เช่น ขยายขนาดกว้างขึ้น หรือมีวงใหม่เกิดขึ้นในบริเวณข้างเคียง หรือเกิดขึ้นที่อื่นบริเวณใดก็ได้ บางคนเกิดรอยด่างขาวขึ้นบริเวณที่มีรอยขูดขีด หรือตามรอยบาดแผล

บางคนมักเข้าใจผิดเมื่อเห็นโรคด่างขาวจะกลัวว่าเป็นโรคเรื้อนซึ่งเป็นโรคติดต่อมีอาการผิวด่างและเนื้อชา แต่รอยด่างในโรคเรื้อนจะไม่ขาวจัดเท่ารอยโรคด่างขาว เพราะในโรคเรื้อนมีการทำลายเม็ดสีบางส่วนเท่านั้น

การดูแลรักษา

อันตรายของโรคด่างขาวอาจเกิดจากการรักษาไม่ถูกต้อง ซึ่งนอกจากโรคไม่หายแล้วยังทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนหรือเสียเงินค่ารักษาแพงเกินความจำเป็น

การรักษามีทั้งยาทาและยากิน และต้องมีการตากแดดร่วมด้วย จึงมีการกระตุ้นเซลล์ให้ผลิตสีได้ ยาดังกล่าวมีชื่อว่า โซลาเรน  ซึ่งใช้ได้ทั้งทาและกิน 

วิธีรักษาคือ ให้ทายาบริเวณที่เป็น หลังจากทายาประมาณครึ่งชั่วโมงจึงไปตากแดด โดยนั่งให้แดดส่องบริเวณด่างประมาณ ๑o-๑๕ นาที ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สะดวกที่จะตากแดด เช่น ที่บ้านไม่มีบริเวณหรือเป็นโรคบริเวณที่ตากแดดลำบาก อาจใช้วิธีฉายแสงแทน โดยให้ผู้ป่วยมารับการฉายแสงจากตู้ฉายแสงที่โรงพยาบาลที่มีบริการชนิดนี้

ถ้าการรักษาได้ผลจะมีจุดสีดำเกิดขึ้นบริเวณที่ด่าง มักเกิดบริเวณรอบรูขุมขนก่อน สีดำที่เกิดใหม่อาจเกิดบริเวณขอบทำให้ขนาดของรอยด่างแคบลง ในรายที่การรักษาด้วยยาทาไม่ได้ผลหรือในรายที่เป็นมาก อาจจำเป็นต้องใช้ยากิน ระยะเวลาของการรักษาอาจกินเวลานานเป็นเดือนหรือเป็นปี

ผลการรักษาว่าจะหายหรือไม่ขึ้นอยู่กับเป็นมากหรือเป็นน้อย และขึ้นอยู่กับบริเวณที่เป็นด้วย บางแห่งเป็นแล้วหายยาก เช่น บริเวณมือและเท้า

สรุปว่า โรคนี้เป็นโรคที่หายยาก การรักษาไม่สามารถทำให้โรคหายทุกราย จะหายได้ในบางรายเท่านั้น วิธีช่วยเมื่อการรักษาไม่ได้ผลคือการปกปิดรอยด่างด้วยเครื่องสำอางซึ่งจะแก้ปัญหาเรื่องความสวยงามได้

 

                                                 ***********************************

 

ข้อมูลสื่อ

208-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 208
สิงหาคม 2539
พญ.ปรียา กุลละวณิชย์