• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

แผลในปาก-แผลแอฟทัส

แผลในปาก-แผลแอฟทัส

 


ข้อน่ารู้

1. อาการเจ็บปาก ปากเปื่อยเป็นแผล เป็นสิ่งที่พบได้บ่อยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ สาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด ก็คือ แผลแอฟทัส (aphthous ulcer) หรือเรียกตามภาษาชาวบ้านว่า “แผลร้อนใน” นั่นเอง

2. แผลแอฟทัสหรือแผลร้อนในเป็นโรคที่เกิดกับคนเราเกือบทุกคน พบมากในวัยรุ่นและวัยหนุ่มสาว และพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

3. สาเหตุของโรคนี้ยังไม่ทราบแน่ชัด เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับระบบภูมิต้านทานของร่างกาย กล่าวคือ มีการสร้างภูมิต้านทานเฉพาะต่อเนื้อเยื่อภายในช่องปากของตัวเอง ดังที่ภาษาหมอเรียกว่าปฏิกิริยาภูมิต้านตัวเอง หรือออโตอิมมูน (autoimmune) เช่นเดียวกับที่พบในโรคเอสแอลอี (SLE) ซึ่งร่างกายมีการสร้างภูมิต้านทานต่อเนื้อเยื่อแทบทุกส่วนของร่างกาย (ผิวหนัง ผม ข้อต่อกระดูก ปอด ตับ สมอง) หรือโรคปวดข้อรูมาตอยด์ (rheumatoid arthritis) ซึ่งร่างกายมีการสร้างภูมิต้านทานเฉพาะข้อต่อกระดูกเท่านั้น

สิ่งกระตุ้นที่ทำให้แผลแอฟทัสกำเริบมีอยู่หลายประการ เช่น ร่างกายพักผ่อนไม่พอ (อดนอน ทำงานคร่ำเคร่งหรือหักโหม) มีความเครียดทางจิตใจ อาหารไม่ย่อย ท้องผูกขณะมีประจำเดือน ขณะเป็นไข้ตัวร้อน หรือมีการติดเชื้อในช่องปาก มีการระคายเคืองภายในช่องปาก (เช่น สารบางชนิดในยาสีฟันหรืออาหาร) เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานต่อเนื้อเยื่อในช่องปาก เกิดแผลเปื่อยพุขึ้นมาได้เป็นครั้งคราว

4. โรคนี้เป็นเฉพาะตัว ไม่ติดต่อแพร่กระจายโรคให้ผู้อื่น

5. แผลแอฟทัสจัดว่าเป็นโรคที่ไม่มีอันตรายแต่ประการใด เพียงแต่ทำให้เจ็บปวดน่ารำคาญในระยะ 2-3 วันแรก และจะหายเองได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ (นานที่สุดไม่เกิน 3 สัปดาห์)

ข้อดีก็คือ เป็นสัญญาณเตือนว่าระบบภูมิต้านทานของร่างกายกำลังแปรปรวน เนื่องจากมีความเครียดทางร่างกายหรือจิตใจ สมควรจะได้พักผ่อนหรือคลายเครียดได้แล้ว

รู้ได้อย่างไรว่าไม่ได้เป็นอื่น

คนที่เป็นแผลแอฟทัสจะรู้สึกเจ็บในปาก เมื่อตรวจดูจะพบมีแผลตื้นๆ ขอบแผลแดง ตรงกลางแผลเป็นสีขาวปนเหลือง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3-5 มิลลิเมตร (บางครั้งอาจมีขนาด 7-15 มิลลิเมตร) ขึ้นที่เยื่อบุในช่องปาก ตำแหน่งที่พบบ่อยได้แก่ ริมฝีปาก กระพุ้งแก้ม บนลิ้น ใต้ลิ้น ส่วนน้อยอาจพบได้ที่เพดานปาก เหงือก หรือต่อมทอนซิล แผลอาจมีเพียงแห่งเดียวหรือ 2-3 แห่งก็ได้ ในระยะ 2-3 วันแรกจะรู้สึกปวดมากจนบางครั้งหรือพูดลำบาก (โดยเฉพาะถ้าขึ้นตรงโคนลิ้น หรือหลังต่อมทอนซิล ซึ่งอาจจะมองไม่เห็นจากภายนอก) ยิ่งถ้ากินถูกของเผ็ดหรือเปรี้ยวจัดจะรู้สึกปวดแสบทรมานมากขึ้น ต่อมาอีก 5-7 วัน จะพบว่า มีเยื่อเหลืองๆปกคลุมที่ผิวของแผลแล้วจะค่อยทุเลาปวดและหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ โดยจะไม่เป็นแผลเป็น (ยกเว้นถ้าเป็นแผลขนาดใหญ่และลึกอาจมีรอยแผลเป็นได้)

ส่วนมากจะไม่มีอาการผิดปกติอื่นๆ ยกเว้นในรายที่เป็นรุนแรง อาจมีอาการไข้ อ่อนเพลีย ร่วมด้วย แผลแอฟทัสอาจกำเริบซ้ำได้เป็นครั้งคราวเมื่อร่างกายอ่อนแอหรือมีความเครียด บางคนอาจเป็นเพียงปีละ 1-2 ครั้ง แต่บางคนอาจเป็นเดือนละครั้ง หรือ 2-3 เดือนครั้ง

โรคนี้เป็นสิ่งที่สามารถวินิจฉัยได้ง่าย แต่อย่างไรก็ตาม อาการปากเปื่อยเป็นแผลยังอาจมีสาเหตุอื่นๆเช่น

1. แผลที่เกิดจากการบาดเจ็บ เช่น ถูกแปรงสีฟันครูดหรือกระแทก ถูกฟันกัด ถูกฟันปลอมเสียดสี มักมีแผลเกิดขึ้น 1-2 แผลที่ริมฝีปาก ลิ้นหรือเหงือก หายได้เองภายใน 1 สัปดาห์ ควรบ้วนปากด้วยน้ำเกลือวันละ 2-3 ครั้ง และกินยาแก้ปวดถ้ารู้สึกปวด

2. แผลเริมขึ้นที่ปาก ในผู้ใหญ่จะขึ้นเป็นตุ่มน้ำใสๆ ขึ้นเป็นกระจุกเดียวตรงริมฝีปาก แล้วแตกเป็นแผลตื้นๆ เจ็บเล็กน้อย ซึ่งจะหายได้เองภายใน 7-10 วัน อาจกำเริบซ้ำเมื่อร่างกายอ่อนแอ หรือมีความเครียด หรือเวลาเป็นไข้หวัด ถูกแดด หรือขณะมีประจำเดือนแบบเดียวกับแผลแอฟทัส ต่างกันตรงที่เริมจะขึ้นตรงริมฝีปากภายนอก และเห็นเป็นตุ่มน้ำใสๆ ก่อนที่จะแตกเป็นแผล มีอาการเจ็บไม่มากเท่ากับแผลแอฟทัส และมักจะเป็นซ้ำๆ อยู่ตำแหน่งเดิม

ส่วนในเด็กเล็ก แผลเริมมักจะขึ้นในช่องปากทำให้มีแผลเปื่อยขึ้นทั่วปาก (ไม่ใช่ขึ้นเป็นเฉพาะแห่งแบบแผลแอฟทัส) นอกจากนี้จะมีอาการเหงือกบวมแดง เด็กจะมีไข้ อ่อนเพลีย ต่อมน้ำเหลืองบริเวณใต้คางและข้างคอจะบวมและเจ็บ เด็กอาจเจ็บแผลจนกินข้าวหรือดื่มน้ำไม่ได้ ควรรักษาด้วยการดื่มน้ำมากๆ บ้วนปากด้วยน้ำเกลือบ่อยๆ ทาแผลด้วยกลีเซอรีนโบแรกซ์

3. แผลมะเร็งในช่องปาก พบมากในวัยกลางคนขึ้นไป โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่กินหมาก จุกยาฉุน สูบบุหรี่ ดื่มเหล้าเพียวๆ ฟันเกหรือใส่ฟันปลอมที่ไม่กระชับ ทำให้เกิดแผลเรื้อรังที่ริมฝีปาก กระพุ้งแก้ม ลิ้น เหงือก หรือเพดานปาก นานเป็นแรมเดือนแรมปี โดยมากจะไม่รู้สึกเจ็บปวด แผลจะโตขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นก้อน บางคนในระยะแรกอาจเริ่มด้วยฝ้าขาวๆ หนาๆ (คลำดูรู้สึกสากๆ) ไม่เจ็บ ดังที่เรียกว่าลิวโคพลาเกีย (leukoplakia) ซึ่งจะเป็นอยู่นานเป็นแรมปีก่อนจะกลายเป็นก้อนมะเร็ง

เมื่อไรควรไปหาหมอ

ควรไปหาหมอเมื่อ

1. เจ็บแผลมากจนกินอาหารหรือดื่มน้ำไม่ได้

2. มีไข้นานเกิน 7 วัน

3. เป็นแผลเรื้อรังนานเกิน 3 สัปดาห์

4. มีความวิตกกังวล หรือไม่มั่นใจที่จะดูแลรักษาตนเอง

แพทย์จะทำอะไรให้

แพทย์จะวินิจฉัยโดยการซักถามอาการและตรวจดูลักษณะของแผลในช่องปาก ถ้าเป็นแผลแอฟทัสจะให้การดูแลรักษาดังกล่าวข้างต้น อาจให้อมและกลั้วน้ำยาผสมยายาปฏิชีวนะเตตราซัยคลีน (tetracycline) วันละ 3-4 ครั้ง ในรายที่เป็นแผลขนาดใหญ่และเจ็บปวดรุนแรง แพทย์อาจให้กินยาสตีรอยด์-เพร็ดนิโซโลน เพื่อบรรเทาอาการอักเสบประมาณ 5-7 วัน ยานี้อาจมีผลข้างเคียงมากมาย ควรให้แพทย์เป็นผู้พิจารณาสั่งให้เท่านั้น ในรายที่เป็นแผลเรื้อรังนานเกิน 3 สัปดาห์ ซึ่งอาจมีสาเหตุร้ายแรง อาจต้องตัดเอาชิ้นเนื้อตรงบริเวณแผลไปพิสูจน์ ถ้าเป็นมะเร็งอาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดหรือฉายรังสี

โดยสรุป แผลแอฟทัสหรือแผลร้อนในเป็นโรคที่ไม่มีอันตรายอะไร แม้ไม่ได้รักษาก็หายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ เป็นอาการสะท้อนถึงสภาพร่างกายและจิตใจที่เครียด ถ้ากำเริบบ่อยควรต้องหันมาสนใจดูแลสุขภาพของตนเองให้มากขึ้น

การดูแลรักษาตนเอง

เมื่อมีอาการเจ็บปาก ปากเปื่อยเป็นแผล สามารถให้การดูแลรักษาตนเอง ดังนี้

1. พักผ่อนให้มากขึ้น และหาทางผ่อนคลายความเครียด

2. งดอาหารรสเผ็ดและเปรี้ยวจัดจนกว่าแผลจะหาย

3. ดื่มน้ำมากๆ

4. บ้วนปากด้วยน้ำเกลือ (ผสมเกลือป่นประมาณครึ่งช้อนโต๊ะในน้ำอุ่น 1 แก้ว) วันละ 2-3 ครั้ง

5. ถ้าปวดมากหรือเป็นไข้ กินยาแก้ปวดลดไข้-พาราเซตามอล

6. ป้ายแผลด้วยกลีเซอรีนโบแรกซ์ (glycerine borax) หรือเจนเชียนไวโอเลต (gential violet) วันละ 2-3 ครั้ง

7. ถ้าแน่ใจว่าเป็นแอฟทัสหรือแผลร้อนในในระยะ 2-3 วันแรก ให้ป้ายแผลด้วยครีมสตีรอยด์ที่ใช้ป้ายปากโดยเฉพาะ เช่น ครีมเคนาล็อก (Kenalog in orabase) โดยทาบางๆตรงแผลวันละครั้งก่อนนอนจนกว่าจะทุเลา โดยมากหลังทายาเพียง 2-3 วัน จะรู้สึกสบายขึ้น

8. ถ้าแผลแอฟทัสกำเริบบ่อย ควรพยายามออกกำลังกายให้มากขึ้น อย่าทำงานหักโหมเกินไป พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ

ข้อมูลสื่อ

168-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 168
เมษายน 2536
แนะยา-แจงโรค
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ