• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

error น้ำเน่าของวันนี้... หน้าที่ของเรา

น้ำเน่าของวันนี้... หน้าที่ของเรา

 

“ปี’35 เป็นปีสุดท้ายของความสามารถในการผลิตน้ำให้พอเพียงต่อความต้องการใช้น้ำ ตั้งแต่ปี 2536 เป็นต้นไป ปริมาณน้ำที่ผลิตได้จะไม่พอเพียงกับการใช้ ทั้งนี้เพราะจำนวนคนใช้เพิ่มขึ้น แต่แหล่งน้ำจืดที่จะนำมาใช้ทำน้ำประปาจะเริ่มน้อยลง” (ดร.เกษมสันติ์ สุวรรณรัต ผู้อำนวยการกองนโยบายและแผนรวม สำนักนโยบายและแผน กรุงเทพมหานคร)
“โดยปกติแต่ก่อนนี้ถ้าคลองสะอาด มีออกซิเจนในปริมาณที่พอเหมาะ เชื้อโรคที่เป็นสาเหตุของโรคทางเดินอาหาร ไม่ว่าจะเป็นโรคบิดหรือไทฟอยด์ พวกนี้ถ้าลงไปสู่แหล่งน้ำซึ่งสภาพแวดล้อมไม่ตรงกับที่ตัวมันเองต้องการ ก็อยู่ไม่ได้และตายไป แต่ถ้าลงไปในแหล่งน้ำที่เน่าเสีย พวกนี้ก็จะเจริญเติบโตเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจจะเป็นโรคระบาดได้ในที่สุด เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในสมัยรัชกาลที่ 5”
(ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

เป็นเรื่องที่ขำไม่ออกเลยจริงๆ ทั้งๆที่โลกนี้มีพื้นที่น้ำมากกว่าพื้นดิน แต่คนเราต้องประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ จากการพูดคุยถึงปัญหาเรื่องน้ำของนักวิชาการหลายๆท่าน ทำให้กระแสความห่วงใยในเรื่องของน้ำได้เกิดขึ้นอีกระลอกหนึ่ง แต่นั่นก็ยังเป็นเพียงความเคลื่อนไหวที่อยู่ในวงจำกัด จะมีใครตอบได้บ้างว่า ผู้คนกว่า 5o ล้านคนนี้ทุกคนมีส่วนได้รับผลกระทบในเรื่องน้ำ แต่จะมีสักกี่คนที่ตระหนัก และลุกขึ้นมาทำอะไรเพื่อการอนุลักษณ์น้ำกันบ้าง
“น้ำ” ทรัพยากรที่มากค่าแต่ถูกใช้อย่างไร้ค่า
ร้อยละ 7o ของร่างกายมนุษย์คือส่วนประกอบที่เป็นน้ำ ทุกคนคงทราบดีอยู่แล้ว และยังรู้อีกว่าคนเราต้องดื่มน้ำวันละ 6-8 แก้ว ซึ่งก็เป็นสิ่งที่พวกเราทุกคนพยายามทำเพื่อให้มีสุขภาพดี และ...คนเราต้องอาบน้ำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เพื่อพลานามัยที่ดี ก็ไม่มีใครปฏิเสธอีกนั่นแหละ
วิถีชีวิตของคนเราที่มีน้ำเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่ตลอดเวลาจนเป็นความเคยชิน ทำให้คนเราแทบจะลืมนึกไปว่าน้ำมีคุณค่ากับเรามากมายเพียงไร เพราะเนื่องจากเวลาที่เราหิว เราก็มีน้ำ เมื่อรู้สึกร้อน ก็มีน้ำอาบ มีน้ำบริโภคตลอดเวลา อะไรจะเกิดขึ้นถ้าวันหนึ่งเราต้องขาดน้ำ ทรัพยากรที่กำหนดชีวิตของเรา
น้ำเสีย...แล้วจะเสียใจ
จะมีใครเชื่อไหมว่าน้ำที่เราดื่มอยู่ขณะนี้ ครั้งหนึ่งอาจจะเป็นน้ำที่ไดโนเสาร์เคยดื่มมาก่อน วัฏจักรของน้ำแปรเปลี่ยนหมุนเวียนอย่างเป็นระบบ ทำให้โลกเราไม่ขาดแคลนน้ำ สรรพสิ่งมีชีวิตต่างๆได้อาศัยดำรงชีวิตสืบเผ่าพันธุ์
การที่เราพบเห็นน้ำมาตั้งแต่เล็กแต่น้อยทำให้คนเราแทบจะลืมนึกไปเลยว่าน้ำมาจากไหน น้ำที่เราใช้ดื่มใช้บริโภคอยู่มีแหล่งอยู่ที่ใด เรารู้แต่เพียงว่าเรามีน้ำใช้อยู่ตลอดเวลา
พฤติกรรมดังกล่าวส่งผลทำให้เราเกิดความประมาทว่า น้ำที่มีอยู่ทุกหนทุกแห่งจะหมดไปได้อย่างไร หรือแม้แต่ไม่เคยนึกไปเสียด้วยซ้ำว่า “น้ำจะหมด”
ที่จริงแล้วน้ำก็ไม่ได้หมดไปไหน แต่น้ำที่มีอยู่ถูกปนเปื้อนด้วยสิ่งปฏิกูลต่างๆจนไม่สามารถนำน้ำออกมาใช้ประโยชน์ได้ แล้วผลที่เกิดขึ้นก็คือ เกิดพิษภัยอันเนื่องมาจากมีเชื้อโรคต่างๆที่ยึดเอาน้ำเสียเป็นแหล่งอาศัยและขยายพันธุ์ ดังนั้นการจะนำน้ำที่ถูกปนเปื้อนแล้วมาใช้อีกครั้ง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแยกเอาสารมลพิษออกจากน้ำ ซึ่งนั่นก็หมายความว่าต้องใช้ค่าใช้จ่ายที่สูงมากขึ้นหลายเท่าตัว
ความยากง่ายที่แตกต่างกันระหว่างการทำให้น้ำดีๆเสีย กับการทำให้น้ำที่เสียกลับดี เป็นเรื่องที่แทบจะเปรียบเทียบกันไม่ได้เลยทีเดียว การเทน้ำสะอาดจากแก้วลงสู่พื้นดินแค่นี้ก็ทำให้น้ำดีกลายเป็นน้ำเสียได้แล้ว
แต่กว่าที่จะนำน้ำนั้นมาแยกสิ่งปนเปื้อนออกมาเพื่อให้กลับสะอาดอีกครั้ง ต้องผ่านการกรองการฆ่าเชื้อซึ่งยุ่งยากกว่ามากเลยทีเดียว
ทุกวันนี้เราทุกคนต่างมีส่วนทำให้เกิดน้ำเสียทุกคน ปริมาณน้ำที่เราใช้กันในเมืองเฉลี่ยแล้วสูงถึง 1,ooo ลูกบาศก์เมตรต่อคนต่อปี มีใครเคยคิดไหมว่าน้ำนั้นไปอยู่ที่ไหน แล้วเกิดอะไรขึ้นกับน้ำที่เราใช้ให้เป็นน้ำเสียแล้วเททิ้งไป
อย่างไรคือน้ำเสีย
ทุกขณะที่เราใช้น้ำ ไม่ว่าจะเป็นการอาบ ดื่มกิน หรือใช้น้ำเพื่อกรณีอื่นๆ นั่นก็หมายถึงน้ำที่เหลือจากการใช้ของเราทั้งหมดมีสิทธิ์ที่จะไปก่อปัญหาในด้านคุณภาพของน้ำในแหล่งน้ำ และสร้างปัญหาตามมาอีกมากมาย อะไรคือตัววัดว่าน้ำเสียหรือไม่ เป็นสิ่งที่หลายคนคงสนใจ และอีกหลายคนอาจจะเข้าใจเพียงว่าเมื่อเห็นน้ำเปลี่ยนสีเป็นสีดำคล้ำ และส่งกลิ่นเน่าเหม็นนั่นแหละคือน้ำเสีย
มีหลักการวัดค่าของน้ำเสียที่เรียกกันว่าค่าบีโอดี (BOD-Biochemical Oxigen Demand) เป็นค่าของความสกปรกที่มีอยู่ในน้ำในรูปสารอินทรีย์ประเภทต่างๆ ซึ่งสารอินทรีย์ดังกล่าวจะถูกทำลายโดยเชื้อจุลินทรีย์ที่มีอยู่ในน้ำนั่นเอง และเมื่อกระบวนการทำลายเกิดขึ้น ออกซิเจนที่ละลายอยู่ในน้ำก็จะถูกใช้ไป ดังนั้น นักวิทยาศาสตร์จึงใช้ปริมาณของออกซิเจนที่จุลินทรีย์ต้องการใช้ในการทำลายหรือย่อยสลายสารอินทรีย์ในน้ำนั้นให้หมดไป เป็นตัววัดความสกปรกในน้ำนั้นๆ ฉะนั้นหากค่าบีโอดีสูง แสดงว่าน้ำนั้นมีความสกปรกในรูปสารอินทรีย์สูง และจะก่อให้เกิดความเน่าเสียได้มาก
โดยธรรมชาติแล้ว สิ่งปฏิกูลและความสกปรกต่างๆที่อยู่ในน้ำจะถูกทำลายโดยจุลินทรีย์ที่มีอยู่ในสภาวะปกติน้ำมีปริมาณออกซิเจนละลายเต็มที่คือประมาณ 8 มิลลิกรัม/ลิตร เมื่อน้ำนั้นมีสิ่งสกปรกมาเจือปน จุลินทรีย์ประเภทใช้ออกซิเจน (Aerobic bacteria) ก็จะทำหน้าที่ย่อยสลายจนทำให้สิ่งสกปรกเหล่านั้นลดลง ในขณะเดียวกันออกซิเจนในน้ำก็จะลดลงไปด้วย
แต่ถ้าปริมาณของสิ่งสกปรกมีมากจนทำให้ปริมาณออกซิเจนลดลงหมดแล้ว แต่ความสกปรกในน้ำยังคงเหลืออยู่ สภาพแวดล้อมของน้ำจึงไม่เหมาะสำหรับจุลินทรีย์ประเภทใช้ออกซิเจนอีกต่อไป แต่จะมีจุลินทรีย์ตัวใหม่ที่ไม่ต้องการใช้ออกซิเจน (Aerobic bacteria) เกิดขึ้นและเข้ามาทำหน้าที่ย่อยสลายแทน
ผลที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ การย่อยสลายของจุลินทรีย์ประเภทนี้จะมีผลพลอยได้คือ ก๊าซไข่เน่าหรือก๊าซไนโตรเจนซัลไฟด์ที่มีกลิ่นเหม็นรุนแรง และซัลเฟอร์ที่เกาะตัวใต้น้ำและในน้ำนิ่งจะมีสีดำ
ในการดำรงชีวิตของคนเราแต่ละวัน เต้องระบายของเสียออกมากับอุจจาระและปัสสาวะ คนหนึ่งๆคิดเป็นค่าบีโอดีประมาณ 12 กรัมต่อคนต่อวัน นอกจากนั้นการซักล้างและการอาบน้ำ มีค่าบีโอดี 18 กรัมต่อคนต่อวัน และน้ำจากครัวอีกประมาณ 24 กรัมต่อคนต่อวัน ซึ่งรวมแล้วความสกปรกที่คนหนึ่งคนสร้างขึ้นจะมีประมาณ 54 กรัมต่อคนต่อวัน
ความสกปรกทั้งหมดนี้ก็จะไปรวมกันอยู่ที่แหล่งน้ำ หรืออาจไม่ทั้งหมด กล่าวคือ ส่วนหนึ่งเป็นอุจจาระปัสสาวะจะถูกกำจัดโดยบ่อเกรอะไปประมาณร้อยละ 5o คงเหลือประมาณ 6 กรัมกรัมต่อคนต่อวันที่ทิ้งลงแหล่งน้ำพร้อมน้ำจากส่วนอื่นๆก่อให้เกิดปัญหาตามมาอีกมากมายตามมา ยากต่อการบำบัดรักษาน้ำนั้นให้กลับสะอาดดังเดิม
บ้าน-แหล่งผลิตน้ำเสียรายใหญ่
ถึงวันนี้สังคมไทยได้พัฒนาตามทิศทางสังคมตะวันตกไปชนิดก้าวต่อก้าว ได้กลายเป็นสังคมบริโภคเต็มรูปแบบ มีการแข่งขันทางด้านการผลิตเพื่อให้มีปริมาณเพียงพอกับการเจริญเติบโตของผู้บริโภค ผู้ผลิตหลายรายจึงได้คิดค้นหาสารเคมีต่างๆมาใส่ลงไปในสินค้าอุปโภคบริโภคเพื่อผลประโยชน์ทางด้านการตลาดที่คาดว่าจะได้รับเพิ่มขึ้น
สารเคมีที่ว่านี้ก็มีทั้งสารปรุงแต่งรสและกลิ่น สารกันบูดและสีสันต่างๆ เมื่อผู้บริโภคใช้สินค้าเหล่านี้เข้าไปแล้ว ก็ขับถ่ายหรือชำระล้างออกมา น้ำทิ้งที่ปนเปื้อนสารเคมีจะไหลไปตามท่อที่ต่อออกมาจากครัวเรือน แล้วเดินทางสู่แม่น้ำลำคลอง ทะเล และสู่อ่าวไทยในที่สุด ซึ่งสมัยก่อนนี้น้ำทิ้งที่ออกจากบ้านเรือนส่วนมากจะประกอบด้วยสารอินทรีย์ที่สามารถย่อยสลายได้ง่าย จึงไม่เป็นภาระต่อสิ่งแวดล้อมมากนัก
การปนเปื้อนของสารเคมีหลากชนิดทำให้ระดับคุณภาพของน้ำจากครัวเรือนสร้างความยากลำบากในการที่จะฟื้นตัวคืนสภาพให้เป็นน้ำดีใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาพสังคมที่มีความสลับซับซ้อนทางโครงสร้างเช่นสังคมเมือง จะพบว่าน้ำทิ้งจากครัวเรือนมีคุณภาพลดลงตามลำดับ เป็นสาเหตุให้การบำบัดน้ำให้ดีต้องเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้น และที่สำคัญกระบวนการการบำบัดน้ำเสียต้องใช้การลงทุนเป็นเงินจำนวนมหาศาล และสิ้นเปลืองพลังงานมากมาย ถึงกระนั้นก็ยังไม่สามารถบำบัดได้ทันกับปริมาณการถ่ายเทน้ำเสียที่ทะลักล้นออกมาจากทุกบ้านช่องเรือนชานและเรือนแพ เราจึงพบเห็นน้ำสีดำคล้ำในแม่น้ำลำคลองทั่วไป
น้ำเสียในบ้านมาจากไหน
ห้องครัว
ห้องนี้ถือเป็นศูนย์รวมของกิจกรรมการบริโภคเกือบทั้งหมด นักสิ่งแวดล้อมบางท่านถึงกับกล่าวว่ากิจกรรมภายในห้องครัวมีส่วนในการทำร้ายน้ำมากที่สุด
น้ำเสียที่ถูกปนเปื้อนที่ออกมาจากห้องครัวนั้นมีทั้งสารพิษฆ่าแมลงที่มาจากการล้างพืชผัก คราบไขมัน และเศษอาหารจากการล้างจานหรือล้างเนื้อสัตว์ คราบไขมันนี้นับว่าเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้น้ำเน่าเสียเนื่องเพราะการจับตัวกันเป็นแผ่นลอยอยู่เหนือผิวน้ำ ปิดกั้นมิให้ออกซิเจนในอากาศผ่านลงไปสู่แหล่งน้ำ เมื่อน้ำขาดออกซิเจนเฉกเช่นที่คนขาดอากาศ จึงทำให้น้ำเน่าเสียเหมือนคนที่ตายแล้วนั่นเอง
ห้องน้ำ
เวลาที่คุณแม่บ้านไปจับจ่ายซื้อข้าวของใช้ตามซูเปอร์มาร์เก็ต บรรดาสารเคมีที่พวกเธอบรรจงบรรจงหยิบใส่ตะกร้าด้วยความมั่นใจในคุณภาพและประสิทธิภาพการใช้ส่วนใหญ่มักจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่นำมาใช้ในห้องน้ำ ตั้งแต่สินค้าพื้นๆ เช่น สบู่ แชมพู ยาสีฟัน หากพิถีพิถัน (สำอาง) หน่อยก็จะมีจำพวกครีมนวดผม ครีมโกนหนวด โฟมล้างหน้า ซึ่งสารเคมีทั้งหลายที่ผู้ผลิตทุ่มใส่ในผลิตภัณฑ์เหล่านี้จุดประสงค์ในการใช้ก็แตกต่างกันออกไป ทั้งเพื่อแต่งสี กลิ่น หรือคุณภาพด้านอื่นให้น่าใช้มากยิ่งขึ้น
ในการเข้าห้องน้ำเพื่อชำระล้างร่างกายครั้งหนึ่งๆ หากคุณต้องใช้สารพัดสารเคมีทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ลองคิดดูสิว่าแหล่งน้ำจะต้องรับภาระหนักเพียงใด
ที่ร้ายกว่านั้นก็คือพวกน้ำยาทำความสะอาดสุขภัณฑ์และพื้นผิวพวกกระเบื้องเคลือบในห้องน้ำ ยิ่งเป็นอันตรายต่อน้ำมากกว่ากลุ่มที่กล่าวถึงข้างต้นเสียอีก โดยเฉพาะน้ำยาขัดพื้นซึ่งมีส่วนผสมของสารโซเดียมออกไซเลต ซึ่งในขณะที่ใช้นอกจากจะส่งผลทำลายเยื่อจมูกของผู้ที่สูดดมเข้าไปแล้ว เมื่อไหลลงสู่แหล่งน้ำยังทำให้สัตว์น้ำต่างๆต้องตาย และลดจำนวนลงเนื่องจากไม่สามารถแพร่พันธุ์ได้ตามธรรมชาติ
ห้องอื่นๆ
ความจำเป็นในการใช้สารเคมีในส่วนอื่นๆของบ้านนอกจากที่กล่าวมาแล้ว ก็ยังมีพวกสารกำจัดมด แมลงสาบ หนู หรือสัตว์อื่นที่มารบกวน อีกทั้งยังมีการใช้สารเคมีเพื่อจุดประสงค์อื่นภายในบ้านอีก เช่น การใช้น้ำยาทำความสะอาดกระจก น้ำยาขัดเงา น้ำยาล้างท่อน้ำ เป็นต้น ซึ่งสารพิษต่างๆเหล่านี้เมื่อถูกระบายด้วยน้ำลงสู่แหล่งน้ำ ก็มีผลในการทำลายสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกัน
สนามหญ้า-สวนครัว
สนามหญ้าหน้าบ้านและสวนหลังบ้านที่คุณปลูกพืชผักสวนครัวหรือเหล่าพืชพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับไว้นั้น บางครั้งนอกจากการให้น้ำแล้วยังจำเป็นต้องเพิ่มอาหารหรือปุ๋ยให้พืชผักเหล่านี้ด้วย ถ้าบ้านไหนเลือกใช้ปุ๋ยหมักปุ๋ยคอกปัญหาเรื่องมลพิษทางน้ำก็ดูจะน้อยลง แต่ถ้าเป็นปุ๋ยเคมีก็เห็นทีสิ่งแวดล้อมจะแย่หน่อย เพราะเมื่อน้ำที่คุณใช้รดไหลผ่านต้นหญ้าหรือพืชผักเหล่านี้ ก็จะชะเอาสารเคมีที่อยู่ในปุ๋ยปนเปื้อนมากับน้ำ ทำให้ปริมาณน้ำเสียเพิ่มมากขึ้นด้วย
ลานซักล้าง
บริเวณนี้ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่มีการใช้น้ำมากเช่นกัน แม่บ้านมักจะใช้ลานอเนกประสงค์นี้เพื่อซักผ้า หรือบางบ้านอาจใช้ล้างจานด้วย
น้ำทิ้งจากการซักผ้า ก่อให้เกิดมลภาวะต่อแหล่งน้ำได้มากมาย ทั้งนี้เพราะฟอสเฟตที่อยู่ในผงซักฟอก (เพื่อแก้น้ำกระด้างให้เป็นน้ำอ่อนและทำให้เกิดฟอง) สามารถเป็นปุ๋ยให้แก่พืชน้ำจำพวกผักตบชวาได้อย่างดี ทำให้สามารถแพร่พันธุ์เจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว เมื่อพืชน้ำเหล่านี้ตายลง แบคทีเรียในน้ำจะต้องการออกซิเจนจำนวนมากเพื่อย่อยให้มันสลายตัวไปตามธรรมชาติ ดังนั้นปริมาณออกซิเจนในน้ำจึงถูกดึงไปใช้ในการย่อยสลายพืชน้ำนี้เสียหมด ทำให้น้ำในแม่น้ำลำคลองเกิดภาวะเน่าเสียได้มากขึ้นทุกขณะ ในขณะที่พืชและสัตว์อื่นๆในน้ำก็เริ่มขาดออกซิเจนเข้าไปทุกที
ช่วยกันดูแลบ้านเราให้ปลอดสารพิษ
ก่อนที่คุณจะหยิบสารเคมีหลากชนิดจากชั้นใส่ลงในตะกร้าจ่ายของ คุณเคยตั้งคำถามกับตัวเองบ้างหรือไม่ว่า สารเคมีเหล่านี้หลังจากที่คุณราดน้ำเพื่อไล่ให้มันลงท่อน้ำทิ้งแล้ว มันจะไปสะสมอยู่ที่ไหน และไปสร้างมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง...
ชีวิตของผู้คนที่อยู่ในสังคมบริโภคเช่นยุคนี้ สารเคมีได้เข้าไปเกี่ยวข้องในชีวิตประจำวันมากเสียจนหลายคนอาจรู้สึกว่า มันได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปเสียแล้ว
หลายคนรู้ดีว่าการใช้สารเคมีเหล่านั้นก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม แต่พวกเขาก็ยกข้ออ้างให้กับตนเองว่า ‘จะทำอย่างไรได้เล่าในเมื่อยังไม่มีทางออก หรือสารทดแทนที่จะมาใช้แทนสารพิษเหล่านี้’
ทางออกนั้นมีอยู่แล้ว ว่าแต่คุณพร้อมที่จะเริ่มใช้หรือยัง
ล้างห้องน้ำ
โดยปกติน้ำยาล้างพื้นห้องน้ำและสุขภัณฑ์ทุกชนิดที่เรารับทราบสรรพคุณทางสื่อต่างๆ ว่าสามารถทำให้ห้องน้ำขาวสะอาดได้ภายในพริบตานั้น มักจะผสมกรดโซเดียมออกไซเลต ความเป็นพิษของน้ำยาตัวนี้ไม่เพียงแต่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม แม้ผู้ใช้เองขณะที่ราดสารเคมีบนพื้นเพื่อทำความสะอาด ไอระเหยจากน้ำยาจะทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะ อยากอาเจียน ปวดศีรษะโดยไม่ทราบสาเหตุ เบื่ออาหาร และหงุดหงิดง่าย
วิธีที่ดีกว่า คือให้ใช้น้ำส้มสายชูผสมกับเกลือและน้ำในสัดส่วนที่เท่ากันหรืออาจจะใช้โซเดียมไบคาร์บอเนต (ผงฟู) ผสมกับน้ำก็ได้ เมื่อผสมเข้ากันดีแล้วสามารถใช้ชะล้างอ่างอาบน้ำพื้นกระเบื้องในห้องน้ำได้เป็นอย่างดี
ทำความสะอาดกระจก
การใช้น้ำยาทำความสะอาดกระจกที่มีขายตามซูเปอร์มาร์เก็ตอาจเป็นอันตรายแก่ผู้ใช้ได้ เนื่องจากมีแอมโมเนียมากเกินไป
วิธีที่ดีกว่าคือให้ใช้สบู่เหลว 1/4-1/2 ช้อนชา ผสมกับหัวน้ำส้มสายชู 3 ช้อนโต๊ะ และน้ำ 2 ถ้วย แต่ในกรณีที่กระจกนั้นมีไขมันเกาะติดอยู่มาก ให้ผสมโซดาไฟเพิ่มลงไป 1/4 ช้อนชา ผสมให้เข้ากันดีแล้วนำไปเช็ดกระจก เท่านี้กระจกของคุณก็จะใสแวววาวได้
ขัดเงา (พื้น)
สารทดแทนที่จะนำมาใช้แทนน้ำยาขัดเงานั้นสามารถทำเองได้ง่ายมาก โดยใช้น้ำมันละหุ่ง 3 ถ้วย ผสมกับขี้ผึ้งบีแวกซ์ 6 ช้อนโต๊ะ ใช้ความร้อนกวนให้เข้ากัน หลังจากนั้นก็ยกลงจากเตาแล้วเทใส่ขวดเก็บไว้ใช้ได้นานๆ
ล้างท่อน้ำ
ท่อน้ำที่อุดตันด้วยเศษอาหารหรือสิ่งสกปรกอื่นๆ ทำให้น้ำเสียไหลไม่สะดวก สามารถใช้สารทดแทนที่ทำลายสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าน้ำยาล้างท่อที่มีขายตามร้านทั่วไป โดยเอาน้ำ 1 แก้วผสมกับโซดาไฟ 1 ช้อน (อย่าใส่โซดาไฟลงไปก่อนใส่น้ำ เพราะปฏิกิริยาทางเคมีที่เกิดขึ้นอาจทำให้แก้วแตกได้) คนให้เข้ากันแล้วเทลงไปในท่อระบายน้ำ หลังจากนั้นแช่ทิ้งไว้สักพัก จึงนำน้ำเดือดเทตามลงไป ซึ่งจะช่วยผลักดันสิ่งปฏิกูลลงไปหมด และช่วยดับกลิ่นอับในท่อด้วย
ดับกลิ่น
โถส้วมเมื่อเกิดกลิ่นไม่สะอาด คุณแม่บ้านบางคนก็พยายามสรรหาสารกำจัดกลิ่นนานาชนิดเพื่อปรับให้เป็นกลิ่นที่น่าสดชื่นขึ้น ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวก็มีทั้งชนิดเม็ดที่ใส่ลงในถังชักโครกแล้วน้ำกลายเป็นสีฟ้า และทั้งชนิดน้ำซึ่งภาชนะที่ใส่เป็นรูปสัตว์คอยาวครึ่งบกครึ่งน้ำ สารเคมีเหล่านี้เมื่อลงสู่แหล่งน้ำ ก็จะกลายเป็นภาระอันหนักอึ้งของสิ่งแวดล้อมต่อไป
แม่บ้านบางท่านอาจจะใช้ลูกเหม็นใส่ลงในโถส้วมโดยตรงเลย สำหรับลูกเหม็นนี้กลิ่นที่ระเหยออกมานั้นถ้าสูดดมเข้าไปมากๆ จะมีผลทำให้ระบบประสาทส่วนกลางเสียได้
วิธีที่ดีกว่าคือให้ใช้สารบอแรกซ์ประมาณ 2 ช้อนโต๊ะโรยใส่ในโถส้วม ทิ้งไว้ข้ามคืน รุ่งเช้าราดน้ำตามอีกครั้ง รับรองโถส้วมจะสะอาดเอี่ยมอ่อง
ฆ่าเชื้อรา
เชื้อราที่พบตามขอบยางรอบตู้เย็นดูจะเป็นปัญหาสำหรับคุณแม่บ้านอยู่เหมือนกัน แต่คุณไม่ต้องขวนขวายหาน้ำยากำจัดเชื้อราให้ลำบาก เพียงใช้ผ้าขาวบางห่อสารบอแรกซ์แล้วชุบน้ำอุ่นเช็ดตามขอบตู้เย็น ทิ้งค้างคืนไว้ วันรุ่งขึ้นให้ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นเช็ดเชื้อราที่ติดอยู่อีกครั้ง แค่นี้ขอบตู้เย็นก็สะอาดแล้ว
ปุ๋ยหมักทำเอง
ปัญหาการใช้ปุ๋ยเคมีสร้างปัญหาให้แหล่งน้ำได้เช่นเดียวกันดังที่กล่าวมาแล้ว วิธีหลีกเลี่ยงการใช้ปุ๋ยเคมีที่ทำได้ง่าย ก็โดยให้นำเศษหญ้าที่ตัดจากสนาม ใบไม้ รวมทั้งเปลือก ผักและผลไม้ที่มาจากครัวและโต๊ะอาหารนั่นแหละมาหมักรวมกัน ทิ้งไว้ประมาณ 2-3 เดือนจะกลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์ได้อย่างดีทีเดียว
ผงซักฟอก
ดังที่ได้กล่าวไว้ในตอนต้นแล้วว่าฟอสเฟตในผงซักฟอกส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ทางน้ำอย่างมาก วิธีที่จะช่วยกันรักษาน้ำได้ทางหนึ่งก็คือควรเลือกใช้ผงซักฟอกที่มีส่วนผสมของซีโอไลต์มาก หรือผสมฟอสเฟตน้อย หรืออยู่ในปริมาณที่ควบคุมได้ ผงซักฟอกบางชนิดจะบอกปริมาณของฟอสฟอรัสไว้ ให้เอา 3 คูณเปอร์เซ็นต์ของฟอสฟอรัส ก็จะรู้ฟอสเฟตที่แท้จริง ในประเทศสหรัฐอเมริกาได้มีการควบคุมการใช้ฟอสเฟตในผงซักฟอกไม่ให้เกินร้อยละ o.5 เพื่อลดการทำลายออกซิเจนในน้ำ
สำหรับซีโอไลต์ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผสมมาในผงซักฟอกนั้น เมื่อลงสู่แหล่งน้ำ มันจะลอยตัวอยู่ในน้ำแล้วดูดเอาพวกไอออน โลหะต่างๆที่อยู่ในน้ำ และเมื่อตัวสารซีโอไลต์มีน้ำหนักมากขึ้นเนื่องจากมีสารประกอบมากขึ้น ก็จะลงไปสู่ที่ก้นบ่อก้นท่อ ด้วยคุณสมบัติของซีโอไลต์นี้ เมื่อดึงเอาสารโลหะต่างๆเข้ามาไว้แล้ว น้ำก็จะมีความกระด้างน้อยลง เป็นฟองได้ง่ายขึ้น จึงสามารถแทนฟอสเฟตได้
สิ่งสำคัญอีกอย่างที่ควรปฏิบัติคือ ใช้ผงซักฟอกให้น้อยลง เมื่อดูจากภาพยนตร์โฆษณาส่วนใหญ่ ผู้ผลิตสินค้ามักจะจูงใจให้ผู้บริโภคใช้ผงซักฟอกในปริมาณมากเกินความจำเป็นเสมอ ซึ่งการใช้ในปริมาณมากจะทำให้มีฟองมากก็จริง แต่ไม่ได้ช่วยให้ผ้าที่ซักสะอาดขึ้นถ้าไม่ได้ออกแรงขยี้ให้นานพอ หรือถ้าใช้เครื่องซักผ้า ฟองก็อาจจะล้นเครื่องด้วยซ้ำไป
กรองน้ำเสียก่อนออกจากบ้าน
ถึงที่สุดแล้ว ไม่ว่าคุณจะใช้สารเคมีซึ่งอาจจะปนเปื้อนลงไปในน้ำหรือไม่ก็ตาม คุณเองก็ยังมีส่วนในการทำน้ำเสียอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันอยู่นั่นเอง โดยเฉพาะน้ำเสียที่มีส่วนผสมของสารประเภทไขมันนี่ยิ่งมีพิษสงร้ายกาจ ดังที่เคยกล่าวไว้ในตอนต้นแล้วว่า ไขมันจะเป็นตัวที่ปิดกั้นไม่ให้ออกซิเจนลงสู่แหล่งน้ำ เมื่อน้ำขาดออกซิเจนจึงกลายเป็นน้ำเสีย
แต่คุณสามารถทำให้สิ่งแวดล้อมของเราทุกคนดีขึ้นได้ เพียงแค่ในแต่ละบ้านจัดอุปกรณ์ในการบำบัดน้ำเสียก่อนที่จะออกจากบ้าน สุขภาพของน้ำในวันข้างหน้าคงมีอัตราความเป็นพิษน้อยลงกว่านี้เป็นแน่ ซึ่งการบำบัดน้ำเสียสามารถทำได้ดังนี้ คือ การทำบ่อเกรอะ-ถังกรองไร้อากาศ
บ่อบำบัดน้ำเสียชนิดบ่อเกรอะ-ถังกรองไร้อากาศนี้มีความสามารถในการกำจัดความสกปรกในรูปสารอินทรีย์ (บีโอดี) ได้ถึงร้อยละ 75 ทีเดียว
ในการสร้างบ่อบำบัดนี้สามารถทำใช้ได้เองที่บ้าน โดยใช้ปลอกคอนกรีตขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง o.8o-1.oo เมตร ขอบสูง 5o เซนติเมตร วางซ้อนกันดังตาราง
น้ำเสียจะเข้าสู่บ่อตะแกรงเป็นบ่อแรก หลังจากนั้นน้ำเสียที่ผ่านการกรองเศษขยะและเศษอาหารจะผ่านเข้าสู่บ่อดักไขมัน ซึ่งอาจจะมี 1 หรือ 2 บ่อก็ได้ ตามปริมาณน้ำเสีย น้ำเสียที่ผ่านบ่อดักไขมันแล้วจะเข้าสู่บ่อเกรอะและถังกรองไร้อากาศ ซึ่งหินบดในถังกรองไร้อากาศจะทำหน้าที่เป็นตัวกรองและลดความสกปรก หลังจากนั้นน้ำที่ผ่านการบำบัดจะปล่อยสู่บ่อซึม หรือระบายสู่ท่อระบายน้ำสาธารณะได้เลย
หากเราทุกคนไม่ร่วมมือร่วมใจกันช่วยบำบัดน้ำทิ้งก่อนออกจากบ้านเสียตั้งแต่วันนี้แล้ว พรุ่งนี้...จะมีชีวิตอยู่กันได้อย่างไร
ข้อมูลจาก
ดร.จิรพล สินธุนาวา คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ดร.บุญส่ง ไข่เกษ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
นิศากร โฆษิตรัตน์ กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม

ข้อมูลสื่อ

168-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 168
เมษายน 2536
บทความพิเศษ
สนประดิพัทธ์