• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ฟัก: ผักเนื้อเย็นผิวนวลใย

ฟัก : ผักเนื้อเย็นผิวนวลใย

 “ให้เย็นเหมือนฟัก
หนักเหมือนแฟง
ให้อยู่เหมือนก้อนเส้า
เฝ้าเรือนเหมือนแววคราว”

ข้อความข้างบนนี้เป็นคำให้พรเด็กในพิธีลงอู่ของเด็กไทยสมัยก่อน หากกล่าวให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ พิธีนำเด็กลงนอนในเปลนั่นเอง คำให้พรที่ยกมานี้ เสถียรโกเศศ (พระยาอนุมานราชธน) กล่าวว่า คงจะเป็นพรเก่าแก่มาก เพราะเป็นถ้อยคำไทยเดิมอย่างง่ายๆ เช่น ฟัก แฟง ก้อนเส้า และแมวคราว เป็นต้น เชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านคงไม่รู้จักก้อนเส้า (ก้อนอิฐหรือก้อนหินที่เอามาวางเป็นเตาไฟ) และแมวคราว (แมวตัวผู้แก่ รูปร่างใหญ่ มีหนวดยาว) หรือยิ่งไปกว่านั้นอาจจะไม่รู้จักทั้งฟักและแฟงอันเป็นผักพื้นบ้านดั้งเดิมของไทยก็เป็นได้

คำอวยพรว่า ให้เย็นเหมือนฟักนั้นแสดงว่า คนไทยแต่ก่อนนิยมนิยมให้เด็กตัวเย็น และถือว่าฟักเป็นผักที่มีคุณลักษณะเย็น ส่วนที่ว่าให้หนักเหมือนแฟงนั้นแสดงว่า นิยมให้เด็กมีน้ำหนักมาก (อ้วนจ้ำม่ำ) และถือว่าแฟงเป็นผักที่มีเนื้อแน่นกว่าฟักแต่ก็มีคุณลักษณะเย็นเช่นเดียวกัน

ฟัก : ผักเก่าแก่ของชาวโลก

ฟักเป็นพืชในวงศ์ Cucurbitaceae เช่นเดียวกับแตงชนิดต่างๆ มีชื่อทางพฤษศาสตร์ว่า Benincasa hispida Cogn. ชื่อในภาษาอังกฤษคือ Ash Gourd หรือ Wax Gourd คนไทยภาคกลางเรียก ฟัก ฟักเขียว ฟักเหลือง ฟักจีน แฟง ภาคเหนือเรียก ฟักหม่น ฟักขี้หมู ภาคใต้เรียก ขี้พร้า

ฟักเป็นพืชล้มลุกจำพวกไม้เถาเช่นเดียวกับมะระ บวบ หรือแตงชนิดต่างๆ ใบและลำต้นมีขนค่อนข้างแข็งปกคลุมมากกว่าไม้เถาชนิดต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น ดอกสีเหลือง ผลอ่อนมีขนปกคลุมตามผิว เมื่อแก่ขนหลุดไป มีนวลขาวปกคลุมทั่วทั้งผล ลักษณะผลรูปทรงกระบอกปลายมนหรือค่อนข้างกลมในบางพันธุ์ พันธุ์ผลเล็ก เรียกแฟง พันธุ์ผลค่อนข้างกลมเรียกฟักหอม พันธุ์ที่มีรสขมเรียก ฟักขม เป็นต้น ผลฟักขนาดโตอาจมีน้ำหนักเกิดสิบกิโลกรัม

ถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของฟักอยู่ในเขตร้อน (tropical) แต่ยังไม่อาจชี้ชัดว่าเป็นที่ใดแน่ เพราะพบขึ้นอยู่ทั่วไปทั้งสามทวีปคือ เอเชีย แอฟริกา และอเมริกา เหตุที่พบอยู่ทั่วไปทั้งสามทวีปนั้นอาจเกิดจากมนุษย์ในยุคดึกดำบรรพ์ นำจากแหล่งกำเนิดดั้งเดิมไปปลูกในที่ต่างๆ ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ เช่นเดียวกับพืชอีกหลายชนิดที่ยังไม่ทราบแหล่งกำเนิดดั้งเดิม

ผิวนวลใยที่มีความหมาย

ลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งของผลฟักที่หาได้ยากในผักชนิดอื่นคือนวลสีขาวที่ปกคลุมผลแก่ของฟัก  นวลสีขาวดังกล่าวนี้ เป็นสารธรรมชาติจำพวกขี้ผึ้งชนิดหนึ่ง ทำหน้าที่ป้องกันน้ำในผลมิให้ระเหยออกไปได้โดยง่าย ทำให้สามารถรักษาน้ำในผลเอาไว้นานหลายเดือน โดยไม่แห้งเหี่ยวดังเช่นผลไม้หรือผักชนิดอื่น นอกจากนั้นขี้ผึ้งที่เคลือบผิวยังป้องกันแมลงและโรคต่างๆมิให้ผ่านเข้าไปทำลายเนื้อในผลได้ ดังจะเห็นว่า แม้จะเก็บผลฟักเอาไว้นานนับเดือนก็ไม่เน่าเสีย หรือถูกแมลงทำลายดังเช่นผักชนิดอื่นๆ

จากคุณสมบัติดังกล่าวนี้ จึงทำให้ได้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Wax Gourd และนักวิทยาศาสตร์การเกษตรได้นำวิธีการจากธรรมชาติของฟักไปเลียนแบบพัฒนาเป็นวิธีการเคลือบขี้ผึ้งบนผิวผลไม้บางชนิด เช่น ส้ม แอปเปิล ฯลฯ เพื่อยืดระยะเก็บรักษาให้ยาวนานขึ้น การเลียนแบบธรรมชาติอย่างนี้เป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมเกษตรในปัจจุบันเป็นอย่างยิ่ง แต่บางครั้งมีการใช้ยาฆ่าเชื้อราผสมลงไปในขี้ผึ้งที่ใช้เคลือบผิวด้วย ทำให้เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคที่ไม่ระมัดระวังได้

คนไทยในอดีตคงไม่ทราบว่า “นวล” ของฟักนั้นคือขี้ผึ้งชนิดหนึ่ง แต่ที่ทราบคุณค่าของ “นวล” และยกย่องนิยมกันทั่วไป แม้แต่ใบหน้าของสตรีก็นิยมใบหน้าที่ “ขาวเป็นนวลใย” การใช้แป้งผัดหน้าของชาวไทยคงจะเลียนแบบมาจาก “นวล” ของธรรมชาติ เช่น ผลฟักและใบตองอ่อนนี่เอง

 

                                        ************************************

อาหาร

ฟัก : ในฐานะผักพื้นบ้านของไทย

ในบรรดาผักพื้นบ้านของไทยนั้น ฟักนับเป็นผักชนิดผลที่เก่าแก่และแพร่หลายที่สุดอย่างหนึ่ง ซึ่งคงจะเกิดจากคุณสมบัติหลายประการ เช่น การปลูกง่ายและเก็บไว้ได้นาน รวมทั้งประกอบอาหารได้หลายชนิด ทั้งคาวและหวาน ฟักจึงคงอยู่คู่คนไทยตลอดมา คนไทยแบ่งฟักออกเป็น ๒ พวกใหญ่ คือ ฟักและแฟง ฟักมีผลขนาดใหญ่ จะนิยมเก็บตอนแก่จัด ส่วนแฟงมีผลขนาดเล็กและนิยมเก็บผลอ่อนมาปรุงอาหาร อาหารจากฟัก(หรือแฟง)นั้น เริ่มตั้งแต่เป็นผักจิ้ม น้ำพริก ใช้ผัดกับไข่ ทำแกงจืด หรือต้มฟัก (เป็นน้ำซุปสำหรับข้าวมันไก่) ตุ๋นฟัก แกงกะทิกับปลาเค็ม แกงคั่ว ฟักกับไก่ ฯลฯ

ในอดีตมีงานฝีมือที่เรียกว่า สลักชิ้นฟัก คือ การแกะสลักเนื้อฟักเป็นลวดลาย หรือภาพต่างๆ เพื่อแสดงฝีมือของแม่ครัว ดังเช่น ตำรับอาหารที่เรียกว่าแกงจืดฟักวิจิตรเป็นต้น ในวรรณคดีไทยบางเรื่องก็กล่าวถึงการแกะสลักชิ้นฟักเอาไว้ เป็นเหตุการณ์สำคัญของท้องเรื่องเลยทีเดียว

นอกจากเป็นอาหารคาวแล้ว ชาวไทยยังนำมาฟักมาทำของหวานด้วย เช่น ฟักแช่อิ่ม ซึ่งใช้ฟักแก่ นอกจากนี้ยังใช้ทำไส้ขนมเปี๊ยะด้วย

ตามทฤษฎีแพทย์แผนไทย จัดให้ฟักอยู่ในจำพวกรสจืดซึ่งเหมาะสำหรับบุคคลที่มีธาตุไฟเป็นเจ้าเรือน หรือกินในฤดูร้อนเพื่อบรรเทาธาตุไฟในร่างกายที่กำเริบขึ้น

ตามทฤษฎีร้อน-เย็น จัดให้ฟักอยู่ในจำพวกคุณลักษณะเย็น แนะนำให้กินในช่วงอากาศร้อน แต่ไม่เหมาะสำหรับผู้หญิงที่กำลังมีประจำเดือน หรือกำลังให้นมบุตร เป็นต้น

 

                                                *********************************

สมุนไพร

ฟักในฐานะสมุนไพร

ในตำราแพทย์แผนไทย กล่าวว่าน้ำคั้นจากไส้ของฟักใช้กินแก้อาเจียนเป็นโลหิต ส่วนรากแก้พิษไข้ ร้อนในกระหายน้ำ และถอนพิษไข้ทั้งปวง

ในต่างประเทศใช้ไส้ฟักพอกแก้พิษแมงกะพรุนไฟ และเมล็ดคั่วกินเป็นยาขับพยาธิตัวกลม

ประโยชน์ด้านอื่นๆ

ในอดีตเมื่อแม่น้ำลำคลองยังมีจระเข้อยู่ชุกชุมนั้น เมื่อเกิดจระเข้กินคนขึ้น วิธีหนึ่งในการปราบจระเข้คือใช้ฟักทั้งผลต้มให้สุก (หรือเผา) แล้วโยนผลฟักร้อนๆ ให้จระเข้กลืนลงไป กล่าวกันว่าจระเข้จะตายเพราะความร้อนแฝงที่ฟักเก็บไว้ในผล

เนื่องจากฟักเป็นพืชที่ปลูกง่ายและมีผลดก ในบางแห่งจึงใช้เป็นอาหารสัตว์ เช่น ใช้เลี้ยงหมู เป็นต้น ในภาคใต้เรียกฟักว่า ขี้พร้า และเรียกหมูพันธุ์พื้นบ้านว่าหมูขี้พร้าด้วย สันนิษฐานว่า ชาวใต้คงใช้ฟักเลี้ยงหมูพื้นบ้านมาแต่เดิม ส่วนในภาคเหนือเรียกฟักว่า ฟักขี้หมู คงเกี่ยวกับการใช้เลี้ยงหมูอีกเช่นเดียวกัน
ดังที่กล่าวตั้งแต่ตอนต้นว่าคนไทยในอดีตใช้ฟักในพิธีลงอู่ของเด็ก เพราะเชื่อว่า ฟักเนื้อเย็นและแฟงเนื้อแน่น นอกจากนี้ในพิธีเอาข้าวขึ้นยุ้งก็ใช้ฟักประกอบในพิธีด้วย เพราะถือว่าฟักเป็นเครื่องหมายของความอุดมสมบูรณ์

แต่สำหรับผู้ที่เชื่อในเรื่องไสยศาสตร์นั้น ไม่นิยมกินฟักเพราะเชื่อว่าจะทำให้อ่อนกำลังลง แม้แต่ช้างที่กำลังตกมัน หากให้กินฟักก็เชื่อว่าจะทำให้ช้างเชือกนั้นอ่อนแรงลงไม่อาละวาดอีกต่อไป

ในระบบปลูกพืชแบบไร่หมุนเวียนของชาวกะเหรี่ยงในเขตป่าก็ใช้ฟักเป็นพืชสำคัญอย่างหนึ่ง เพราะเหมาะสำหรับระบบการเกษตรที่เรียบง่าย ไม่ต้องใช้ปัจจัยการผลิตจากภายนอก เช่น สารเคมี หรือปุ๋ยเคมีใดๆเลย จึงนับได้ว่าฟักเหมาะกับระบบการเกษตรปลอดสารเคมีเป็นอย่างยิ่ง
 

 

ข้อมูลสื่อ

208-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 208
สิงหาคม 2539
ต้นไม้ใบหญ้า
เดชา ศิริภัทร