• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เยื่อหุ้มสมองอักเสบ

เยื่อหุ้มสมองอักเสบ

 



ข้อน่ารู้

1. สมองและประสาทไขสันหลังของคนเรานอกจากมีกระดูกอันแข็งแกร่งห่อหุ้มอยู่โดยรอบแล้ว ในส่วนที่อยู่ใต้กระดูกเข้าไปยังมีเยื่อบางๆ หุ้มสมองอยู่อีก 3 ชั้น ซึ่งเรียกว่า “เยื่อหุ้มสมอง” และระหว่างเยื่อหุ้มสมองชั้นกลางกับชั้นในสุดจะมีน้ำหล่อเลี้ยง เรียกว่า น้ำเลี้ยงสมองและไขสันหลัง ถ้าเยื่อหุ้มสมองเกิดการติดเชื้ออักเสบ ก็เรียกว่า “เยื่อหุ้มสมองอักเสบ” (meningitis) โบราณเรียกว่า “ไข้กาฬหลังแอ่น” หรือ “ไข้กาฬนกนางแอ่น” เนื่องจากพบว่า คนไข้ที่มีอาการมากจะมีอาการคอแข็งและหลังแอ่น

2. เยื่อหุ้มสมองจะเกิดการอักเสบก็ต่อเมื่อมีเชื้อโรคเข้าไปในน้ำเลี้ยงสมองและไขสันหลัง เชื้อโรคอาจลุกลามมาจากช่องคอ จมูก ปอด หรือฝีหนองที่เกิดขึ้นตรงส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายโดยผ่านเข้ากระแสเลือดไปที่สมอง หรืออาจเกิดจากกะโหลกแตกร้าว แล้วแปดเปื้อนเชื้อโรคจากภายนอกก็ได้ เชื้อโรคที่เป็นต้นเหตุของโรคนี้อาจมีได้หลายชนิด เช่น เชื้อไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา (พบในขี้นกพิราบ ขี้ไก่ และตามดิน) พยาธิ เป็นต้น เชื้อวัณโรค (ที่เป็นสาเหตุของวัณโรคปอด) ก็อาจลุกลามจากปอดไปที่สมอง กลายเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อวัณโรคก็ได้ คนที่ชอบกินหอยโข่งดิบ อาจติดเชื้อพยาธิชนิดหนึ่งที่สามารถขึ้นไปที่สมอง กลายเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากพยาธิได้ พบมากทางภาคกลางและอีสาน คนที่กินปลาหรือกุ้งน้ำจืดดิบก็อาจติดพยาธิตัวจี๊ด ซึ่งอาจไชเข้าสมองได้

3. โรคนี้พบได้ในคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่มีภูมิต้านทานอ่อนแอ เช่น เด็กเล็ก คนสูงอายุ คนที่เป็นมะเร็ง เบาหวาน โรคเอดส์ เป็นต้น

4. โรคนี้ถือเป็นโรคอันตรายร้ายแรง หากไม่ได้รับการรักษาได้ทันกาล อาจตายหรือพิการ (เช่น อัมพาต หูหนวก ปากเบี้ยว สมองพิการ ปัญญาอ่อน) หรือกลายเป็นโรคลมชักได้ ถ้ารักษาได้ถูกต้องและทันกาล ก็มักจะหายขาดได้

5. การป้องกันโรคนั้อยู่ที่การรักษาสุขภาพทั่วไปให้แข็งแรงและรักษาโรคประจำ (เช่น เบาหวาน วัณโรค) ให้ได้ผล นอกจากนี้ยังอาจป้องกันโรคนี้จากสาเหตุบางชนิด เช่น

- ฉีดวัคซีนบีซีจีป้องกันวัณโรค

- อย่ากินหอยโข่งดิบ ปลา หรือกุ้งน้ำจืดดิบ เพื่อป้องกันโรคพยาธิขึ้นสมอง

- คนที่เป็นโรคหูน้ำหนวก หรือหูชั้นกลางอักเสบ หรือไซนัสอักเสบ ควรรีบรักษา อย่าปล่อยให้เป็นเรื้อรังจนเข้าสมอง

- ระวังการติดเชื้อราจากขี้นกพิราบและขี้ไก่ โดยเฉพาะอย่าให้ขี้นกพิราบและขี้ไก่ฟุ้งในอากาศ คนเราจะติดเชื้อราโดยการสูดเขาไปทางลมหายใจแล้วเชื้อเข้าสู่กระแสเลือดไปยังสมอง

รู้ได้อย่างไรว่าไม่ได้เป็นอื่น

คนที่เป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบจะมีไข้ ปวดศีรษะรุนแรง อาเจียนบ่อย คนไข้จะบ่นปวดทั่วศีรษะอย่างมาก และจะปวดมากขึ้นเมื่อก้มหรือเคลื่อนไหวศีรษะ มักปวดติดต่อกันนานเป็นวันๆ กินยาแก้ปวดก็ไม่ทุเลา ส่วนอาการไข้ อาจมีไข้สูงตลอดเวลาหรือมีไข้ต่ำๆก็ได้ แล้วแต่สาเหตุ ถ้าเกิดจากพยาธิ อาจมีไข้ต่ำๆ หรือไม่มีไข้ก็ได้ ถ้าหากไม่ได้รับการรักษา ต่อมาคนไข้จะมีอาการกระสับกระส่าย สับสน ซึมลงเรื่อยๆ จนกระทั่งหมดสติ หรืออาจมีอาการกลืนลำบาก แขนขาเป็นอัมพาต หรือชักร่วมด้วย

ลักษณะพิเศษที่สังเกตได้ง่ายๆ คือ คนไข้มักจะมีอาการคอแอ่น และก้มคอไม่ลง ถ้าใช้มือดันศีรษะให้ก้มลงจะรู้สึกว่าคอแข็งทื่อ เรียกว่า อาการคอแข็ง

อาการไข้และชัก อาจมีสาเหตุอื่นๆ เช่น

1. อาการชักจากไข้สูง จัดเป็นอาการที่ไม่มีอันตรายร้ายแรง พบในเด็กอายุ 6 เดือนถึง 5 ปี จะมีอาการตัวร้อนจัด (จากไข้หวัด เจ็บคอ เป็นบิด เป็นต้น) แล้วมีอาการชักเกร็งกระตุกของแขนขาทั้ง 2 ข้าง นานเพียง 2-3 นาที หลังชักเด็กจะรู้สึกสบายดีวิ่งเล่นได้ตามปกติ แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าเกิดขึ้นครั้งแรกถึงแม้เด็กจะหายชักแล้วก็ควรจะปรึกษาหมอให้แน่ใจ

2. ไข้สมองอักเสบ มาลาเรียขึ้นสมอง จะมีไข้สูง ปวดศีรษะ ซึม ไม่ค่อยรู้สึกตัว อาจชักบ่อยครั้ง

3. บาดทะยัก จะมีไข้ ขากรรไกรแข็ง (อ้าปากลำบาก) และชักกระตุกเป็นครั้งคราว โดยที่คนไข้รู้สึกตัวดี มักมีบาดแผลอักเสบที่ผิวหนัง (เช่น ตะปูตำ หนามเกี่ยว) คนไข้จะชักเมื่อสัมผัสถูกตัว หรือเห็นแสงสว่าง หรือได้ยินเสียงดัง

สำหรับสาเหตุข้อที่ 2 และ 3 จัดเป็นโรคอันตรายร้ายแรง หากสงสัยควรไปหาหมอโดยเร็ว

เมื่อไรควรไปหาหมอ

คนที่มีอาการไข้ ปวดศีรษะ ควรไปหาหมอทันทีเมื่อมีอาการข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

1. ปวดศีรษะรุนแรงตลอดเวลา กินยาแก้ปวดไม่ทุเลา

2. อาเจียนมาก

3. มีอาการชักร่วมด้วย

4. ซึม หรือไม่ค่อยรู้สึกตัว

5. แขนขาเป็นอัมพาต ปากเบี้ยว หรือกลืนลำบาก

6. ก้มคอไม่ลง (คอแข็ง)

แพทย์จะทำอะไรให้

แพทย์จะตรวจทางระบบสมองและประสาท และจะใช้เข็มชนิดพิเศษเจาะหลัง เพื่อนำเอาน้ำเลี้ยงสมองและไขสันหลังไปตรวจหาเชื้อ ถ้าเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบ จะรับคนไข้ไว้รักษาในโรงพยาบาลจนกว่าจะหายดี อาจกินเวลาเป็นสัปดาห์ๆ หรือเป็นเดือนๆ

การรักษาขึ้นกับเชื้อต้นเหตุ เช่น

  • ถ้าเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย จะให้ยาปฏิชีวนะตามชนิดของเชื้อที่พบ
  • ถ้าเกิดจากเชื้อวัณโรค จะให้ยารักษาวัณโรคนาน 9 เดือนถึง 2 ปี
  • ถ้าเกิดจากเชื้อรา จะให้ยาฆ่าเชื้อรา เช่น แอมโฟเทอริซินบี (Amphotericin B)
  • ถ้าเกิดจากเชื้อไวรัส ไม่มียารักษาโดยเฉพาะ จะให้การรักษาตามอาการ ถ้าคนไข้แข็งแรงก็อาจหายได้ภายใน 2-3 สัปดาห์
  • ถ้าเกิดจากพยาธิไม่มียารักษาโดยเฉพาะ จะให้การรักษาตามอาการ ถ้าคนไข้ปวดศีรษะมากจะทำการเจาะหลังซ้ำบ่อยๆ เพื่อลดความดันของน้ำเลี้ยงสมองและไขสันหลัง หลังเจาะหลังคนไข้จะรู้สึกสบายขึ้น

โดยสรุป เยื่อหุ้มสมองอักเสบเกิดจากการติดเชื้อได้หลายชนิด จัดเป็นโรคอันตรายร้ายแรง ถ้าหากได้รับการรักษาได้ถูกต้องและทันกาล ก็มีโอกาสหายขาดได้ ดังนั้น เมื่อพบคนที่มีอาการไข้ ปวดศีรษะ จะต้องสังเกตว่า คนไข้มีอาการอาเจียนบ่อย ซึม ชัก หรือคอแข็ง ร่วมด้วยหรือไม่ หากสงสัยควรไปหาหมอโดยเร็วที่สุด

การดูแลรักษาตนเอง

คนที่มีอาการไข้ ปวดศีรษะรุนแรง อาเจียนบ่อย หรือชัก ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อตรวจหาสาเหตุให้แน่ใจ แล้วรักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างจริงจัง

อย่าทิ้งการรักษาจากแพทย์ หันไปพึ่งไสยศาสตร์ (หมอผี น้ำมนต์) โรคอาจลุกลามเป็นอันตรายได้

ข้อมูลสื่อ

167-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 167
มีนาคม 2536
แนะยา-แจงโรค
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ